หึ่ง'ประวิตร'วางมือ หวังลบภาพสืบทอดอำนาจ เสี่ยหนูนั่งสธ.คุมสายเขียว


เพิ่มเพื่อน    


     เปิดโฉมหน้า "รัฐบาลใหม่" 253 เสียงส่ง "บิ๊กตู่" นั่งนายกฯ รอบสองดีเดย์ต้นเดือน มิ.ย. "บิ๊กป้อม" จ่อวางมือลบภาพสืบทอดอำนาจ-ปัญหาสุขภาพ ปชป.ขอเกษตรฯ-พาณิชย์ "เสี่ยหนู" คุม สธ.ดันกัญชาเสรี ไม่หวั่น พท.กดดัน ภท.-ปชป.โดดหนี ขณะที่ พท.ยังไม่หมดหวัง พร้อมยกตำแหน่งนายกฯ ให้พรรคร่วม "ธนาธร" ปัดยกเก้าอี้นายกฯ ให้ ปชป.โดยไร้เงื่อนไข โฆษก พช.ปูด! 200 ล้านต่อหนึ่งเสียงซื้อตำแหน่งหัวหน้าพรรคเก่าแก่ให้หนุนสืบทอดอำนาจ    ประธานญาติวีรชนฯ หนุนขั้วที่ 3 ผ่าทางตัน
     เมื่อวันจันทร์ แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลว่า ต้นเดือน มิ.ย.นี้จะได้คณะรัฐบาลชุดใหม่ โดยมีเสียงสนับสนุนในสภา 253 เสียง ส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย นำโดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค มั่นใจว่าพรรค พปชร.ที่มี 115 เสียง จะรวบรวมเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ได้เกิน 250 เสียง ทำให้มีความชอบธรรมในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมีพรรคภูมิใจไทย 51 เสียง, พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง, พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง, พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง, พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 เสียง, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง, พรรคประชาปฏิรูป 1 เสียง ยังไม่รวมพรรคขนาดเล็กอีก 11 พรรค พรรคละ 1 เสียง และจากพรรคประชาธิปัตย์ อีก 52 เสียง ที่จะชัดเจนหลังวันที่ 15 พ.ค.ที่จะเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มีมติหนุนพรรค พปชร.จะส่งผลให้พรรค พปชร.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้
     สำหรับโควตาแกนนำพรรค พปชร.ได้จัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจไว้ค่อนข้างลงตัวแล้ว โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะเป็นรองนายกฯ กำกับดูแลกระทรวงด้านเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม (ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง)อุตสาหกรรม การส่งออก โดยวางตัวนายอุตตม สาวนายน เป็น รมว.การคลัง, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค อาจจะเป็น รมว.คมนาคม
     ขณะที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล แต่ปรับเปลี่ยนให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มาเป็น รมว.กลาโหมแทน เพื่อลบภาพการสืบทอดอำนาจจากกรณีการสรรหา 250 ส.ว. ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล และปมนาฬิกาหรู รวมทั้งปัญหาเรื่องสุขภาพที่อาจทำให้ต้องวางมือการเมือง
    ขณะที่โควตารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จะได้รับการจัดสรรพรรคละ 6-7 เก้าอี้ ในกระทรวงหลักโดยพรรค ปชป.ขอโควตากระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์เนื่องจากมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาราคาผลปาล์มดิบและยางพารา ที่สำคัญพรรค ปชป.ต้องการดึงคะแนนเสียงในพื้นที่ภาคใต้กลับคืนมา
     ส่วนพรรค ภท. มีนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรค กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ซึ่งนายเนวินต้องการโควตา รมว.มหาดไทย ถ้าหารือลงตัวจะได้เก้าอี้ รมช.มหาดไทยมาด้วย ขณะที่นายอนุทินขอดูกระทรวงคมนาคม แต่เกรงว่าถูกมองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะมีธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ และได้รับสัมปทานจากรัฐหลายโครงการ จึงลงตัวที่ตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสาธารณสุขด้วย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายกัญชา
     ขณะเดียวกัน พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ที่มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค ได้ข้อสรุปลงตัวโควตากระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน
ไม่หวั่น พท.กดดันพันธมิตร
      ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) คาดว่าจะได้คุม 2 กระทรวง คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่ง น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค และนายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค จะรับตำแหน่งรัฐมนตรี
    มีรายงานข่าวจากพรรค พปชร.แจ้งว่า ประเด็นที่น่าจับตาภายในพรรค พปชร.ขณะนี้ คือยังตกลงกันไม่ลงตัวในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่าง นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา ที่เสนอตัวเป็นประธานสภาฯ ตั้งแต่ต้น และนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มีเป้าหมายเป็นประธานสภาฯ เช่นเดียวกัน ทั้งคู่พยายามเดินเกมไปหาผู้มีอำนาจนอกพรรคให้ช่วยสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนี้ แต่ ส.ส.บางส่วนในพรรคไม่เห็นด้วยกับการให้นายวิรัชนั่งตำแหน่งนี้ เนื่องจากไม่เคยมีประสบการณ์ในตำแหน่งนี้ และยังมีคดีเก่าติดค้างอยู่ อาจทำให้เกิดปัญหาความไม่สง่างามในการดำรงตำแหน่งนี้ ขณะที่นายสุชาติ ติดการยอมรับในภาพรวม เสียงสนับสนุนยังไม่มาก ขณะที่แกนนำพรรคต้องการผู้ที่มีความอาวุโสมากกว่านี้ แต่เชื่อพรรคจะมีข้อสรุปในเร็วๆ นี้
    มีรายงานอีกว่า ขณะนี้แกนนำพรรครู้สึกถึงกระแสกดดันจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่พยายามส่งไปยังพรรคการเมืองที่ยังสงวนท่าทีในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร. ทั้งพรรค ปชป., พรรค ภท. และพรรค ชทพ. โดยกดดันให้พรรคเหล่านี้ยึดมั่นในคำพูดที่ให้ไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ แต่ไม่ได้ทำให้พรรค พปชร.หวั่นไหว เนื่องจากมีการทาบทามรวมเสียงกันตั้งรัฐบาลไว้ก่อนเลือกตั้งแล้ว ขณะนี้เหลือเพียงการเกลี่ยกระทรวงให้ลงตัวเท่านั้น และทาง พปชร.เองเชื่อว่าช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของการจัดแบ่งกระทรวงอย่างจริงจัง คาดว่าจะเห็นความชัดเจนหลังเปิดประชุมสภานัดแรก 
     นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรค พปชร. กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลนั้น นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งเป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ พปชร.ให้เกียรติพรรคที่จะมาร่วมงานด้วย และพรรคที่จะมาร่วมงานต่างก็อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ซึ่งบางพรรคก็คงต้องรอการหารือตามกระบวนการภายในพรรคก่อน เราต้องให้เกียรติ พรรค ปชป.เองก็ต้องรอการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้เสร็จก่อน ยังมีเวลาในการเจรจา ขอให้ใจเย็นๆ มั่นใจว่าจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน ทุกอย่างไม่ได้มีปัญหาตามที่มีกระแสข่าวลือต่างๆ ออกมา แต่เมื่อทุกอย่างเป็นทางการแล้วพรรคจะแถลงข่าวอย่างแน่นอน
       สำหรับกรณีที่โฆษกพรรคเพื่อไทยระบุว่า พรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.หักหลังประชาชนหรือไม่นั้น นายธนกรกล่าวว่า เป็นการพูดที่ใช้ไม่ได้ เพราะทุกพรรคมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย มาจากประชาชนที่อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุขทั้งสิ้น คำพูดดังกล่าวจึงเป็นการดูถูกประชาชนด้วย พรรคเพื่อไทยต้องให้เกียรติพรรคอื่นหรือคนที่เห็นต่างด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อพรรคพลังประชารัฐได้จัดตั้งรัฐบาล ก็เลยพาลออกมาตีโพยตีพาย ไม่ได้ดั่งใจก็เลยงอแง พรรคเพื่อไทยควรเตรียมตัวเป็นฝ่ายค้านที่ดีจะดีกว่า
    ที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชป. ให้สัมภาษณ์หลังรายงานตัวเป็น ส.ส.ถึงการจับมือกับพรรค ภท.และ ชทพ.ตั้งขั้วที่ 3 เพื่อตั้งรัฐบาลว่า คงเป็นกระแสข่าวพรรค ปชป.ต้องรอการประชุม ส.ส.การประชุมเลือกกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และเลือกหัวหน้าพรรค 15 พ.ค.นี้ คงมีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะกำหนดทิศทางอย่างไร หากสมาชิกในพรรคมีความเห็นต่าง ก็จะต้องลงมติกัน และพรรคจะเดินไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนหลายพรรคระบุว่าได้พูดคุยจัดตั้งรัฐบาลกับประชาธิปัตย์ เป็นการคุยส่วนตัว การจะหารือเป็นทางการยังไม่เกิดขึ้น จะมีก็ต่อเมื่อมีหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคแล้ว
รอมติ ปชป.ทุกคนต้องเคารพ
    เมื่อถามถึงกรณีพรรคอนาคตใหม่พร้อมสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ นายองอาจ  กล่าวว่า เป็นข้อเสนอที่ปรากฏผ่านสื่อ ข้อเสนอให้ตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทยนั้นถือว่าปิดประตูตายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ส.ส.และ กก.บห.ตัดสินใจตอนนั้นคงมีข้อเสนอมากพอสมควร ก็ต้องชั่งใจ ที่ประชุมเอาอย่างไรก็คงเอาอย่างนั้น
     นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ปชป. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่าจะมาเชิญชวนพรรค ปชป.ร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครมาเชิญต้องรอหลังวันที่ 15 พ.ค. ที่จะมีการเลือกหัวหน้าพรรค และ กก.บห.ชุดใหม่ที่จะเป็นตัวแทนพรรคในการให้ความเห็นและตัดสินใจ ดังนั้นตอนนี้ใครประสานเรื่องอะไรมา เป็นเรื่องที่ต้องรอหลังจากมีผู้รับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนนายธนาธรอาสาเป็นตัวกลาง เป็นไปได้หรือไม่ที่ ปชป.จะทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทย นายชวนกล่าวว่า ความเห็นทั้งหลายต้องรอให้ตัวแทนพรรคตัวจริงเป็นผู้ให้ความเห็น ขณะนี้ใครจะพูดอะไรต้องถือเป็นความเห็นของแต่ละคน แต่ขอร้องว่าอย่าเพิ่งไปตัดสินใจอะไรแทนหัวหน้าและ กก.บห.ชุดใหม่ 
    เมื่อถามว่า สมาชิกพรรคจำเป็นต้องปฏิบัติตามมติพรรคหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วพรรคปชป.ถือว่ามติพรรคเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายก็ต้องให้ความเคารพ ดังนั้นก่อนตัดสินใจอะไรต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ ถ้าตัดสินใจไปแล้วจะกลับไปกลับมาก็จะมีปัญหา ส่วนที่มาของ ส.ว.ชุดใหม่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ มาพูดตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อพรรคไม่รับรัฐธรรมนูญก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อใช้แล้วมีปัญหาจริง แต่เมื่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับแล้ว ทุกคนก็ต้องเคารพกฎหมาย และต้องปฏิบัติตาม
    ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลของสองขั้วการเมืองว่า ขณะนี้ฝ่ายประชาธิปไตยมี 245 เสียง มั่นคง และรวมเสียงได้มากที่สุด ตอนนี้ต้องรอดูท่าทีของพรรคขนาดกลางที่เคยให้สัญญาก่อนเลือกตั้งที่เคยบอกว่าจะไม่ต่อท่อเผด็จการเมื่อเลือกตั้ง
    เมื่อถามว่าพรรค พท.กำลังรอให้พรรค ภท.และพรรค ปชป.ตัดสินใจเพื่อมาร่วมตั้งรัฐบาล คุณหญิงสุดารัตน์ระบุว่า ก็รอพรรคขนาดกลางจะตัดสินใจอย่างไร เพราะการเข้าสู่อำนาจต้องเป็นอำนาจส่งเสริมให้ประชาชนสมหวัง ส่วนตัวอยากเน้นการเลือกตั้งครั้งนี้อย่าให้เป็นเพียงพิธีกรรม เปลี่ยนสถานะของคสช.จากยึดอำนาจ เพราะการเลือกตั้งคือความหวังของประชาชน เราเองคิดว่าไม่ได้ให้มาสนับสนุนให้เราเป็นรัฐบาลหรือนายกฯ แต่มองว่าจะทำอย่างไรไม่ให้สืบทอดอำนาจ บอกตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วว่าถ้าพรรคการเมืองรวมตัวกัน คสช.ก็จะกลับบ้านไป ก็รอการตัดสินใจ แต่ไม่ได้มาสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยมีอำนาจ
    เมื่อถามถึงกระแสข่าวพรรค พท.ผลักดันให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท.เป็นนายกฯ  คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยอะไรกัน แต่วันนี้ต้องถามเป็นจุดยืนแต่ละพรรคว่า ให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นประชาธิปไตยเพื่อประชาชนหรือเป็นการจบเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนสถานะ คสช.เท่านั้นเอง
    นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองพันธมิตรที่ยึดถือระบอบประชาธิปไตย 7 พรรค ประกาศจับมือเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ตั้งแต่มีผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งจุดยืนเวลานี้ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง มั่นใจในจำนวนตัวเลข ไม่กังวลต่องูเห่าที่จะเกิดขึ้น ยุคนี้ประชาชนรู้ทัน พร้อมลงโทษ ส.ส.ที่ทรยศต่อประชาชน ส่วนอีกฝ่ายที่มีภาพการสืบทอดอำนาจ และได้คะแนนเสียงน้อยกว่า อยากเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ต้องตัดสินใจนำประเทศออกจากเชื้อเผด็จการอย่างเด็ดขาด ขอให้ตัดสินใจมาร่วมสร้างประชาธิปไตย จับมือปิดประตูวงจรอุบาทว์ พาประเทศเดินหน้าสู่เสถียรภาพ มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ด้วยการเลือกฝ่ายบริหารด้วย ส.ส.ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ปิดสวิตช์ ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช. ไม่ให้มีโอกาสใช้อำนาจหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ     
พท.พร้อมยกเก้าอี้นายกฯ ให้
    มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยเผยว่า แกนนำพรรคยังไม่หมดหวังกับการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคการเมืองที่มาร่วมลงสัตยาบันกับพรรคเพื่อไทย 7 พรรค มีคะแนนถึง 245 เสียง ถือว่ายังมีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากมีพรรคที่ยังไม่ประกาศตัวชัดเจนถึง 4 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติพัฒนา และชาติไทยพัฒนา ซึ่งมีคะแนนเสียงประมาณ 116 เสียง หากสามารถดึงมาเข้าร่วมได้ จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้แกนนำพรรคปรับยุทธศาสตร์การสื่อสารไปถึงทั้ง 4 พรรคที่ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าหากมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยจะทำให้เกิดรัฐบาลที่เข็มแข็งได้ และพรรคเพื่อไทยไม่ยึดติดตำแหน่ง แม้แต่ตำแหน่งนายกฯสามารถเจรจาพูดคุยกันได้ เพราะมองว่าการต่อต้านการสืบทอดอำนาจสำคัญกว่าตำแหน่ง และแนวทางนี้เป็นแนวทางที่สื่อสารไปยังพรรคที่ร่วมลงสัตยาบันทั้ง 7 พรรคด้วย เห็นได้จากท่าทีของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เปลี่ยนมาในทิศทางเดียวกัน
    วันเดียวกัน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ลงพื้นที่พบปะประชาชนและสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ใน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และช่วยนางศรีนวล บุญลือ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 8 เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ หาเสียงในการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 26 พ.ค.นี้ โดยระหว่างการปราศรัย นายธนาธรได้กล่าวกับผู้ที่มาร่วมฟังว่า ต้องการชนะในเขต 8 เชียงใหม่ และจะต้องได้คะแนน 55,000 คะแนนเพื่อเพิ่ม ส.ส.พึงมีของพรรคเพิ่มอีก 1 คน ตั้งเป้าหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ 
    นายธนาธรกล่าวถึงกรณีที่มีการทาบทามให้นายอภิสิทธิ์นั่งเก้าอี้นายกฯ เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ว่า เราไม่ได้หมายความว่าแบบนั้น เรามีการชี้แจงแล้ว แต่เราบอกว่าพรรคที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ รวมกันแล้วมีมากกว่า 375 เสียง อยากให้ทั้ง 375 เสียงมานั่งคุยกันและตกลงกัน ใครเป็นนายกฯ ใครจัดตั้งรัฐบาล ใครเป็นฝ่ายค้าน แล้วพรรคไหนที่รวมได้จาก 375 เสียงเป็นใครเราก็พร้อมยกมือให้ เราไม่เคยบอกว่าจะยกมือให้กับพรรคประชาธิปัตย์โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ
     น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ  กล่าวว่า เมื่อเผด็จการทหารเสพติดอำนาจ ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างตนได้รู้จักมหกรรมการค้ามนุษย์ หรือ การต้อนเสียงนักการเมือง ที่ไม่มั่นคงในอุดมการณ์ไปสนับสนุน อย่างคำว่างูเห่า สุดสัปดาห์นี้มีกระแสข่าวลือว่าราคาการซื้อเสียงขึ้นสูงถึง 200 ล้านบาทต่อหนึ่งเสียง เพื่อซื้อตำแหน่งหัวหน้าพรรคเก่าแก่ให้ไปสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ตนทราบว่าคุณชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค และเสาหลักพรรค ปชป. เป็นผู้ที่ยืนยันมาตลอดชีวิตนักการเมืองว่ารับไม่ได้กับการซื้อเสียง ไม่ทราบว่าท่านได้ทราบข่าวลือหนาหูในแวดวงการเมืองที่มีการสนับสนุนเงินให้ผู้ที่สมัครเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. ที่จะสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ไปซื้อเสียงสมาชิกเพื่อโหวตให้ตนเป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่
    "ขอเรียกร้องให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่มีคุณธรรม จริยธรรม และรักษาคำพูดที่อดีตหัวหน้าพรรคเคยสัญญากับประชาชนไว้ ว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ  ฝากบอกพรรคภูมิใจไทยว่า ประชาชนประมาณ 70% ได้บอกกับทุกพรรคการเมืองแล้วว่าไม่ต้องการรัฐบาลสืบทอดอำนาจจากผลการเลือกตั้ง 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ขอเรียกร้องให้ทั้งสองพรรคประกาศให้ชัดเจนว่าจะยืนตามมติมหาชนเพื่ออนาคตของประเทศ หรือจะยืนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนจากการขายเสียง" น.ส.เกศปรียากล่าว
          นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า ขอเตือนพรรคการเมืองทุกพรรค โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ให้รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง ที่เคยบอกไว้ว่าไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็อยากให้ทำจริง หากพรรค ปชป.พลิกลิ้นยอมไปร่วมรัฐบาลกับพล.อ.ประยุทธ์ อนาคตของพรรค ปชป.อาจจะถึงกับหมดสิ้นได้ ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้น มีโอกาสสูงที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะได้เป็นนายกฯ และก็เหมาะสมอย่างยิ่ง หากนายอนุทินจะรักษาคำพูดที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง และยอมร่วมรัฐบาลกับฝั่งประชาธิปไตยหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ โดยอยากให้นายอนุทินได้ฟังเสียงของประชาชนจริงๆ ตามที่ได้ประกาศไว้
หนุนขั้วที่ 3 ผ่าทางตัน
    ขณะที่นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้กำลังเข้าสู่เดดล็อกและทางตัน เนื่องจากการรวมเสียง ส.ส.ของฝ่ายการเมือง 2 ขั้ว มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแบบปริ่มน้ำ ไม่ว่าฝ่ายใดตั้งรัฐบาลได้รัฐบาลหน้าก็ไร้เสถียรภาพ ขาดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ มีทางเดียวที่จะผ่าทางตันนี้ได้ คือการร่วมกันตั้งรัฐบาลช่วยชาติ ตามที่คณะกรรมการญาติวีรชนฯ เสนอ เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ข้อเสนอได้รับการขานรับ หลายฝ่ายมองเห็นวิกฤติรออยู่ข้างหน้า จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการสร้างการเมืองขั้วที่ 3 ในขณะนี้ แต่ไม่ใช่เพื่อต่อรองเก้าอี้อย่างเดียว แต่ต้องเป็นขั้วที่ 3 เพื่อผ่าทางตันการเมือง สร้างรัฐบาลสามัคคีปรองดอง ช่วยชาติให้ก้าวพ้นวังวนความขัดแย้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ให้ได้ หาก 4 พรรคคือ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ซึ่งรวมกันแล้วได้ 116 เสียงจับมือกันแน่น ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญ แล้วรวมกับ 2 ขั้วการเมืองคือ เพื่อไทย อนาคตใหม่ และพลังประชารัฐ รวมทั้งพรรคเล็กให้ได้ 376 เสียง แล้วเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในสภาผู้แทนฯ 500 คนที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายก็สามารถตั้งรัฐบาลได้
    "พล.อ.ประยุทธ์ แคนดิเดตนายกฯ ต้องเสียสละประกาศวางมือส่งไม้ต่อให้รัฐบาลหน้าลงจากอำนาจอย่างสง่างาม แล้วไปทำหน้าที่ช่วยชาติด้านอื่น โดยที่ไม่ควรมีฝ่ายใดตามเช็กบิล หากทุกฝ่ายยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตน ละวางอคติทางการเมืองลงได้เช่นนี้ เชื่อว่าเราจะได้รัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพสร้างความสันติสุขแก่ประเทศชาติได้ เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมา และมีขั้วที่ 3 โดยพรรคการเมืองฝ่ายที่ต้องการขจัดคราบเผด็จการออกไป โดยไม่เสียเลือดเนื้อ" นายอดุลย์กล่าว 
    เมื่อเวลา 15.30 น. ที่ลานโพธิ์ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ กลุ่ม People Start up นำโดย “จ่านิว” หรือนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนายธนวัฒน์ วงไชย นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ชั้นปีที่ 3 ร่วมกันจัดกิจกรรม “ปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่โหวตนายกฯ” โดยนางสาวณัฏฐา มหัทธนา หรือ “โบว์ คนอยากเลือกตั้ง”,  นายนคร มาฉิม สมาชิกพรรคเพื่อไทย และประชาชนประมาณ 120 คน เข้าร่วมกิจกรรม โดยการเขียนจดหมายแสดงความเห็นว่าทำไม ส.ว.ถึงไม่สมควรมีส่วนร่วมในการโหวตนายกฯ
     นายสิรวิชญ์กล่าวว่า จะรวบรวมจดหมายจากประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งตนจะเดินทางไปต่างจังหวัด ตั้งเป้าขั้นต่ำที่ 10,000 ฉบับ ภายในวันที่ 20 พ.ค. 2561 ก่อนจะนำไปยื่นแก่ ส.ว. ในวันที่มีการโหวตเลือกนายกฯ ต่อไป การจัดกิจกรรมในวันนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับใบปลิวนัดชุมนุมต้าน คสช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 
    ในแถลงการณ์ของกลุ่มระบุว่า ส.ว.ที่มาจากการสรรหาโดย คสช.เข้าข่าย “ส.ว.พวกพ้อง” ที่เต็มไปด้วยญาติสนิท มิตรสหายของ คสช. ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ เข้าทำนองว่า “ประยุทธ์ เลือกประวิตร แล้วประวิตรก็ไปเลือกน้องของประยุทธ์ ญาติสนิทมิตรสหายของประวิตร และประยุทธ์ เพื่อกลับมาเลือกประยุทธ์ แล้วประยุทธ์ก็จะได้เลือกประวิตรอีกที การที่ คสช.แต่งตั้ง พล.อ.ประวิตรเป็นประธานในคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ไม่ได้มีความเป็นกลางทางการเมือง จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (1)  และ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโมฆะ 
    ระหว่างการทำกิจกรรมของกลุ่ม People Start up มีผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณ 20-25 ปี ชูป้ายแสดงจุดยืน ระบุว่า “พรรคกางเกงในเก่า ทำไมพรรคอนาคตใหม่ถึงลงเลือกตั้ง แต่ไม่ยอมรับกฎกติกาหลังการเลือกตั้ง และควรจะเชิดชูชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์” โดยมีการนำสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่มาใช้ในป้ายด้วย โดยยืนชูป้ายเฉยๆประมาณ 10 นาที ก่อนที่ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมจะตะโกนด่าทอและโห่ร้องต่อจนหวิดเกิดเหตุชุลมุน ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบนำตัวออกนอกพื้นที่. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"