'ส.ว.คำนูณ'เปิดหลักคิดและเหตุผลทำไมต้องโหวต'บิ๊กตู่'เป็นนายกฯ


เพิ่มเพื่อน    

1 มิ.ย.62 - นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โพสต์เรื่อง "หลักคิดในการเลือกนายกรัฐมนตรี" ผ่านเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn โดยมีเนื้อหาดังนี้

"ต้องเป็นบุคคลที่ตอบโจทย์ 'เหตุผลพิเศษ' ได้ใกล้เคียงที่สุดในเชิงเปรียบเทียบ"
________________

ตั้งแต่เข้ารับหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา บางคนถามว่าผมจะเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะอะไร หลายคนไม่ถามแต่พูดในเชิงว่ายังไง ๆ ผมก็ต้องเลือกอยู่แล้ว อันที่จริงเป็นคำถามที่ไม่ว่าจะตอบหรือไม่ตอบ ทุกคนก็จะได้รู้ชัดว่าผมและสมาชิกวุฒิสภาคนอื่นจะใช้สิทธิอย่างไร เพราะเป็นการลงมติโดยเปิดเผยตามรัฐธรรมนูญ

ขอกล่าวถึงหลักคิดและเหตุผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีในฐานะสมาชิกวุฒิสภาในมุมมองส่วนตัวของผมพอสังเขปจะดีกว่า น่าจะเป็นประโยชน์ตามสมควร

โดย ณ ที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะเหตุผลประการสำคัญที่สุดในฐานะสมาชิกวุฒิสภา

"ต้องเป็นบุคคลที่ตอบโจทย์ 'เหตุผลพิเศษ' ได้ใกล้เคียงที่สุดในเชิงเปรียบเทียบ"

สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามบทเฉพาะกาลได้หน้าที่และอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากผลการออกเสียงประชามติเมื่ิอวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ในส่วนของ 'คำถามเพิ่มเติม' ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตอบว่า 'เห็นด้วย' ด้วยคะแนนเสียงคะแนนเสียงข้างมาก 15,132,050 เสียง คิดเป็นร้อยละ 58.07 ของจำนวนผู้มาออกเสียงประชามติทั้งหมด จึงต้องย้อนกลับไปดูคำถามเพิ่มเติมว่าอ้างอิงเหตุผลไว้อย่างไร...

"ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"

สรุปให้สั้นและกระชับ...

"เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ..."

ผมเห็นว่านี่คือ 'เหตุผลพิเศษ' ของสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุผลที่เพิ่มเติมไปจากเหตุผลทั่วไปทางการเมืองระบบรัฐสภา เรื่องนี้ได้เคยเล่าไปแล้วไปโพสต์ก่อนหน้านี้ว่าสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ได้รับการวางบทบาทจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้เป็นเสมือน 'องครักษ์พิทักษ์การปฏิรูปประเทศ' มีหน้าที่หลักพิเศษนอกเหนือจากการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว 3 ประการอย่างไรบ้าง สามารถอ่านประกอบได้อีกครั้งจากลิงก์ที่ 1 ท้ายโพสต์นี้

จะเลือกบุคคลใดก็ตาม บุคคลนั้นต้องตอบโจทย์ 'เหตุผลพิเศษ' นี้ได้ อาทิ

บุคคลนั้นเข้าใจแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 10 (+ 2) ด้านหรือไม่ ?

บุคคลนั้นจะปฏิบัติตามแผนปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องหรือไม่ หรือตั้งใจจะรื้อใหม่หมดไม่ว่าจะโดยเหตุผลใดก็ัตามอันจะเป็นผลทำให้กระบวนการปฏิรูปประเทศล่าช้าออกไปอีก ?

ขอให้ข้อมูลซ้ำอีกครั้ง ณ ที่นี้ว่า ขณะนี้แผนปฏิรูปประเทศรวม 10 ด้านมีผลบังคับใช้โดยประกาศราชกิจจานุเบกษาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2561 ส่วนแผนปฏิรูปประเทศอีก 2 ด้าน คือ ด้านการศึกษา และตำรวจ ตัวร่างกฎหมายหลักยกร่างเสร็จแล้วในชั้นกฤษฎีกา รอคณะรัฐมนตรีส่งเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ ทั้งนี้โดยมีกฎหมายกำหนดขั้นตอนการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะอยู่แล้ว 2 ฉบับ มีกรรมการปฏิรูปประเทศมีอยู่แล้วทั้ง 10 ด้านตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2560

ทั้งหมดเกิิดขึ้นในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาทั้งสิ้น ท่านจึงออกจะได้เปรียบในประเด็นนี้ เพราะเป็นประธานในการอนุมติแผนฯเองทั้งในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และนายกรัฐมนตรี

ทีนี้มาว่ากันถึงการปฏิบัติตามแผนปฏิรูปประเทศของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะผู้ปฏิบัติบ้าง ประเด็นนี้สำคัญกว่า

ขอตอบเป็น 2 ด้่าน

ด้านหนึ่ง การทำตามแผนปฏิรูปประเทศของรัฐบาลมีไปมากพอสมควร

ขอยกเฉพาะที่สำคัญที่สุดในมุมมองส่วนตัวของผม แต่มักจะมีคนทั่วไปพูดถึงน้อยมาก มาสัก 3 ประเด็นด้วยกัน

- กฎหมายขายฝากที่ดินคนจน : พระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562

- กฎหมายลูกมาตรา 77 : พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562

- กฎหมายวิสาหกิจเพื่อสังคม : พระราชบัญญัติวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562

ในประเด็นแรกเรื่ิองกฎหมายขายฝากที่ดินคนจนเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลก่อนหน้าในช่วงระยะเวลา 46 ปีตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่อาจทำได้สำเร็จ

ผมเคยโพสต์มาสองสามครั้งแล้วว่าเฉพาะในประเด็นนี้ กุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จคือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาโดยตรง ถ้าท่านไม่กล่าวเชิงแสดงเจตจำนงทางการเมืองกึ่งสัญญาประชาคมว่าจะเร่งผลักดันเต็มที่ในรายการศาสตร์พระราชาฯเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ก็คงยากที่คณะทำงานจะผลักดันร่างกฎหมายให้ผ่านกระบวนการของระบบได้ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนจบได้ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี อ่านสปีชของท่านอีกครั้งได้ในลิงก์ที่ 2 ท้ายโพสต์

สื่อมวลชนคนหนึ่งกล่าวว่านี่คือ 'ปลดแอกการขายฝาก' ออกจากคอคนจน

"ช่วยปลดแอกรากหญ้า คนจน ทั้งในชนบท ในเมือง ให้หลุดพ้นพันธนาการจากที่เคยเป็นเบี้ยล่างเพราะถูกมัดมือชกโดยสัญญาขายฝาก"

ขอยอมรับ ณ ที่นี้ว่าเฉพาะประเด็นนี้ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 'ได้ใจ' ผมไปเต็ม ๆ เพราะสมัยทำกิจกรรมทางการเมืองหลัง 14 ตุลาคม 2516 ผมได้มีส่วนร่วมกับสหพันธ์นักศึกษาเสรีฯทำงานร่วมกับกลุ่มชาวนาชาวไร่ที่เข้ามาเรียกร้องความเป็นธรรม ได้เห็นความเดือดร้อนและการสูญเสียที่ทำกินจากบทบัญญัติการขายฝากที่อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สมัยนั้นเกิดการปฏิรูปใหญ่มีกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาออกมา 2 ฉบับคือกฎหมายควบคุมค่าเช่านาและกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ขาดแต่การยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายขายฝาก กระทั่งผ่านมาอีกหลายยุคสมัยเกือบ 50 ปีก็ไม่สำเร็จ เพิ่งมาสำเร็จในยุคนี้ ขณะนี้กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2562 จะมีผลบังคับใช้ทั้งระบบภายในไม่กี่เดือนนี้

ในประเด็นที่สองเป็นการทำให้มาตรา 77 รัฐธรรมนูญ 2560 ปรากฎเป็นจริงในทุกมิติ เปิดโอกาสให้มีการสังคายนากฎหมายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบลงโทษทางอาญาที่ไม่ควรจะมีพร่ำเพรื่อแม้ในฐานความผิดที่ไม่จำเป็น ล่าสุดร่างกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 นี่เอง จะมีพ้นบังคับใช้ภายใน 180 วัน ก็ช่วงสิ้นปีนี้พอดี

ในอนาคตผลของกฎหมายฉบับนี้จะถึงขั้นกล่าวได้ว่าเป็นการ 'ปลดแอกคนไทย' จากกฎหมายที่ทั้งมีมากและบัญญัติโทษทางอาญาเกินจำเป็น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในลิงก์ที่ 3 ท้ายโพสต์นี้

ในประเด็นที่สามเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในเชิงโครงสร้าง โดยเปิดโอกาสให้มีมาตรการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมต่อภาคธุรกิจเอกชนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสังคมไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เป็นการสร้างกลไกในระบบให้เกิดการเอื้อเฟ้อแบ่งปันกันมากขึ้น

นี่ก็จะมีผลใหญ่หลวงในอนาคตเช่นกัน

ฯลฯ

แต่อีกด้านหนึ่ง ก็มีอีกพอสมควรที่รัฐบาลยังดำเนินการไม่ครบถ้วนตามแผนปฏิรูปประเทศ หรือยังไม่ทันกำหนดเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

โดยเฉพาะด้านการศึกษา

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านตำรวจ !

อาจจะเป็นเพราะเหตุในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเป็นระยะใกล้การเลือกตั้งทั่วไป แม้ร่างพระราชบัญญัติหลักจะเสร็จจากชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่เนื่องจากเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก มีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องยังไม่เห็นด้วยบางประการ รัฐบาลจึงตัดสินใจชะลอไว้ไม่ส่งเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และไม่ใช้มาตรการพิเศษอื่นนอกเหนือจากกระบวนการนิติบัญญัติตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการตราเป็นพระราชกำหนด หรือการใช้มาตรา 44 ร่่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงยังค้างอยู่ที่คณะรัฐมนตรี รอการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ซึ่งถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดิมก็สามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้ทันที

ต้องยอมรับว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชาถูกตั้งคำถามมากที่สุดในประเด็นปฎิรูปตำรวจ

ผมเป็นคนหนึ่งที่แม้จะ 'เข้าใจ' ในเงื่อนไขจำกัดทั้งที่ว่ามาข้างต้น และเงื่อนไขจำกัดประการอื่น ๆ ด้วย แต่ก็ยัง 'ค้างคาใจ' อยู่ เพราะบังเอิญได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติชุดท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ โดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่โฆษก แถลงความคืบหน้าเป็นระยะ ๆ ตลอดปี 2561 ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา แต่ครั้นเมื่ิอร่างกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้วถึง 2 ฉบับ ส่งรัฐบาลแล้ว แต่ยังติดขัดไม่ได้เดินต่อ จะไม่ให้ 'ค้างคาใจ' เลยได้ละหรือ

ในประเด็นนี้ ก็จะใช้สิทธิในฐานะสมาชิกวุฒิสภาตั้งกระทู้สอบถามและติดตามต่อไปตามวาระอันควร

ฯลฯ

เมื่อพอเข้าใจ 'เหตุผลพิเศษ' โดยสังเขปแล้ว ในการพิจารณาว่าบุคคลใดเหมาะสมต้องพิจารณา 'เชิงเปรียบเทียบ' ด้วย

เปรียบเทียบระหว่างแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีที่มีให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมเลือก

ถึงตรงนี้ ขอทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานว่าในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมของรัฐสภานั้นมีกระบวนการอยู่ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การเสนอชื่อ ขั้นตอนที่ 2 การรับรองชื่อที่เสนอ และขั้นตอนที่ 3 การลงมติ

สมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมเฉพาะในขั้นตอนที่ 3 เท่านั้น โดย 2 ขั้นตอนแรกเป็นหน้าที่และอำนาจเฉพาะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยจำกัดลงไปอีกว่าจะเสนอได้แต่จากรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองยื่นบัญชีพรรคละไม่เกิน 3 คนต่อก.ก.ต.ในวันสมัครรับเลือกตั้ง และเฉพาะรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎร 25 คนขึ้นไปเท่านั้น

ซึ่งก็ทำให้เหลือบุคคลอยู่ในข่ายนี้เพียง 7 คน กล่าวคือ

1. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์(เพื่อไทย)
2. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (เพื่อไทย)
3. นายชัยเกษม นิติสิริ (เพื่อไทย)
4. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พลังประชารัฐ)
5. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (อนาคตใหม่)
6. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ประชาธิปัตย์)
7. นายอนุทิน ชาญวีรกุล (ภูมิใจไทย)

เมื่อเสนอรายชื่อแล้ว ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองรายชื่อนั้นอีกอย่างน้อย 50 คนจึงจะเป็นแคนดิเดทได้

ภายใต้สภาวการณ์การเมือง 2 ขั้ว เชื่อว่าบุคคลในข่ายที่เหลือ 7 คนน่าจะได้รับการเสนอชื่อและผ่านการรับรองให้ขึ้นมาเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เพียง 2 คนเท่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชาจะเป็น 1 ใน 2 คนนี้แน่ ในฐานะผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ โดยการสนับสนุนของกลุ่มพรรคพันธมิตรอีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนอีกคนหนึ่งจะเป็นใครจากขั้วพันธมิตร 7 พรรคที่ชิงแถลงข่าวตั้งแต่หลังเลือกตั้งหมาด ๆ ขณะนี้ยังไม่ชัด

เมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประกาศไม่รับการเสนอชื่อแล้ว จะพลิกไปเป็นใครในอีก 2 รายชื่อที่เหลืออยู่ของพรรคเพื่อไทย ?

หรือจะเป็นธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจแห่งพรรคอนาคตใหม่ ?

เมื่อถึงเวลานั้น สมาชิกวุฒิสภาต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับผม ตัดสินใจได้แล้วบนฐานหลักคิดที่กล่าวมา โดยเป็นบุคคลที่ทั้ง 'ได้ใจ' และ 'ค้างคาใจ' ผม แต่เมื่อผ่านการชั่งน้ำหนักโดยเปรียบเทียบกับแคนดิเดทที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นใครแล้ว คำตอบออกมาชัดเจน พร้อมจะเปล่งวาจาขานชื่อบุคคลผู้นี้ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้

เพราะเป็นบุคคลที่สามารถตอบโจทย์ 'เหตุผลพิเศษ' ได้ใกล้เคียงมากที่สุด ทั้งนี้โดยพิจารณา 'เชิงเปรียบเทียบ' กับบุคคลที่อยู่ในข่ายเป็นแคนดิเดทที่เหลืออยู่

ขณะเดียวกัน ยังเป็นบุคคลที่สามารถตอบโจทย์ 'เหตุผลทางการเมืองทั่วไป' ได้มากที่สุด ทั้งนี้โดยพิจารณา 'เชิงเปรียบเทียบ' ด้วยเช่นกัน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"