ครูชร.บุกทำเนียบ จี้นายกสางทุจริต โอดถูกขู่คุกคาม!


เพิ่มเพื่อน    


     โกงเงินคนจนโผล่อีก! ครูโรงเรียนจังหวัดเชียงรายบุกทำเนียบฯ ร้องนายกฯ เร่งสางปมการใช้งบโรงเรียนไม่โปร่งใส ทั้งงบยากจน อาหารกลางวัน ร้องเรียนไปแล้ว 16 เรื่อง โอดถูกข่มขู่ให้ถอน-คดีล่าช้า-การตรวจสอบไม่เป็นกลาง วงเสวนาต้านคอร์รัปชัน 4.0 ชี้ดัชนีคอร์รัปชันไทยยังสอบตก ทำให้ไม่ก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาเสียที
     เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. ทำเนียบรัฐบาล นางกาหลง จบศรี ข้าราชการครูโรงเรียนไตรมิตรวิทยา อ.เวียงแก่ง จ.เชียงราย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อทวงถาม ติดตาม เร่งรัดผลการตรวจสอบการใช้งบประมาณของโรงเรียนไตรมิตรวิทยา ในสังกัด สพป.ชร. 4 และตรวจสอบการบริหารงานของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่รัฐ
    โดยนางกาหลงระบุว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ร้องเรียนเรื่องการใช้งบที่อาจไม่โปร่งใสไปยังต้นสังกัด แต่กลับได้รับแจ้งให้ถอดถอนเรื่อง และดำเนินการตรวจสอบอย่างล่าช้า อีกทั้งกลุ่มนิติกรและผู้บริหารได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการโน้มน้าวให้คณะผู้ร้องเรียนถอดถอนเรื่อง ประกอบกับผู้บริหารในพื้นที่ไม่มีความเป็นกลางในการตรวจสอบและการเรียกร้องงบประมาณคืนกลับมาให้เด็กนักเรียนตามนโยบายของรัฐบาล อาทิ งบยากจนของเด็ก งบอาหารกลางวัน งบสิ่งปลูกสร้างและซ่อมแซมในโรงเรียน ฯลฯ 
    นางกาหลงระบุว่า มีเรื่องงบประมาณที่ตนได้ร้องเรียนไปทั้งหมด 16 เรื่อง อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 3 เรื่อง ส่วนอีก 13 เรื่องนั้น ตนได้ร้องขอให้หน่วยงานระดับสูงภายในจังหวัดตรวจสอบ แต่ได้รับหนังสือตอบกลับมาว่าไม่มีอำนาจตรวจสอบ ต้องให้ต้นสังกัดตรวจสอบเท่านั้น อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ตนเดินหน้าร้องเรียนภายในจังหวัด ตนได้ถูกคุกคามและกลั่นแกล้งตลอดเวลา
    ครูโรงเรียนไตรมิตรวิทยากล่าวว่า วันนี้ตนจึงมาเพื่อขอให้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในการประพฤติมิชอบและไม่วางตัวเป็นกลาง ไม่มีความเที่ยงธรรมแก่ผู้ร้อง ซึ่งเป็นการเรียกร้องสิทธิให้แก่เด็กนักเรียน โดยขอให้เร่งรัดตรวจสอบ 1.การบริหารงบประมาณเงินยากจนเด็ก และงบบัญชีนอกอื่นๆ ของโรงเรียนนอกเหนือจากเรื่องที่ ป.ป.ช.รับไป ซึ่งปัจจุบันงบประมาณครูการเงินและพัสดุกลับมาทำระบบเดิม โดยใช้เพียงกลุ่มพรรคพวกตนเองในการทำเอกสารและตรวจรับกันเอง การคัดกรองเด็กยากจนยังมีระบบการดำเนินงานที่ไม่ชัดเจน
    2.ขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมการใช้อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบของนิติกร และ ผอ.เขตพื้นที่เชียงรายเขต 4 และกลุ่มครูในโรงเรียนที่มีพฤติกรรมข่มขู่และใช้คำพูดในการโน้มน้าวผู้ร้องให้ถอดถอนเรื่อง และทำตัวไม่เป็นกลางในการตรวจสอบ อีกทั้งมีพฤติกรรมข่มขู่ผู้ร้องและเด็กนักเรียน 3.ขอให้ดูกรอบและอำนาจหน้าที่การตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สพฐ.และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ไม่ชัดเจนและเนิ่นนาน 4.ขอให้ลงพื้นที่สำรวจและวางแผนการจัดสรรงบประมาณลงสู่โรงเรียน โดยให้มีประชามติจากชุมชนและผู้ปกครอง ไม่ใช่สรุปความต้องการจากคณะกรรมการบางส่วนและผู้บริหารตัวแทนท้องถิ่นเท่านั้น เพราะจะทำให้การจัดสรรงบประมาณลงสู่โรงเรียนมีความทับซ้อน และงบก่อสร้างที่จัดสรรขอให้คำนึงถึงตัวเด็กนักเรียนและการใช้งานที่คุ้มค่าและคงทน
    5.ให้ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีอำนาจในการตรวจสอบให้ดำรงความเป็นกลาง ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบและคาดคั้น โน้มน้าวให้ผู้ร้องถอดถอนและเกิดความสับสนกลายเป็นผู้ร้องเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง 6.ตรวจสอบการใช้งบประมาณทั้งระบบ โดยนำองค์กรภายนอกมาร่วมตรวจสอบด้วย และ 7.ตนและผู้ปกครองขอความอนุเคราะห์ให้ภาครัฐดูแลการสร้างอาคารเรียนอนุบาลและโดมสนามเด็กเล่น ซึ่งชาวบ้านร่วมสมทบทุนสร้างขึ้น โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่ถูกกล่าวหาให้ตรวจสอบงบประมาณ และตนก็ถูกกล่าวหาว่าไปเรียกรับเงินบริจาคอีกด้วย
    วันเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร แจ้งวัฒนะ มีการเสวนาหัวข้อ “มหันตภัย คอร์รัปชันยุค 4.0” โดยนายวิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า เราหนีไม่พ้นการจับตาของนานาชาติ โดยเฉพาะองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่จัดอันดับประเทศไทย ในเรื่องของความโปร่งใส (CPI) ในปี 2018 ให้คะแนนที่ 36 คะแนน ลดลง 1 คะแนน จาก 37 คะแนนจากปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่ายังสอบตก และเป็นความน่าสลด เนื่องจากที่ผ่านมาตั้งแต่มีการคำนวณเรื่องความโปร่งใสของทุกประเทศในโลก เราไม่เคยผ่านเกณฑ์ที่ 50 คะแนนเลย ที่แย่ไปกว่านั้นคือ อินโดนีเซีย ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านเรา แซงหน้าเราไปแล้ว หากเราไม่มีการปรับปรุงยุทธศาสตร์เรื่องการป้องกันการทุจริตให้เข้มแข็ง เราจะล้าหลังประเทศอื่นไปเรื่อยๆ
    "การแก้ปัญหาคอร์รัปชันโดยการให้สิทธิและอำนาจองค์กรของประชาชน ในการเคลื่อนไหวและตรวจสอบ กรณีดังกล่าวเคยทำสำเร็จมาแล้วในประเทศเกาหลีใต้ สิ่งสำคัญคือการให้โอกาสคนรุ่นใหม่ทำงานร่วมกับคนรุ่นเก่าเพื่อขจัดปัญหาต่างๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยปราศจากความร่วมมือ” นายวิชาระบุ
    นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า หลังจากการจัดอันดับโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เราก็ยังสอบตกเช่นเดิม หมายความว่าเครื่องมือทางกฎหมาย การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนยังได้ผล ไม่สมกับความพยายามที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นเรื่องคอร์รัปชัน 4.0 ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ไทยไม่ก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วเสียที
    “สิ่งที่ผมพยายามทำอย่างต่อเนื่อง คือการสร้างการเมืองสีขาว ไม่รับทุนสามานย์ ไม่คอร์รัปชัน ยืนหยัดในหลักธรรมาภิบาล แต่สิ่งเหล่านี้จะสำเร็จได้ต้องอยู่กับประชาชน ในการเลือกผู้แทนเข้าไปในสภา ที่ผ่านมามีเคสการคอร์รัปชันที่พบอย่างมากมาย แต่ปัญหาใหญ่คือกระบวนการลงโทษการทุจริตถึงยาวนานมาก นี่คือเหตุผลที่เราต้องปฏิรูป” นายอลงกรณ์ กล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"