เหนือ 'ผลประโยชน์ทับซ้อน' ยังมี 'คุณประโยชน์ทับซ้อน'


เพิ่มเพื่อน    

     ผมตั้งวงเสวนาวันก่อนผ่านทางรายการ “ตอบโจทย์” ทาง ThaiPBS กับสามอาจารย์ผู้ช่ำชองการเมืองไทยว่าด้วยปัจจัยผันแปรที่อาจมีผลกระทบต่อการตั้งรัฐบาล สรุปตรงกันว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็น “ตัวแปร” สำคัญที่สุด
    ก่อนเข้าประเด็นนั้น อาจารย์วิโรจน์ ณ ระนอง แห่งทีดีอาร์ไอ เท้าความถึงคำว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ที่อาจจะเป็นประเด็นในกระบวนการคัดสรรสมาชิกวุฒิสภา 250 คน
    เพราะมีข้อกล่าวหาว่าคณะกรรมการคัดสรรบางคนอาจจะเลือกตัวเองหรือคนใกล้ชิดเป็น ส.ว. ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาว่าเข้าข่าย conflict of interest หรือไม่
    หากเข้าข่ายนี้จะต้องมีคนอ้างมาตรา 114 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ระบุว่า คนที่จะมาเป็น ส.ส.และ ส.ว.นั้นจะต้องไม่มีการกระทำใดๆ ที่อาจตีความได้ว่าเป็นการ “ขัดกันซึ่งผลประโยชน์”
    การที่บางคนของคณะกรรมการเลือกสรรได้รับเลือกมาเป็น ส.ว. หรือการที่พี่หรือน้องของตนเองได้รับเลือกเป็น ส.ว.นั้นจะเข้าข่ายเช่นนี้หรือไม่ยังเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณากันอย่างกว้างขวาง
    ดร.วิโรจน์บอกว่าเคยได้ยินคำว่า “คุณประโยชน์ทับซ้อน” ในกรณีอื่นๆ ที่แต่งตั้งคนเดียวในกรรมการหลายชุด “เพราะคนที่เกี่ยวข้องอ้างว่าเพราะคนดีคนเก่งในประเทศไทยน้อยไป คนดีคนเก่งก็จึงต้องช่วยทำงานให้ชาติบ้านเมืองในคณะกรรมการหลายๆ ชุด”
    ก็เรียกเสียงฮากันดังลั่นทีเดียว
    ที่น่าสนใจคือ อาจารย์ปริญญา เทวนฤมิตรกุล ตั้งข้อสังเกตว่า ระหว่างการประชุมสองสภาร่วมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นจะเป็นการลงมติเปิดเผย มีการขานชื่อ ดังนั้นหาก ส.ว.ส่วนใหญ่ลุกขึ้นประกาศชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกือบทุกคน ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความสงสัยคลางแคลงพอสมควร
    ดร.วิโรจน์ตั้งคำถามว่า “ก็เป็นเรื่องที่คาดกันไว้แล้วไม่ใช่หรือครับ”
    เสียงหัวเราะก็ดังขึ้นมาอีกรอบ
    อาจารย์ปริญญาตอบว่า “อย่าลืมว่าการเมืองเป็นเรื่องของความรู้สึกนะครับ ถ้าเราเห็นภาพเช่นนั้นในการเลือกนายกฯ และ ส.ว.ที่ คสช.เป็นคนเลือกมาลุกขึ้นขานชื่อพลเอกประยุทธ์กันถ้วนหน้า จะเกิดความรู้สึกอย่างไร”
    ภาพที่คนสงสัยว่ากระบวนการนี้คือการเลือกคนมาเป็น ส.ว. เพื่อให้เลือกตัวเองกลับมาเป็นนายกฯ ก็จะเด่นชัดขึ้นมาอย่างปฏิเสธไม่ได้
    อาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ยืนยันว่า กระบวนการเลือกสรร ส.ว.จะกลายเป็นประเด็นแน่นอนหากเกิดภาพเช่นนั้นขึ้นในวันเลือกนายกฯ
    “ก็ต้องดูว่าจะมีการร้องเรียนหรือเปล่า อาจจะเป็นการร้องเรียนช่วงนี้ว่าด้วยกระบวนการสรรหาหรือร้องเรียนหลังจากผลการเลือกนายกฯ ออกมาแล้วก็ได้” อาจารย์สิริพรรณบอก
    ใครจะได้ตั้งรัฐบาลและใครจะเป็นนายกฯ ท้ายที่สุดอาจจะอยู่ที่การตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์
    ข่าวหลายกระแสบอกว่าเสียงจะแตก
    กรรมการบริหารของ ปชป.กลุ่มหนึ่งต้องการให้พรรคเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อตั้งรัฐบาล จะได้บอกกล่าวกับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่ามีผลงาน
    อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าการเข้าร่วมกับพลังประชารัฐจะทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคเสื่อมทรุดลงไปอีก เพราะจะถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยให้ คสช. “สืบทอดอำนาจ”
    กลุ่มนี้ต้องการจะให้พรรค ปชป.วางตัว “เป็นกลาง” คือไม่เข้าร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และไม่เอียงเข้าหาพรรคเพื่อไทย
    กลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเสนอให้พรรคเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” หรือ “ฝ่ายค้านสร้างสรรค์”
    นั่นหมายความว่าจะเลือกลงมติสนับสนุนกฎหมายสำคัญๆ เพื่อให้การเมืองเดินหน้าต่อไป แต่จะไม่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่
    คนกลุ่มนี้ต้องการจะให้พรรคทุ่มเททุกอย่างเพื่อฟื้นฟูพรรคที่ได้ต้องถือว่าพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างหมดรูป
    เป็นไปได้ว่าท้ายที่สุด กรรมการบริหารของพรรคอาจจะมีมติให้ร่วมรัฐบาล “อย่างมีเงื่อนไข”
    นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า อาจถึงขั้นที่ ส.ส.ของพรรคบางส่วนอาจตัดสินใจไปร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ แต่อีกบางส่วนอาจจะเลือกที่จะไม่ไปร่วม 
    แต่การที่คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า พรรคอนาคตใหม่ขออาสาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแข่งกับพลังประชารัฐ และตัวคุณธนาธรเองขอเสนอตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น กำลังกลายเป็น “สูตรใหม่” ที่สร้างแรงกระเพื่อมใหม่ทางการเมืองในโค้งสุดท้ายของการแข่งตั้งรัฐบาลเช่นกัน 
    สถานการณ์พลิกผันได้จนถึงนาทีสุดท้าย....และไม่มีใครกล้าเปล่งวาจาว่า “มันจบแล้วนาย” เป็นอันขาด!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"