บทสนทนาที่บางขุนพรหม ว่าด้วยสงครามการค้าโลก


เพิ่มเพื่อน    

    ผมสัมภาษณ์ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อวัดชีพจรเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อไทย 
    ที่แน่ๆ คือท่านบอกว่าเราต้องจับตาดูเศรษฐกิจและความเคลื่อนไหวของจีนอย่างใกล้ชิด เพราะมีหลายปัจจัยแห่งความไม่แน่นอนที่สูงมาก
    เริ่มด้วย IMF แสดงความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะโตต่ำกว่าที่เคยคาดเอาไว้
    ดร.วิรไทบอกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะมีอัตราโตที่จะชะลอตัวลงมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ไม่ต้องถึงขั้นตระหนกว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกเหมือนปี 2008
    กูรูตะวันตกเคยทำนายว่าโลกเราจะต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจร้ายแรงทุก 10 ปี ดังนั้น พอถึงปี 2018 ก็มีความหวั่นไหวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย
    แต่เอาเข้าจริงๆ เราก็ย่างเข้าสู่ปี 2019 โดยยังไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดวิบากกรรมหนักหน่วงขนาดนั้น
    แต่ห้ามประมาท!
    IMF ประมาณการอัตราโตทางเศรษฐกิจโลกลดลง 0.2% แต่ก็ยังอยู่ในระดับประมาณ 3.4-3.5%
    “ซึ่งก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่มีการขยายตัวดีอยู่” ดร.วิรไทบอก
    แต่ต้องระวังผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดจากสงครามการค้า, Brexit และต้องเกาะติดมาตรการที่รัฐบาลจีนออกมาในระยะนี้ เพื่อดูแลเศรษฐกิจของตัวเองไม่ให้เกิดภาวะคลอนแคลนอย่างที่นักวิเคราะห์บางกลุ่มกลัวกันอยู่ขณะนี้
    มาตรการของปักกิ่งจะมีผลอย่างไรก็ต้องดูช่วงครึ่งหลังของปีนี้ต่อไปถึงปีหน้า 
    หากดูจากวิกฤติครั้งก่อนๆ ปัญหาส่วนใหญ่จะมาจากความเปราะบางของสถาบันการเงินและฟองสบู่การเงิน 
    แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระบบการธนาคารของโลกมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น เพราะวิกฤติครั้งที่แล้วทำให้มีการปฏิรูประบบการเงินและวางมาตรการควบคุมสถาบันการเงินเข้มข้นมากขึ้น สามารถรับแรงปะทะต่างๆ ได้มากขึ้น
    เรื่อง subprime และฟองสบู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์วันนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวลเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน
    ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมีมากเพียงใด?
    ดร.วิรไทยอมรับว่าแบงก์ชาติก็กังวลต่อผลจากสงครามการค้าระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ แต่ก็บอกว่ายากที่จะประเมิน เพราะมีทั้งผลบวกและลบ, ผลทางตรงและทางอ้อมที่มากับ supply chain หรือห่วงโซ่อุปทาน
    สินค้า 2 ประเภทที่ไทยถูกกระทบโดยตรง เพราะสหรัฐออกมาตรการแซงก์ชั่นสินค้าบางหมวด เช่น เครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์เซลล์
    นอกนั้นก็มีชิ้นส่วนที่ไทยส่งไปจีนเพื่อประกอบเป็นสินค้าส่งไปอเมริกา เช่น อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย เพราะช่วงปลายๆ ปีก็เริ่มเห็นคำสั่งซื้อลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
    แต่ที่ประเมินผลกระทบยาก เพราะการเจรจามีต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เนื่องจากเดิมวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา จะเป็นเส้นตายที่สหรัฐประกาศเอาไว้ว่าจะเก็บภาษีเพิ่มรอบใหญ่กับสินค้าจีนอีกครั้ง ทำให้ทุกคนสั่งสินค้าล่วงหน้าไว้เยอะ ทำให้ตัวเลขส่งออกไตรมาส 3 ต่อไตรมาส 4 ยังสูงอยู่ แต่เมื่อมีสต๊อกเก่าไม่ระบายออก ก็ทำให้คำสั่งสินค้าใหม่ของต้นปีนี้ชะลอตัวลงอย่างมากเช่นกัน
    แต่ด้านบวกก็คือสินค้าบางอย่าง เช่น เคมีของไทยก็ส่งออกไปอเมริกามากขึ้น เพราะสินค้าจีนประเภทนี้ถูกกีดกันด้วยภาษีที่สูงขึ้น
    ผมถามว่าบวกลบคูณหารแล้ว เป็นบวกหรือลบสำหรับไทย?
    ดร.วิรไทบอกว่า “ผมคิดว่าน่าจะเป็นผลเสียมากกว่า”
    เหตุเพราะเมื่อมีสงครามการค้าแล้วมีผลกระทบต่อกระบวนการการผลิต และ supply chain เดิม และกว่าที่ห่วงโซ่อุปทานใหม่จะเข้ามาอยู่ในระบบก็ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
    แต่ผลบวกด้านหนึ่งก็จะเห็นการลงทุนในจีนที่ย้ายฐานมาไทยและประเทศอาเซียนอื่นมากขึ้น เพราะนักลงทุนและนักอุตสาหกรรมตระหนักแล้วว่าพวกเขาไม่ควรจะทุ่มทั้งหมดในประเทศจีน เพราะสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนจะไม่จบง่ายๆ
    แต่การย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยก็ต้องใช้เวลา นอกจากที่ไทยมีฐานการผลิตอยู่แล้ว เช่น hard disk drive และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
    ผมเห็นว่าไม่มีใครรู้ว่าหากสหรัฐกับจีนยังมีข้อพิพาทเรื่อง “หัวเว่ย” อยู่อย่างที่เห็น การเจรจาสงบศึกระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งจะลากยาวอีกเท่าไหร่
    โปรดติดตามทุกย่างก้าว+.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"