มะกัน-จีนเลิกสงครามการค้า ไทยต้องระวังผลข้างเคียง!


เพิ่มเพื่อน    

    สัญญาณในทางบวกเกี่ยวกับการเจรจาสงบศึกการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนอาจจะไม่ใช่ข่าวดีนักสำหรับประเทศต่างๆ ที่ได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการทำสงครามทางการค้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่
    ข้อตกลงใดๆ ที่สองประเทศนี้จะประกาศเพื่อลดความตึงเครียดระหว่างกันจะต้องมีเงื่อนไขว่าจีนจะซื้อสินค้าของสหรัฐมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
    นั่นย่อมแปลว่าจีนอาจจะต้องลดการซื้อสินค้าจากหลายๆ ประเทศ รวมถึงจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปด้วยในตัว
    เผลอๆ อาจจะต้องลดการนำสินค้าเข้าจากหลายๆ ประเทศในอาเซียน (รวมทั้งไทย) จากระดับที่เคยซื้อจากเรา
    เพราะปักกิ่งต้องแสดงความจริงใจที่จะ “สงบศึก” กับวอชิงตัน นั่นหมายถึงการยอมตั้งเป้าสินค้านำเข้าจากอเมริกาสูงขึ้น
    นั่นย่อมหมายความว่าจะซื้อจากคนอื่นน้อยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ค่อนข้างจะแน่ชัดแล้วก็คือ จีนจะรับปากที่จะซื้อสินค้าเกษตรและพลังงานจากสหรัฐเพิ่มขึ้นตามเป้าการนำเข้าใหม่ที่ตกลงกับสหรัฐ
    ก่อนหน้านี้มีการวิเคราะห์ว่า อย่างน้อย 4 ประเทศในเอเชียที่ได้ประโยชน์จากความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน
    นั่นคือไทย, เวียดนาม, ไต้หวันและมาเลเซีย
    ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลว่า 4 ประเทศที่ได้รับผลกระทบทางลบน่าจะเป็นฮ่องกง, มองโกเลีย, สิงคโปร์และเวียดนามเช่นกัน
    แปลว่าเวียดนามอยู่ในฐานะทั้งได้และเสีย
    เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ของไทยเคยประเมินว่า บวกลบคูณหารแล้ว ประเทศไทยน่าจะได้มากกว่าเสีย แต่ก็ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนที่จะพิสูจน์ได้ว่าเราได้ประโยชน์จริงๆ เท่าไหร่
    จะว่าไปแล้วผมไม่แน่ใจว่าไทยเราได้ใช้โอกาสนี้สร้างความได้เปรียบหรือไม่ ส่วนเวียดนามนั้นมีการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญว่าน่าจะได้ประโยชน์
    เวียดนามติดอยู่ใน 4 อันดับแรกที่จะได้รับผลกระทบจากทิศทางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะเดียวกันเวียดนามก็เป็น 4 อันดับแรกที่จะได้รับประโยชน์จากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองชาตินี้ด้วยเช่นกัน
    สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือโลก Moody’s บอกว่า 4 ประเทศในเอเชียแปซิฟิกน่าจะได้รับประโยชน์จากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ได้แก่ มาเลเซีย ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม 
    แต่ในการจัดอันดับเดียวกันนี้ก็พบว่า 4 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบด้านลบจากสงครามการค้าของสองมหาอำนาจ ได้แก่ ฮ่องกง มองโกเลีย สิงคโปร์ และเวียดนามอีกเช่นกัน
    สำนักข่าววีโอเออ้าง นายคริสเตียน เดอ กุซมัน รองประธาน Moody's Investor Service ในสิงคโปร์แสดงความเห็นว่าเวียดนามได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าประเภทที่จีนได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ซึ่งจะให้ผลดีแค่ในระยะสั้น
    แต่นายเซียน เฟนเนอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Oxford Economic ในสิงคโปร์ มองว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และมาตรการปกป้องทางการค้าผ่านการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จะทำให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก 
    ทั้งไทยและเวียดนามในฐานะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและการลงทุนต่างชาติจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกอย่างไม่ต้องสงสัย
    ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศแนะว่า เวียดนามควรปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้อ่อนไหวไปตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ โดยปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในให้เป็นระบบตลาดเสรีมากขึ้น รวมทั้งการลดเงินอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง บริการสาธารณสุข และลดการอุดหนุนด้านพลังงานไฟฟ้า 
    อีกทั้งยังมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ค่อนข้างหนักหน่วง 
    หอการค้าเวียดนามบอกว่าเมืองใหญ่อย่างนครโฮจิมินห์และกรุงฮานอยของเวียดนาม แทบไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในพื้นที่เลย
    เคยมีคนเปรียบเปรยว่าเมื่อช้างสารรบกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ
    แต่ต้องไม่ลืมสัจธรรมโลกอีกข้อหนึ่งว่า
    เมื่อช้างสารกลับมาคืนดีกัน กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันอย่างสนิทสนม หญ้าแพรกก็แหลกได้เหมือนกัน
    อย่างที่เรากำลังจะเห็นกันอยู่ในเร็วๆ นี้
    ดังนั้น อย่าได้ตกอยู่ในความประมาทเป็นอันขาด
    ยักษ์ใหญ่ทะเลาะกัน เราไม่ต้องถือหางใคร ระวังผลร้ายทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ดี
    ยักษ์ใหญ่รักกันเมื่อไหร่ ก็อย่านึกว่าเราจะได้ประโยชน์ ตรงกันข้าม เมื่อเขาตกลงกันได้ เราอาจกลายเป็นเหยื่อก็ได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"