‘สภาพัฒน์’ห่วง ตัวเลขจ่าย‘หนี้’ ส่อเค้าเบี้ยวพุ่ง


เพิ่มเพื่อน    

 คนไทยอ่วม "สศช." แถลงภาวะสังคมปี 61 หนี้ครัวเรือนพุ่ง พ่วงด้วยสินเชื่อบุคคลขยับเพิ่มแตะ 10% ขณะที่เงินเฟ้อ ก.พ.62 เพิ่มขึ้น เหตุราคาสินค้าอาหาร-สินค้าเกษตรทะยานขึ้น ชี้เลือกตั้งส่งผลดีเงินสะพัด

    นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2561 โดยพบว่าหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 โดยตัวเลขที่ สศช.รวบรวมได้ล่าสุด พบว่า ณ สิ้นสุดไตรมาสที่ 3 หนี้ครัวเรือนเท่ากับ 12.56 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% คิดเป็นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 77.8% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน
    นายทศพรระบุด้วยว่า ส่วนหนี้ที่เกิดจากการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4/2561 เพิ่มขึ้นกว่า 9.4% สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2547 โดยแนวโน้มเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนเนื่องจากในช่วงปลายปี 2561 ประชาชนเร่งรัดการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงก่อนการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ เม.ย.2562 ส่งผลให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.8% ส่วนสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ก็มีสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้น 12.6% เนื่องจากครบมาตรการรถยนต์คันแรกทำให้มีการซื้อรถยนต์ใหม่ ประกอบกับมีการจัดงานส่งเสริมการขายรถยนต์ในงาน Motor Expo ในช่วงปลายปี 2561
     เลขาธิการ สศช.ระบุด้วยว่า ความสามารถในการชำระหนี้เพื่อการอุปโภคและบริโภคส่งสัญญาณที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคในไตรมาส 4/2561 มีมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% จากปีก่อน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อรวมเป็นสัดส่วน 2.66% ลดลงจากปีก่อนซึ่งอยู่ในระดับ 2.68% ของสินเชื่อรวม ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิตมียอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้น 9.9% ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตที่มียอดค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้น 0.3%
    “หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจมีการขยายตัว และดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น อาจส่งผลต่อการขยายตัวของการบริโภคของครัวเรือนในอนาคต ขณะเดียวกันหากมีปัจจัยมากระทบต่อความสามารถในการหารายได้ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน” นายทศพรกล่าว
     น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ก.พ.2562 เท่ากับ 101.95 เพิ่มขึ้น 0.73% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.2561 ซึ่งถือเป็นการสูงขึ้นในอัตราที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และยังมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างเฉลี่ยและรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และเพิ่มขึ้น 0.24% เทียบกับ ม.ค.2562 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือนปี 2562 (ม.ค.-ก.พ.) เพิ่มขึ้นแล้ว 0.49% 
    น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.73% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 1.89% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 5.15%, เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 4.50%, ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 2.06%, เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.62%, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.61%, อาหารบริโภคนอกบ้านเพิ่ม 1.84%, อาหารบริโภคในบ้านเพิ่ม 1.75% ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 0.09% เช่น หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าเพิ่ม 0.58%, หมวดเคหสถาน เพิ่ม 0.68% แต่น้ำมันเชื้อเพลิง ลดลง 2.23% 
    เธอระบุด้วยว่า สำหรับสินค้า 422 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเทียบกับราคาปีที่ผ่านมา 227 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า เพิ่ม 8.58%, เนื้อสุกร เพิ่ม 14.09%, ไข่ไก่ เพิ่ม 3.90%, นมผง เพิ่ม 3.31%, ครีมเทียม เพิ่ม 0.60%, กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม เพิ่ม 1.92%, ก๋วยเตี๋ยว เพิ่ม 1.38%,  อาหารเช้า เพิ่ม 3.71%, ข้าวราดแกงเพิ่ม 1.34%,  อาหารตามสั่ง เพิ่ม 1.60%, ก๊าซหุงต้ม เพิ่ม 7.29%,  น้ำยาล้างห้องน้ำ เพิ่ม 1.36% สินค้าที่ราคาลดลง 114 รายการ และสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 81 รายการ
    น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 2-10 บาทนั้น สนค.ยังไม่ได้นำมาคำนวณว่าจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเท่าไร เนื่องจากต้องรอให้คณะกรรมการค่าจ้างอนุมัติก่อน แต่เชื่อว่าแม้จะมีการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งเป็นต้นทุนของการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการติดตามดูแล เพื่อไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าโดยไม่สมเหตุสมผลอยู่แล้ว
    "ส่วนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปลายเดือนมี.ค.2562 มองว่าจะส่งผลดีทำให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากมีความต้องการใช้ไม้และวัสดุก่อสร้างจำนวนมาก เพื่อนำมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างปรับราคาสูงขึ้น และเกิดการจ้างงาน ทำให้เงินสะพัดในระดับท้องถิ่นมากขึ้น และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในเดือน พ.ค.2562 ก็จะมีผลดีต่อราคาวัสดุก่อสร้างเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะปูนซีเมนต์ ที่มีการเตรียมมาก่อสร้างเพื่อใช้ในงาน" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"