ความในใจลึกๆ ของ 'อานันท์ ปันยารชุน' จากหนังสือเล่มใหม่


เพิ่มเพื่อน    

    เมื่อวานผมเขียนถึงเบื้องหลังการเขียนหนังสือ ANAND PANYARACHUN AND THE MAKING OF MODERN THAILAND โดย Dominic Faulder ที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนหลายวงการ เป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวชีวิตของอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน อย่างละเอียด สนุกและได้สาระ
    ผมคุยกับคุณอานันท์เรื่องที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ ขอตัดอีกบางช่วงบางตอนของการสนทนามาให้ได้อ่านกันครับ
    สุทธิชัย: หลายบทในหนังสือเล่มนี้เป็นบทเรียนที่มีคุณค่ามาก เพราะพูดถึงเบื้องหลังและวิธีการตัดสินใจ รวมถึงวิธีการประเมินสถานการณ์เพื่อประโยชน์ของประเทศ และในการที่ต้องทำในสิ่งที่เราเองเชื่อ แต่วิธีการโดยให้มันบรรลุเป้าหมาย มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นไปอย่างที่ตัวเราเองต้องการเสมอไป ใช่ไหมครับ? 
    คุณอานันท์: คือผมมีวิธีในการทำงานที่ผมมองว่า 1.ทำเพื่อความถูกต้อง 2.ทำด้วยความยุติธรรม  3.ทำด้วยความรอบคอบ แล้วก็ 4.ผลจะออกมาเป็นอย่างไรเราก็ต้องหวังว่าผลออกมาถูกต้อง 
    บางทีผลออกมาดี บางครั้งผลก็ออกมาไม่ดีหรือไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ เราก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นหลายครั้งที่ผมพูดผมเป็นคนที่เรียกได้ว่ามีชีวิตที่ค่อนข้างจะโลดโผน ขึ้นเขาลงห้วยหรือลงเหวอะไรเยอะแยะ หลายครั้งในชีวิตมีคนกล่าวหา มีคนเข้าใจผิด มีคนกล่าวติเตียนก็มีพอใช้นะครับ แล้วผมก็รับฟังใคร ชมผมผมก็รับฟังแต่เราก็ไม่หลงไม่เหลิง 
    แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดผมว่าบทเรียนที่ผมได้มาจากการที่ปัจจุบันนี้ผมอายุ 86 แล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า คืออะไรเป็นจุดเปลี่ยนของวิธีคิดของผม เพราะว่าหลังๆ มาผมรู้สึกว่าไม่ใช่ตรงนั้น แต่ผมมีคำพูดประโยคหนึ่งที่ผมชอบมากที่บอกว่า ความหลังนี่คือประวัติศาสตร์ อนาคตคือความหวัง ความคาดหมาย  แต่ปัจจุบันคือความจริง 
    ดังนั้นเมื่อผมรู้สึกว่าปัจจุบันนี้ผมอยู่กับความจริงมากกว่า ไอ้ของเก่าที่เป็นประวัติศาสตร์มีทั้งดีมีทั้งไม่ดี มีทั้งถูกมีทั้งไม่ถูก เราไม่เอาเรื่องเก่าๆ มารกหัวใจเรา ส่วนอนาคตนั้นคือความคาดหวัง มันก็มีได้ แต่เราอย่าถือว่าเป็นเรื่องที่มันจะเป็นไปได้ทุกอย่างไป 
    ปัจจุบันมันอยู่กับความจริง เมื่อคุณอยู่กับความจริงคุณเท้าติดดิน เมื่อคุณอยู่กับความจริงคุณจะไม่มีการคาดหวังฟุ้งเฟ้อ หรือไม่ปล่อยให้ความหลังหรือประวัติศาสตร์มาครอบครองวิธีคิดของคุณ ถ้าหากเราอยู่กับปัจจุบันได้เราอยู่กับความจริง วิธีคิดของเราก็ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง
    สุทธิชัย: มีคนบอกผมว่าคุณอานันท์นี่แกอารมณ์ดีตลอด เพราะว่าแกไม่ไปเอาเรื่องในอดีตเรื่องทางลบเรื่องที่กวนใจในอดีตมาใช้กับปัจจุบัน อันนี้จริงใช่ไหมครับ?
    คุณอานันท์: ก็จริง ผมรู้สึกว่าหลังๆ นี้ผมรับความจริงแล้วก็ยอมรับ ไอ้ข้อบกพร่องหรือสิ่งที่ผิดพลาดไปในอดีตแล้วผมก็ขอโทษแล้วก็พยายามปรับตัวเอง ในปัจจุบันนี้ผมต้องถือว่าผมแทบไม่มีศัตรูนะ ผมแทบไม่มี คนที่ไม่เคยไม่ชอบผม ตอนหลังพอมาทำงานร่วมกัน ผมไม่อยากจะเอ่ยชื่อนะแต่หลายท่านบางครั้งบางคราวผมไปล่วงเกินท่านเกินไปหรือไปเข้าใจท่านผิด แต่สิ่งสำคัญนั่นคือผมจำนะไม่ลืม แต่ผมไม่โกรธแค้นไม่อาฆาตพยาบาทไม่อิจฉาริษยา
    สุทธิชัย: สำหรับคุณอานันท์อาจบอกได้ว่าส่วนที่คนชื่นชมมีมากกว่าส่วนที่เป็นทางลบอยู่ แต่ในหนังสือเล่มนี้คนส่วนใหญ่บอกว่าคุณอานันท์เป็นนายกฯ ที่ดีที่สุดของประเทศไทย นี่คือประโยคของคนอื่นพูดนะไม่ใช่คุณอานันท์พูดเอง แต่ว่านี่คือคำตัดสินของคนไทยที่อยู่ในเหตุการณ์ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์โดยตรง แต่ว่าดูจากผลงานที่ทำ 
    คุณอานันท์: ผมว่าหนังสือเล่มนี้มันจะทำให้คนที่รู้จักผมก็จะรู้จักผมดีขึ้น คนที่มีอคติกับผมก็คงมีความหวังว่าไอ้อคติที่เขามี เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็จะรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างก็ไม่ควรจะมีอคตินะ ทำนองนี้ แต่มีหลายคนถามว่าเมื่อผมจบจากการเป็นนายกฯ แล้ว ชอบถามว่าอยากให้ประวัติศาสตร์จดจำผมอย่างไร
    สุทธิชัย: เป็นคำถามคลาสสิก
    คุณอานันท์: ผมก็บอกว่าผมเป็นคนประหลาดนะ ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้ แล้วผมพูดเล่นๆ ลูกสาวก็บอกว่าพ่อพูดอย่างนี้ไม่ได้ เพราะผมบอกว่าผมอยากให้ประวัติศาสตร์ลืมผม (หัวเราะ)
    สุทธิชัย: ในหนังสือเล่มนี้คุณอานันท์พูดตอนหนึ่งว่า คิดว่าภายใน 20 ปีคนก็ลืมแล้วใช่ไหม ผมว่าไม่จริง ผมว่าลูกสาวพูดถูกแล้ว ว่าผลงานที่คุณอานันท์ที่ทิ้งเอาไว้ มันไม่ใช่แค่นายอานันท์ แต่มันเป็นงานของนายอานันท์ ซึ่งมันไม่ใช่เฉพาะนายอานันท์ใช่หรือไม่ 
    ผมมองว่ามันจะอยู่นานเพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับนโยบายระดับสำคัญ มันเป็นการวางมาตรฐานของการเป็นนายกรัฐมนตรี ใครก็ตามแต่ที่เป็นนายกฯ หลังจากคุณอานันท์ จะต้องลำบากเพราะว่าถูกเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่คุณอานันท์วางเอาไว้
    คุณอานันท์: ถ้าผมจะยกตัวอย่างในสมัยที่ผมเป็นทูตอยู่อเมริกา คนก็ไม่ได้รู้ว่าผมมีปัญหากับ (เฮนรี) คิสซินเจอร์ (อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน) อะไรต่างๆ เพราะว่าไม่เคยได้รับเชิญไปทานข้าว ต้องเรียกว่าเรื่องบ้าๆ บอๆ ทั้งนั้น 
    จริงอยู่ที่ตอนนั้นเป็นทูตไทยที่วอชิงตันมันไม่มีความหมาย คิสซินเจอร์เขาก็ต้องคุยกับทูตมหาอำนาจหรือทูตซาอุดีอาระเบีย ส่วนเมืองไทยเราเรียกได้ว่าเป็นประเทศระดับ 2 ระดับ 3 ในสายตาของอเมริกา ซึ่งมันก็เป็นความจริง คนก็ลือไปต่างๆ นานาว่าผมไม่ชอบอเมริกาเพราะว่าผมคล้ายๆ กับไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีตอนอยู่อเมริกา แต่ตอนหลังผมกับคิสซินเจอร์ใกล้ชิดกันมากเลย เป็นเพื่อนรักกันเลย  จริงๆ แล้วคือสิ่งเหล่านี้ผมว่าพอเวลามันผ่านไป ถ้าเผื่อคนได้รำลึกถึงว่าสิ่งที่ได้ยินมา มันไม่ใช่ข่าวจริงเท่าไหร่ มันเป็นข่าวลือ ข่าวอกุศลมากกว่า กับบุคคลในเมืองไทยที่มีชื่อเสียงหลายคนเขาก็เป็นอย่างนั้น ซึ่งผมก็ไม่มีปัญหา และตอนหลังบางคนเขาก็มาชอบผมเสียด้วยซ้ำ
    สุทธิชัย: เสน่ห์ของคนที่พูดตรงไปตรงมาแล้วก็เป็นมิตร ตรงไปตรงมานี้ไม่ใช่ก้าวร้าว แต่หมายถึงว่าพูดตรงไปตรงมา สนุกดีคิดอย่างนี้ได้ด้วยหรือ?
    คุณอานันท์: บางครั้งก็ก้าวร้าวนะ สมัยเป็นหนุ่มๆ (หัวเราะ)
    สุทธิชัย: ก็ตอนนั้นเป็นนักการทูตที่ต้องทำงาน ถ้าไม่พูดตรงๆ...
    คุณอานันท์: ตอนนั้นผมอยู่วงการทูต มันคล้ายๆ กับ...ขอใช้ศัพท์คุณชาติชายแล้วกัน...ม้าลำปาง  มันคล้ายๆ กับมันมี blinkers มันมองแค่นี้ แต่พอหลังจากออกจากกระทรวงต่างประเทศมา อยู่ภาคธุรกิจ ไปยุ่งทางการเมือง รู้จักกับคนมากขึ้น blinkers ที่ปิดสายตามันก็เปิด เวลามันมองมันไม่ได้มองเส้นตรงอย่างเดียว ไอ้นั่นแหละทำให้เปลี่ยน ทำให้เป็นคนที่มีสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่าคอมแพสชัน  (compassion)
    สุทธิชัย: คือมองว่าคนอื่นอาจจะไม่ได้มองอย่างเราก็ได้ใช่ไหม?
    คุณอานันท์: และอีกอย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าผมเปลี่ยนไปคือ เวลานี้ผมเข้าได้กับคนทุกคนนะ
    สุทธิชัย: และโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ด้วย
    คุณอานันท์: แล้ววิธีการก็คือว่า เราต้อง Think positive เราทุกคนมันไม่ได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเลวร้อยเปอร์เซ็นต์
    สุทธิชัย: แต่ว่าการตัดสินใจใหญ่ๆ ที่ผ่านมาในชีวิตทั้งหมดไม่มีอะไรที่เสียใจใช่ไหมครับ?
    คุณอานันท์: ไม่ ผมไม่รู้สึกว่าผมเสียใจอะไรเลย
    สุทธิชัย: นั่นแหละสำคัญที่สุดนะผมว่า รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แน่นอนว่าทุกคนต้องมี
    คุณอานันท์: ที่ต้องระวังก็คือบางครั้งเราอาจจะมีดีกรีมากไป บางครั้งก็อาจจะดีกรีอ่อนไป แต่ในแนวทางในหลักใหญ่นี่ไม่ ผมก็บอกว่าคนเราถ้าพูดความจริง จะผ่านไป 20-30 ปีมันก็อยู่อย่างนั้น  เพราะคุณพูดจากใจไง แต่ถ้าคุณเริ่มโกหก เริ่มปิดบัง คุณจำไม่ได้ว่าคุณปิดบังอะไรบ้าง
    สุทธิชัย: ถ้าคุณโกหกบ่อยๆ คุณต้องความจำดีมากเลยใช่ไหมครับ?
    คุณอานันท์: ใช่ ความจำต้องดีมาก เพราะถ้าหากว่าคุณจำไม่ได้ว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้วคุณพูดว่าอะไรบ้าง เมื่อพูดใหม่มันก็แตกต่างกันแล้ว แต่ถ้าคุณพูดจากใจจริง มันฝังอยู่ในหัวใจ มันออกมาจากใจ มันออกมาจากความจริง
    สุทธิชัย: ถูกต้อง ใช่ ฉะนั้นคุณอานันท์ยึดถือเรื่องนี้ตลอดว่าพูดต้องพูดจากใจ เพื่อที่ตัวเราจะได้ไม่ต้องมาจำว่าเราเคยไปโกหกอะไรไว้บ้าง
    คุณอานันท์: ใช่ สำคัญมาก งานจะหนักมากขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"