เรืองไกร-จตุพรมาแปลก เลือกตั้งโมฆะล้างไพ่ใหม่


เพิ่มเพื่อน    


     “ประยุทธ์” ปิดประตูรัฐบาลแห่งชาติ อัดอย่านึกกติกาขึ้นมาใหม่ “กกต.” งานเข้า เรืองไกรร้องผู้ตรวจการแผ่นดินให้ชงศาลตีความจัดเลือกตั้ง 24 มี.ค.โมฆะหรือไม่ “ศรีสุวรรณ-เอกชัย” หอบรายชื่อยื่น ป.ป.ช.ฟัน 7 อรหันต์ “จตุพร” วิเคราะห์เทียบการเลือกตั้งยุค 2549-2557 ชี้มีเหตุผลต้องล้างไพ่ใหม่กว่าร้อยเท่า    
     เมื่อวันที่ 9 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าวันนี้อยากให้ทุกคนมีความสุขกันบ้าง ซึ่งเราได้พูดคุยกันมาเยอะแล้วหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่มีปัญหาทางการเมืองอะไรต่างๆ เหล่านี้ ทั้งนี้ อยากให้รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลอย่างเป็นทางการ ซึ่งเขากำลังแก้ปัญหาเป็นระยะๆ ไป เป็นเรื่องกระบวนการของ กกต.
     เมื่อถามถึงกรณีนักการเมืองเสนอรัฐบาลแห่งชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกฯ คิดอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า มันใช่หรือไม่ จะไปได้อย่างไรยังไม่รู้เลย กฎหมาย รัฐธรรมนูญ เขาเขียนว่าอย่างไร กฎหมายเลือกตั้งว่าอย่างไร รัฐบาลจะมาจากไหน อะไรต่างๆ ขั้นตอนยังไม่จบ ฉะนั้นต้องไปดูว่าวัตถุประสงค์ของการออกมาพูดเพื่อต้องการอะไร ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ใครที่นึกอยากกำหนดกติกาขึ้นมาใหม่อะไรก็ได้ มันคงไม่ได้ทั้งหมด ต้องดูกฎหมาย ทำความเข้าใจกับกฎหมายให้ดี
    ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า หลังวันที่ 9 พ.ค. จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งเมื่อ พปชร.เป็นรัฐบาล เราจะดำเนินโครงการและนโยบายที่เราใช้หาเสียงทันที โดยเฉพาะในเรื่องมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ในเรื่องราคาสินค้าเกษตร เพราะจะมีนักการเมืองที่เข้าใจภาคเกษตรมาเป็นฝ่ายบริหารด้วย บวกกับการตัดสินใจที่เด็ดขาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้ และเชื่อว่า ครม.ใหม่จะเป็นที่ถูกใจของประชาชน สามารถนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
    ขณะเดียวกัน ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้เสนอความเห็นไปยังศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.เป็นโมฆะหรือไม่ และการกระทำของ กกต.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เนื่องจากรายงานตัวเลขนับคะแนนเลือกตั้งจำนวนผู้มาใช้สิทธิยังมีตัวเลขที่ต่างกัน จึงทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าผลการเลือกตั้งจาก 92,230 หน่วยอาจไม่ตรงกัน แม้ว่า กกต.จะสั่งให้เลือกตั้งใหม่ 6 หน่วยเลือกตั้งใน 5 จังหวัด ก็ยังไม่ทำให้สิ้นสงสัยกรณีจำนวนผู้มาใช้สิทธิและจำนวนบัตรแตกต่างกันอยู่ 9 คน
    นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า กรณีผู้ใช้สิทธิและผลการนับคะแนนที่คลาดเคลื่อนหรือบัตรเขย่งตามที่สำนักงาน กกต.ชี้แจงว่าเกิดจากการยังนับคะแนนไม่แล้วเสร็จ เป็นการนับคะแนนเพียงแค่ 90% แสดงว่าการนับคะแนนอาจไม่เป็นไปตามระเบียบ กกต.และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 117, 120 และ 123 เพราะการนับคะแนนต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดพัก นอกจากนี้ กกต.ยังระบุว่าความคลาดเคลื่อนส่วนหนึ่งเกิดจากยังไม่ได้นำคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า รวมถึงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรอีกกว่า 2 ล้านใบมานับรวม จึงมีเหตุสมควรให้ผู้ตรวจส่งเรื่องให้ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว ก่อน กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค.
    “ผมเลือกมาร้องกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะมีบทบาทต่อการวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะถึง 2 ครั้ง ในครั้งนี้อยากให้ผู้ตรวจฯ แยกส่งให้ศาลปกครองวินิจฉัยกรณี กกต.กระทำขัดต่อระเบียบ และส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” นายเรืองไกรกล่าว
    ส่วนนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า สำนักงานจะเร่งตรวจสอบคำร้องทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเพื่อส่งเสนอให้ผู้ตรวจฯ พิจารณาโดยเร็ว ว่าคำร้องของนายเรืองไกรอยู่ในอำนาจพิจารณาของผู้ตรวจฯ หรือไม่ และหากเข้าข้อกฎหมายต้องส่งเรื่องไปที่ศาลใดวินิจฉัย
จตุพรฟันธงโมฆะแน่
    ส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 399 รายชื่อ ยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อยื่นถอดถอน กกต.ทั้ง 7 คน กรณีจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในการจัดการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 
    นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่ยื่นร้องต่อป.ป.ช.มีหลายกรณี เช่น กรณีวินิจฉัยให้บัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ไม่เป็นไปตามกฎหมาย กรณีไม่สั่งให้พรรคการเมืองแจงที่มาของการใช้งบประมาณในนโยบายหาเสียง กรณีการเดินทางไปตรวจการเลือกตั้งล่วงหน้าต่างประเทศอย่างไม่เหมาะสม กรณีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรลงคะแนน กรณีไม่เอาผิดกับผู้สมัคร ส.ส.ฐานแจ้งความเท็จที่ยื่นใบสมัคร ส.ส. ทั้งที่รู้ว่าขาดคุณสมบัติ กรณีคํานวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวน เสนอเรื่องต่ออัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อระงับการปฏิบัติหน้าที่และเพิกถอนออกจากตำแหน่งต่อไป 
    โดยก่อนหน้านี้ นายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็นำรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 402 คน มายื่นต่อ ป.ป.ช.ให้พิจารณาถอดถอน 7 กกต. เนื่องจากจัดการเลือกตั้งไม่มีประสิทธิภาพ 
    ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์ Peace News ถึงการเมืองไทยหลังเลือกตั้งว่าไม่ว่าผู้ชนะหรือผู้แพ้ คะแนนปริ่มน้ำด้วยกันทั้งคู่ แม้ฝั่งหนึ่งจะมี ส.ว. 250 เสียงยกมือให้ แต่เมื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรก็ถือว่าตันแล้ว เดินต่อไปไม่ได้ หากจะไปไล่ซื้อ ส.ส.พรรคอื่นหรืองูเห่า ก็จะเกิดวิกฤติศรัทธาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์แบกความดีไว้บนบ่า งูเห่าก็พันคอไปไหนไม่ได้
    “การจัดการเลือกตั้งที่ กกต.ถูกประเมินว่าไม่สุจริต เที่ยงธรรม ทำให้ กกต.ตกเป็นจำเลยสังคม ถ้าเอามาตรวัดเดียวกับการเลือกตั้งปี 2549 และ 2557 การเลือกตั้งปี 2562 มีเหตุผลทำให้เกิดโมฆะมากกว่าเป็นร้อยเท่า และเชื่อว่าการเลือกตั้งหนนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ดังนั้นยิ่งเดินไปข้างหน้า ตัวเลขก็ยิ่งจะเป็นทางตัน ความเชื่อมั่นต่อ กกต.ก็ไม่เกิด ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดกันไว้อยู่แล้วถึงอิทธิฤทธิ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่สร้างความหายนะให้บ้านเมือง แล้วก็เป็นจริงตามนั้น” นายจตุพรระบุ
    ดร.รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า บรรยากาศในบ้านเมืองตอนนี้ไม่เหมือนบรรยากาศของบ้านเมืองที่เพิ่งเสร็จสิ้นการเลือกตั้งเลย ทั้งผลคะแนนและจำนวน ส.ส.ยังไม่ชัดเจน จึงอยากให้ประชาชนคนไทยทุกคนช่วยกันนำประเทศให้กลับสู่ภาวะปกติในเร็ววัน โดยเริ่มต้นด้วย กกต.ซึ่งควรทำให้สังคมได้ความกระจ่างในข้อสงสัยทั้งหมดของการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึงเปิดเผยผลคะแนนดิบรายหน่วย ทำทุกอย่างให้ประชาชนเชื่อว่า กกต.ทำงานด้วยความสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรมอย่างแท้จริง มิได้เป็นเครื่องมือให้กลุ่มอำนาจใดๆ และยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของ กกต. รวมถึงขอวิงวอนให้ศิลปิน ดารา ประชาชน หรือผู้ใหญ่บางคนที่มักสร้างวาทกรรมสุ่มเสี่ยงให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนหยุดพฤติกรรมนั้น เพราะทำให้นึกถึงภาพเหตุการณ์ก่อน 6 ตุลา 2519 หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 
“พท.”เตรียมร้อง“กกต.”
    ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการประชุมของพรรคในวันที่ 10 เม.ย. ในเรื่องข้อกฎหมายที่จะไปท้วงติงต่อ กกต.ในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าอยากให้ กกต.ประกาศให้ชัดเจน และจะทำการทักท้วงอย่างเป็นทางการ เพราะวิธีคิดต้องอิงหลักกฎหมายให้ชัดเจน ซึ่งเราจะเสนอเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานให้ชัดเจนว่าเราประท้วงวิธีคิดคำนวณแบบนี้ และเมื่อหลายฝ่ายได้ทักท้วงแล้ว หาก กกต.ฝืนทำ กกต.ก็ต้องรับผิดชอบ เพราะกฎหมายไม่ได้เปิดโอกาสให้ท่านทำ ดังนั้นเราจะประชุมและมอบหมายให้ไปยื่นหนังสือทักท้วงต่อ กกต.ในวันที่ 10 เม.ย.
    “กกต.ทำให้ตัวเองเสื่อม และเป็น กกต.เองที่ทำให้เกิดความคลางแคลงใจ เรื่องนี้ง่ายมาก เพียงแค่ กกต. ประกาศทุกอย่างออกมาให้ชัดเจน หลักเกณฑ์ที่ถูกต้องควรมีเพียงหลักเกณฑ์เดียวตามกฎหมาย ไม่มีตามอำเภอใจของใคร เพียงแค่ทำแบบนี้ก็จะไม่มีปัญหาอะไรใดๆ ทั้งสิ้น เวลานี้เราไม่ได้เรียกร้องให้ กกต.ทำเพื่อเอาใจพรรคการเมืองใด หรือเอาใจใคร แต่เรียกร้องให้ทำตามกฎหมายที่ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วเท่านั้น” นายภูมิธรรมระบุ
    นายราเมศ รัตนะเชวง รักษาการกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ท้ายที่สุดคาดว่าเรื่องนี้ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากปล่อยให้ถกเถียงกันในสังคมก็ทำให้ไม่จบสิ้น ทางที่ดี กกต.ควรยื่นให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาด เพราะสามารถยื่นตรงได้ เมื่อเกิดมีปัญหาในเรื่องหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ได้ข้อสรุปเป็นที่ยุติลง
    วันเดียวกัน ที่สำนักงาน กกต. นายรณวิต หล่อเลิศสุนทร รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พร้อมด้วย น.ส.สาวิกา ลิมปะสุวัณณะ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 นครปฐม พรรค อนค. เดินทางมายื่นหนังสือถึง กกต.ขอให้นับคะแนนใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.นครปฐม เนื่องจากพบว่าคะแนนที่ประกาศอย่างไม่เป็นทางการอาจผิดพลาด 
    น.ส.สาวิกากล่าวว่า ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการนั้นได้รับคะแนน 35,615 คะแนน เป็นลำดับที่ 2 ส่วนลำดับที่ 1 ได้ 35,762 คะแนน ห่างกัน 147 คะแนน ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยไปยื่นร้องต่อ ผอ.เลือกตั้งเขต 1 นครปฐม เพื่อขอตรวจสอบคะแนน ผอ.เขตระบุว่าเป็นความลับ แต่ภายหลัง กกต.กลางก็ได้แจ้งว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ต่อมาจึงได้รับผลคะแนนมาตรวจสอบ พบว่าคะแนนได้เพิ่มมา 151 คะแนน ขึ้นเป็นลำดับที่ 1 ดังนั้นจึงขอให้ กกต.นับคะแนนใหม่เพื่อความยุติธรรม
    นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. กล่าวถึงข้อเสนอของนายเทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราชของพรรค ที่เสนอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ว่าสนับสนุนนายชวน และเชื่อมั่นว่าจะประคับประคองพรรคด้วยการเสียสละทำหน้าที่ให้พรรค สมาชิกและพี่น้องประชาชนได้แน่นอน 
“การเลือกตั้งที่ผ่านมานายชวนเดินทางไปเกือบทั่วประเทศอย่างแข็งแรง ได้พิสูจน์เป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าอายุเป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น ผมจึงสนับสนุนนายชวนเป็นหัวหน้าพรรคในสถานการณ์นี้ เพื่อประสานคนทุกวัยทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไปครับ" นายวัชระกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"