รถไฟความเร็วสูงและ ‘กับดักหนี้’ ที่ตามมา


เพิ่มเพื่อน    

   เมื่อมีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในปี 2562 และ กกต.มีมติให้จัดการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมแล้ว รัฐบาลชุดของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ควรจะต้องระงับการตัดสินใจใดๆ ที่มีผลต่อโครงการใหญ่ๆ หรือกิจกรรมใดที่ควรจะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้ง 


    หนึ่งในโครงการที่ควรจะรอให้รัฐบาลใหม่มาตัดสินคือ การกู้เงินเพื่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่โยงไปถึง One Belt One Road ของจีน
    เพราะโครงการนี้ไม่ได้มีมิติเฉพาะเรื่องการลงทุนทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังมีผลทางด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศด้วย
    ระหว่างนี้เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาจะกู้เงินต่างประเทศ (รวมถึงจีน) เพื่อเดินหน้าสร้างโครงการนี้ รัฐบาลก็ควรจะต้องชี้แจงแถลงไขให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลให้ชัดเจน
    เพราะข่าวที่ออกมามีความสับสนว่า ตกลงไทยเราจะขอกู้จากจีนหรือไม่อย่างไร
    ข่าวเมื่อเช้าวันพฤหัสฯ จาก “โพสต์ทูเดย์” อ้างคุณจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) บอกว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคจาก กทม.-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วง กทม.-นครราชสีมา) โดยมีวงเงินลงทุนรวม 1.79 แสนล้านบาททางกระทรวงการคลังได้เริ่มกู้เงินแล้ว 4,000 ล้านบาท และมีการเบิกจ่ายแล้ว 2,000 ล้านบาท
    คุณจินดารัตน์บอกว่า วงเงินลงทุนรวม 1.79 แสนล้านบาทนี้ แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 1.32 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการเวนคืนที่ดินและเงินกู้ 1.66 แสนล้านบาท
    ในจำนวนนี้เป็นเงินกู้ต่างประเทศ 3.85 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือกู้ในประเทศสำหรับว่าจ้างผู้ประกอบการในประเทศไทยในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินประมาณ 1.27 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของวงเงินกู้ทั้งหมด
    ท่านยืนยันว่าประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนในโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคเองทั้งหมด ไม่ได้ร่วมทุนกับฝ่ายจีน ไทยจึงเป็นเจ้าของโครงการแต่เพียงผู้เดียว โดยจีนเป็นเพียงผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูงเท่านั้น 
    คุณจินดารัตน์สรุปว่า “จึงเป็นไปไม่ได้ที่ไทยจะติดกับดักหนี้จีน”
    ณ จุดนี้ท่านบอกว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินต่างประเทศ หากจะกู้ก็จะพิจารณาจากทุกแหล่ง ทั้งจีน, ญี่ปุ่น และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) โดยจะต้องเป็นข้อเสนอต้นทุนต่ำและเงื่อนไขดีที่สุด เพื่อนำมาใช้ในช่วนที่มีรายการค่าใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งยังไม่มีการผูกพันสัญญาเงินกู้กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน (CEXIM) หรือแหล่งเงินกู้ต่างประเทศอื่น 
    ท่านบอกว่าขอให้มั่นใจว่าคลังจะพิจารณาจัดหาแหล่งทุนที่มีเงื่อนไขและต้นทุนที่เหมาะสมที่สุด
    คุณจินดารัตน์ไม่ได้พูดถึงข่าวก่อนหน้านี้ว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ที่ปักกิ่งในสัปดาห์นี้ จะมีการพูดถึงเรื่องไทยขอกู้เงินจากจีนเพื่อโครงการนี้หรือไม่
    และไม่ได้ปฏิเสธหรือยืนยันข่าวก่อนหน้านี้ว่า ไทยจะกู้จาก CEXIM ของจีน เพราะดอกเบี้ยถูกกว่าเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินต่างประเทศอื่นๆ 
    คนไทยที่ห่วงเรื่อง “กับดักหนี้จีน” มีเหตุผลน่าฟัง เพราะกรณีเช่นนี้เกิดกับบางประเทศที่ร่วมโครงการ One Belt One Road ของจีน มีตัวอย่างในเพื่อนบ้านเราที่ได้กลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของจีน 
    ในบางกรณีต้องยอมยกผลประโยชน์จากเหมืองบางแห่งให้จีนเป็นการจ่ายหนี้แทน
    และเมื่อประเทศใดกลายเป็นลูกหนี้ใหญ่ของจีน เพราะโครงการเช่นนี้แล้วก็จะมีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์กับจีนในด้านอื่นๆ ที่ทำให้อำนาจต่อรองของประเทศนั้นๆ อ่อนลงไปอย่างเห็นได้ชัด
    ในกรณีของไทยนั้น รัฐบาลยังจะต้องแถลงแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมให้ประชาชนคนไทยได้ทราบ เพื่อจะได้ซักถามพรรคการเมืองทั้งหลายที่เสนอตัวมาเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่าท่านเหล่านั้นมีนโยบายต่อเรื่องนี้อย่างไร
    เพราะเรื่องนี้มิใช่เพียงแค่ประเด็น “เงินกู้และดอกเบี้ย” เท่านั้น หากแต่โยงใยไปถึงจุดยืนของประเทศต่อมหาอำนาจและเพื่อนบ้านในอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศอีกด้วย.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"