ค่าโง่โฮปเวลล์1.2หมื่นล.


เพิ่มเพื่อน    

23ch01
    ซ้ำซาก! ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีค่าโง่โฮปเวลล์ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจ่ายชดเชย 11,888.75 ล้านบาท ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน "บิ๊กตู่" ยัวะด่าอยู่ได้รัฐบาลไหนทำ  ต้องมาแก้ในรัฐบาลนี้กี่เรื่องแล้ว "วิษณุ" ยัน ม.44 ชักดาบไม่ใช่ทางเลือก 
    เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ห้องพิจารณาคดี 8 ชั้น 3 ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางเป็นยกคำร้อง มีผลให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ต้อง ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 8 พ.ย.51 โดย รฟท.ต้องคืนเงินชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากการบอกเลิกสัญญา รวมเป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท 
    ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท เงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี คืนหนังสือค้ำประกัน และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์จำนวน 16,535,504 บาทให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่คดีถึงที่สุด
    คดีนี้เริ่มต้นในช่วงปี 2533 มีการเปิดประมูลโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท โฮปเวลล์โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้างของฮ่องกง  มีการเซ็นสัญญาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 โดยสัญญาสัมปทานมีอายุยาวนานถึง 30 ปี โดยบริษัทโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมด ใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี 
    ต่อมาเกิดการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้มาก โดยบริษัท โฮปเวลล์ อ้างเหตุที่ก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากการรถไฟฯ ไม่ส่งมอบที่ดินให้ได้ตามข้อตกลง ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงิน เกิดปัญหาเศรษฐกิจหลายด้านทำให้โครงการต้องล้มเลิก และเริ่มทำต่อในหลายรัฐบาลก่อนจะหยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิงในช่วงปี 2540-2541
    บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ยื่นฟ้องกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ เป็นจำนวน 5.6 หมื่นล้านบาทจากกรณีบอกเลิกสัญญา โดยที่การรถไฟฯ เองก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายในการเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการเป็นจำนวน 2 แสนล้านบาท พ.ศ.2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ คืนเงินชดเชยแก่บริษัท โฮปเวลล์ 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากกรณีบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในกรณีพิพาทการบอกเลิกสัญญา 
    โดยเมื่อวันที่ 13 มี.ค.57 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการวันที่ 30 ก.ย.51 และ 15 ต.ค.51 และให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ  ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาแก่โฮปเวลล์ตามเหตุผลข้างต้น
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ว่ารอฟังคำพิพากษาก่อน ตนไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง และเขายังเจรจากันอยู่ โครงการนี้ใครทำและรัฐบาลไหนแก้ รัฐบาลนี้ต้องมาแก้ หลายเรื่องแล้วที่รัฐบาลแก้ไป ทั้งใช้มาตรา 44 เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้วและแก้ไม่ได้ 
    "ถ้าบอกว่าไม่ต้องแก้ ให้ปล่อยอย่างนี้ ก็จะโดนเขาฟ้องมากขึ้นไปเรื่อยๆ เอาหรือไม่ รัฐบาลนี้แก้ยังโดนด่าเลย ไม่ใช่รัฐบาลนี้ไม่แก้ ต้องไปด่าคนไม่แก้สิ" นายกฯ กล่าว
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คำสั่งศาลปกครองถือว่าสิ้นสุดแล้ว แต่รายละเอียดคำพิพากษาว่าอย่างไรนั้นตนยังไม่ได้ดู เรื่องนี้กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าของเรื่อง จึงต้องไปทำการบ้านแล้วรายงานเข้าที่ประชุม ครม. ตนคงจะได้พิจารณาก่อน แต่ยังไม่ทราบว่าจะใช้เวลานานเท่าใดในการศึกษา เนื่องจากคำพิพากษาฉบับเต็มยังไม่ออกมา คาดว่าจะใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง
    ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐต้องไปไล่เบี้ยกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เห็นชอบให้ยกเลิกสัญญาหรือไม่  รองนายกฯ ตอบว่าขอเวลา ตอนนี้ยังนึกไม่ออก ก่อนหน้านี้นายกฯ ได้มอบหมายให้ตนติดตามคดีความสำคัญซึ่งรัฐถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและรัฐเป็นผู้ฟ้อง มีกว่า 30 คดี โดยติดตามแล้วรายงานให้ ครม.ทราบว่ามีคดีอะไรบ้าง อยู่ในขั้นตอนใดแล้ว โดยคดีโฮปเวลล์เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ที่ผ่านมาตนได้ยกคดีต่างๆ ขึ้นมาแจ้งเตือน ครม.เป็นระยะๆ เพื่อให้กระทรวงเจ้าของเรื่องช่วยติดตาม
    เมื่อถามว่า กรณีนี้จะสามารถใช้มาตรา 44 ช่วยให้รัฐไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าไม่ถือว่าเป็นทางเลือกของรัฐ รัฐจะไม่ใช้มาตรา 44 ในกรณีดังกล่าว ส่วนจะทำได้หรือไม่ตนไม่ทราบ เพราะที่ไม่ทำนั้นเพราะทำไม่ได้ เนื่องจากไปลบล้างคำพิพากษาศาล แต่อาจใช้ทำอย่างอื่น เช่น การเจรจาต่อรองกัน ซึ่งอาจไม่ถึงขั้นต้องใช้มาตรา 44 ก็ได้
    ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้รับรายงานจากการรถไฟแห่งประเทศไทยในเบื้องต้นแล้ว และได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรายงานคำพิพากษาดังกล่าวต่อคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อรับทราบและพิจารณาแนวทางการดำเนินงานตามผลแห่งคำพิพากษา ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อรายงาน ครม.รับทราบและพิจารณาแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปตามผลแห่งการบังคับของคำพิพากษาดังกล่าว รวมถึงการดำเนินการตามกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของผู้รับผิดชอบที่ผ่านมาต่อไป
    นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 เม.ย.นี้จะส่งคนไปคัดสำนวน หลังจากนั้นจะสรุปทำความเห็นเพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์หน้า ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ส่วนการหาคนผิดก็ต้องไปไล่บี้กันต่อ ทำตามกระบวนการไป ตอนนี้ยังไม่อยากพูดอะไรมาก ขอให้ความชัดเจนออกมาก่อน แต่อย่างไรก็แล้วแต่จะมีขั้นตอนดำเนินการต่อไปกับเรื่องนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"