ไฉน กกต.จึงขอให้ ศาล รธน.วินิจฉัย?


เพิ่มเพื่อน    

    เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยประเด็นหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณเพื่อจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีได้ ก็ย่อมมีคำถามตามมามากมาย
    เช่น จริงหรือที่ กกต.บอกว่า "มีผลขัดหรือแย้ง" กันระหว่างบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกับกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง
    ตอนหนึ่งของข่าวที่ กกต.ออกมาเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา บอกว่าที่ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพราะการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ได้ 150 คนนั้นมีปัญหา
    "...แต่การคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 128 (5) ดังกล่าวมีผลขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 91 (2) และ (4) เนื่องจากมีผลให้พรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะพึงมีได้ตาม (2) ต่ำกว่าหนึ่งคน สามารถได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้หนึ่งคน จึงอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคมีจำนวน ส.ส.เกินกว่าจำนวน  ส.ส.ที่จะพึงมีได้ ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4) แต่หากคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามมาตรา 91 แล้ว จะทำให้ไม่สามารถจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน..."
    เอกสารของ กกต.ฉบับเดียวกันนี้บอกต่อว่า "อีกทั้งหากไม่นำจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ในเบื้องต้นของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าหนึ่งคนไปคิดคำนวณต่อตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง  ส.ส. มาตรา 128 (5) ก็ไม่สามารถคิดคำนวณจัดสรรได้ครบ 150 คนได้เช่นกัน"
    กกต.ก็สรุปว่า "จึงไม่มีวิธีการใดที่จะนำมาคิดคำนวณให้มีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อได้จำนวน 150  คนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 83 ได้"
    ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้มาอย่างละเอียด และได้เสนอสูตรการคำนวณหลากหลายวิธีต่างก็งุนงงกับข้ออ้างของ กกต.เช่นนี้
    เพราะนักวิชาการ นักคณิตศาสตร์ และนักรัฐศาสตร์ที่เกาะติดเรื่องนี้ก็ได้ออกมาแสดงเหตุผลชัดเจนว่ามาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 128 ของกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกันเลย
    หากทำตามขั้นตอนของสาระกฎหมายทั้งสองกรณีก็จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเกินด้วยซ้ำ ต้องใช้วิธีคำนวณตามสัดส่วนหรือบัญญัติไตรยางศ์จึงจะได้ 150 ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    ที่ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงวิชาการและการเมืองนำเสนอวิธีคำนวณออกมาก็อาจจะมี 2-3 สูตรซึ่ง กกต.ก็น่าจะนำไปพิจารณาและตัดสินว่าจะใช้สูตรใดให้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนเท่านั้นเอง
    สองสูตรใหญ่ๆ ที่ผมได้ติดตามอยู่คือ
    สูตรแรกจะจบลงด้วยจำนวนพรรคที่มี ส.ส. ทั้งที่เลือกตั้งมาจากเขตและบัญชีรายชื่อที่ได้รับเลือกตั้งครั้งนี้ 16 พรรค โดยมีพรรคที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคละหนึ่งคน 3 พรรค
    อีกสูตรหนึ่งจะมีทั้งหมด 27 พรรค และมีพรรคที่มี ส.ส.จากบัญชีรายชื่อพรรคละหนึ่งคนถึง 13 พรรค
    คุณอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.บอกนักข่าวว่า ที่ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งเป็นวิธีที่สำนักงาน กกต.คำนวณ และสอดคล้องกับวิธีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สามารถจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อพึงมีได้ครบ 150 คน แต่การอาจไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4) ที่กำหนดหลักการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะเกินกว่าที่พึงมีไม่ได้ โดยการจัดสรรในจำนวนที่ต่ำกว่า 0 อาจถือได้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
    และวิธีการคำนวณตามมาตรา 128 ของกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส. จำเป็นต้องหาข้อยุติให้ชัดเจน แม้ว่าวิธีการคำนวณตามมาตรา 128 ของกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.จะจัดสรรได้ครบ 150 คน แต่อาจติดขัดต่อประเด็นว่าการจัดสรรนี้จะทำให้พรรคการเมืองบางพรรคได้ ส.ส.เกินพึงมีหรือไม่
    คุณอิทธิพรยืนยันว่า การส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นวิธีดำเนินการเหมาะสม และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการประกาศรับรอง ส.ส.ร้อยละ 95 ตามที่กฎหมายกำหนด 
    ประธาน กกต.พูดถึงกรณีที่สำนักงาน กกต.ออกมาแพลมก่อนหน้านี้ว่าอาจจะมีอย่างน้อย 25 พรรคการเมืองได้รับการจัดสรรที่นั่งในสภา
    ท่านบอกว่าเป็นวิธีการคำนวณจากคะแนนเบื้องต้นที่มีอยู่ของแต่ละพรรคการเมือง ไม่ใช่คะแนนสุดท้าย ทั้งนี้นอกจากวิธีการที่สำนักงานคำนวณมา รวมถึงวิธีการอื่นก็อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่
นายอิทธิพรกล่าวด้วยว่า หากคำนวณตามวิธีการของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 128 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะทำให้จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน เพราะนำเศษทศนิยมมาคิด 
    ท่านบอกว่าทราบมาว่าในการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของ กรธ.นั้น ได้วางหลักคิดคำนวณ  ส.ส.บัญชีรายชื่อไว้ก่อน และเมื่อหารือกันแล้วเห็นพ้องกันว่าหลักคิดคำนวณเช่นนี้เป็นวิธีการคำนวณ ส.ส.พึงมี จึงนำไปเขียนให้เป็นมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ
    "วิธีการคำนวณที่ กรธ.คุยกัน จึงเป็นที่มาของมาตรา 91 ไม่ใช่มีการบัญญัติมาตรา 91 ก่อนและค่อยหาวิธีคำนวณ โดยในการร่างมาตรา 91 นั้น เหตุที่วิธีการคำนวณมีความยาว กรธ.จึงนำไปใส่ไว้ในกฎหมายลูกแทน" คุณอิทธิพรบอกนักข่าว
    "ยังมีข้อถกเถียงกันถึงเลขทศนิยม ที่น้อยกว่า 1 เช่น 0.8 จะถือว่าเกินกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงมีหรือไม่ เพราะศูนย์อยู่ข้างหน้า ผู้รู้คณิตศาสตร์บอกว่า เลขศูนย์ก็เป็นเลขที่นำมาคำนวณได้ แล้วอยู่ๆ จะไปตัดทิ้ง ทั้งนี้การคำนวณมาตรา 91 ในครั้งนั้นไม่มีใครคิดว่าจะมีพรรคใดได้จำนวน ส.ส.มากกว่าจำนวน  ส.ส.พึงมี ซึ่งวิธีการนี้ก็มีวิธีติดไว้ข้างฝานานแล้ว" ประธาน กกต.บอก
    พรุ่งนี้ผมจะนำเอาวิธีคิดของนักคณิตศาสตร์, นักรัฐศาสตร์ และนักสังคมศาสตร์มาเล่าให้ฟังครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"