ชมพิธีลุยน้ำ-ลุยไฟ งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว


เพิ่มเพื่อน    

(แม้ไฟจะลุกโชนแต่ก็แพ้ความศรัทธาของชายแบกเกี้ยว)

    จังหวัดปัตตานี เป็น 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบกว่า 10 ปี ทำให้หลายคนหวาดผวาๆ ไม่กล้าไปเที่ยว แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยไปเยือนปัตตานีมาแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ รู้สึกชื่นชอบจังหวัดนี้และเมื่อได้มีโอกาสได้กลับมาอีกครั้งก็รู้สึกดีใจจริงๆ และที่พิเศษก็คือ การได้กลับมาปัตตานีเที่ยวนี้ตรงกับช่วงที่มีพิธีสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ณ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง โดยไฮไลต์ของงานคือ พิธีแห่องค์พระทั้งหมด 25 องค์ ลุยน้ำ-ลุยไฟ ซึ่งเป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ หรือตรงกับ 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี จากคำบอกเล่าต่างๆ นานาว่า งานนี้ไม่ใช่เพียงแค่งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวหรือเทพเจ้าที่ประดิษฐานอยู่ภายในศาลเจ้าเล่งจูเกียงซึ่งมีอายุราว 445 ปี แต่ยังเป็นความศรัทธาของลูกหลานและชาวปัตตานี ที่ไม่ว่าจะอยู่ไกลสุดฟ้าแค่ไหนก็จะหวนกลับคืนถิ่นเพื่อร่วมสืบทอดงานประเพณีนี้

(เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว)

    พิธีสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากเรื่องเล่าที่เป็นตำนานว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวได้อาสาออกเรือมาตามหาพี่ชายลิ่มโต๊ะเคี่ยมที่เมืองปัตตานี เหตุเพราะแม่เป็นห่วงและคิดถึงลูกชายอย่างมาก เพื่อให้พี่ชายกลับเมืองจีนไปพบแม่ ซึ่งตลอดระยะเวลาการออกเรือมายังเมืองปัตตานีก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เมื่อมาถึงและได้พบกับพี่ชายที่ลงหลักปักฐานอาศัยอยู่อาศัยที่ปัตตานีแล้ว และยังทำหน้าที่ก่อสร้างมัสยิดกรือเซะอีกด้วย เป็นเหตุทำให้ลิ่มโต๊ะเคี่ยมกลับไปกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไม่ได้ ทำให้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเกิดความเศร้าโศกเสียใจ ผูกคอตายใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์ใกล้กับมัสยิดกรือเซะ ทำให้คนในสมัยก่อนเกิดความศรัทธาต่อความกตัญญูของเจ้าแม่ กราบไหว้บูชาเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2427 ได้มีการย้ายศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจากบ้านกรือเซะมาประดิษฐานที่ศาลเจ้าเล่งจูเกียงในปัจจุบัน

(ขบวนแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวก่อนวันงานสมโภชจริง)

    คณะเดินทางได้มาถึงก่อนงานวันจริง 1 วัน เพราะก่อนงานวันจริงจะมีการขบวนแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวพวกเราชาวคณะต่างพากันถ่ายรูปเก็บภาพบรรยากาศภายในงาน มีร้านค้าขายของดังเช่นงานประเพณีทั่วๆ ไป บางก็เข้าชมพิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จนกระทั่งเสียงตีกลองที่ดังกึกก้องพร้อมกับเสียงโห่ร้อง ทำให้รับรู้ได้ทันทีเลยว่าขบวนแห่เจ้าแม่ใกล้มาถึงแล้ว ขบวนนำโดยการเชิดสิงโตอย่างสนุกสนาน และชาวปัตตานีที่เดินร่วมขบวนเป็นแถวยาวเหยียด แม้เราจะปักหลักอยู่ในระยะไกลแต่เกี้ยวที่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประทับก็มีขนาดใหญ่มาก จนสามารถมองได้เมื่อเกี้ยวผ่านไปยังบริเวณชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งต่างก็จะพากันมาสัมผัสคานเพื่อความเป็นสิริมงคล
    หลังจากที่เสร็จภารกิจต่างๆ นานา ชาวคณะก็พากันเข้าที่พักเก็บแรงไว้ลุยงานต่อในงานสมโภชเจ้าลิ้มกอเหนี่ยววันจริง แต่พิธีกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในงานนั้นได้ถูกกำหนดให้เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาเที่ยงคืน จึงมีพี่ในคณะเดินทางได้สละเวลาไปเฝ้าดูเหตุการณ์ในลานพิธีที่จะเกิดขึ้นในศาลเจ้าเล่งจูเกียง
    ตี 4 กว่าๆ ท้องฟ้ายังไร้แสงสว่าง พวกเราได้เดินทางมายังบริเวณลานพิธีศาลเจ้าเล่งจูเกียง อย่างที่บอกว่าพิธีกรรมได้เริ่มไปแล้ว แต่ก็ยังคงหลงเหลือกลุ่มชายฉกรรจ์ที่หามเกี้ยวองค์พระเข้าบ้านประชาชนละแวกศาลเจ้า โดยชายฉกรรจ์ 4 คน ที่เรียกแบบนั้นก็เพราะว่าคนในพื้นที่ต่างเรียกผู้แบกเกี้ยวนี้ว่าชายฉกรรจ์ อาจจะด้วยร่างกายที่ดูแข็งแรง กำยำ มีความทะมัดทะแมง อดทน ซึ่งทุกคนล้วนเป็นลูกหลานชาวปัตตานีทั้งสิ้น กลับมาที่พิธีกรรม จะมีการนำเกี้ยวที่องค์พระประทับทั้ง 25 องค์ซึ่งจะถูกนำออกจากศาลเจ้าและหามเข้าไปภายในบ้านที่ตั้งโต๊ะบูชา เหมือนกับเป็นการนำความเป็นสิริมงคลมาสู่บ้านและผู้อาศัย

(หามองค์พระเข้าบ้านช่วงเช้ามืด)

    หลังจากที่เสร็จพิธีในช่วงเช้ามืด พวกเราก็ได้เดินลัดเลาะไปตามถนน มุ่งหน้าไปยังบริเวณแม่น้ำปัตตานี สะพานเดชานุชิต จับจองที่นั่งเพื่อร่วมชมพิธีลุยน้ำ ในระหว่างรอนี้ได้มีโอกาสฟังพี่ร่วมทริปที่ได้เฝ้าดูพิธีกรรมตั้งแต่เริ่มเล่าให้ฟังว่า ด้านในศาลเจ้าจะมีแต่คณะกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนคนอื่นจะรออยู่ด้านนอกทั้งชายและหญิงเต็มด้านหน้าศาล บางคนก็เกาะตามขอบหน้าต่าง ทุกคนต่างมาด้วยความศรัทธา อยากจะชมบารมีองค์เทพ เมื่อเข็มนาฬิกาชี้บอกเวลาเที่ยงคืนก็จะเริ่มมีทอดเบี้ย หรือเรียกว่า โยนไม้เสี่ยงทาย ถ้าเกิดไม้คว่ำหนึ่ง หงายหนึ่ง นั่นก็แปลว่าองค์เทพลงมาสถิตแล้ว

(แบกเกี้ยวเข้าไปภายในศาลเจ้า)

    เมื่อถึงเวลาตี 1 กว่าๆ ก็จะมีการนำเกี้ยวเข้ามาภายในศาลเจ้า มีการแสดงการโห่ร้องสร้างความฮึกเหิม จากนั้นก็อัญเชิญพระหมอหรือโจ๊วซูกง องค์พระประธานทั้งองค์เล็กและองค์ใหญ่ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวองค์เล็กและองค์ใหญ่ องค์ภายในศาลเจ้า และจากบ้านผู้ที่นำองค์เทพเข้าร่วมในพิธีอีก 20 องค์ จากนั้นเวลาตี 4 น่าจะได้ ทั้งผู้คนที่อยู่ด้านในและด้านนอกศาลเจ้าต่างแสดงพฤติกรรม กิริยาที่ฮึกเหิม ส่งเสียงร้องกึกก้องคล้ายกับจะพังประตู มีคนคอยพรมน้ำมนต์ ตีกลอง เมื่อถึงเวลาตามฤกษ์ เกี้ยวก็จะถูกนำไปยังบ้านที่ตั้งโต๊ะบูชาทั่วเมืองปัตตานี
    จนฟ้าสว่างพิธีก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เราเองก็เช่นกันที่มานั่งปักหลักริมแม่น้ำปัตตานี พร้อมกับชาวบ้านที่ทยอยเดินทางมาอยู่เรื่อยๆ จนเกือบเต็มสองฝั่งแม่น้ำและบนสะพาน พอได้ฤกษ์เกี้ยวคันแรกที่มาถึงแม่น้ำปัตตานีคือเกี้ยวพระหมอองค์เล็ก แต่ไม่สามารถที่จะนำข้ามน้ำได้เนื่องจากตัวองค์พระหมอมี่เป็นไม้มีความเก่าแก่กว่า 400 ปี หากนำลงน้ำอาจจะเกิดความชำรุดได้ จึงทำเพียงพรมน้ำแทน

(ชาวบ้านที่มารอชมต่างให้กำลังใจชายฉกรรจ์ผู้แบกเกี้ยว)

    จากนั้นไม่นานเกี้ยวของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวก็มาถึง ภาพที่ชาย 4 คนที่ทำหน้าที่หาม เราคิดว่าเขาต้องมีความแข็งแรงที่สุด ต้องแบกเกี้ยวเจ้าแม่ข้ามน้ำที่มีระยะทางก็ไม่ใกล้มาก เกี้ยวก็มีความหนัก แต่เบื้องหน้าของเราชายผู้หนึ่งที่แบกเกี้ยวทางด้านหลังเริ่มมีอาการอ่อนล้า เกี้ยวเริ่มเทไปทางด้านหลัง ตัวองค์เจ้าแม่เริ่มดิ่งลงน้ำ แต่เสียงเชียร์และกำลังใจจากรอบฝั่ง ความสามัคคีของพวกเขาก็ทำให้พวกเขาผ่านมาได้ และตามมาด้วยองค์เทพอื่นๆ ข้ามน้ำจนครบทั้ง 25 องค์ ในความรู้สึกเราพวกเขาช่างบ้าบิ่น แต่เต็มไปด้วยศรัทธา ที่มีแต่ความสมัครใจทำ โดยไม่ต้องร้องขอ มันยังสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพัน ความรัก ที่ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวไหน แต่ในวันนั้นทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน ช่วยเหลือกัน

(พิธีเดินลุยไฟ)

    ในช่วงบ่ายลานด้านหน้าศาลเจ้าเล่งจูเกียง ก็ถูกจัดให้เป็นลานพิธีลุยไฟ ที่ได้เริ่มจุดไฟมาตั้งแต่ช่วงเช้า และทำการเลี้ยงไฟมาตลอดจนถึงเวลาทำพิธี ตรงลานพิธีถูกกั้นรั้ว เพื่อความระเบียบ และบ่งบอกว่าผู้หญิงไม่สามารถเข้าไปได้ สิ่งที่นำมาใช้ก่อไฟนั้นล้วนมาจากการคัดสรร ไม่ว่าจะเป็นทางมะพร้าวที่ต้องมีการคัดให้มีขนาดเท่ากัน ไม่มีหนาม ที่ใช้เวลาเก็บเป็นแรมปี จากนั้นต้องนำไปล้าง ตากแดด ถ่านที่ต้องมีขนาดเท่ากันอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังมียันต์ข้าวสาร เกลือที่ใส่เข้าไปในกองไฟนั้นด้วย ด้านข้างโอ่งน้ำมนต์ที่นำมาจากบ่อน้ำในศาลเจ้า ทุกสิ่งอย่างที่ใช้ประกอบในพิธีล้วนได้รับการปิดผนึกยันต์ เมื่อได้ฤกษ์เกี้ยวพระหมอองค์เล็กก็เป็นเกี้ยวแรกที่เข้าสู่ลานพิธี หลังจากได้รับน้ำมนต์เรียบร้อยแล้วเกี้ยวแรกผ่านไปไฟยังคงไม่รุนแรงมากนัก
    แต่พอมาถึงองค์เทพกวนอู ไฟในกองถ่านก็เริ่มลุกโชน เปลวไฟสูงเกือบจะเท่าตัวผู้หามเกี้ยว ชายผู้แบกเกี้ยวทั้ง 4 คนก็ไม่หวั่น ทั้งยังโยกเกี้ยวไปมา กระโดดเรียกความกล้าให้กับตัวเอง พร้อมเดินทีละก้าวบนกองไฟ จากนั้นก็สับเปลี่ยนให้ยังผู้กล้าคนต่อไป จนเกี้ยวที่ 25 ผ่านพ้น ครบตามจำนวนรอบ ก่อนจะนำองค์พระเข้าศาลเจ้าในเวลาที่กำหนดไว้ที่ 18.00 น. และในปีนี้ก็จะเป็นปีสุดท้ายที่พระหมอองค์เล็ก และเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวองค์เล็กจะได้เข้าร่วมพิธี เพราะทั้งสององค์มีความเก่าแก่จึงต้องดูแลรักษาอย่างดี หากเป็นเราเองคงจะทนแสบทนร้อนไม่ไหวแน่ แต่สำหรับพวกเขามันคือความเลื่อมใสในองค์พระที่นับถือ มันคือขวัญกำลังใจและสิริมงคลของชีวิตที่ครั้งหนึ่งได้ลุยน้ำลุยไฟเพื่อสิ่งที่เคารพจากหัวใจ แม้พิธีกรรมนี้จะจบลงไปแล้วแต่ภาพที่เราได้เห็นและสัมผัสในวันนั้นคงจะอยู่ในความทรงจำและจดจำความศรัทธาของพวกเขาที่มีต่อสิ่งที่เคารพ จบทริปก็ต้องขอบคุณรูปคนแบกเกี้ยวลุยไฟและรูปพิธีกรรมตั้งแต่เริ่มแรกจากพี่ๆ ในทริปนี้ด้วยที่ได้นำมาแบ่งปันให้ได้เผยแพร่
    นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสเดินทางไปยังมัสยิดกรือเซะ ซึ่งเป็นมัสยิดเก่า มีอายุราวๆ กว่า 200 ปี ส่วนที่เป็นหลังคาคือส่วนที่ยังสร้างไม่เสร็จ ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญ ที่นี่ยังคงมีผู้คนหมุนเวียนมาชมมัสยิด ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามหรือชาวต่างชาติ อีกที่ที่เราได้ไปมาคือ บาราโหม เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ขอบอกเลยว่าถ้าจะทานอาหารกลางวันที่ได้รสชาติแบบพื้นถิ่นแนะนำให้มาที่นี่ เพราะรสชาติอร่อย แถมยังได้เยอะด้วย นั่งกินกลางแม่น้ำฟินสุดๆ หลังจากทานอาหารเสร็จก็สามารถไปเดินชมร่องรอยอารยธรรมสุสานพญาอินทิรา สถานที่ฝังพระศพของเจ้าเมืองปัตตานีพระองค์แรกที่นับถือศาสนาอิสลาม และสุสานกษัตริย์หญิงสามพระองค์ คือ รายาฮีเยา รายาบีรู และรายาอูงูได้อีกด้วยนะ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"