นักการเมืองเขาแบ่งกระทรวงเป็นเกรด เอ, บี, ซีกันอย่างไร?


เพิ่มเพื่อน    

    คำว่า "ล้มดีล" ของพรรคการเมืองที่กำลังต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีขณะนี้แปลว่ามีการ "ทำดีล" กันอยู่
    พาดหัวหนังสือพิมพ์ว่า "แลกเก้าอี้กันอุตลุด" ก็แปลว่าเขาสนใจเรื่อง "เก้าอี้" มากกว่า "นโยบาย"
    นั่นก็ย่อมตีความได้ว่ามีการยื่นหมูยื่นแมว มีการยื้อแย่ง "กระทรวงเกรดเอ" กันอย่างวุ่นวายอลหม่าน
    บางก๊วนในบางพรรคไม่เหนียมอายเรื่องความต้องการของตนอีกต่อไป
    อ้างว่าต้องการกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ "เพราะเรารับปากกับประชาชนเอาไว้"
    นักการเมืองบางคนอ้างว่าที่ต้องการเก้าอี้ตัวนั้นตัวนี้เพราะจะได้ "รับใช้ประชาชน" ได้มากกว่า
    ผมเชื่อว่าประชาชนคนไทยไม่น้อยคงอยากรู้ว่านักการเมืองเขามีเกณฑ์อย่างไรจึงประเมินว่ากระทรวงไหนอยู่ในเกรดเอ, บี หรือซี
    ทำไมจึงมีคนบอกว่ากระทรวงเกษตรฯ, พลังงาน, คมนาคม, พาณิชย์อยู่ในเกรดเอ
    ถ้าอย่างนั้นกระทรวงศึกษาฯ, การต่างประเทศ, วัฒนธรรม, ยุติธรรม, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถือเป็นเกรดบีหรือเกรดซีกระนั้นหรือ
    เกรดเอ, บี, ซีมีความแตกต่างกันตรงไหน? เรื่องงบประมาณหรือโอกาสที่จะสร้างประโยชน์ให้นักการเมือง?
    สำหรับประชาชนเจ้าของประเทศ ทุกกระทรวงย่อมมีความสำคัญไม่ต่างกัน เพราะทุกกระทรวงตอบสนองความต้องการของคนไทยในด้านต่างๆ 
    นี่คือการมองการเมืองแบบเก่าที่ทำให้ประชาธิปไตยของไทยยังล้าหลังและนับวันจะเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ
    บางคนบอกว่านักการเมืองจัดอันดับกระทรวงต่างๆ ตามจำนวน "โครงการ" ที่มีงบประมาณมากๆ  เพื่อจะได้มีโอกาสใช้อำนาจหน้าที่ของตนเอื้อต่อกลุ่มตนและพรรคพวก
    หากเป็นเช่นนั้นก็ย่อมแปลว่า นักการเมืองไม่ได้อาสามาทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ หากแต่ยื้อแย่ง "ก้อนเค้ก" เพื่อประโยชน์แห่งตนและพวก 
    ด้วยเหตุนี้กระมังเราจึงไม่มีศรัทธาต่อนักการเมืองและระบบการเมืองของประเทศมาจนถึงวันนี้
    การที่การเมืองไทยติดกับดักในวงจรแห่งความชั่วร้ายสลับกันระหว่างรัฐประหารและเลือกตั้ง ย่อมมีส่วนทำให้ "คุณภาพ" ของนักการเมืองอยู่ใน "เกรดซี" มาถึงวันนี้
    คนดีคนเก่งคนมีคุณภาพไม่ต้องการเข้ามาถูกทำให้พวกเขาและเธอต้อง "แปดเปื้อน" เพราะการเมือง
    ด้วยเหตุนี้ ในระยะหลังเราจึงไม่เห็นระดับผู้นำทางการเมืองของประเทศไทยสามารถแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีระหว่างประเทศอย่างสมเกียรติและสง่างามทางความคิด หรือวิเคราะห์สถานการณ์โลกได้เหมือนกับที่เราเห็นได้จากนายกฯ สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และเพื่อนบ้านอื่นๆ 
    ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีนักการเมืองที่ไม่เห็นความสำคัญและขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา,  นวัตกรรม, เทคโนโลยีหรือสิ่งแวดล้อมระดับสากล
    ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ได้รับทราบข่าวว่าพรรคการเมืองที่ประกาศจะร่วมกันตั้งร้ฐบาล ได้ร่วมกันเขียนนโยบายเพื่อร่วมกับบริหารประเทศอย่างไร
    ตรงกันข้าม เรากลับรับทราบถึงข่าวการแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีของ "กระทรวงเกรดเอ" ที่ยิ่งวันก็ยิ่งน่าเกลียด เพราะขาดความสำนึกว่าประชาชนมีความเอือมระอากับวิธีการต่อรองอำนาจกันอย่างไร้ยางอาย
    ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นการต่อล้อต่อเถียงกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา ที่ไม่ได้เน้นคุณภาพของเนื้อหาการอภิปราย หากแต่เอาชนะคะคานกันด้วยวาทกรรมเสียดสีประชดประชัน
    ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นนักการเมืองต้องการเป็น "ดาวสภา" ด้วยการลุกขึ้นประท้วง เอะอะโวยวาย ส่งเสียงน่ารำคาญ และแสดงตนเป็น "ศรีธนญชัย" มากกว่าที่จะเป็นผู้อาสาเข้ามาทำงานสาธารณะที่มีเนื้อหาและสาระรวมถึงวิธีนำเสนอที่เข้าใจง่าย
    ผมจึงเสนอว่าต่อแต่นี้ไป ประชาชนควรใช้โซเชียลมีเดียเกาะติดและประเมินการทำหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว.อย่างใกล้ชิด 
    นั่นหมายความว่าสังคมจะให้คะแนนการทำหน้าที่ของนักการเมืองในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการอภิปราย, เนื้อหา, การเสนอกฎหมาย, การลงมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายและการแสดงวิสัยทัศน์ของการเป็นตัวแทนของปวงชนอย่างจริงจัง
    ประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงเพียงการหย่อนบัตรเลือกผู้แทนเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงการที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกระบวนการปกติของการแสดงความเห็น, การระดมสมอง, การแสวงหาฉันทามติในเรื่องสำคัญๆ ของประเทศและกำหนด "วาระแห่งชาติ" ร่วมกัน
    และร่วมกันตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองทุกขั้นตอน
    การเมืองเป็นเรื่องสำคัญเกินกว่าที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของนักการเมืองเท่านั้นครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"