"ระเบิดแก่งโขง" จุดจบมหานทีนานาชาติ


เพิ่มเพื่อน    

แม่น้ำโขง มหานทีที่หล่อเลี้ยงคนลุ่มน้ำโขงเผชิญโครงการพัฒนาที่เสี่ยงทำลายระบบนิเวศ

 

     ความพยายามปัดฝุ่นเดินหน้าโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เพื่อเปิดทางให้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่จากประเทศจีนมุ่งหน้าสู่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาวสะดวกขึ้น ยังเป็นที่จับตามองของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตลอดจนชาว อ.เชียงแสนและ อ.เชียงของ เนื่องจากมีความคิดเห็นต่างๆ ที่มองว่าโครงการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อแม่น้ำโขง  ทำลายวิถีชีวิตประชาชนที่พึ่งพาน้ำโขงในการหาอยู่หากิน

      เวทีเสวนาเรื่อง "ระเบิดแก่งโขงมหานทีรอวันอวสาน" ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นักเขียนรางวัลลูกโลกสีเขียวและสื่อสิ่งแวดล้อม จัดโดยสถาบันลูกโลกสีเขียวและสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งได้หยิบยกประเด็นระเบิดแก่งแม่น้ำโขงที่อยู่ในกระแสความสนใจมาพูดคุย ทั้งยังบอกเล่าการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง จากการสร้างเขื่อนของจีน ส่งผลให้ระบบนิเวศน้ำโขงขาดสมดุล ซึ่งในการเสวนามีผู้สนใจฟังจำนวนมาก

      ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล นักเขียนรางวัลลูกโลกสีเขียว ผู้ ติดตามความคืบหน้าโครงการปรับปรุงร่องน้ำโขงมานานบอกว่า เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือแม่น้ำโขงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษาร่างมาตรการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการ มีชาวบ้านส่วนหนึ่งเข้าร่วมประชุมกับทางกลุ่มรักษ์เชียงของ และชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการก็ตกใจกับโครงการที่จะเกิดขึ้น ทั้งที่เมื่อปลายปี 2562 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประชุมร่วมกับ 4 ประเทศมี ไทย จีน พม่า และลาว และให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่า จีนรับฟังข้อกังวลของชาวไทย ลาว พม่า ว่ายอมยกเลิกโครงการระเบิดเกาะแก่งแล้ว ซึ่งสร้างความสับสนให้กับประชาชนไม่มีสิ้นสุด   เพราะทางหนึ่งให้ข่าวหยุดโครงการ แต่อีกทางหนึ่งเดินหน้าจัดเวที ทำให้ต้องจับตาดูจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะถ้าระเบิดแก่งน้ำโขงในช่วง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ระบบนิเวศเสียหายแน่นอน ส่วนคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงเป็นองค์กรร่วมระหว่างรัฐบาล แต่ในทางปฏิบัติไม่มีอำนาจลงมติใดๆ จึงถือเป็นจุดอ่อน

      “ จีนจะระเบิดแก่งโขงเพื่อเปิดทางให้เรือสินค้าเข้าสู่ไทยลาวและพม่าได้ง่ายขึ้น ก่อนหน้านี้จีนระเบิดเกาะแก่งบริเวณพรมแดนพม่ากับลาวไปแล้ว แต่มาติดร่องน้ำที่คอนผีหลง ซึ่งเป็นแก่งหินขนาดใหญ่ใน อ.เชียงของ เป็นจุดที่จีนอยากระเบิดออก ทั้งที่มีทางเลือกขนส่งทางถนนเราสร้างถนนสาย R3A เชื่อมไทยลาวและจีนตอนใต้ส่งเสริมเศรษฐกิจแล้ว ยังมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงอีกเส้น   ไม่ใช่ไม่มีทางอื่น ทำไมไม่ใช้ให้คุ้มค่ากับการลงทุน" ฐิติพันธ์ กล่าว

 

 

      นักเขียนรางวัลลูกโลกสีเขียวบอกด้วยว่า "ครูตี๋-นิวัฒน์  ร้อยแก้ว" ผู้ปกป้องแม่น้ำโขงในนามกลุ่มรักษ์เชียงของ  เคยเปรียบเทียบการสร้างทำนบบนน้ำโขงทำให้แม่น้ำไม่สามารถทำหน้าที่ตามระบบนิเวศของตัวเองได้ เทียบกับการทุบเขื่อนทิ้ง พบว่าภายใน 30 ปี ระบบนิเวศอาจฟื้นคืนมา ขณะที่การระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงถ้าเอาโขดหินออกแล้วกลับคืนไม่ได้ สื่อความล่มสลายได้ชัดเจน

      ฐิติพันธ์ บอกด้วยว่า ได้เขียนบทความเรื่องการระเบิดแก่งโขงมหานทีรอวันอวสาน ตีพิมพ์เดือนสิงหาคมปี 2560 ในนิตยสารสารคดี และได้รางวัลลูกโลกสีเขียว เนื้อหานำเสนอเรื่องราวแม่น้ำโขง แม่น้ำนานาชาติที่มียาวกว่า 4,900 กิโลเมตร ซึ่งโครงการระเบิดเกาะแก่งจะเกิดขึ้นใน 4 ประเทศ รวมระยะทาง 500-600 กิโลเมตร คิดเป็น 1 ใน 8 ของแม่น้ำโขงทั้งหมด หากปล่อยให้มีการปรับปรุงร่องน้ำต่อไป มองว่าแม่น้ำโขงจะไม่ใช่แม่น้ำโขงที่คนสองฝั่งแม่น้ำรู้จัก เพราะแม่น้ำจะเปลี่ยนแปลงไป

      “คนเชียงของมีคำพูดต่อกันมาว่าหินอยู่กับต้า หมายถึงท่าเรือผาอยู่กับน้ำ สะท้อนผาหรือแก่งเป็นของคู่กับน้ำโขง ถ้าขาดไปก็ไม่เหมือนเดิม ชาวบ้านบอกแม่น้ำโขงจะเหมือนรูปหน้าของหญิงสาวที่ไม่มีคิ้ว ไม่มีรอยยิ้มอีกต่อไปแม้จะระเบิดเส้นทางเพียง 1 ใน 8 ของแม่น้ำทั้งสาย" ผู้เขียนเผยที่มาของชื่อระเบิดแก่งโขงมหานทีรอวันอวสาน  

      ด้านนิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์ กรรมการตัดสินรางวัลลูกโลกสีเขียวกล่าวในเวทีเดียวกันว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำของอุษาคเนย์ แต่ปล่อยให้ประเทศมหาอำนาจกำหนดทิศทางการขึ้นและลงของแม่น้ำโขงเพื่อเอื้อประโยชน์ในการเดินเรือ ทุกวันนี้สัตว์น้ำหลายชนิดหายไป และยังมีโครงการระเบิดแก่งที่เตรียมจะเกิดขึ้นอีก ประธานหอการค้าเชียงแสนเล่าให้ฟังว่า จีนเวลาล่องเรือสินค้าจะเปิดเขื่อนเพิ่มระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะได้ไม่ติดแก่งและปลอดภัย ถ้าเรือสินค้าไม่แล่นก็ปิดเขื่อนแน่นอน ผลกระทบตกกับคนท้ายน้ำทั้งขึ้นทั้งล่อง นอกจากนี้ การระเบิดแก่งย้ายหินกระทบการประมงชาวบ้านใช้อุปกรณ์หาปลาแบบเดิมไม่ได้แล้ว  เพราะนิเวศแม่น้ำเปลี่ยนแปลงชุมชนริมน้ำโขงเสียรายได้

      ขณะที่วุฒิศานติ์ จันทร์วิบูล นักเขียนเจ้าของผลงาน "การกลับมาของนกนางนวล” กล่าวว่า ตนใช้งานเขียนสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเล่มนี้ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงและกิจกรรมที่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ มีเนื้อหาเชื่อมโยงเรื่องเล่าขานของชาวเชียงของ บอกต่อกันมาอยู่เสมอว่าเมื่อใดที่มองเห็นนกนางนวลบินขึ้นมาจากปลายน้ำ นั่นหมายความว่าจะมีปลาบึกว่ายทวนแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ ตัวละครนกนางนวลบินไปต้นน้ำโขงเห็น 4 เขื่อนใหญ่ที่สร้างกั้นแม่น้ำ สื่อถึงว่าน้ำโขงกำลังเจอปัญหา ส่วนปลาบึกเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว อยากให้ผู้สนใจเรื่องแม่น้ำโขงได้อ่านส่วนโครงการระเบิดแก่งน้ำโขง เชื่อว่าจะสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับระบบนิเวศ จากแม่น้ำจะกลายเป็นคลองส่งน้ำ มีประโยชน์เพียงทางน้ำไหล หรือแค่ให้เรือสินค้าแล่นผ่าน อยากให้การพัฒนาโครงการใดๆสอดคล้องกับวิถีชีวิตและไม่สร้างปัญหาให้คนรุ่นต่อไป

      นอกจากเสวนาสีเขียวแล้ว สถาบันลูกโลกสีเขียวชวนชุมชนบุคคลที่อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยกายและใจตลอดจนกลุ่มเยาวชนงานเขียนและสื่อมวลชนที่มีผลงานอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า เป็นรูปธรรม  ส่งผลงานเข้าประกวดรางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 20 ตอนนี้ประเภทงานเขียนความเรียงเยาวชนและสื่อมวลชน ยังเปิดรับผลงานถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ นับเป็นอีกช่องทางกระตุ้นจิตสำนึกและสร้างการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"