ภาวะฉุกเฉินแห่งชาติกับการขยายอำนาจเบ็ดเสร็จของประธานาธิบดี


เพิ่มเพื่อน    

 

                หลังพรรครีพับลิกันกับเดโมแครตบรรลุข้อตกลงอนุมัติงบประมาณ 1.375 พันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโก แต่ประธานาธิบดีทรัมป์บ่นว่าไม่พอใจเท่าไหร่นัก ไม่กี่วันต่อมาทรัมป์ประกาศยอมรับข้อตกลงของ 2 พรรค พร้อมกับประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ (national emergency) เพื่อให้ได้งบสร้างกำแพงเพิ่มเติมอีก 8 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ขอไว้ 5.7 พันล้านดอลลาร์

                ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า “เรากำลังเผชิญหน้าวิกฤติความมั่นคงแห่งชาติที่พรมแดนตอนใต้ของเรา” การรุกรานจากยาเสพติด แก๊งอาชญากรและคน (ผู้อพยพต่างชาติ)

                เรื่องนี้ต้องตีความแยก 3 เรื่อง เรื่องแรกคือทรัมป์ยอมรับข้อตกลงที่ได้จาก 2 พรรค แต่ไม่ยอมแพ้การสร้างกำแพงตามที่ต้องการ ที่ร้ายแรงคือการใช้อำนาจภาวะฉุกเฉิน

                พวกพรรคเดโมแครตระบุทันทีว่าผิดกฎหมาย ในขณะที่ฝ่ายรีพับลิกันบางคนเห็นด้วยกับการใช้อำนาจพิเศษนี้

                ผลโพลล่าสุดของ HuffPost/YouGov ชี้ว่าคนอเมริกันร้อยละ 55 ไม่เห็นด้วยกับการประกาศภาวะฉุกเฉิน ร้อยละ 37 เห็นด้วย ผลโพลนี้ให้คะแนนใกล้เคียงกับผลโพลอื่นๆ นั่นคือ คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างกำแพง ในขณะที่ร้อยละ 40 เห็นด้วย โพลนี้คะแนนผู้สนับสนุนลดลงเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วพวกที่สนับสนุนส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนต่อไป

ความหมายของการประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ :

                การประกาศภาวะฉุกเฉินของประธานาธิบดีทรัมป์ตีความได้อย่างน้อย 2 นัย ข้อแรกคือทรัมป์ยืนยันการสร้างกำแพงตามต้องการ โดยไม่สนใจความคิดเห็นของฝ่ายนิติบัญญัติ อีกข้อคือต้องการเพิ่มขยายอำนาจของประธานาธิบดี

                ในประวัติศาสตร์การประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ (national emergency) ใช้ในยามเกิดศึกสงคราม เช่น สงครามโลก สงครามเกาหลี รัฐบาลประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินแห่งชาติเพื่อของบกลาโหมเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวจากปกติ การประกาศเมื่อปี 1933 เพื่อสู้กับ Great Depression ปี 1977 จากวิกฤติน้ำมัน สถานทูตสหรัฐในอิหร่านถูกผู้ก่อการร้ายยึดเมื่อปี 1979

                การประกาศภาวะฉุกเฉินที่ผ่านมามี 3 ลักษณะที่เกิดขึ้น คือ เป็นภัยที่กระทบต่อทุกคนในชาติ หรือคนจำนวนมากอย่างร้ายแรง มีความเร่งด่วน และเมื่อประกาศภาวะฉุกเฉินทุกคนจะได้รับผลจากคำประกาศ

                โดยกฎหมายแล้วประธานาธิบดีสามารถประกาศภาวะฉุกเฉิน ในขณะที่รัฐสภากับศาลสูงสุด (Supreme Court) สามารถยับยั้งคำประกาศของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะศาลสูงสุดมักมีบทบาทในเรื่องนี้

                หลังสงครามเวียดนามกับคดีวอเตอร์เกต (Watergate) จากเหตุประธานาธิบดีใช้อำนาจพิเศษอย่างผิดๆ รัฐสภาให้ความสำคัญกับดูแลการใช้อำนาจพิเศษของฝ่ายบริหารมากขึ้น ป้องกันไม่ได้เกิด “imperial presidency” อันหมายถึงประธานาธิบดีที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญ แต่การใช้อำนาจพิเศษยังคงมีเรื่อยมาในแทบทุกรัฐบาล

การใช้อำนาจพิเศษ :

                เป้าหมายการให้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดี คือ เพื่อตอบสนองภัยคุกคามระดับประเทศที่ต้องอาศัยความรวดเร็วสูงสุด ลดความสูญเสียให้มากที่สุด จึงข้ามขั้นตอนตามระเบียบแบบแผน เช่น ไม่ต้องรอให้สภาประชุมก่อน (การประชุมสภาต้องนัดหมายและรอครบองค์ประชุม) ไม่ต้องรอศาลพิจารณาไต่สวนซึ่งอาจเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียหายหนักจากความล่าช้า เช่น เมื่อเกิดศึกสงคราม ผู้ก่อการร้ายโจมตีอเมริกาในเหตุ 9/11 เกิดภัยพิบัติร้ายแรง

                ในทางปฏิบัติก่อนประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ ประธานาธิบดีจะหารือแกนนำพรรคการเมือง ประธานศาลเพื่อขอคำแนะนำและเห็นชอบเป็นการส่วนตัวหรือในวงประชุมเล็กๆ ดังนั้น แม้ไม่ถูกต้องครบขั้นตอนตามแบบแผน ผู้นำฝ่ายบริหารได้หารือกับผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติและศาลแล้ว ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันให้ประธานาธิบดีใช้อำนาจพิเศษนี้

                ในกรณีการสร้างกำแพง การใช้อำนาจภาวะฉุกเฉินคือการโยกย้ายใช้งบประมาณโดยไม่ผ่านการรับรองจากรัฐสภา พูดให้ชัดคือประธานาธิบดีกำลังใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ทำสิ่งที่ตนเห็นชอบ โดยไม่สนใจว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะคิดเห็นอย่างไร ประเด็นสำคัญไม่อยู่ที่จำนวนเงินหรือการสร้างกำแพง แต่อยู่ที่การใช้อำนาจโดยมิชอบ มีข้อสงสัยว่าประเด็นที่ถกกันอยู่เป็นภัยร้ายแรงระดับชาติหรือไม่ มีความเร่งด่วนจริงหรือไม่ การสร้างกำแพงช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่

                แต่ทรัมป์อ้างว่าทำได้ พยายามชี้ว่าการเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นเรื่องร้ายแรงกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ ต้องรีบเร่งจัดการโดยด่วน

ทรัมป์ตั้งธงแต่แรกแล้วหรือไม่ว่าต้องการประกาศภาวะฉุกเฉิน :

                ประเด็นน่าคิดคือประธานาธิบดีทรัมป์รู้อยู่แล้วว่าฝ่ายเดโมแครตจะไม่ยอมให้สร้างกำแพง เพราะเป็นจุดยืนที่เดโมแครตประกาศไว้นานแล้ว ยิ่งยามนี้ที่เดโมแครตกลับมาเป็นฝ่ายเสียงข้างมากในสภาผู้แทน (หลังชนะเลือกตั้งกลางเทอม) ยิ่งไร้เหตุผลหากจะยอมให้ทรัมป์สร้างกำแพง ดังนั้น ข้อเสนออนุมัติงบ 1.375 พันล้านดอลลาร์น่าจะเป็นทางออกที่ดี ที่ทั้ง 2 พรรคเห็นพ้องต้องกัน แต่ทรัมป์ไม่ยอมหยุดตรงนี้ กลับเลือกที่จะเพิ่มความขัดแย้งด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินที่ครั้งหนึ่งทรัมป์บอกว่าไม่เห็นด้วยเหมือนกัน

                เป็นไปได้ว่าลึกๆ แล้วเป้าหมายที่ทรัมป์ต้องการคือ "ทดลอง" ขยับขยายอำนาจประธานาธิบดี

                ที่สุดแล้วทรัมป์จะสามารถใช้อำนาจพิเศษในภาวะฉุกเฉินแห่งชาติได้หรือไม่ เป็นเรื่องน่าติดตาม เพราะหากทำได้เท่ากับผู้นำฝ่ายบริหารกำลังใช้อำนาจอธิปไตยตามลำพัง (แม้ไม่สมบูรณ์) นับจากนี้ประธานาธิบดีจะทำได้อีกหลายอย่างด้วยการอ้างว่า “เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ” แม้ขัดแย้งความเห็นของพลเมืองส่วนใหญ่ พรรคฝ่ายตรงข้ามที่เป็นเสียงข้างมาก

                ความแหลมคมของเรื่องนี้จึงไม่อยู่ที่การสร้างหรือไม่สร้างกำแพง

                ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ตีตราหลายเรื่องว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคง เช่น ค่าเงินหยวนจีน การขาดดุลการค้ากับบางประเทศ การขึ้นภาษีเหล็ก อะลูมิเนียม ร้อยละ 10 เป็นอีกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เพียงแต่ประเด็นเหล่านี้ยังไม่ใช้ “อำนาจพิเศษ”

                เมื่อไม่นานนี้ทรัมป์เอ่ยเรื่องรถยนต์นำเข้าจากยุโรปอีก พร้อมกับพูดว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ

                คงไม่เกินเลยถ้าจะวิเคราะห์ว่าในอนาคตทรัมป์อาจประกาศขอให้ยุติการสอบสวนไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับตน เพราะเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติเช่นกัน

ประชาธิปไตยอเมริกาเสื่อมถอย :

                ถ้าการสร้างกำแพงเป็นเรื่องวิกฤติของชาติ หลายข้อที่เอ่ยถึงข้างต้นเป็นวิกฤติมากกว่า และจะร้ายแรงขึ้นอีกถ้าในอนาคตประธานาธิบดีทำอีกหลายอย่างด้วยการอ้างเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ

                นี่คือความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยอเมริกาใช่หรือไม่       นักการเมืองอาวุโสมิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney) กล่าวว่า ผู้เป็นประธานาธิบดีต้องแสดงออกถึงความซื่อสัตย์และเสมอต้นเสมอปลาย น่าเคารพยกย่อง เป็นแบบอย่างที่ดี สมกับเป็นบุคคลที่โลกจับตา เรื่องเหล่านี้สำคัญยิ่งไม่แพ้ภาวะเศรษฐกิจ เสรีภาพของคนอเมริกัน ยิ่งโลกถูกปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม (authoritarian regimes) มากเพียงไร โลกกับอเมริกาจะยิ่งยากจน ขาดเสรีภาพและสันติภาพ ตนขอต่อต้านผู้นำที่ทุจริตและบ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย

                จากนี้ต้องติดตามว่า ส.ส., ส.ว.ของพรรครีพับลิกันจะลงมติคัดค้านหรือไม่ เป็นการพิสูจน์ว่าพรรคสนับสนุนประธานาธิบดีของตน และอาจตีความว่าในกรณีนี้พรรครีพับลิกันกับทรัมป์เป็นพวกเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องที่ทรัมป์คิดเองทำเอง

                การต่อสู้ครั้งนี้จะกินเวลาอีกพอสมควร ผ่านอีกหลายกระบวนการ ทั้งหมดบ่งชี้ภาวะประชาธิปไตยของประเทศนี้ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม

                การสร้างกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโกในยามนี้ไม่ใช่วิกฤติการต่อสู้ทางการเมืองของ 2 พรรคเท่านั้น ถ้าคิดไกลกว่านั้นในแง่ร้ายสุดคือการเพิ่มขยายอำนาจประธานาธิบดีให้สามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตามต้องการ แม้ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย แม้พลเมืองอเมริกันส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ ประชาธิปไตยอเมริกากำลังขยับไปสู่ความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้นอีกขั้น.

-------------------------

ภาพ : ชัยชนะคือการชนะเพื่อประเทศของเรา

ที่มา : https://www.facebook.com/DonaldTrump/photos/a.488852220724/10162126324550725/?type=3&theater

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"