ไตรรงค์ : ป๋าเปรม กับ การระงับวิกฤติประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

                 ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นหนึ่งในคนไทยที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษ

                ผมได้สนทนากับ ดร.ไตรรงค์เพื่อย้อนเรื่องราวที่เกี่ยวกับผลงานสำคัญๆ ของพลเอกเปรมใน  Suthichai Live เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

                ผมตัดอีกบางตอนมาให้ได้อ่านกันครับ

                สุทธิชัย: ช่วงจังหวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามคอมมิวนิสต์นั้น เกิดอะไรขึ้นในความคิดของพลเอกเปรม ทำไมถึงตัดสินใจใช้การเมืองนำการทหารในช่วงนั้นครับ

                ดร.ไตรรงค์: เพราะว่าถ้าพิจารณาดูจะพบว่ามันไม่มีประโยชน์ที่คนไทยจะต้องฆ่าคนไทย ซึ่งอันนี้ท่านไม่เห็นด้วย ท่านจะรู้สึกเจ็บปวดมากนะครับที่เมื่อพูดเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นท่านก็ใช้วิธีทางการทูต ผสมกับการใช้นโยบายทางการเมือง เพื่อแก้ปัญหามากกว่าที่จะใช้กำลัง มีความรู้สึกว่าเลือดล้างด้วยเลือดมันก็ไม่หมดซักที เพราะฉะนั้นท่านจึงดำเนินนโยบายเริ่มเจรจากับทางประเทศจีน เพื่อขอให้งดเว้นการให้ความช่วยเหลือกับพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย รวมทั้งวิทยุคอมมิวนิสต์ที่ยูนนานที่โจมตีให้หยุด ท่านก็ทำทุกอย่างนะครับ แต่อย่างไรเราก็ต้องบอกว่าคนที่เราจะลืมไม่ได้คือ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช ซึ่งเป็นคนไปเปิดสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งก่อนหน้านั้นเราเป็นลูกหมาของอเมริกา เราก็ตามอเมริกา อเมริกาตัดสัมพันธ์ทางการทูต เราก็ตัดด้วย

                สุทธิชัย: เขาเรียก running dog สุนัขรับใช้ครับ

                ดร.ไตรรงค์: ครับ แต่ว่าหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ก็ไปเปิดสัมพันธ์ทางการทูต อันนี้เป็นการกรุยทางให้พลเอกเปรมสามารถดำเนินนโยบายต่างๆ เพิ่มเติมหลังจากนั้น แล้วก็ออกคำสั่ง 66/23 เพื่อให้คนที่อยู่ในป่าซึ่งก็มีเยอะแยะเลยที่ทุกวันนี้มาอยู่ในพรรคการเมืองต่างๆ ที่ชูคออยู่ได้ในสังคมก็เพราะกฎหมายฉบับนี้แหละครับ ไม่เช่นนั้นก็ต้องหลบซ่อน ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ แม้แต่คุณเสกสรรค์  ประเสริฐกุล และใครต่อใครที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็ผมนี่ครับที่เรียนกับพลเอกเปรม เพราะคุณเสกสรรค์กับภรรยายังไปนอกไม่ได้ เพราะ กอ.รมน.ขึ้นบัญชีห้ามออกนอกประเทศเอาไว้ ไปหาผมที่คณะเศรษฐศาสตร์ ตอนนั้นเป็นอาจารย์และเป็นโฆษกรัฐบาลอยู่ด้วย ผมก็ไปพูดกับพลเอกเปรม พลเอกเปรมก็จัดการ ทำให้คนที่เคยอยู่ในป่าไปเรียนต่อนอกได้หมด แล้วก็กลับมารับใช้ชาติ ส่วนใหญ่ที่กลับมาก็ช่วยได้เยอะ ที่เพี้ยนๆ ก็มีอยู่บ้าง

                สุทธิชัย: แต่ว่าที่พิเศษมากก็คือว่าพลเอกเปรมเป็นนายทหาร แล้วในช่วงจังหวะนั้นเป็นการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์คอมมิวนิสต์กับโลกเสรี เราก็อยู่ฝ่ายสหรัฐอเมริกา แนวทางความคิดของทหารตอนนั้นคือต้องสู้กับคอมมิวนิสต์ สู้ทุกวิถีทาง ไม่ยอม

                ดร.ไตรรงค์: ทหารก็จะเป็นอย่างนี้ ส่วนใหญ่แหละครับ

                สุทธิชัย: แต่ว่าพลเอกเปรมท่านเอาความคิดทางการเมือง การทูต ในแนวทางของการทหาร มันแปลกไปจากแนวคิดทหารในช่วงนั้นเลยนะครับ

                ดร.ไตรรงค์:  ธรรมชาติของทหารก็คือถืออาวุธ เขาได้รับการฝึกมาเพื่อรบ เมื่อถืออาวุธเขาก็อยากรบ แต่ว่าพลเอกเปรมเลยระดับนั้นไปแล้ว พลเอกเปรมอยู่ในระดับที่ว่ารบไปทำไม รบไปก็ฆ่ากันเองและไม่จบ ท่านก็เลยมีความคิดแบบมีปัญญา ไม่ใช่ว่าคิดแต่จะรบอย่างเดียว บ้านเมืองเราถึงรอดมาได้ถึงปัจจุบันนี้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะอาจกลายเป็นสาธารณรัฐประชาชนชาวไทย ธงไตรรงค์ก็คงจะมีดาวอยู่

                สุทธิชัย: คนรุ่นใหม่หรือคนที่ไม่ได้ตามประวัติศาสตร์อาจจะไม่เชื่อนะ ว่าจริงหรือประเทศไทยเคยอยู่ในภาวะที่ถูกคุกคามถึงขั้นที่อาจจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ว่าเราที่อยู่ช่วงนั้น เราเห็นว่าเวียดนามตีเขมรแล้ว ลาวก็เป็นคอมมิวนิสต์แล้ว เพื่อนบ้านเราทั้งนั้น

                ดร.ไตรรงค์: ประเทศต่อไปก็คือเราครับ โดยเฉพาะเวียดนามนะครับ คุณสุทธิชัยคงรู้ว่าเขาแค้นมาก เพราะเราให้สหรัฐใช้ประเทศไทยเราเป็นฐานส่งเครื่องบินไปบอมบ์เขา เป็นเราเราก็ต้องเจ็บใจ

                สุทธิชัย: อเมริกามาตั้งฐานทัพสำหรับคนที่อาจเกิดไม่ทัน ดร.ไตรรงค์กับผมเกิดทัน ดร.ไตรรงค์ก็อยู่ในการเมือง ผมเป็นนักข่าว สหรัฐอเมริกามาตั้งฐานทัพที่อุบลราชธานี อุดรธานี นครสวรรค์ อู่ตะเภาที่เรากำลังจะสร้างสนามบินใหม่เป็นฐานใหญ่เลยครับ เป็นเครื่องบินบี 52 ที่ใช้ทิ้งระเบิดเวียดนามทุกวัน ในช่วงนั้น

                ดร.ไตรรงค์: ซึ่งเป็นการสร้างความเจ็บใจให้เขา ที่เราเป็นฐานทัพ เขาก็ต้องเอาเราให้เป็นคอมมิวนิสต์ให้ได้ ล้มระบบเก่านี้ให้ได้ แต่เรามีคนอย่างพลเอกเปรม ซึ่งช่วยรักษาชาติเอาไว้โดยกำหนดนโยบายครับ แล้วมันก็คล้องจองกับที่เราโชคดีด้วย เพราะจีนกับสหภาพโซเวียตรัสเซียแตกกัน

                สุทธิชัย: ใช่ครับ เป็นช่วงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาก ที่พอดีว่าสหภาพโซเวียตในตอนนั้นแตกกันกับจีน เวียดนามไปอยู่ข้างสหภาพโซเวียต จีนโกรธเวียดนาม เติ้ง เสี่ยวผิงไม่พอใจเวียดนาม เป็นช่วงที่เวียดนามรุกเข้ากัมพูชา ติดกับชายแดนเรา แล้วก็ขับไล่เขมรแดงมาติดเรา

                ดร.ไตรรงค์: ก็ที่เรายิงกับลาว ปืนใหญ่ก็มาจากเวียดนามทั้งนั้นครับ สมัยนั้นผมเป็นโฆษกรัฐบาลแล้ว บิ๊กจิ๋วเป็นผู้บัญชาการทหารบก บิ๊กตุ๋ยเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ยิงกับลาว เราสู้ไม่ได้เพราะปืนของเวียดนามมันยาวและใหญ่กว่าปืนเรา เรายิงไปตรงไหน ทางฝ่ายลาวก็ยิงปืนใหญ่เราหักเกือบหมดนะครับ เราถึงต้องใช้เครื่องบินบินไปล่อเป้าแล้วบอมบ์ปืนใหญ่ของลาว

                สุทธิชัย: ตอนนั้นจีนก็สนับสนุนเขมรแดง แต่ว่าเวียดนามเข้าไปยึดกัมพูชา ขับไล่เขมรแดงมาติดชายแดนไทย แล้วก็เริ่มยิงเข้ามาในไทยแล้ว กระสุนตกในเขตเราแล้ว ดังนั้นเราก็เชื่อว่าเป้าหมายต่อไปของเวียดนามก็คือประเทศไทยแน่นอน และตอนนั้นถ้า ดร.ไตรรงค์จำได้ ข่าวกรองออกมาว่าเวียดนามเตรียมบุกไทย เข้าไปยึดโคราชก่อน แล้วก็ปักหลักที่โคราช แล้วก็จะเข้ามายึดกรุงเทพฯ ได้ภายในสองวัน

                ดร.ไตรรงค์: นั่นเป็นข่าวที่เรากลัวกันนะ ในยุคเราสองคนเรารู้ข่าวนี้แล้วเรากลัวว่าถ้าทำอย่างนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ มันก็ต้องยับเยินนะประเทศไทย

                สุทธิชัย: ตอนนั้นบรรดาเศรษฐีไทยเริ่มจะอพยพออกนอกประเทศ จะหนีแล้วนะเพราะว่าเขาเห็นไซ่ง่อนแตก เห็นประเทศเพื่อนบ้านแตกกัน ก็นึกว่าคอมมิวนิสต์ยังไงก็มายึดไทย ครอบครัวผู้มีเงินทั้งหลายเตรียมหนีออกนอกประเทศ อาจารย์ไตรรงค์จำได้ไหมครับ

                ดร.ไตรรงค์: รู้ อันนี้รู้ว่าจะหนีออกนอกประเทศกัน

                สุทธิชัย: ทีนี้ผมว่าช่วงนี้แหละที่คุณไตรรงค์อาจจะเล่าได้แล้วว่า ได้ส่งอาจจะเป็นบิ๊กจิ๋วมั้ง ไปคุยกับจีน แล้วหลังจากนั้นเติ้ง เสี่ยวผิงก็สั่งจีนบุกเวียดนามเพื่อสั่งสอน ทำให้เวียดนามต้องถอนทหารที่ส่งมาอยู่ติดชายแดนไทยตรงกัมพูชากลับไปเพราะว่าต้องสู้กับจีน

                ดร.ไตรรงค์:  ป้องกันตนเองครับ เพราะเล็กกว่าเขามาก

                สุทธิชัย: นั่นทำให้เวียดนามชะงักแผนที่จะรุกบุกเข้ามาในไทยใช่หรือไม่ครับ

                ดร.ไตรรงค์: ใช่ครับ นโยบายภายในประเทศของเรามันคล้องจองกับความโชคดี ที่ต่างประเทศเกิดความขัดแย้งกันอย่างที่คุณสุทธิชัยกรุณาเล่าแล้วนะครับ เราจึงรอดปลอดภัยมาได้จนทุกวันนี้

                สุทธิชัย: แล้วเพราะนโยบายนี้ ตั้งแต่พลเอกเกรียงศักดิ์ใช่ไหมครับ 66/23 ต่อมาพลเอกเปรมรับช่วงต่อ ผลจากนโยบายนี้ อาจารย์ไตรรงค์คิดว่ามันเปลี่ยนแปลงไทยเราอย่างไร ที่พลเอกเปรมเล็งเห็นว่าการเมืองต้องนำหน้าการทหารที่จะแก้ปัญหาภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ได้

                ดร.ไตรรงค์: มันเป็นนโยบายที่ถูกต้องที่สุด เพราะว่าคนที่ถือปืนและทั่วโลกมันต้องแก้ไขปัญหาโดยนกพิราบไม่ใช่นกเหยี่ยว ไม่มีประเทศไหนที่จะแก้ไขปัญหากันด้วยกำลัง มันจบไม่ได้ครับ สงครามทั้งหลายมันจบได้บนโต๊ะเจรจาทั้งนั้นครับ ดังนั้นผู้นำจึงต้องมีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนโยบายระหว่างประเทศ โดยการยึดถือว่าการเจรจาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดประเทศเราถึงรอดมาได้

                สุทธิชัย: แล้วก็ถึงทำให้เติ้ง เสี่ยวผิงยอมรับนโยบายของไทยเรา ว่าจะให้คอมมิวนิสต์จีนเลิกสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ซึ่งประกอบกับประกาศ 66/23 ก็ทำให้นักศึกษาที่เข้าป่าทยอยกันออกมา

                ดร.ไตรรงค์: ครับ ก็มอบปืนให้ทางราชการแล้วมาใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนคนที่จนไม่มีที่ทำมาหากิน ทางรัฐบาลก็มอบให้เป็นกรรมสิทธิ์มอบให้ทำมาหากิน เหมือนกับประชาชนทั่วๆ ไป มันก็สงบกันทั้งประเทศไม่ต้องฆ่ากันเอง ถึงแม้ว่าจะไม่สงบหมด เพราะยังมีทางเหนือทางอีสานที่ยิงกัน ผมยังไปดูค่ายคอมมิวนิสต์ที่เก็บไว้เลยครับ หลายจุดทางอีสานผมก็ไปดูมา เดี๋ยวนี้ที่มีฆ่ากันเองก็มีแค่สามจังหวัดภาคใต้เท่านั้นแหละ

                สุทธิชัย: แล้วก็นำไปสู่การที่ไทยเราเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนต่อมา

                ดร.ไตรรงค์: เรียกว่าเป็นการกระชับสัมพันธ์ทางการทูต หลังจากนั้นเราก็กระชับความสัมพันธ์. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"