มส.ผส.-สสส.เปิดโผสิงคโปร์-ไทย-เวียดนามครองแชมป์ผู้สูงวัยในอาเซียน เจาะลึกผู้สูงวัยไทยถูกละเมิดสิทธิด้านจิตใจสูงสุด อยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี


เพิ่มเพื่อน    

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัวเลขประชากรโลกปี 2558 จำนวน 7,349 ล้านคน         เป็นผู้สูงวัย 901 ล้านคน หรือ12% อายุ 15-19 ปี จำนวน 4,533 ล้านคน หรือ62% ผู้สูงวัยในอาเซียน สิงคโปร์-ไทย-เวียดนามครองแชมป์ผู้สูงวัย จัดเวทีเสวนาสาธารณะ “การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ ปัญหาและการจัดการ” เจาะลึกผู้สูงอายุไทยถูกละเมิดสิทธิด้านจิตใจสูงสุด รองลงมาคือการเอาประโยชน์ด้านทรัพย์สิน กลุ่มเสี่ยงอยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลาน เจ็บป่วย เปราะบาง สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ ต้องพึ่งพาผู้อนุบาลตลอดชีวิต การสร้างจิตอาสาอยู่ในชุมชนช่วยดูแลผู้สูงวัยเป็นการต่อยอดธนาคารความดีเมื่อก้าวสู่ผู้สูงวัย

 

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง “การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ : ปัญหาและการจัดการ” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ม.ค. ณ ห้องประชุมเมจิก 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ บงกช จูฑะเตมีย์ เป็นพิธีกรดำเนินรายการ หัวข้อแรกในการเสวนา : สถานการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุถูกละเมิด โดยดร.ภัทรพร คงบุญ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ แรมรุ้ง วรวัธ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สุงอายุ ดรุณี มนัสวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือสังคม สิทธิพร ชูประจง มูลนิธิกระจกเงา ดำเนินรายการโดย กนกวรรณ กนกวนาวงค์

 

สถานการณ์ประชากรโลกปี 2558 จำนวน 7,349 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 901 ล้านคน หรือร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมด อายุ 60 ปีขึ้นไป 901 ล้านคน หรือ 12% อายุ 15-19 ปี 4,533 ล้านคน หรือ 62% อายุ 0-14 ปี 1,916 ล้านคน หรือ26% ทั้งนี้ ประชากรผู้สูงวัยในอาเซียนในปี 2558 อาเซียนมีประชากรทั้งหมด 633 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุ 59 ล้านคน (ร้อยละ 9)  จำนวน 3 ประเทศที่เข้าเกณฑ์สังคมผู้สูงวัยคือ 1.ประเทศสิงคโปร์ 18% 2.ประเทศไทย 16% 3.ประเทศเวียดนาม 10% ส่วนประเทศที่มีแนวโน้มสังคมผู้สูงวัยมาเลเซีย, เมียนมา 9% บรูไน, อินโดนีเซีย 8% ฟิลิปปินส์ ติมอร์-เลสเต กัมพูชา 7% ลาว 6%

 

ประชากรสูงวัยในประเทศไทยปี 2548 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงวัยถึงร้อยละ 10 ปี 2558 ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 65.1 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 11 ล้านคน หรือร้อยละ 16 ปี 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ 20% ปี 2574 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด 28%

 

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ปัญหาผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิมีหลายรูปแบบ และมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับน้อยไปถึงขั้นเสียชีวิต มีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต โดยผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิด้านจิตใจสูงที่สุด รองลงมาคือการเอาประโยชน์ด้านทรัพย์สิน ถัดมาคือการทำร้ายร่างกาย ถูกทอดทิ้ง รวมถึงการละเมิดทางเพศ ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คดีอาญาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544-2558 พบว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีคดีอาญาเรื่องฉ้อโกงทรัพย์สิน ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากปี 2548 มีผู้เสียหาย 73 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 243 รายในปี 2549 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2558 มีผู้เสียหายจำนวน 703 ราย สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิมากคือผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลาน หรือไม่มีครอบครัว มีความเจ็บป่วย ต้องการพึ่งพาผู้อื่น ช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เต็มที่

 

ในการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่จะมีการขับเคลื่อนภายใต้การเตรียมความพร้อมสังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่ง สสส.เป็นผู้สนับสนุน มส.ผส.และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ ทบทวนสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ เพื่อสื่อสารสาธารณะให้สังคมทราบ ตระหนักถึงสถานการณ์ รวมถึงการพัฒนาข้อเสนอนโยบาย แนวทางการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม เพื่อเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ไม่เพิกเฉยต่อการกระทำความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ต่อผู้สูงอายุ และพิทักษ์คุ้มครองสิทธิต่างๆ ของผู้สูงอายุตามแนวทางที่เหมาะสม

 

ดร.ภัทรพร คงบุญ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กล่าวว่า งานวิจัยการละเมิดผู้สูงอายุที่มีการทบทวนและมองไปข้างหน้า เมื่อปี 2560 ศึกษา 6 โครงการ เพื่อตระหนักสถานการณ์ผู้สูงอายุมีความรุนแรง เป็นพีระมิดฐานกลับหัว คือมีผู้สูงอายุมากกว่าวัยทำงานในครอบครัวเดียวกัน ขณะนี้ผู้สูงวัย 60-69 ปีมี 60% วัยนี้ยังแข็งแรง พึ่งพามช่วยเหลือตัวเองได้ แตกต่างจากผู้สูงวัยในวัย 70-80 ปีที่มีความเปราะบางทางธรรมชาติ มีโรคประจำตัว ต้องพึ่งพาคนอื่น ความเปราะบางทางธรรมชาติทำให้ถูกละเมิดสิทธิทุกๆ ด้าน

 

งานวิจัยผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิในครอบครัว เมื่อเจ็บป่วยสมองเสื่อมจึงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่น เมื่อสูญเสียคู่ชีวิต ไม่มีลูก เมื่อแต่งงานใหม่แล้วรับบุตรบุญธรรม  เคราะห์ซ้ำกรรมซัด บุตรบุญธรรมละเมิดสิทธิในทรัพย์สิน ต้องใช้ชีวิตเช่นนี้จนกว่าจะเสียชีวิต กฎหมายหลายฉบับไม่สามารถปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ผู้สูงอายุได้ เมื่อผู้สูงอายุกลายเป็นบุคคลที่ไร้ความสามารถ มีความจำเป็นต้องตั้งผู้พิทักษ์ทรัพย์หรือผู้อนุบาลทาง กม.ทำหน้าที่ให้การดูแลการใช้ชีวิต มีการเฝ้าระวังอย่างเด่นชัด

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิด้วยการทำร้ายจิตใจ มีการด่าทอ ปล่อยทิ้งให้อยู่ที่บ้านโดยไม่ให้ข้าวปลาอาหาร ความเป็นอยู่ไม่สมศักดิ์ศรี ยิ่งผู้สูงอายุมีวัยสูงขึ้น  สมองเสื่อม มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย นอนติดเตียง ในบรรยากาศที่คนดูแลรอบข้างก็ติดยา  มีความเครียดสะสม จิตใจไม่ปกติ เศรษฐกิจตกต่ำ ไม่มีเงิน ผลจากงานวิจัยนี้ทำให้ต้องระดมนักวิชาการทำงานเชิงรุกภายใต้กรอบแนวคิด มีกระบวนการจัดการทรัพย์สิน ทำอย่างไรไม่ให้ทรัพย์สินหายไปหรือถูกฉ้อโกง  ใช้มาตรการทางศาลเพื่อร้องเรียนทางกฎหมายได้ บางคนมีปัญหาความเข้าใจในข้อ กม. เพราะความซับซ้อนของ กม.สามารถปรึกษาหารือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กลไกการเฝ้าระวัง ช่วยเหลือ เยียวยา ด้วยการยึดชุมชนเป็นหลัก ใช้เครือข่ายภาคประชาสังคม สมาคมทาง กม.มารองรับแจ้งเหตุว่ามีการถูกทำร้ายหรือไม่

 

ด้วยมาตรการเชิงรุก ส่งเสริม ป้องกัน ใช้กลไกชุมชนเฝ้าระวัง มีการอบรมการใช้ทรัพยากร มีองค์ความรู้เฝ้าระวัง การเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อนำมาใช้ปฏิรูประบบให้สอดคล้องกับระบบ One Stop Service ให้ผู้สูงอายุเข้าไปปรึกษาด้วย มีการฉ้อโกงทรัพย์สินด้วยการนำเงินไปลงทุน

 

แรมรุ้ง วรวัธ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า ประชากรไทยจำนวน 66 ล้านคน มีผู้สูงอายุ 11.3 ล้านคน จำนวน 10% ประชากรเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ปี 2564 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ 20:100 คน และจะทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 28:100 คน คือจำนวน 100 คนมีผู้สูงอายุ 28 คน ภายในปี 2574 กรมกิจการผู้สูงอายุต้องเร่งมือทำงานในระดับชาติ พื้นที่ระดับรากหญ้า กลไกด้านกฎหมาย เรามี พ.ร.บ.สูงอายุปี 2546 คู่กับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ขณะเดียวกันต้องมีตัว กม.คุ้มครองผู้สูงอายุเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ เราไม่ต้องพูดถึงเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ ขณะนี้กำลังมีการทบทวนข้อ กม.มีผู้พิทักษ์ใน กม. ทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสทำงานในสถานประกอบการต่างๆ ด้วย

 

ม.11 ผู้สูงอายุต้องได้รับการคุ้มครองเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ การให้บริการสุขภาพ ทั้งด้านกาย ใจจิต การสาธารณสุข กรมอนามัย  การบริการสาธารณสุขดูแลสุขภาพผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง เมื่อมีการละเมิดผู้สูงอายุแล้วก็ต้องมีคณะกรรมการระดับส่วนกลางดูแล  คณะกรรมการทั้งหมด 12 ชุดดูแลเป็นเรื่องๆ ไปด้วย เมื่อผู้สูงอายุถูกละเมิดทางด้านจิตใจ  ทางเพศ เป็นคดีแพ่ง ให้ความช่วยเหลือ ใช้กลไกประกันสังคม รับแจ้ง ให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาด้วย การเข้าไปทำงานในพื้นที่ของผู้สูงอายุ ปัญหาที่พบคือผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร การพูดจาไม่รู้เรื่องในผู้สูงอายุ มีการทำความรุนแรงของบุคคลในครอบครัว ผู้สูงวัยร่างกายเปลี่ยนแปลงไป  สมองเปลี่ยน วันนี้สุข พรุ่งนี้เศร้า บางครั้งลูกหลานโมโหทำร้ายผู้สูงอายุ ดังนั้นคณะกรรมการในระดับชาติต้องสร้างกลไกป้องกันหลายมิติ เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิ ยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ มีงานทำ มีรายได้ มีเงินออม เตรียมความพร้อม เพราะถ้าปล่อยให้ผู้สูงอายุไม่มีเงิน กลายเป็นภาระของสังคม ปัญหาความเสี่ยงทำให้เกิดความรุนแรงในผู้สูงอายุ จัดสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการนอนกับพื้นมีโอกาสหกล้มได้ง่าย โดยไม่ได้ตั้งใจให้เป็นการละเมิด ควรจัดให้นอนบนเตียงมีราวจับระหว่างการลุกขึ้นจากเตียง ห้องน้ำก็ควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัย

 

หลายหน่วยงานต้องสร้างความเข้าใจ ให้คนในครอบครัวเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงวัย กรมกิจการสตรีฯ มีหลักสูตรเมื่อมีผู้สูงวัยในครอบครัว สมาชิกเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ การพูดคุย การกอด การสัมผัสตัว ยิ้มแย้มแจ่มใส และจัดเวลาในการฟังท่านบ้าง พาไปเที่ยวนอกบ้าน พาไปโรงพยาบาล ไปเบิกเงินเพื่อใช้ในกิจวัตรประจำวัน  ลูกหลานบางคนเบิกเงินแล้วนำไปใช้เอง เป็นปัญหาทางแพ่งของผู้สูงวัย มี อสม. อผศ.เข้ามาดูแลผู้สูงอายุด้วยกลไกของชุมชน สภาผู้สูงอายุมีความเข้มแข็งในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน การสร้างจิตอาสาอยู่ในชุมชนช่วยดูแลผู้สูงวัย เป็นการต่อยอดธนาคารความดี ผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงมีจำนวน 4,000 คน มีจิตอาสาดูแล 1 ชั่วโมง จะได้ 1 เครดิต สมทบในธนาคารเวลา เมื่อจิตอาสาเป็นผู้สูงอายุก็จะได้รับการดูแลเป็นการตอบแทนด้วย

 

ดรุณี มนัสวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือสังคม กล่าวว่า บนเวทีนี้มีคุณแรมรุ้ง อดีตผอ.ศูนย์ช่วยเหลือสังคมและดิฉัน ผอ.ในวันนี้นั่งอยู่ด้วยกัน รัฐบาลเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุและรับเป็นวาระแห่งชาติอย่างที่เรียกว่าสถานการณ์น้ำล้นเขื่อน ถ้าไม่ได้เตรียมการทั้งองคาพยพ ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติรับแจ้งเหตุแต่ละวัน มีคนขอความช่วยเหลือทั่วประเทศ สถานการณ์บ่งชี้ได้ว่า ผู้สูงอายุเป็นปัญหาจริงๆ ด้วยแนวโน้มมีการแจ้งเหตุภัยของผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2560 จำนวน 260 ราย/วัน ปี 2561 จำนวน 292 ราย/วัน เฉลี่ยการรับแจ้งเหตุปีละ 1.6 แสนราย ขณะนี้มีการรับแจ้งเหตุผ่านทางไลน์ เฟซบุ๊ก รวมถึงการวอล์กอินเข้ามาแจ้งเหตุ 9,506 ราย ปัญหาผู้สูงอายุไม่ได้รับเบี้ย 1,600 ราย  ปัญหาความเป็นอยู่และรายได้ทำให้อยู่อย่างยากลำบาก

 

ดรุณียกตัวอย่างคุณยายวัย 62 ปี ได้รับแจ้งผ่าน 1300 ว่าคุณยายนั่งจมกองอึกองฉี่ นำตัวส่ง รพ.บำรุงราษฎร์ น้ำหนักเพียง 35 กก. เพราะป่วยเป็นทีบีและมีเชื้อ HIV ตาบอด แต่กว่าจะรักษาและฟื้นฟูร่างกายได้ใช้เวลาหลายเดือน น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 45 กก. ส่งตัวไปรักษาที่ศูนย์ Mercy ระยอง ผู้สูงอายุอีกรายหนึ่งเป็นหญิงวัย 63 ปี พิการทางสายตา ไม่มีบุตร สามีออกไปนอกบ้านปล่อยให้ภริยาอดอาหารหลายวัน เมื่อสามีมาถึงเพิงพักก็ยังทำร้ายร่างกายภริยา พลเมืองดีทนไม่ไหวจึงโทรศัพท์มาแจ้งความ สังคมยังมีความเกื้อกูลต่อกัน เพื่อนบ้านช่วยกันเอาอาหารและน้ำมาให้ ขณะนี้ส่งตัวคุณยายไปอยู่ศูนย์ Mercy ที่ระยองแล้ว

 

อีกกรณีหนึ่งคุณยายวัย 65 ปี อยู่ในบ้านร้าง เคยเป็นคนรับใช้อยู่ในบ้านหลังนี้ตั้งแต่ยังเป็นสาว สัญญาไว้ว่าจะไม่ทิ้งกัน ปรากฏว่าสมาชิกในบ้านเสียชีวิต บ้านหลังนี้อยู่ริมถนนถูกประกาศขายทอดตลาด รอบบริเวณนั้นเป็นหมู่บ้านจัดสรร คุณยายอยู่ในบ้านร้างไม่มีไฟฟ้า ประปา ใครผ่านไปผ่านมาก็เห็นว่าบ้านหลังนี้ยังมีคนอยู่ ชาวบ้านก็นำอาหารและน้ำมาให้ประทังชีวิต วันทั้งวันคุณยายแทบไม่ได้สื่อสารพูดจากับใคร จนนึกว่าคุณยายพูดไม่ได้ เพราะกว่าจะพูดสักคำออกมาได้นั้นต้องพาตัวไปฟื้นฟูที่ศูนย์บริการผู้สูงอายุบ้านบางแค

 

อีกรายหนึ่งเป็นคุณลุงวัย 70 ปี อยู่ในเขตสายไหม ปกติอยู่กับน้องสาววัย 66 ปี มีปัญหาเส้นเลือดในสมองตีบ เข้ารับการรักษาอยู่ที่รพ.ภูมิพล พลเมืองดีแจ้งมาว่าคุณลุงพูดจาสื่อสารไม่รู้เรื่อง นั่งได้ แต่เดินไม่ได้ มีความพิการ แต่ไม่เคยได้รับเบี้ยพิการ เมื่อซักถามได้ความว่าเคยมีบัตรผู้พิการ แต่ไปอยู่กับเจ้าหนี้ กลายเป็นคนไร้ที่พึ่ง ไม่มีใครพาไปโรงพยาบาล เพื่อนบ้านก็ช่วยเหลือหาอาหารและน้ำมาให้ คนช่วยเหลือก็เตี้ยอุ้มค่อม เป็นแม่บ้านรับจ้างทำความสะอาด ไม่ได้มีรายได้มากมาย เพียงแค่พอเลี้ยงตัวเองเท่านั้น แต่มีจิตอาสาที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ทางเจ้าหน้าที่จึงประสานงานให้ทำบัตรคนพิการ

 

นายนิด วัย 65 ปี นอนติดเตียงไม่ได้รับการรักษาพยาบาล ภริยาก็เสียชีวิต ตอนเกษียณอายุได้เงินเกษียณมาก้อนหนึ่งจำนวน 1 แสนบาท มีบุตรติดยาและติดคุก ก็ต้องนำเงินจำนวนนี้ไปประกันบุตรชายออกมาจากคุก และเงินอีกส่วนหนึ่งก็นำมาใช้จ่าย เรียกว่าตอนนี้หมดเนื้อหมดตัวแล้ว เกิดอาการวูบ เดินไม่ได้ ค้างค่าเช่าบ้านมาแล้วเป็นเวลา 5ทปี

 

ยายวัย 75 ปี ช่วยตัวเองไม่ได้ มีอาการหลงลืมตลอดเวลา ใช้ชีวิตอยู่กับบุตรชายมีอาชีพขับรถส่งของ นานๆ ถึงจะกลับมาอยู่บ้าน ลูกสะใภ้เป็นคนดูแล วันเกิดเหตุสะใภ้ไปเที่ยวต่างจังหวัดฝากเพื่อนดูแล ยายเดินออกจากบ้านแล้วพลัดหลงไปถึงสถานีตำรวจท่าเรือ นำตัวมาควบคุมเป็นการชั่วคราว ได้ซักถามพูดคุยกับยายในช่วง 5 ทุ่ม ติดตามหาญาติมาดูแล กรมกิจการผู้สูงอายุเข้าไปดูแลเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้คุณยายพลัดหลงอีก

 

สิทธิพร ชูประจง มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า มีผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์แล้วหายออกจากบ้าน กลายเป็นคนไร้บ้าน เป็นผลผลิตจากสถานการณ์ที่ภาครัฐควรให้ความสนใจปัญหาคนไร้บ้าน คนหาย คนจนเมือง ผู้ป่วยติดเตียง ตัวเลขคนหายเป็นกลุ่มวัยผู้สูงวัยมากที่สุด สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ หลงลืม และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้สูงวัยที่น้อยใจคนที่บ้าน ทะเลาะเบาะแว้งกัน ส่วนใหญ่จะเป็นชนชั้นกลางที่หนีออกจากบ้าน ยังพอดูแลตัวเองได้  แต่อีกกลุ่มหนึ่งต้นทุนต่ำ ไม่มีเงินออม เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ ออกมาเป็นคนไร้บ้าน อยู่ในพื้นที่สาธารณะ กลุ่มคนที่หลงลืมมีความเสี่ยงสูงว่าจะมีโรคประจำตัว โรคเบาหวาน โรคหัวใจ มีความงกๆ เงิ่นๆ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ รถชน จมน้ำ หัวฟาดพื้นเข้าโรงพยาบาล ในกรณีที่ส่งตำรวจล่าช้า การติดตามบุคคลในครอบครัวมีความล่าช้า สร้างความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน “เราต้องให้ความใส่ใจ ผู้สูงอายุไปซื้อของแล้วจำทางกลับบ้านไม่ได้  ต้องมีคนคอยประกบติด One day”

 

จันทิมา เลิศณรงค์ จิตอาสาในพื้นที่สำนักงานเขตดุสิต เล่าถึงประสบการณ์ทำงานว่า ผู้สูงอายุในชุมชนเมืองวัย 70 ปี อยู่ย่านสนามม้านางเลิ้ง ถูกไล่ที่ ไม่มีบ้านอยู่อาศัย มีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น เป็นปัญหาของชุมชนเมือง ไม่มีเงินที่จะหาที่อยู่ใหม่ มีเครือข่ายพลังผู้สูงวัยทำงานในพื้นที่ 9 ชุมชน ผู้สูงอายุที่แข็งแรงดูแลผู้สูงอายุที่เปราะบาง มีความเข้าใจกัน ช่วยกันแก้ไขปัญหาในชุมชนเมือง ชวนผู้สูงวัยออกกำลังกายด้วยการเดินออกกำลัง แกว่งแขน ผู้สูงวัยรายหนึ่งอายุ 78 ปี เดินสามขา  ลูกชายชอบว่าแม่แรงๆ ในฐานะที่เราเป็นอาสาสมัครไม่สามารถทำอะไรได้ กระทรวง พม.ให้เงินช่วยเหลือแม่ 2,000 บาท ลูกชายอ้างว่าขอยืมเงิน 200 บาทไปให้แม่ แต่กลับเอาเงินไปเล่นพนันบอลจนหมด ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราทำงานไปเพื่ออะไร ให้เงินเขาก็ไปใช้จนหมด แล้วเขายังเอากล้วยน้ำว้า 1 หวีให้แม่ แล้วพูดจาไม่ดีทำนองเอาบุญเอาคุณ

 

ในฐานะที่เราเป็นอาสาสมัครก็พูดไปว่า เขาเป็นแม่แท้ๆ ของเธอนะ แม่เลี้ยงดูเธอมานะ เราทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ เพราะเราก็เป็นคนนอก เพียงแต่แอบเข้าไปดูแล เราเองก็ไม่อยากทิ้งผู้สูงวัย จะทำอย่างไร ผู้สูงอายุถูกละเมิดทางจิตใจเป็นอย่างมาก เรื่องของชีวิตความเป็นจริงกับเรื่องในทีวีแตกต่างกันมาก  อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจปัญหาของผู้สูงอายุ ศักยภาพของผู้คนในชุมชนว่าเราจะช่วยเหลือผู้สูงวัยในชุมชนได้อย่างไร.

 

 

แนวทางการจัดการทรัพย์สินผู้สูงอายุ

                ผศ.ดร.สุวิณี วิวัฒนวานิช คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                “คนที่ล่อลวงทรัพย์สินจากผู้สูงอายุไม่ใช่คนไกล เกิดจากคนในครอบครัว เป็นคนใกล้ชิด ผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพราะข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยี ด้วยความไว้วางใจส่วนใหญ่ลูกหลานเป็นคนทำธุรกรรมทางการเงินให้ บางครั้งก็เอาทรัพย์สินเงินทองไปโดยผู้สูงวัยก็ไม่รู้ บางครั้งก็เซ็นมอบอำนาจไปกู้เงิน ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป ปี 2560-2561 มีโทรศัพท์จาก Call Center มาที่บ้าน 70 ราย หลอกลวงได้เงิน 34 ล้านบาท บางรายให้คุณยายบอกว่ามีสมุดบัญชีธนาคารจำนวนกี่เล่ม บอกยอดเงินอย่างละเอียด นำมารวมเล่มแล้วลักลอบกดบัตร ATM ไปทั้งหมด  คุณยายกลับมาบ้านมีความสุขที่มีคนช่วยเหลือดำเนินการให้ ปรากฏว่าเงินหายไปจากสมุดบัญชีธนาคารทั้งหมด ผู้สูงอายุบางรายก็อยากจะช่วยเหลือลูกหลานให้ลืมตาอ้าปากได้  เซ็นใบค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้ลูกหลานเพื่อให้ได้งานทำ กลายเป็นลูกหนี้โดยอัตโนมัติ”

                สุจิตรา แก้วไกร กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

                “กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพก่อตั้งเมื่อปี 2545 เพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มที่ไม่ได้รับความยุติธรรมและถูกละเมิดสิทธิ ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกล่าวหา ดูแลผู้เสียหายที่ได้รับการร้องเรียน ถูกยิง ถูกฆ่า ถูกข่มขืน ผู้เสียหายกลุ่มนี้ถูกทอดทิ้ง ลูกทอดทิ้งพ่อแม่เป็นคดีอาญา จึงจะมีการจ่ายเงินค่าเสียหาย แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการจ่ายเงินก้อนนี้ กรมคุ้มครองสิทธิฯมีที่ปรึกษา กม.จบ นบ.ท. มีประสบการณ์ว่าความ 10 ปี ทุกวันนี้ผู้สูงอายุเข้ามาปรึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากผู้สูงอายุเซ็นเอกสารขายฝากตามที่ลูกหลานบอก”

                สมศักดิ์ อัจจิกุล สภาทนายความแห่งประเทศไทย

                “สภาทนายความแห่งประเทศไทยประจำศาลจังหวัดครบทั้ง 77 จังหวัด 114 ศาลจังหวัด  ที่ไหนมีศาลจังหวัดก็มีสภาทนายความครบทุกศาลจังหวัด ทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ ไม่ได้รับความยุติธรรม มีการเผยแพร่ความรู้ด้าน กม.จังหวัด จังหวัดละ 4 ครั้ง คดีผู้สูงอายุถูกหลอกลวง มีการดำเนินคดี ผมทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายหนี้นอกระบบเกือบทั่วทั้งประเทศ โครงการกาฬสินธุ์โมเดล ผู้สูงอายุเซ็นเอกสารด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจลูกหลานตัวเอง ผู้สูงอายุแล้วเกษียณมีทรัพย์สินเงินทอง บางครั้งถูกหลอกลวงว่าขอนำเงินไปปล่อยกู้ ลูกหลานบางครั้งปรารถนาดี แต่ประสงค์ร้าย คุณพ่อคุณแม่เซ็นเอกสารมอบอำนาจในการจัดการที่ดินทรัพย์สินก็หายวับไปกับตาในทันที การอธิบายข้อ กม.ให้ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ รู้เรื่อง 10% ก็ยังดีกว่าไม่รู้เรื่อง กม.เลย ที่ดินเมื่อนำไปขายฝาก  ผ่อนส่งจนครบสัญญาขายฝาก เมื่อถูกยึดที่ดินโดยไม่ได้มีการไถ่ถอน กรรมสิทธิ์เป็นของผู้รับฝาก ผมให้มีการสู้คดีหรือฟ้องร้องว่าเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน ระหว่างที่มีการขายฝาก ภาระดอกเบี้ยยังอยู่ การปล่อยเงินกู้ตาม กม.ใหม่ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินกว่ากำหนดหากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับ 2 แสนบาท ต่างจาก กม.เดิมที่จำคุกเพียง 1 เดือน  และปรับ 1,000 บาท

                ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

                “การทำนิติกรรมในชีวิตประจำวัน ภาครัฐเข้าไปดำเนินการแทรกแซงภาคเอกชน เมื่อเห็นว่ามีความเสี่ยงต่อประโยชน์สาธารณะ ทุกประเทศเริ่มต้นจากการให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชน ในการตัดสินใจบริหารจัดการทรัพย์สินว่าควรทำอย่างไร ในต่างประเทศมี กม.ปกป้องการบริหารจัดการทรัพย์สินผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เพราะเป็นกลุ่มประชากรที่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย รัฐต้องเข้าไปกำกับดูแลด้วย ถ้ารัฐเปิดทางให้ประชาชนทำธุรกรรมทางการเงินอย่างไม่มีปัญหา รัฐก็ไม่ต้องเข้ามากำกับดูแล แต่ถ้าการทำธุรกรรมแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลแต่อย่างใด รัฐจึงต้องเข้ามาแทรกแซง กลุ่ม กม.Common Law จากประเทศอังกฤษ มีความแตกต่างจากบ้านเราที่เป็น Civil Law คือ กม.ลายลักษณ์อักษร”

                “คนที่มีทรัพย์สิน แต่รู้สึกว่าไม่มีเวลา ไม่มีความสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินของตัวเอง ก็ต้องเลือกผู้บริหารจัดการทรัพย์สินที่ไว้ใจได้มาดำเนินการ กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจนในสัญญา กรณีที่ผมมีที่นา 1 แปลง พัฒนาเองไม่ไหว ตัดสินใจให้คนเข้ามาบริหารที่นาทั้งหมด มอบหมายให้ทรัสตีจัดการให้ แล้วนำเงินกำไรมาคืนให้กับเจ้าของที่ดินเดิม กม.นี้สามารถนำมาใช้บริหารจัดการทรัพย์สินในครอบครัว ในประเทศฝรั่งเศส  ประเทศญี่ปุ่น ก็นำมาใช้ แต่ละประเทศก็นำมาปรับเปลี่ยนตามแนวทางให้เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง”

                สกล ยิ้มพร อัยการสูงสุด สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย

                “ปัญหาจาก Call Center ที่ผู้สูงวัยประสบปัญหามากมาย ตามหาใครไม่ทันในการดำเนินคดีทรัพย์สินที่สูญหาย ทรัพย์สินเอาคืนไม่ได้  ร้องพนักงานสอบสวนผู้ที่จะดำเนินคดี อยากได้เงินคืนก็ต้องใช้เวลาดำเนินการทางศาล คนยากจน อัยการดำเนินการได้ คดีอาญาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในคดีแพ่ง ถ้ามีการหลอกลวงให้เซ็นเอกสารหรือเซ็นหนังสือมอบอำนาจเอาที่ดินไปให้กับคนอื่น เราต้องพิสูจน์ว่าเป็นการทำนิติกรรมล่อลวง ถูกฉ้อฉลให้ทำนิติกรรมอำพรางด้วย อัยการสามารถดำเนินการให้ได้  มีทนายความอาสา แต่ตามระเบียบต้องเป็นคนยากจน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย”.

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"