เบอร์นีย์ แซนเดอร์ส กับแนวคิด “สังคมนิยมประชาธิปไตย”


เพิ่มเพื่อน    

 

        ราวกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายเบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์มอนต์ วัย 78 ปี (เกิดกันยายน 1941) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตนำเสนอแนวคิด “สังคมนิยมประชาธิปไตย” (Democratic socialism) ตามแบบของตน

ความเหลื่อมล้ำกับเสรีภาพแท้ :

                เบอร์นีย์ แซนเดอร์ส เริ่มต้นด้วยการสรุปสภาพการเมืองอเมริกาปัจจุบันว่ากำลังมุ่งสู่คณาธิปไตยและลัทธิอำนาจนิยมมากขึ้น เป็นที่มาของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ร่ำรวยอย่างเหลือเชื่อ มีอำนาจควบคุมหัวใจเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้คนอเมริกันเพียง 3 ครอบครัวที่ครองความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของคนทั้งประเทศ โดยนับจากคนยากจนที่สุดขึ้นมา (ล่าสุดมีประชากร 328 ล้านคน) ผู้ร่ำรวยที่สุดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ครอบครองความมั่งคั่งมากกว่าความมั่งคั่งของประชากร 92 เปอร์เซ็นต์รวมกัน และ 49 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เป็นของคนกลุ่มรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์นั้น (ผลคือคนรวย-รวยขึ้น เหลื่อมล้ำมากขึ้น) สหรัฐอเมริกาอยู่ในยุคเหลื่อมล้ำที่สุดนับจากทศวรรษ 1920 เป็นต้นมา

                คนอเมริกันเกือบ 40 ล้านคนเป็นคนยากจน ทุกคืนมีคนราว 500,000 ต้องนอนข้างถนน (คนไร้บ้าน) ครึ่งหนึ่งของคนอเมริกันใช้เงินแบบเดือนชนเดือน

                เป็นระบบเศรษฐกิจที่พังทลายและไม่ยุติธรรม แม้ตัวเลข GDP ดูดี ตลาดหุ้นแข็งแกร่ง อัตราว่างงานลดต่ำ แต่ชนชั้นกลางกับผู้ใช้แรงงานต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ ในขณะที่พวกมหาเศรษฐีคอยเก็บเกี่ยวความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น

                แม้เทคโนโลยีก้าวหน้า ผลผลิตจากกรรมกรเพิ่มสูงขึ้น แต่รายได้เฉลี่ยของกรรมกรอเมริกันไม่ได้สูงกว่ารายได้จริงเมื่อ 46 ปีก่อน หลายคนต้องทำงานหลายจ๊อบเพื่อความอยู่รอด (คำว่ากรรมกรในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคนงานด้อยฝีมือเท่านั้น แต่หมายถึงผู้รับจ้างทำงานทุกคน แม้กระทั่งผู้จัดการ สายวิชาชีพ)

                ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่เพียงส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิต การดิ้นรนต่อสู้ ยังมีผลต่ออายุขัยโดยตรง เศรษฐีอเมริกันจะมีอายุยืนยาวกว่าคนจนถึง 15 ปีโดยเฉลี่ย

                คติเรื่องทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน คนขยันมีโอกาสสร้างตนสร้างฐานะ (American Dream) กำลังล่มสลาย ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เยาวชนรุ่นใหม่มีแนวโน้มใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่กว่าบิดารมารดาของตน

                การแก้ปัญหาทุกวันนี้เต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะบริษัทยักษ์ พวกวอลล์สตรีท ชนชั้นปกครองต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ชนชั้นปกครองที่พูดถึงอยู่ในพรรครีพับลิกันกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมในพรรคเดโมแครต

                คนเหล่านี้รวมหัวกันต่อต้านตนเหมือนที่เคยต่อต้านนโยบาย New Deal ของรัฐบาลโรสเวลต์ว่าเป็นพวกสังคมนิยม ต่อต้านนโยบายประกันสุขภาพ (Medicare กับ Medicaid) ที่เริ่มต้นโดยรัฐบาลลินดอน จอห์นสัน (Lyndon Johnson) แต่นโยบายเหล่านี้กลับเป็นที่นิยมและยอมรับในปัจจุบัน

                พวกฉวยโอกาสในทำเนียบขาวยังใช้วิธีการเดิมๆ เบี่ยงเบนปัญหาสำคัญเหล่านี้ไปเป็นเรื่องอื่นๆ ใช้วิธีแบ่งแยกประชาชน สร้างความเกลียดชัง บางครอบครัวถึงกับแตกแยกจากฝีมือของนักการเมือง สร้างกำแพงกั้นพรมแดน ต่อต้านมุสลิม ฯลฯ เราไม่ควรตัดสินการเมืองบนความเกลียดชัง ความคิดแบ่งแยก แต่เลือกด้วยหลักคิดที่มีคุณธรรม มีเมตตา ยุติธรรมและด้วยรัก นี่คือหลักการของสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic socialism) ที่กำลังนำเสนอ

                80 ปีที่แล้วประธานาธิบดีโรสเวลต์นำเสนอแนวทาง New Deal (รัฐเข้ามาแก้ไขวิกฤติ ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกทุนนิยม กระตุ้นการใช้จ่าย สร้างการจ้างงาน ลูกจ้างนายจ้างคนทุกสีผิวทุกกลุ่มอยู่ด้วยกันอย่างสันติ) วันนี้เราจำต้องเดินหน้าให้แนวคิดนี้ดำเนินต่ออย่างสมบูรณ์

                เสรีภาพส่วนบุคคลจะต้องอยู่คู่กับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความเป็นอิสระ ดังที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เสรีภาพทางศาสนา การแสดงออก การรวมกลุ่ม เสรีภาพของสื่อและสิทธิอื่นๆ อเมริกาจะเสรีได้จริงก็ต่อเมื่อไม่อยู่ใต้ทรราชย์อำนาจนิยม (authoritarian tyranny)

                ถึงเวลาแล้วที่เรื่องต่างๆ เหล่านี้จะต้องยกระดับให้ดีขึ้นกว่าเดิม ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิทางเศรษฐกิจพื้นฐานของทุกคน เข้าถึงการดูแลสุขภาพอย่างมีคุณภาพ เข้าถึงการศึกษาในระดับที่ต้องการ สิทธิในเข้าถึงงานที่ดีได้ค่าแรงเพียงพอแก่การดำเนินชีวิต สิทธิในการซื้อบ้านสมราคา ได้รับการดูแลหลังเกษียณ และสิทธิในการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย

                สังคมต้องกระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึงกว่านี้ และมองว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

                เหล่านี้คือเป้าหมาย แนวทางของสังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นแนวทางที่ก่อประโยชน์ต่อกรรมกรและครอบครัว ให้เสรีภาพแท้ทางการเมืองเศรษฐกิจแก่ทุกผู้ตัวคน

เสียงจากฝ่ายต่อต้าน :

                ฝ่ายต่อต้านวุฒิสมาชิกแซนเดอร์สอย่างรุนแรงจะโจมตีว่าแนวคิดที่พูดคือการโฆษณาชวนเชื่อของพวกสังคมนิยม ไม่ได้แตกต่างจากนักสังคมนิยมอื่นๆ อย่างคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ใช้แนวทางเดิมที่พยายามใส่ร้ายป้ายสี สร้างกลุ่มคนที่เรียกว่าคณาธิปไตยผู้ควบคุมกิจกรรมแทบทุกด้านของสังคม

                แซนเดอร์สเอ่ยถึงเป้าหมายเรื่องยกระดับสิทธิต่างๆ ตั้งแต่สิทธิเศรษฐกิจจนถึงการประกันสังคม อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย แต่ไม่เอ่ยว่าหากต้องการได้รับสิทธิมาก ต้องเสียภาษีมากตามด้วย ยิ่งได้สิทธิมากเพียงไรเท่ากับรัฐเข้าควบคุมเงินในกระเป๋าของประชาชนมากเท่านั้น รวมถึงควบคุมการประกอบธุรกิจด้วย และทุกคนต้องเสียภาษีเพิ่มอีกมากเพื่อสิ่งที่บางคนไม่เห็นด้วย เช่น เสียภาษีเพื่อการทำแท้งหรือเสียภาษีเพื่อยาคุมกำเนิด

                ดังที่แซนเดอร์สพูดเองว่าแนวคิดของเขาไปไกลกว่าโรสเวลต์ ชี้ว่าคือทำให้แนวทางของโรสเวลต์สมบูรณ์เต็มที่ เช่น โรสเวลต์เอ่ยถึงสิทธิได้รับการศึกษาที่ดี (right to a good education) แซนเดอร์สพูดถึงได้รับการศึกษาสูงสุดเท่าที่ผู้เรียนสามารถไปถึง (complete education)

                การได้รับการดูแลจากรัฐมาก หมายถึงรัฐเข้าควบคุมระบบความคิดของคนในสังคมมากตามด้วย เป็นแนวคิดที่ย้อนแย้งกันเองหากต้องการเพิ่มขยายเสรีภาพของปัจเจกกับการที่รัฐบาลเข้าดูแลจัดการสารพัดเรื่อง

                อดีตสหภาพโซเวียตให้สิทธิเสรีภาพอย่างที่แซนเดอร์สเอ่ยถึง ด้วยมีข้อแม้ว่าเสรีภาพของปัจเจกต้องไม่ขัดแย้งรัฐ พูดง่ายๆ คือความต้องการของรัฐอยู่เหนือเสรีภาพประชาชนนั่นเอง (รัฐควบคุมประชาชน ห้ามคนคิดต่าง)

                แซนเดอร์สบอกว่าแนวคิดของตนตั้งบนหลักประชาธิปไตย ส่งเสริมเสรีภาพ แต่การหยิบฉวยความมั่งคั่งของผู้หนึ่งไปมอบให้กับอีกคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ แม้กระทั่งไม่ได้ทำงานเพื่อให้ได้มา เช่นนี้เป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการกันแน่

                รวมความแล้วรัฐตามแนวคิดของเขาคือรัฐอำนาจนิยมขนาดใหญ่ที่กดทับเสรีภาพของผู้คน และหากแซนเดอร์สพูดถึงเรื่องคณาธิปไตย แนวคิดของเขาคือการย้ายอำนาจจากพวกคณาธิปไตยกลุ่มหนึ่งไปสู่ทรราชย์อีกแบบ หาได้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

                ประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าแนวทางสังคมนิยมล้มเหลว

                นักวิเคราะห์อีกสายเห็นว่าแท้จริงแล้วแนวทางของแซนด์เดอร์สไม่ใช่สังคมนิยมเสียทีเดียว และไม่ได้แปลกใหม่เพราะหลายประเทศฝั่งยุโรปใช้มานานแล้ว เป็นความพยายามกระจายความมั่งคั่งให้ทั่วถึง คำถามใหญ่คือยังทำได้หรือไม่ในศตวรรษที่ 21 นี้ แนวทางรัฐสวัสดิการกำลังสั่นคลอนหากทำอย่างจริงจัง ท้ายที่สุดอาจรักษาไว้ไม่อยู่

                ผลโพลของ Gallup เมื่อปี 2018 ชี้ว่าคนหนุ่มสาวมองแง่บวกต่อสังคมนิยมมากขึ้น ปัญหาคือผู้ที่คิดจะลงคะแนนให้ผู้สมัครที่เป็นนักสังคมนิยมยังไม่มากเท่าไหร่ คนรุ่นใหม่เกลียดคณาธิปไตย ต่อต้านชนชั้นปกครอง แต่ก็ไม่อยากถูกควบคุมด้วยรัฐอย่างเข้มข้น จนขณะนี้กระแสแซนด์เดอร์สยังไม่แรงนักเมื่อเทียบกับการแข่งขันภายในพรรคเมื่อรอบที่แล้ว แต่เป็นโอกาสนำเสนอแนวคิดนี้แก่สังคมอเมริกันอีกครั้ง ในยามที่สังคมกำลังอภิปรายว่าแนวทางเศรษฐกิจแบบใดที่เหมาะสมที่สุด ปัญหาใหญ่ที่กำลังเผชิญในวันนี้คืออะไร และจะแก้ไขอย่างไร.

----------------------

ภาพ : เบอร์นีย์ แซนเดอร์ส

ที่มา : https://www.facebook.com/berniesanders/photos/a.324119347643076/2325488487506142/?type=3&theater

---------------------- 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"