วันนี้ของกอร์ดอน วู แห่ง Hopewell


เพิ่มเพื่อน    

    พอมีข่าวเรื่องศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยจ่ายเงินชดเชยให้ “โฮปเวลล์” เป็นเงิน 11,888 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ก็ทำให้ต้องย้อนกลับไปเกือบ 30 ปี ตอนที่โครงการนี้เพิ่งเริ่มต้นในยุคนายกฯ ชื่อชาติชาย ชุณหะวัณและรัฐมนตรีคมนาคมชื่อมนตรี พงษ์พานิช
    ชื่อของกอร์ดอน วู (Gordon Wu) เจ้าของบริษัท Hopewell Holdings ที่ฮ่องกงโด่งดังยิ่งนัก แวะเวียนมาเมืองไทยเป็นว่าเล่น และเสนอโครงการรถไฟลอยฟ้าที่กลายเป็นเรื่องราวอื้อฉาวถึงวันนี้
    วันนี้กอร์ดอน วู อายุ 84 เรียกขานกันว่า Sir Gordon Wu Ying-sheung (胡应湘)เพราะได้รับบรรดาศักดิ์จากราชวงศ์อังกฤษด้วยผลงานโดดเด่นด้านธุรกิจอีกด้วย
    กอร์ดอน วู เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Hopewell และรับบทบาทเป็นกรรมการผู้จัดการระหว่างปี 1972-2002
    ในช่วงที่เขาเป็นซีอีโอนี่แหละที่กอร์ดอน วู ได้เสนอโครงการมายังการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อสร้างระบบขนส่งที่อ้างว่าจะสามารถแก้ปัญหาจราจรของกรุงเทพฯ
    กอร์ดอน วู เกษียณจากตำแหน่งซีอีโอในปี 2002 แต่ก็ยังรักษาตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัท
    ช่วงที่เขาบริหารธุรกิจบริษัทนี่แหละที่กอร์ดอน วู เสนอโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งในจีนและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
    อีกทั้งยังกระโจนเข้าโครงการก่อสร้างทั้งรับออกแบบและรับเหมาสร้างตึกรามบ้านช่องทั้งในฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่อย่างคึกคัก
    กอร์ดอน วู เป็นประธานของบริษัทลูกชื่อ Hopewell Highway Infrastructure Limited ซึ่งได้จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2003 
    อีกตำแหน่งหนึ่งของเขาคือ เป็นกรรมการอิสระของบริษัท i-Cable Communications Limited
    แม้ว่าภาพลักษณ์ของเขาในประเทศไทยจะไม่ค่อยดีนักเพราะโครงการ Hopewell ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายประเด็นจนถูกยกเลิกในที่สุด แต่ที่ฮ่องกงเขาได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจที่ทำกิจกรรมการกุศลไม่น้อย
    ปี 1984 (ก่อนที่เขาจะเสนอโครงการ Hopewell ในไทยเมื่อปี 1990) กอร์ดอน วู บริจาคหุ้นของเขาที่ตีราคาเป็นเงินเท่ากับ 5 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 160 ล้านบาท ให้มหาวิทยาลัย Princeton ของอเมริกาที่เขาไปเรียนหนังสือจนได้ปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์มา
    ต่อมาเขาประกาศจะบริจาคอีก 100 ล้านเหรียญฯ ให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เพื่อนำไปใช้ในปี 2008 ในโอกาสที่เขาไปสังสรรค์กับเพื่อนร่วมรุ่นครั้งที่ 50 
    ที่กอร์ดอน วู มีชื่อเสียงอีกด้านหนึ่งคือ การแสดงความเห็นอย่างต่อเนื่องให้มีการสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างฮ่องกง, จูไห่และมาเก๊าเพื่อให้แผ่นดินใหญ่ของจีนกับเกาะฮ่องกงและมาเก๊ากลายเป็นศูนย์เศรษฐกิจที่สำคัญ
    เขาพูดเรื่องนี้เกือบ 20 ปี เริ่มแรกไม่มีใครใส่ใจอะไรนัก เพราะไม่มีใครคิดว่ารัฐบาลกลางที่ปักกิ่งจะมีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไร 
    แต่ต่อมาในปี 2003 ทางการจีนก็ประกาศสนับสนุนแนวความคิดนี้
    และเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความฝันของกอร์ดอน วู ก็กลายเป็นความจริง
    วันนี้สะพานยักษ์แห่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญของจีนและฮ่องกง
    วิสัยทัศน์ของกอร์ดอน วู เรื่องนี้ทำให้เขากลายเป็นผู้สร้างระบบคมนาคมทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งที่บริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำไข่มุก หรือ Pearl River Delta ซึ่งรวมถึงมณฑลกวางตุ้งที่สามารถเชื่อมต่อกับฮ่องกงอย่างไร้ตะเข็บ
    วันนี้ระบบขนส่งของเขากลายเป็นตัวอย่างของความทันสมัยที่สุดสำหรับทางใต้ของจีนในด้านบริการ, การท่องเที่ยว, ธุรกิจขายปลีก, การลงทุนและการขนส่งหรือ logistics
    กอร์ดอน วู เป็นคนริเริ่มระบบ Build-Operate-Transfer (BOT) คือผู้ชนะการประมูลจะเป็นคนสร้างและบริหารก่อนจะยกเป็นสมบัติของประเทศนั้นๆ ไป
    ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับที่เขาเสนอให้กับรัฐบาลไทยในโครงการ Hopewell ก่อนที่จะถูกยกเลิกไปนั่นแหละ
    แต่เขาประสบความสำเร็จด้วยการเสนอระบบ BOT สร้างโครงการ China Hotel ในแผ่นดินใหญ่เมื่อปี 1979 ทำให้เขาสามารถเจาะเข้าตลาดจีนได้อย่างมีนัยสำคัญครั้งแรก
    จากนั้น Hopewell ก็ได้สัญญาสร้างโรงไฟฟ้าและโครงการอื่นๆ ในหลายเมืองของจีนด้วยสูตรเดียวกันนี้
    กอร์ดอน วู ต่อต้านแนวคิดประชาธิปไตยบนเกาะฮ่องกงมาตลอด และเป็นหนึ่งในเหล่าบรรดานักธุรกิจยักษ์ของเกาะแห่งนี้ที่ประกาศสนับสนุนรัฐบาลกลางจีนภายใต้สี จิ้นผิง ในการเข้ามากำกับดูแลการเมืองและความมั่นคงของเกาะฮ่องกงอย่างเต็มรูปแบบ
    พูดง่ายๆ คือ กอร์ดอน วูเป็นนักธุรกิจเต็มตัวที่พร้อมจะอยู่ข้างนักการเมืองที่มีอำนาจตราบเท่าที่เขาสามารถได้ประโยชน์จากสัมปทานการก่อสร้างโครงการยักษ์ๆ ทั้งหลายนั่นเอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"