จับตาหัวเมืองจีน 30 แห่ง เพื่อผู้ประกอบการไทย


เพิ่มเพื่อน    


    คนไทยสนใจเมืองจีนมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันทางการจีนก็ปรับเปลี่ยนนโยบายอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยใหม่ๆ ที่กระทบจีนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
    ความจริง ในแง่การไปลงทุนและทำธุรกิจกับประเทศนี้ เขามิได้มีเพียง “จีนเดียว” โดยเฉพาะในแง่ของกฎกติกาและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ แต่จีนแต่ละมณฑลมีความแตกต่างกันในรายละเอียดมากมายหลายด้านที่คนไทยจะต้องทำความเข้าใจตลอดเวลา 
    วันก่อนผมได้อ่านรายงานที่น่าสนใจว่าด้วย “ดัชนีวัดศักยภาพทางเศรษฐกิจระดับ 30 หัวเมืองของจีน” ซึ่งเป็นผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ 
    ที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ เพราะรายงานนี้จะช่วยเพิ่มเครื่องมือการวิเคราะห์ตลาดจีนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถแข่งขันกับคนอื่นที่เกาะติดข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
    แกนสำคัญของเศรษฐกิจจีนมิได้อยู่เพียงแค่เซี่ยงไฮ้, กว่างโจว, ปักกิ่งอีกต่อไป แต่ยังอยู่ที่หัวเมืองต่างๆ ที่สำคัญเศรษฐกิจของหัวเมืองสำคัญของจีนมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลจีนมีการกระตุ้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 
    มีทั้งนโยบายมหภาคจากการผ่อนคลายเครื่องมือทางการเงินและการคลัง
    ตามมาด้วยนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ 
    อีกทั้งยังมีนโยบายการปรับภาพลักษณ์ของประเทศ 
    การผ่อนคลายกฎระเบียบในการเข้าตลาดจีนของต่างชาติ ผ่านการแก้กฎหมายร่วมค้า-การลงทุนระหว่างประเทศ และปรับลดรายการข้อจำกัดหรือข้อห้ามสำหรับการลงทุน (Negative list) ที่นักธุรกิจไทยจะต้องสนใจและศึกษา
    รายงานนี้จัดทำดัชนีวัดศักยภาพทางเศรษฐกิจระดับหัวเมืองของจีน โดยใช้ปัจจัย 2 ด้านหลัก คือ
    • ด้านปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
    ได้แก่ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม จำนวนประชากร รายได้ต่อหัวต่อปี และขนาดของสนามบิน โดยวัดจากความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสาร 
    • ด้านนโยบายที่จะทำให้เกิดพลวัตทางเศรษฐกิจ เช่น 
    (1) จำนวนเมืองที่เป็นศูนย์กลางหรือจุดขนส่งคนและสินค้าของ 6 เส้นทางบก และ 1 เส้นทางทะเล ในโครงการ “Belt and Road Initiative”
    (2) 12 เมืองที่มีนโยบายยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราประเภทคนเดินทางผ่านสำหรับระยะเวลาไม่เกิน 144 ชั่วโมง (144-Hour Visa-Free Transit in China)
    (3) 37 เมืองต้นแบบที่ดำเนินนโยบายการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (China's Cross-Border E-commerce)
    (4) เมืองที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจจากเมืองศูนย์กลางความเจริญสู่เมืองรอบข้าง ภายใต้นโยบาย 13 อภิมหานคร (China’s 13 magalopolises)
    (5) 81 เขตเศรษฐกิจพิเศษ (China’s special economic zones) 
    รายงานนี้บอกด้วยว่า
    “จากการคำนวณดัชนี ซึ่งเป็นคะแนนเชิงเปรียบเทียบจากมากสุดไปน้อยสุด พบว่า 4 เมืองสำคัญของจีน เช่น มหานครเซี่ยงไฮ้ มหานครปักกิ่ง เมืองเซิ่นเจิ้น และเมืองกว่างโจว อยู่ในลำดับ 1-4 ตามลำดับ ส่วนเมืองอื่นๆ ที่อยู่ในอับดับต้นๆ ได้แก่ มหานครเทียนสิน มหานครฉงชิ่ง เฉิงตู อู่ฮั่น ชิงเต่า และซูโจว ตามลำดับ ซึ่งส่วนมากอยู่ทางฝั่งตะวันออกของจีน ส่วนหัวเมืองในภาคอื่นๆ เช่น ซีอาน (อันดับที่ 13) คุนหมิง (อันดับที่ 14)  ต้าเหลียน (อันดับที่ 16) และฉางชา (อันดับที่ 17) เป็นต้น
    การเติบโตของเมืองเหล่านี้ จะเป็นโอกาสดีที่ผู้ส่งออกไทยจะกระจายการส่งออกไปหัวเมืองในภูมิภาคต่างๆ ของจีนมากขึ้น โดยสินค้าที่เป็นที่นิยมและมีศักยภาพของไทย เช่น  อาหาร อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารออร์แกนิก อาหารทะเล และอัญมณี เป็นต้น รวมทั้งผลไม้เมืองร้อน ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากของผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด ลำไย และมะพร้าวน้ำหอม ขณะที่ปัจจัยด้านรายได้ต่อหัวที่ปรับตัวสูงขึ้นของแต่ละเมืองยังทำให้อำนาจซื้อและรสนิยมการบริโภคเปิดกว้างมากขึ้น ประกอบกับการค้าขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่ขยายตัวสูงด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลจีนมีท่าทีผ่อนคลายการนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น การปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดกว้าง (改革开放หรือ Reform and opening-up) กำลังจะนำไปสู่การเปิดประตูสู่หัวเมืองต่างๆ ของจีนครั้งสำคัญ”
    การรู้เท่าทันกับข้อมูลและการปรับตัวให้ทันการณ์ของผู้ประกอบการไทยเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถแข่งขันกับใครๆ เขาได้ในโลกที่ไม่มีอะไรอยู่นิ่งแม้แต่วันเดียว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"