โครงการปลูกผักปลอดสาร กับภูมิปัญญาชาวบ้าน


เพิ่มเพื่อน    

    ผมตระเวนสัมผัสชุมชนในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ได้ความรู้และบทเรียนสำหรับการสร้างชาติสร้างบ้านเมืองมากมาย
    นักการเมืองระดับชาติยังไม่เข้าใจความเป็นไปและวิถีของชาวบ้านอย่างแท้จริง
    ล่าสุดผมเจอภูมิปัญญาชาวบ้านของจริง...เมื่อชุมชน "บ้านม่วงใหญ่" ที่มหาสารคามประกาศเลิกใช้สารเคมี หันมาตั้ง "โครงการปลูกผักปลอดสารพิษ" พลังชาวบ้านก็เกิดได้อย่างชัดเจน
    สัปดาห์ที่ผ่านมาผมทำรายการ "ฟังเสียงประเทศไทย คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน" ของ ThaiPBS ได้พบปะกับผู้นำชุมชนและสมาชิกโครงการปลูกผักปลอดสารพิษที่บ้านม่วงใหญ่ ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย  ของจังหวัดมหาสารคาม ได้ความกระจ่างและสัมผัสถึงความมุ่งมั่นของชุมชนท้องถิ่นแห่งนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
    ผู้ใหญ่ปัญญา แสงทามมาตย์ แห่งบ้านม่วงใหญ่บอกว่า ได้เริ่มทดลองมาโครงการนี้มาประมาณสองปีและปีนี้เริ่มเห็นผลที่เป็นกิจจะลักษณะ
    ผู้ใหญ่เด็ดถั่วฝักยาวจากต้นสดๆ มายื่นให้ผม และเราทั้งสองก็เคี้ยวกินสดๆ กันตรงนั้น ทั้งกรอบทั้งหวานอย่างเหลือเชื่อ
    "ตอนนี้เรามีสมาชิกกว่า 40 ครัวเรือนแล้ว และเรากำลังพยายามชักชวนครอบครัวอื่นๆ ที่ยังใช้สารเคมีปลูกพืชผักมาร่วมด้วย บางคนเข้ามาทดลองด้วยการทำทั้งสองวิธี ผมเชื่อว่าอีกหน่อยพวกเขาจะเปลี่ยนมาทำเกษตรปลอดสารพิษแน่นอน เพราะสุขภาพพวกเราดีขึ้น คนเจ็บป่วยน้อยลง และผักที่เราปลูกได้ราคาดีกว่าเดิม...เครือข่ายของเราก็หาตลาดสำหรับผักที่ปลูกอย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติได้ด้วย..." ผู้ใหญ่ปัญญาบอกผมอย่างมั่นใจ
    โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งในรูปแบบของความรู้ อุปกรณ์และการฝึกอบรม
    ชาวบ้านเริ่มทำปุ๋ยคอกของตนและผลิตปุ๋ยฮอร์โมนด้วยไข่และน้ำหมัก ซึ่งใช้บำรุงดินแทนปุ๋ยเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    ความริเริ่มเช่นนี้มาจากผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ความช่วยเหลือและส่งเสริมจากหน่วยราชการมีจำกัด
    โชคดีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเห็นความสำคัญเรื่องนี้ ลงมาถามไถ่ถึงความช่วยเหลือที่ชาวบ้านต้องการ
    หน่วยราชการบางแห่งเมื่อเห็นผลงานของชาวบ้านก็เข้ามาติดป้ายเสมือนอ้างเป็นเครดิตของตัวเอง  ผมถามว่าเป็นเช่นนี้จริงไหม ชาวบ้านบอกว่า "จริงครับ มันเป็นอย่างนี้บ่อยๆ ครับ"
    ไม่ช่วยยังไม่เป็นไร ข้าราชการบางคนมาเห็นงานที่ชาวบ้านริเริ่ม เช่นกรณีการปลูกผักปลอดสารพิษนี้ กลับมาบอกว่าชาวบ้านทำไม่สำเร็จหรอกเพราะมีปัญหาต่างๆ มากมายที่ชาวบ้านไม่อาจจะแก้ได้  ขาดทั้งเงินทั้งบุคลากรและความรู้ความเข้าใจ
    ผู้นำชุมชนฟังแล้วรู้สึกทันทีว่าข้าราชการคนนั้นไม่ได้มีใจที่จะช่วยเหลือ และที่พูดให้เสียกำลังใจเช่นนั้นก็เพราะตัวเองกลัวว่าหากชาวบ้านทำสำเร็จ ตนก็จะไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดขึ้นได้
    นี่เป็นตัวอย่างข้าราชการที่เลวในระดับท้องถิ่นที่สมควรจะต้องถูกถอดออกจากการทำหน้าที่
    เพราะมือไม่พายยังเอาเท้าราน้ำ
    "แต่เราไม่ท้อครับ เพราะเรามั่นใจว่าการที่เราร่วมมือกันอย่างจริงจัง และมีภาคประชาสังคมมาช่วยเหลือเรา อีกทั้งเราก็เรียนรู้ด้วยตนเอง ทำปุ๋ยอินทรีย์อย่างไรเราก็เรียนรู้จากผู้รู้ที่มาเยี่ยมเยียน หรือไม่เราก็ดูจากยูทูบเองได้ เดี๋ยวนี้เป็นยุคดิจิตอลแล้วครับ" 
    นั่นคือคำตอบจากปากของผู้นำชุมชนแห่งนี้ ที่ทำให้ผมมีความมั่นใจว่าการพัฒนาประเทศจากนี้ไปต้องมาจากฐานรากจริงๆ
    บทสนทนาบนท้องไร่ท้องนาและแปลงผักริมห้วยวันนี้ ทำให้ผมเชื่อว่าหากมีการเชื่อมโยงระหว่างการตื่นตัวของชุมชนต่างจังหวัดในการทำเกษตรกรรมปลอดสารพิษกับตลาดในระดับจังหวัดและระดับชาติ ความเปลี่ยนแปลงในชนบทเพื่อการยกระดับปากท้องและการนำนวัตกรรมมาปรับเปลี่ยนวิถีแห่งการเกษตรของเราจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"