'ไอ. เอ็ม. เป้ย' ผู้ออกแบบพีระมิดลูฟร์ เสียชีวิตด้วยวัย 102 ปี


เพิ่มเพื่อน    

สิ้นเสาหลักแห่งวงการสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ "ไอ. เอ็ม. เป้ย" สถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายจีน  เสียชีวิตแล้วที่นิวยอร์กด้วยวัย 102 ปี ทิ้งผลงานโดดเด่นหลายชิ้นรวมถึงพีระมิดแก้วหน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟร์

แฟ้มภาพ วันที่ 22 มิถุนายน 2549 ไอ. เอ็ม. เป้ย (ซ้าย) เดินคุยกับเรอโนด์ ดอนดิเออ เดอ วาเบรส์ รัฐมนตรีวัฒนธรรมของฝรั่งเศส ที่ลานนโปเลียนด้านหน้าพีระมิดแก้วของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ / AFP

    นิวยอร์กไทม์รายงานอ้างคำกล่าวของหลี่ ชุง ลูกชายของไอ. เอ็ม. เป้ย หรือเป้ย อวี้หมิงว่า บิดาของเขาเสียชีวิตเมื่อคืนวันพุธเข้าสู่วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม

    เป้ยเกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2460 ที่เมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง บิดาเป็นนักการธนาคาร เมื่ออายุ 18 ปีเดินทางมาศึกษาด้านสถาปัตยกรรมในสหรัฐ จบปริญญาตรีที่เอ็ม.ไอ.ที. และปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้เป็นพลเมืองสหรัฐในปี 2497

    เป้ยมีผลงานออกแบบอาคารในสหรัฐและในอีกหลายประเทศ โดยมีลักษณะโมเดิร์นด้วยธีมแบบคิวบิสต์และได้อิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของอิสลาม วัสดุที่เขาใช้ในการออกแบบส่วนใหญ่เป็นกระจกและเหล็กผสมกับคอนกรีต ได้รับการยกย่องในความแม่นยำของการใช้รูปทรงเรขาคณิต, พื้นผิวเรียบและใช้แสงธรรมชาติ

แฟ้มภาพ วันที่ 8 เมษายน 2550 พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลามที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ หนึ่งในผลงานการออกแบบของเป้ย / AFP

    การออกแบบที่สร้างชื่อให้เขาคือ พีระมิดแก้วบริเวณลานหน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในกรุงปารีส ที่เปิดในปี 2532 แม้ตอนสร้างเขาจะโดนวิจารณ์อย่างหนัก นอกจากนี้เขายังออกแบบอาคารร็อกแอนด์โรลฮอลออฟเฟม และพิพิธภัณฑ์ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ, หอสมุดจอห์น เอฟ. เคนเนดีในบอสตัน, แบงก์ออฟไชน่าในฮ่องกง, พิพิธภัณฑ์เมืองซูโจว มณฑลเจียงซู, พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลามในกรุงโดฮา กาตาร์ ซึ่งเปิดเมื่อปี 2551 รวมถึงพิพิธภัณฑ์มิโฮในญี่ปุ่น

    เขาได้รับรางวัลพริตซ์เกอร์เมื่อปี 2526 ซึ่งเทียบเท่ากับรางวัลโนเบลในสาขาสถาปัตยกรรม และได้มอบเงินรางวัลที่ได้รับ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อตั้งเป็นกองทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาจีนที่ต้องการมาเรียนสถาปัตยกรรมในสหรัฐ แต่เมื่อจบการศึกษาต้องกลับไปทำงานออกแบบที่จีน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"