พปชร.จัดตั้งรัฐบาล แกนนำยกนิ้วโป้งจ่อได้ข้อสรุป/ปชป.-ภท.เล่นลิเกขั้วที่สาม


เพิ่มเพื่อน    

  “ประยุทธ์” มึนข่าวเจ้าสัวซีพีคั่วนายกฯ   ว่ามาอย่างไร เตือนสติตั้งรัฐบาลเก้าอี้รัฐมนตรีไม่ใช่เรื่องขายของ เอาชนะคะคาน ต้องหาจุดสมดุล “ประวิตร” ท่องคาถาไม่รู้เรื่องโควตา-ต่อรอง “ดอน” ประกาศขอพักผ่อน กอบศักดิ์เชื่อใกล้ได้ข้อสรุปพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว “น้าญัติ” รับประธานสภาฯ น่าสนใจ แต่ขอเป็น ส.ส.ธรรมดาดีกว่า “ปชป.” คาด 23 พ.ค.ได้บทสรุปพรรคชัดเจน ส่วน ชทพ.นัดเคาะ 24 พ.ค. “โอ๊ค” โผล่ยกคำหาเสียงก่อนเลือกตั้งบีบ 2 พรรคกลางร่วมผสมพันธุ์เพื่อแม้ว 

เมื่อวันอังคาร ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบคำถามถึงการฟอร์มทีมรัฐบาลเสร็จแล้วหรือไม่ ว่าใครเป็นนายกฯ ล่ะ เขากำลังทำกันอยู่  
จากนั้นคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์นำคณะเข้าพบนายกฯ เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมโรดโชว์ผลไม้ไทยอร่อยที่สุดในโลก ซึ่งนายกฯ ได้ดูผลไม้ชนิดต่างๆ ที่นำมาประชาสัมพันธ์ และกล่าวช่วงหนึ่งระหว่างเยี่ยมชมนิทรรศการว่า "วันๆ มีแต่ข่าวทะเลาะกัน เมืองไทยมีเรื่องดีๆ เยอะแยะ ขอให้ช่วยเสนอสิ่งดีๆ" 
และในเวลา 12.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสื่อฮ่องกงรายงานว่า นายกฯ ของไทยคนต่อไปคือ นายธนินท์ เจียรวนนท์ อดีตประธานบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ว่า “เป็นไปได้ยังไง ผมไม่รู้เหมือนกัน” 
ถามต่อว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปจะพิจารณากรณีนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ อยากเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ยังไม่คิด วันนี้ทุกพรรคเขาก็หารือกันเอง อย่าเอาตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องเลย ยังไม่ไปก้าวล่วงตรงนี้ เป็นเรื่องของคนที่คาดว่าจะเป็นรัฐบาล เขาก็คุยกันมา คิดว่าทุกอย่างอยู่ที่การพูดคุยให้เข้าใจ ให้รู้เรื่องว่าบ้านเมืองต้องการอะไรในขณะนี้ ถ้าเราทำล่าช้าเกินไป ก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นต่างประเทศ การค้าการลงทุนถ้าหยุดชะงักจะทำอย่างไร สงครามการค้าก็เกิดในขณะนี้ เราต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้ต่างชาติ ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลคนภายในของเรา
“ลดความขัดแย้ง ผมเคยบอกไว้แล้ว ถ้าทุกคนยังคิดเป็นซ้ายคิดเป็นขวา โดยไม่หาทางตรงกลางที่จะมาร่วมกัน มันก็ไปไม่ได้หมดทุกเรื่อง ทุกรัฐบาล”
เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ทางพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้หารือถึงตำแหน่งรัฐมนตรีที่จะจัดวางหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ยังไม่ได้คุยกัน ให้เขาคุยกันมา ถ้าเขาคุยกันได้เรื่องอย่างไร กับคนที่ถูกวางตัวเป็นรัฐมนตรีใหม่ จากนั้นก็ต้องนำมาให้นายกฯ เป็นคนตัดสินใจ ซึ่งยังตัดสินใจไม่ได้ เพราะยังไม่ได้เป็นนายกฯ ใหม่ ขณะนี้คิดว่าเขาคงคุยกัน และวันนี้บางพรรคเพิ่งจะประชุมยังไม่ได้ข้อยุติทั้งสิ้น
ถามอีกว่า จากบรรยากาศการจับขั้วพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีพรรคที่จะร่วมกับพรรค พปชร.กว่า 10 พรรคมองอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่าไม่เป็นอะไร ก็ต้องมองให้มันดี ถ้ามีหลายพรรคอาจดีไปอย่าง คือทุกนโยบายที่ได้หาเสียงกันมาและได้รับคะแนนเสียงมามันต้องนำไปสู่การปฏิบัติ แต่จะปฏิบัติอย่างไรก็ต้องร่วมมือกันทำ ถ้าไม่ร่วมมือกัน ไม่ว่าจะกี่พรรคมันก็ไปไม่ได้ทั้งหมด ถ้าทุกคนมุ่งเน้นแต่จะเอาของตัวเองมันไม่ได้ ทั้งหมดถ้ามาร่วมอยู่ในนโยบายของรัฐ ก็สามารถจัดทำแผนว่าจะทำอย่างไร ได้แค่ไหนในแต่ละระยะ
รมต.ไม่ใช่ขายของ
“ผมเห็นตัวอย่างหลายประเทศเวลาทำอะไรขึ้นมา สมมติว่านโยบายอะไรก็ตาม ถ้าอยากทำให้ประชาชนเห็นชอบทั้งหมด มันไปไม่ได้ เพราะจะสร้างปัญหาใหม่เกิดขึ้นหลายอย่าง ฉะนั้นมันต้องเดินเป็นขั้นเป็นตอนทุกเรื่อง สิ่งที่เขาหาเสียงกันมา ผมยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างที่ผมบอก ครม.ใหม่ รัฐบาลใหม่ ไม่ใช่ทำงานง่าย เพราะมีกฎหมายอะไรต่างๆ ออกมาหลายตัว และที่ผ่านมาแม้ผมมีอำนาจเยอะพอสมควร ผมก็ยังไม่ดันทุรัง บางเรื่องผมก็ทำไม่ได้ แต่สามารถคิดและกำหนดเป็นแนวทางไว้ได้ในวันข้างหน้า ผมก็หวังแต่รัฐบาลใหม่เขาจะทำต่อเนื่องไป อะไรที่มันดีก็ทำต่อ ที่ไม่ดีก็แก้ไข แค่นั้น ฉะนั้น การเมืองมันน่าจะเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่มุ่งเอาชนะคะคานกัน และตำแหน่งเหล่านี้มันไม่ใช่ขายของ ทุกคนมองเป็นเรื่องการขายของ พอพูดไปมากๆ เข้า เขาจะเชื่อมั่นรัฐบาลเราหรือกลายเป็นต่อรองอะไรกันเยอะแยะไปหมด ผมว่าเขาคุยกันรู้เรื่อง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นนำเป็นที่หนึ่ง ทำให้มีคนอยากเป็นรัฐมนตรีเสนอตัว โดยสนับสนุนให้เป็นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทั้งหมดพรรคต้องคุยกันมา พรรคร่วมรัฐบาลต้องคุยกันก่อน ใครจะไปจัดแจงได้ทั้งหมด มันไม่ได้หรอก
ถามอีกว่า จริงเท็จแค่ไหนที่มีข่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม มีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยน้ำเสียงแผ่วเบาว่า “ไม่จริงหรอก” พร้อมกล่าวอีกว่า ก็คุยกันว่าสถานการณ์ทางการเมืองมันเป็นยังไง อย่างไร อะไรที่เราควรให้เขาทำต่อบ้าง ก็สุดก็แล้วแต่รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาแล้วกัน
เมื่อถามอีกว่า ตามที่เคยระบุว่ากระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ต้องเป็นของพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ทุกพรรคเขาก็หวังอย่างนั้น 
ถามอีกว่า เดือน มิ.ย.จะได้เห็นรัฐบาลใหม่แล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “อยู่ที่พวกเราจ้ะ”
ทั้งนี้ ก่อนการประชุม ครม. พล.อ.ประวิตรเดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล ได้มีสื่อมวลชนรอดักสัมภาษณ์ตามปกติ ซึ่งคนใกล้ชิดได้แจ้ง พล.อ.ประวิตรว่าสื่อมวลชนรอสัมภาษณ์เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ทำให้ พล.อ.ประวิตรกล่าวด้วยสีหน้าหงุดหงิดว่า "ไม่ตอบ" จากนั้นเมื่อ พล.อ.ประวิตรเดินผ่านวงสื่อมวลชน ได้มีการถามความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตรตอบด้วยสีหน้าปกติว่า ไม่รู้เรื่อง และเมื่อถามย้ำว่ามีข่าวว่ามีแกนนำ ปชป.และ ภท.ไปคุยกับท่านเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่รู้ๆ ไม่ได้ไป” ก่อนเดินขึ้นตึกบัญชาการ 1 ทันที 
พาเหรดปัดข่าวนั่ง รมต.ต่อ
และหลังประชุม ครม. พล.อ.ประวิตรปฏิเสธข่าวร่วมพูดคุยกับแกนนำพรรค ปชป. เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ว่า ไม่มี และเมื่อถามย้ำว่ามีกระแสข่าวแกนนำพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าพูดคุยเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประวิตรกล่าวอีกว่า “โอ๊ย ไม่มี” เมื่อถามอีกว่าทำไมจึงมีข่าวลักษณะนี้ออกมาต่อเนื่อง พล.อ.ประวิตรตอบว่า ให้ไปถามผู้ที่ให้ข่าว จะมาถามอะไรตนเอง และไม่รู้เขาปล่อยข่าวมาเพื่อหวังอะไร ถามตนเองจะไปรู้เรื่องอะไร
    เมื่อถามว่า เป็นห่วงที่พรรค ปชป.และพรรค ภท.ยังสงวนท่าทีอยู่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ แล้วแต่เขา ส่วนที่เขารวมกันเพื่อจะสร้างอำนาจต่อรองหรือไม่นั้น ก็ไม่ทราบ
ถามอีกว่า ตอนนี้ยังมีการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี พล.อ.ประวิตรตอบว่า ไม่มีเก้าอี้ ถ้ามีตนเองเดินไปแล้ว ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์อยากให้เป็น รมว.กลาโหมต่อนั้น ก็ไม่รู้ ถ้าท่านอยากได้ก็แล้วแต่ท่าน แต่เหตุการณ์ข้างหน้ายังไม่มีใครรู้ ตัวท่านเองก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นนายกฯ หรือไม่
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงประเด็น พล.อ.ประยุทธ์อยากให้กลับมารับตำแหน่ง รมว.มหาดไทยในรัฐบาลหน้าต่อว่า อันดับแรกต้องดูว่าใครจะเป็นนายกฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอน เข้าใจว่าเรื่องแรกคือ พรรคการเมืองที่จะมาร่วมกันทำงาน เมื่อทราบว่าใครเป็นนายกฯ แล้วต้องให้เกียรติ และจะพูดคุยกันกับพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดว่าควรจัดลงไปทำงานอย่างไร เพราะโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลในระยะต่อไปคือดูแลประชาชนที่มีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง ที่สำคัญอย่างยิ่งในการจัดคนลงไปทำงาน เพื่อตอบสนองประชาชนให้ได้เป็นหลัก โดยในความคิดตนเอง ไม่ใช่เรื่องการจะมาแบ่งเป็นโควตา
"อยู่ที่ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ มีการพูดคุยกันอย่างไร ให้เกิดความลงตัว ระหว่างพูดคุยจะมีคนที่ตั้งคนในตำแหน่งต่างๆ ตามที่ข่าวลือออกมา ก็จะต้องให้เกียรติคนที่จะเข้ามาเป็นนายกฯ" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเลือกเป็นนายกฯ และขอให้ พล.อ.อนุพงษ์มาช่วยงาน พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า ขอให้เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อน ที่สำคัญต้องทำให้ประเทศชาติที่มีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ไข และต้องดูความเหมาะสมว่าตัวเราเองมีความสามารถแค่ไหน อย่างไร และต้องให้เกียรตินายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาลด้วย จะได้ไม่มีปัญหา ว่าจะเลือกใครอย่างไร มีปัจจัยที่ต้องพูดคุยด้วย ความเหมาะสมที่อยากได้ แล้วที่พรรคต้องการจะดูแล อยากมาทำงานก็ต้องรับฟังกัน ไม่อย่างนั้นจะเกิดความวุ่นวาย ทั้งนี้ การทำงานจะต้องร่วมกับพรรคร่วม เป็นรัฐบาลแบบผสม เพราะไม่มีใครได้รับเสียงเด็ดขาดที่จัดตั้งรัฐบาลได้ จึงต้องฟังกันว่านโยบายแต่ละพรรคมีอย่างไร อยากทำเรื่องอะไรอย่างไรบ้าง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวในเรื่องเดียวกันถึงกรณีมีชื่อติดโผ ครม.ในรัฐบาลใหม่ว่า ไม่ได้รับเทียบเชิญแต่อย่างใด ส่วนหากได้รับการเทียบเชิญจะตอบรับหรือไม่นั้น ก็ยังไม่ทราบ และยังไม่ขอตอบในตอนนี้ เพราะไม่มีการตัดสินใจใดๆ เรื่องนี้ไม่เคยคิดอยู่ในหัวแม้แต่นิดเดียว 
“โผพวกคุณเองน่ะสิ ใครจะเป็นคนส่งเทียบเชิญผม วันนี้เปิดหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับดูกันให้ว่อนอยู่”นายวิษณุกล่าวและตอบคำถามกรณีถ้าได้รับเทียบเชิญ พร้อมจะตอบรับหรือไม่ว่า “ต้องดูก่อนว่าขั้วไหน ขั้วที่สามหรือขั้วใด”
ส่วนนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศกล่าวในเรื่องนี้เช่นกันว่า เคยมีการถามมา แต่เคยบอกว่าขอพัก และเมื่อถามย้ำว่าตอนนี้ยังอยากพักอยู่หรือไม่ นายดอนยืนยันว่า ยังอยากพักอยู่
พปชร.ชี้ใกล้ได้ข้อสรุป
สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ นั้น ที่พรรค พปชร. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค พปชร. กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลว่า นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค อยู่ระหว่างเจรจากับพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาล ขอให้อดใจรออีกนิด เกือบถึงเวลาแล้ว และขณะนี้ก็ใกล้เปิดสภาผู้แทนราษฎรแล้ว กระบวนการต่อรองยังดำเนินการอยู่ในตอนนี้ จึงอยากให้อดใจรอกันอีกนิดว่าจะมีข้อยุติอะไรบ้าง แต่มั่นใจว่าข้อยุติดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ และจะมีข่าวดีให้พี่น้องประชาชน
เมื่อถามถึงท่าทีของพรรค ปชป.และพรรค ภท.ที่จับมือกันต่อรองในขณะนี้นั้น นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ต้องให้ทุกพรรคตัดสินใจ ทั้งพรรค ปชป.และพรรค ภท. ซึ่งพรรคก็รออยู่ โดยอยากให้เขาได้ดำเนินการให้เรียบร้อยก่อน และเราพร้อมเจรจาต่อรองเพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดให้พี่น้องประชาชน ยึดผลประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศ เราผ่านการเลือกตั้งมา ทุกคนก็ปรารถนาที่จะมีรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนประเทศต่อไป  ซึ่งตอนนี้กำลังนั่งนับวัน ตอนนี้เหลืออีก 4 วันก็จะมีการเปิดสภา และวันที่ 25 พ.ค. ก็จะได้ประธานสภาผู้แทนราษฎร 
“ทุกพรรคพยายามต่อรองให้ดีที่สุดสำหรับพรรคของตัวเอง ซึ่งทุกพรรคพยายามหาทางออก โดยเฉพาะข้อตกลงของพรรคการเมืองที่จะมาร่วมกับ พปชร.ให้ลงตัวที่สุด และผมมั่นใจว่าทุกคนทุกพรรคการเมืองจะยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก”นายกอบศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่า พปชร.ยังมั่นใจว่าจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใช่หรือไม่ นายกอบศักดิ์ไม่ตอบคำถาม แต่ยิ้มพร้อมยกนิ้วโป้งแสดงความมั่นใจ 
ส่วนที่พรรค ปชป.ได้มีการประชุม ส.ส. 52 คน เป็นครั้งแรก โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เป็นประธานการประชุม ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ท่ามกลางการจับตาของสังคมที่พรรคเสียงแตกออกเป็นสองฝ่ายในการร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร. โดยปรากฏว่าในที่ประชุมครั้งนี้ ส.ส.ได้แบ่งกลุ่มนั่งกันอย่างชัดเจน ระหว่างกลุ่มของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกลุ่มนายถาวร เสนเนียม 
เวลา 17.45 น. นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป. แถลงถึงมติเรื่องการตัดสินใจร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ว่าที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารพรรคไปพิจารณาประสานงานทิศทางกับพรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งเรื่องงานในรัฐสภา และการทำงานในฝ่ายบริหาร รวมทั้งให้นำข้อมูลต่างๆ กลับมารายงานในที่ประชุม ส.ส.อีกครั้งในวันที่ 23 พ.ค. ซึ่งพรรคจะประชุม ส.ส.และ กก.บห. และอาจได้ความชัดเจนออกมาในวันดังกล่าวว่าพรรคจะตัดสินใจร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล
         “ยืนยันว่าช่วงที่ผ่านมายังไม่มีพรรคการเมืองไหนติดต่อมายัง ปชป. และขณะนี้ กก.บห.ก็ยังไม่ได้มอบหมายใครไปพูดคุยกับพรรคต่างๆ ส่วนกระแสข่าวว่านายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ไปพูดคุยกับพรรคภูมิใจไทยถึงการร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด ขอให้ไปถามนายเฉลิมชัยเอง ส่วนการลงมติเลือกนายกฯ นั้นหากพรรคมีมติไปในทิศทางใด ส.ส.พรรคทั้งหมดก็ต้องปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันตามมติพรรค” นายราเมศกล่าว
ด้านนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค กล่าวถึงกรณีมีชื่อเป็นประธานสภาฯ ว่าเรื่องนี้เป็นข่าวที่พูดกันไปมา จึงขอถือโอกาสขอบคุณ ส.ส.หลายคนที่พูดถึงในทางที่ดีเชิงสนับสนุน แต่ในทางการเมือง ตำแหน่งสำคัญเช่นนี้ พอถึงเวลาจริงต้องมีการจัดการ แต่ละพรรค แต่ละกลุ่มก็มุ่งหมายอยู่ในใจว่าจะสนับสนุนใคร ฉะนั้นจึงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และความจริงแล้วประธานสภาฯ เป็นตำแหน่งที่สำคัญและมีเกียรติ เพราะเป็นถึงประมุขของ 3 อำนาจอธิปไตย ถือเป็นตำแหน่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากมีเกียรติแล้วยังทำประโยชน์ได้จำนวนมาก
บัญญัติขอเป็น ส.ส.ธรรมดา 
“ถือเป็นตำแหน่งที่น่าสนใจ แต่ผมพูดไว้ตรงนี้เลยว่าใจจริงขณะนี้อยากอยู่เป็น ส.ส.ธรรมดามากกว่าที่จะขึ้นไปนั่งเป็นประธานสภาฯ เพราะจะได้คล่องตัวในการไปไหนมาไหนมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางไปดูปัญหาของประชาชน แต่ท้ายที่สุดถ้าเพื่อนพรรคการเมืองต่างๆ ยังเห็นว่าตำแหน่งนี้ยังประสงค์ให้คนของพรรคประชาธิปัตย์ไปดำรงตำแหน่ง ผมก็มั่นใจว่าในพรรคของเรามีคนหลายคนที่พร้อมขึ้นทำหน้าที่นี้ได้ดีแน่นอน” นายบัญญัติกล่าว
นายบัญญัติกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้บ้านเมืองมีเรื่องอึมครึมกันมากที่ทำให้คนต้องคิดต้องเดากัน ความจริงอยากเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพรรคที่เป็นรัฐฏาธิปัตย์อยู่ในขณะนี้ ซึ่งถือเป็นเจ้าภาพใหญ่จะต้องทำให้ทุกอย่างชัดเจน คนจะได้ไม่ต้องทายกันว่าจะเป็นอย่างไร จนทำให้เกิดความกังวล ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดี
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โพสต์รูปข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anutin Charnvirakul  ว่า ทำงานกันอยู่นะครับ ไม่ได้มากินกันเฉยๆ ตามที่ได้พูดไว้ทุกอย่าง
    สำหรับภาพดังกล่าวเป็นการพบปะระหว่างนายอนุทินกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ร้านทีเฮ้าส์ 
มีรายงานว่า นายอนุทินกับนายเฉลิมชัยหารือถึงการจัดตั้งรัฐ โดยนายเฉลิมชัยระบุว่า จะนำไปหารือในที่ประชุมพรรคอีกครั้ง สอดคล้องกับการแถลงข่าวของนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่บอกว่ามติเรื่องการตัดสินใจร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลในวันนี้ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารพรรคไปพิจารณาประสานงานทิศทางกับพรรคการเมืองอื่นๆ  ทั้งเรื่องงานในรัฐสภา และการทำงานในฝ่ายบริหาร รวมทั้งให้นำข้อมูลต่างๆ กลับมารายงานในที่ประชุมส.ส.อีกครั้ง ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ 
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสาคร พรรค ปชป. โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีพรรคการเมืองยังมีท่าทีลังเลที่จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.ว่า ถึงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเสียสละ อย่าโทษพรรคการเมืองขนาดกลางที่ไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะเข้าร่วมกับ พปชร.จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ เพราะปัจจัยหลักไม่ได้อยู่ที่การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี แต่อยู่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์กับสอง พล.อ. มาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองต่างหาก
“การเสียสละไม่รับตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์และสองพลเอก จึงเป็นทางออกของบ้านเมือง เพราะเงื่อนไขที่สังคมจับจ้องคือการอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ของชายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ยังมีแรง มาเป็น รมว.กลาโหมตำแหน่งเดียวก็ดูดี เมื่อนั้นสังคมจะสรรเสริญว่าท่านปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ไม่ติดยึดกับตำแหน่ง ขึ้นได้ลงได้ และพรรคต่างๆ ก็สามารถร่วมรัฐบาลกับ พปชร.ได้โดยสนิทใจ” นายสมชัยกล่าว
    น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงท่าทีของพรรคว่า ยังไม่ได้รับการทาบทามหรือพูดคุยจากพรรค ปชป.และ ภท.แต่อย่างใด ไม่มีการติดต่อมาหรือแม้แต่ประสานงานมา ซึ่งพรรคมี ส.ส.เพียง 10 คนเท่านั้น เราคงอยู่นิ่งๆ และรอประชุมพรรคในช่วงเย็นวันที่ 24 พ.ค.นี้ ก่อนตัดสินใจใดๆ
โอ๊คชี้ 2 พรรคกำหนดอนาคต
ขณะที่นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคุก อดีตนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ปัญหาการเมืองไทยแก้ไม่ยาก หากทุกพรรคเชื่อมั่นในเสียงของประชาชน โดยเฉพาะพรรคตัวแปร ซึ่งหากไปรวมกับขั้วสืบทอดอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะได้รัฐบาลปริ่มน้ำที่ไม่มีเสถียรภาพ และต้องพึ่งความหวังจากน้ำบ่อหน้า จากการยุบพรรคอีกฝ่าย เพื่อซื้อตัว ส.ส.ที่กระจัดกระจายมาช่วยเสริมทัพ และต้องหาซื้องูเห่ามาเลี้ยง ซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้การเมืองไทยเน่าเหม็นย้อนยุคไปอีกหลายสิบปี แต่หากตัวแปรกว่า 100 เสียงนี้ เข้าร่วมกับขั้วประชาธิปไตยจะทำให้ได้รัฐบาลร่วม 350 เสียง ซึ่งในภาวะปกติถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูงมากประชาธิปไตยไปต่อได้อย่างสบาย 
นายพานทองแท้ยังโพสต์พร้อมแนบคลิปว่าที่สำคัญพรรคตัวแปรนี้มี 2 พรรคใหญ่ ได้แก่ พรรค ปชป. และพรรค ภท. ได้ให้สัญญากับพี่น้องประชาชนไว้ก่อนการเลือกตั้ง พร้อมระบุว่า ประชาธิปไตยของไทยจะไปในทิศทางใด จะเริ่มต้นศักราชใหม่หลังอึมครึมมา 5 ปี หรือยังคงสืบทอดอำนาจให้อยู่ลุงตู่คนเดิมต่อไป ขึ้นอยู่กับความเชื่อของ 2 พรรคหลักที่ยังอยู่ตรงกลาง ถ้าคิดว่าอำนาจเป็นของประชาชนไม่ใช่ของลุง ประชาธิปไตยจะชนะ และเราจะชนะไปด้วยกัน 
“ถ้าคิดจะเกรงกลัวเผด็จการ ก็ไม่ควรเลือกตั้งที่ใช้งบประมาณไปกว่า 5 พันล้านบาท เพราะประชาชนที่ออกไปเลือกตั้ง ไม่ได้ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นเพียงการชุบตัวเผด็จการให้ดูเป็นประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทยอยู่ภายใต้การตัดสินใจของ 2 พรรคการเมืองที่ชื่อพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย” นายพานทองแท้โพสต์ไว้
          นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทยเรียกร้องไปยัง ส.ว. 250 คนให้ใช้ดุลยพินิจและคำนึงถึงกฎหมาย ต่อการลงมติสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เนื่องจากการใช้สิทธิตามดุลยพินิจดังกล่าวอาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 114. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"