ประเทศไทยต้องไม่ตกขบวน 5G


เพิ่มเพื่อน    

 

อย่างที่ทราบกันดี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีความตั้งใจที่จะผลักดันเทคโนโลยี 5G ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยภายในปี 2563 โดยในระหว่างนี้เป็นช่วงระหว่างการจัดเตรียมคลื่นตามโรดแมปที่จะมีการเปิดประมูลคลื่นจำนวนรวมอย่างน้อย 280 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับการใช้งานในปี 2562 นี้ แบ่งเป็นคลื่นย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 90 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์อีกราวๆ 190 เมกะเฮิรตซ์

              

สาเหตุที่จะต้องจัดเตรียมคลื่นไว้จำนวนมากขนาดนี้ ก็เพราะมีการประมาณการกันไว้ว่า ยุค 5G นั้น จะมีปริมาณการใช้งานและรับส่งข้อมูลจำนวนมหาศาลเพิ่มมากกว่า ยุค 4G ถึงประมาณ 10-100 เท่า ดังนั้นเมื่อมีปริมาณการรับส่งข้อมูลมหาศาล จำนวนคลื่นความถี่ที่จะมารองรับก็จะต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งประเมินกันว่า ผู้ให้บริการ 5G แต่ละราย อาจจะต้องใช้คลื่นในการให้บริการไม่ต่ำกว่า 100 เมกะเฮิรตซ์ เลยทีเดียว ดังนั้นการจัดเตรียมคลื่นความถี่ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช. ก็จะต้องมีมากขึ้นไปด้วย

สำนักงาน กสทช. ระบุว่า ในปี 2562 จะมีการจัดเตรียมคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ โดยมีปริมาณ (Bandwidth) สูงสุด 90 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์การประมูล โดยอยู่ในขั้นตอนของการประเมินราคาเริ่มต้นและเงื่อนไขของการประมูล ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ นั้น อยู่ในขั้นตอนดำเนินการเรียกคืนคลื่นความถี่ เพื่อนำกลับมาจัดสรรด้วยวิธีประมูล

 

จะเห็นได้ว่าด้วยกระบวนการทั้งหมด กสทช. มีความตั้งใจอย่างมากที่จะพยายามให้ไทย ไม่ตกขบวน 5G และจะต้องเทียบเคียงประเทศชั้นนำ อย่างเกาหลีใต้ที่ได้เริ่มเปิดให้บริการ 5G ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นที่มีแผนเตรียมจะให้บริการอีกด้วยเช่นกัน

 

ทำไมไทยถึงตกขบวน 5G ไม่ได้

แม้จะคำถามมากมายว่า ทำไมประเทศไทยจำเป็นต้องรีบเร่ง จัดสรรคลื่นสำหรับทำ 5G ซึ่งดูเหมือนว่า 4G ที่มีอยู่ก็มีความเร็วอินเทอร์เน็ต แบบเหลือกินเหลือใช้แล้ว ซึ่งถ้ามองในมุมของผู้ใช้งาน ทั่วไป 5G อาจดูเหมือนยังไม่มีความจำเป็นเลย

 

แต่อย่างไรก็ตาม 5G กลับถือเป็นสนามใหม่ของการแข่งขันทางธุรกิจ เพราะสภาพแวดล้อมในการทำมาค้าขาย มันกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากยุค 5G จะก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่อีกมากมาย และบางธุรกิจจะชี้วัดถึงการเป็นผู้นำเศรษฐกิจยุคใหม่ของโลกด้วยซ้ำ ดังนั้นหากไทย ยังไม่เตรียมพร้อม และตามเทคโนโลยีให้ทัน ประเทศของเราก็จะเสียโอกาส และขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นอย่างมาก

 

จากที่ กสทช. ได้เคยทำการศึกษาไว้ ว่า ค่าเสียโอกาสที่ประเทศไทยต้องเผชิญหากไม่มี 5G เกิดขึ้นว่าจะเป็นตัวเงินเท่าไหร่ ผลปรากฏว่าถ้าไม่มี 5G มูลค่าโอกาสทางเศรษฐกิจที่เราจะสูญเสียนั้นจะสูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นปีที่เราคาดว่า 5G จะมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศมากที่สุด ซึ่งตัวเลขนี้ก็เทียบได้กับ 20% ของ GDP ประเทศเราในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่มหาศาลเลยทีเดียว

 

สำหรับภาคส่วนที่จะเสียหายหนักที่สุดในที่นี้ก็คือ ภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ที่เปรียบเสมือนเครื่องจักรขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจประเทศ โดยมีประมาณการออกมาว่าจะเสียโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มไปกว่า 7 แสนล้านล้านบาท ถึง 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่ากว่าร้อยละ 10-30 ของมูลค่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในปัจจุบัน

 

นอกจากเสียโอกาสในเชิงธุรกิจแล้ว ยังส่งผลกระทบในเชิงสังคมด้วย โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในภาวะปัจจุบัน คนไทยมีอัตราการเกิดที่ลดลง เดิมทีในอดีตประเทศไทยมีประชากรเกิดใหม่ราวหนึ่งล้านคนต่อปี แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานั้น จำนวนประชากรเกิดใหม่กลับเหลือน้อยลงเพียงแค่ 7-8 แสนคนต่อปี หมายความว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแรงงานคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจจะลดลงอย่างน่าใจหาย กลับกัน ประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ถึง 12 ล้านคน แต่ถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มไปเป็น 20 ล้านคนภายใน 15 ปีข้างหน้า ซึ่งการมาของเทคโนโลยี 5G จะช่วยลดการนัดพบแพทย์สำหรับการวินิจฉัยรักษาโรคพื้นฐานได้ถึง 5.5% ต่อปี หรือถ้าคิดเป็น 12-15 ล้านครั้งของการที่ผู้ป่วยเดินทางไปโรงพยาบาล เพื่อพบแพทย์ในประเทศไทย ประหยัดเวลาการเดินทางและค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้ป่วยได้อย่างน้อย 11,000 ล้านบาทต่อปี เพราะ 5G จะช่วยให้เกิดการรักษาทางไกล หรือ Telehealth ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาลางานเป็นวัน ๆ เพื่อมาโรงพยาบาลอีกต่อไป

 

ในด้านการเกษตร 5G จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการทำเกษตรและการผลิตอาหารจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ที่จะมีการประยุกต์ใช้เช็นเซอร์ต่างๆ ในการตรวจวัด และช่วยวางแผนในการผลิตพืชผลออกมามากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรที่ลดลง หากเราดำเนินการล่าช้าก็จะไม่สามารถยกระดับให้ไทย กลายเป็นเมืองอาหารของโลกตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้

 

ดังนั้น 5G จึงเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของประเทศในโลกอนาคต ประเทศไหนสามารถวางโครงสร้างได้ก่อน ประเทศนั้นก็จะได้เปรียบ ทั้งในแง่ของการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ การสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และแม้กระทั่งการพัฒนาประเทศไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"