Russophobia ในยุครัฐบาลทรัมป์


เพิ่มเพื่อน    

Russophobia ในยุครัฐบาลทรัมป์

                เป็นเวลานานแล้วที่ชาติตะวันตกหรือที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายเสรีประชาธิปไตยมองรัสเซียหรืออดีตสหภาพโซเวียตในแง่ลบ ทุกวันนี้ความคิดนี้ยังคงอยู่แม้เปลี่ยนไปบ้างตามบริบทที่เปลี่ยนแปลง

นิยาม Russophobia :

                Russophobia หรือ “กระแสกลัวรัสเซีย” หมายถึงความคิด ทัศนคติว่ารัสเซียข่มขู่คุกคาม บั่นทอนทำลายผลประโยชน์แห่งชาติ อันเป็นผลรวมจากประสบการณ์ มุมมอง การรับรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน และคาดว่าจะเกิดในอนาคต อาจเป็นความจริงหรือเท็จ หรือมีความจริงปนเท็จ ตีความเกินจริง ตีความอย่างมีเป้าหมาย

                โดยทั่วไปหมายถึงกระแสความรู้สึกของคนจำนวนมากในสังคมกับรัฐบาลที่หวาดกลัวภัยจากรัสเซียหรือรัฐบาลรัสเซียที่เกินจริง อาจเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อให้เกลียดชัง ต้องทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อต่อต้านภัยจากรัสเซีย

                บางครั้งใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองภายในรัสเซียหรือประเทศอื่น ให้ต่อต้านรัฐบาล หรือใช้ในการหาเสียง เป็นลักษณะหนึ่งของการรณรงค์เลือกตั้งทางลบ (Negative Campaign) ให้ประชาชนเกลียดชังไม่ชอบนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) โจมตีนโยบายของฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ว่าจะนำสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะใช้นโยบายเผชิญหน้ารัสเซีย

                เป็นการยากที่จะประเมินความกลัวในเชิงคุณภาพกับปริมาณ เป็นเรื่องของทัศนคติ การรับรู้ (perception) ของแต่ละคนที่แตกต่าง แม้กระทั่งการรับรู้ของรัฐ เพราะการรับรู้ของรัฐคือรัฐบาลซึ่งแต่ละชุดแตกต่างกัน ขึ้นกับผู้นำประเทศ ทีมผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เป้าหมาย วาระที่ซ่อนอยู่ เช่นเดียวกับระดับประชาชนที่แต่ละคนมีความรู้ความเข้าใจต่างกัน อาจคิดเหมือนหรือต่างจากรัฐบาล

                คำว่า “กระแสกลัวรัสเซีย” ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย (ไม่ว่าจะใช้ศัพท์คำนี้โดยตรงหรือไม่) ทั้งจากสหรัฐ ชาติตะวันตก แม้กระทั่งในหมู่รัฐบริวารของอดีตสหภาพโซเวียต

รากฐานกระแสกลัวรัสเซีย :

                ประการแรก นโยบายดั้งเดิม

                เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่ารัฐบาลสหรัฐต่อต้านอดีตสหภาพโซเวียตอย่างรุนแรง ถึงขั้นอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ การแข่งขันระหว่าง 2 อภิมหาอำนาจอาจกลายเป็นหายนะล้างโลกหากใช้อาวุธนิวเคลียร์ กระแสความวิตกกังวลเรื่องเหล่านี้ฝังอยู่ในตำรา ความทรงจำของคน

                Guy Mettan อธิบายว่าแท้จริงแล้วแนวคิดกระแสกลัวรัสเซียไม่ใช่ของใหม่แต่ประการใด สามารถย้อนหลังถึงศตวรรษที่ 9 ที่สมัยนั้นรัฐฝั่งยุโรปตะวันตกจงเกลียดจงชังรัสเซีย มี French russophobia, English russophobia, German russophobia และในที่สุดมี American russophobia โดยเนื้อแท้ เป็นความเกลียดชังระหว่าง “ผู้ปกครองด้วยกัน” และผู้ปกครองพยายามถ่ายทอดให้พลเมืองร่วมเกลียดชังด้วย เป็นส่วนหนึ่งของสมรภูมิทางความคิดที่ดำเนินเรื่อยมาร่วมพันปีแล้ว

                ประการที่ 2 ฝ่ายการเมืองที่มองเป็นศัตรู

                แม้ประธานาธิบดีทรัมป์คิดเปลี่ยนท่าทีมองรัสเซียเป็น “คู่แข่งขัน” แทนการเป็น “ปรปักษ์” (enemy) แต่ถูกฝ่ายการเมืองต่อต้านรุนแรง ยกตัวอย่าง วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต มาร์ค วอร์เนอร์ (Mark Warner) วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน มาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio) ร่วมแถลงข่าวว่าประชาคมโลกต้องรับรู้ว่าชาติประชาธิปไตยไม่อาจเข้าได้กับรัฐบาลปูติน หรือระบอบอำนาจนิยมใดๆ ต้องร่วมกันต่อต้านการรุกรานจากรัสเซีย วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน บิน ซาซ์ (Ben Sasse) กล่าวว่า “ชาวอเมริกันผู้รักชาติทุกคนควรเข้าใจว่าปูตินไม่ใช่เพื่อนอเมริกา และไม่ใช่คู่หูของประธานาธิบดี”

                เมื่อมีนักการเมืองจาก 2 พรรคใหญ่ที่ต่อต้านการเป็นมิตรกับรัสเซีย กระแสกลัวรัสเซียจึงถูกปลุกและโหมให้รุนแรงอยู่เสมอ

ลักษณะและเป้าหมายของ Russophobia :

                เป้าหมายของกระแสกลัวรัสเซียคือทำให้ผู้คนรู้สึกกลัวรัสเซีย ทั้งที่อาจถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือไม่ก็ได้ อีกลักษณะคือแนวคิดว่ารัสเซียจะเติบใหญ่เป็นมหาอำนาจ หรืออภิมหาอำนาจ การแข่งขันแย่งชิงระหว่าง 2 มหาอำนาจไม่อาจยุติ          ประการแรก กระแสกลัวรัสเซียคือส่วนหนึ่งของการสร้างศัตรู

                เป็นความตั้งใจที่บางกลุ่มบางฝ่ายเจตนาสร้างขึ้นมา หรืออาจอธิบายว่าเป็นผลจากการรับรู้ของปัจเจกและส่งทอดแก่คนอื่น

                ประธานาธิบดีปูตินครั้งหนึ่งกล่าวว่า รัสเซียพัฒนากองทัพเพื่อป้องกันตัวเองเท่านั้น ไม่คิดรุกรานใคร จะเห็นว่ารัสเซียแทบไม่มีฐานทัพต่างแดน งบประมาณกลาโหมต่ำกว่านาโต 10 เท่า จึงเป็นเรื่องตลกถ้าคิดว่ารัสเซียจะบุกโจมตีนาโต บางประเทศใช้ประโยชน์จากความกลัวของประชาชนที่มีต่อรัสเซีย และรัฐบาลบางประเทศพยายามสร้างความหวาดกลัวนี้ บางคนยังฝังใจสมัยสหภาพโซเวียต

                คำแก้ต่างของปูตินจะฟังขึ้นหรือไม่ ย่อมขึ้นกับมุมมองของแต่ละคน

                ฝ่ายที่คิดต่างจะยอมรับว่ารัฐบาลรัสเซียไม่ได้ดีเลิศไปเสียทุกเรื่อง พยายามนำเสนอหลักฐานว่าสื่อมวลชน นักการเมือง นักวิชาการตะวันตกบางคนบิดเบือนเรื่องรัสเซีย บางครั้งเห็นชัดว่าตั้งใจก่อความเข้าใจผิด เพราะเป็นยุทธศาสตร์ของชนชั้นปกครองอเมริกา

                ทำนองคล้ายกับแนวคิดของ George Kennan ที่พยายามชี้ภัยจากคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต นำแนะให้รัฐบาลสหรัฐใช้ยุทธศาสตร์ปิดล้อม จนกลายเป็นสงครามเย็นในยุคนั้น ปัจจุบันแนวคิดกระแสกลัวรัสเซียพยายามชี้ภัยจากรัสเซียอีกครั้ง แต่เนื่องจากคราวนี้ไม่อาจใช้ความแตกต่างอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครอง จึงพยายามอาศัยหลายวิธี เช่น รัสเซียไม่เป็นประชาธิปไตยแม้มีการเลือกตั้ง กำลังสร้างสมกำลังทหารและจะครองโลก จนถึงเรื่องการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดี

                ประการที่ 2 การสร้างกระแสกลัวรัสเซียในการเลือกตั้ง 2016

                ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 2016 ฮิลลารี  คลินตัน คู่แข่งทรัมป์แสดงตัวเป็นปรปักษ์ต่อรัสเซีย โดยหวังผลเลือกตั้ง เนื่องจากทรัมป์วางตัวเป็นมิตรกับรัสเซีย ฮิลลารีพยายามสร้างภาพรัสเซียให้ดูน่ากลัว เช่น รัสเซียยังคงบ่อนทำลายสหรัฐ ทำสงครามไซเบอร์ กำลังแทรกแซงการเลือกตั้งอเมริกา หากทรัมป์ชนะจะเป็นหุ่นเชิดของรัสเซีย

                ด้านประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า รัสเซียไม่สนใจการเลือกตั้งอเมริกา พร้อมมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำคนใหม่ สื่อตะวันตกเป็นผู้สร้างเรื่องว่ารัฐบาลรัสเซียสนับสนุนทรัมป์ เป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามการเมือง พยายามบงการความเห็นสาธารณชนเมื่อใกล้วันเลือกตั้ง”

                ในเชิงหลักการ เป็นเวลานานหลายทศวรรษแล้วที่ทั้งรัฐบาลรัสเซียกับสหรัฐต่างพยายามแทรกแซงกิจการภายในของอีกฝ่ายเรื่อยมา ทั้งแบบทางตรงกับทางลับ เพื่อสร้างปัญหา บ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม รัฐบาลสหรัฐพยายามโค่นล้ม มีอิทธิพลต่อรัฐบาลรัสเซีย เช่นเดียวกับที่รัสเซียพยายามแทรกแซงหรือชักนำนโยบายของสหรัฐ

                จุดน่าสนใจคือคำถามที่ว่า แล้วทำไมการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่ผ่านมาจึงกลายเป็นประเด็นเด่นดังว่ารัสเซียแทรกแซงการเมืองอเมริกา ในเมื่อทำกันเรื่อยมาอยู่แล้ว นี่คือ “การสร้าง” กระแสกลัวรัสเซียในสมัยทรัมป์ ให้เชื่อมโยงกับการต่อสู้ทางการเมืองภายในของอเมริกาเอง

ทำไมต้องสร้างกระแสกลัวรัสเซีย :

                ประธานาธิบดีปูตินกล่าวถึงการใส่ร้ายป้ายสีของรัฐบาลกับนักการเมืองสหรัฐว่าเป็นความพยายามที่จะโทษคนอื่น ทั้งที่เป็นปัญหาภายในการเมืองอเมริกาเอง ... พวกเขาลังเลที่จะยอมรับความผิดเรื่องนี้ เป็นเหตุผลที่โทษรัสเซีย

                นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า ชนชั้นปกครองอเมริกาไม่ชอบประธานาธิบดีปูติน เมื่อปูตินค่อยๆ นำพาประเทศสู่ความมั่นคงและเป็นอิสระจากอเมริกา

                เหตุผลอีกข้อคือ 7 ทศวรรษหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสหรัฐมีอิทธิพลต่อการจัดระเบียบเศรษฐกิจการเมืองโลก มาบัดนี้รัสเซีย จีน และพวกกำลังร่วมจัดระเบียบโลกอีกแบบที่บั่นทอนผลประโยชน์สหรัฐ รัสเซียในยุคปูตินฟื้นฟูความยิ่งใหญ่อีกครั้ง แม้ยังไม่เท่าเดิม แต่สามารถขัดแข้งขัดขาอเมริกาได้หลายเรื่อง

                ฝ่ายการเมืองอเมริกาจึงต้องโหมกระแสกลัวรัสเซียเพื่อให้พลเมืองอเมริกันสนับสนุนนโยบายต้านรัสเซีย หากคิดในกรอบเลือกตั้งพวกเดโมแครตจะไม่ยอมปล่อยให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยอย่างง่ายๆ ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งปลายปี 2020 กระแสกลัวรัสเซียจะถูกเอ่ยถึงมากขึ้น โหมให้หนักขึ้น นี่คือการเมืองของประเทศนี้

สงครามข้อมูลข่าวสารและความคิด :

                “กระแสกลัวรัสเซีย” พูดได้จาก 2 มุมมอง คือ ฝ่ายต่อต้านรัสเซียกับฝ่ายรัสเซีย ฝ่ายแรกพยายามชักนำให้คนเกลียดกลัว อีกฝ่ายชี้ว่าเป็นแผนบ่อนทำลายของศัตรู เป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่าอะไรจริง อะไรเท็จ ระดับความเข้มข้น (degree) อยู่ที่ไหน รุนแรงร้ายแรงเพียงใด บ่อยครั้งการริเริ่มของบางคนบางฝ่ายสร้างกระแสสังคม จากนั้นกระแสสังคมกลับมากดดันรัฐบาลว่าควรทำอย่างไร สิ่งที่ “เป็นเท็จ” กลายเป็น “ความจริง” ตามการรับรู้ของคนทั่วไป

                เป็นอีกลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้มีข้อมูลความรู้ท่วมโลก เข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) แล้ว.

------------------------

ภาพ : หน่วยขีปนาวุธนิวเคลียร์รัสเซีย

ที่มา : http://eng.mil.ru/en/structure/forces/strategic_rocket.htm

------------------------

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"