อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง'ชาญชัย'ไม่มีอำนาจฟ้อง'ทอท.-คิงเพาเวอร์'


เพิ่มเพื่อน    

19 มิ.ย.62 - ที่ห้องพิจารณา 8 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อท.352/2560 ที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต รองประธานอนุกรรมาธิการด้านกลไกในการปราบปรามการทุจริต เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานไทย (ทอท.) จำกัด รวม 14 คน, เอกชนกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ 3 บริษัท และกรรมการผู้มีอำนาจ เป็นจำเลยที่ 1-18 ในความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ, เป็นกรรมการหรือผู้บริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบฯ กรณีที่มีการตรวจสอบว่าจำเลยได้ร่วมกันกระทำผิดข้อสัญญาที่ก่อหรือเอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้รับผลประโยชน์เกินกว่าที่สัญญาระบุไว้หรือไม่จากการที่สัญญาระหว่าง ทอท. กับคิงเพาเวอร์ให้เก็บรายได้เข้ารัฐ 15 เปอร์เซ็นต์ จากยอดการขายสินค้าหรือบริการที่สนามบินสุวรรณภูมิแต่คณะกรรมการฯอนุมัติให้เก็บเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ก่อให้เกิดความเสียหายกับรัฐมูลค่า 14,290,660,119 บาท

โดยศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561 เห็นว่า การกระทำที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดตามฟ้องนั้น เกิดขึ้นก่อนที่โจทก์จะเข้าเป็นผู้มีชื่อถือหุ้นในบริษัทกลุ่มคิงเพาเวอร์ โจทก์จึงมิได้เป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องฝ่ายจำเลยได้ จึงพิพากษายกฟ้อง ต่อมานายชาญชัย โจทก์ ได้ยื่นอุทธรณ์ประเด็นในฐานะผู้เสียหายและผู้มีอำนาจฟ้อง

ซึ่งวันนี้นายชาญชัยเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับทนายความ ส่วนจำเลยทั้ง 18 ราย ที่เป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ ทอท. และผู้บริหารคิงพาวเวอร์นั้นไม่ได้เดินทางมา ซึ่งในชั้นนี้จำเลยยังไม่ต้องเดินทางมาฟังคำพิพากษาเองก็ได้ เนื่องจากเป็นการฟังคำตัดสินในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ แต่จำเลยก็ได้มอบอำนาจให้ทนายความมาฟังคำพิพากษาแทน

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว มีประเด็นวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ความว่านายชาญชัย โจทก์ ได้ซื้อหุ้นของ ทอท. เมื่อ 24 ธ.ค. 2558 จำนวน 200 หุ้น หลังจากที่เป็นประธานอนุ กมธ. ซึ่งได้ทำการตรวจสอบข้อพิพาทในคดีดังกล่าว แต่เหตุที่กล่าวหานั้นเกิดขึ้นในช่วงปี 2557 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์จะยื่นซื้อหุ้นของ ทอท. 

โดยความหมายของผู้เสียหายตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคคีอาญาทุจริตฯ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง "ผู้เสียหาย" หมายความถึงบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจาการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมถึงบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ โดยคดีนี้้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 18 ในความผิด ซึ่งเป็นการเอาโทษกับพนักงานผู้มีหน้าที่ แต่กลับปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน โดยปกติรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เอกชนย่อมไม่เป็นผู้เสียหาย ดังนั้นยกเว้นหากการปฏิบัติโดยมิชอบนั้นเป็นการกระทำต่อโจทก์โดยตรง และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ถึงจะเป็นผู้เสียหายได้ เมื่อโจทก์ได้ซื้อหุ้นของ ทอท.ภายหลังจากพฤติการณ์ที่มีการกล่าวหา จึงแสดงให้เห็นว่าการกระทำนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิหน้าที่ของโจทก์ เพราะโจทก์ยังถือหุ้นของ ทอท.ตามจำนวนเดิม และไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้น โจทก์จึงยังไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยตรง จากการกระทำของจำเลยทั้ง 18 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง 

ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กับ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 นั้น ฐานเป็นกรรมการหรือผู้บริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ และความซื่อสัตย์สุจริต เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวได้กำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นดำเนินการในการเรียกร้อง หากมีกรณีที่กรรมการบริษัทนั้นดำเนินกิจการไม่เป็นไปนามกฎหมาย วัตถุประสงค์หรือข้อบังคับด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังผลประโยชน์ของบริษัท 

แต่กรณีของโจทก์ก็ยังไม่เป็นไปตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้ ขณะที่ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ กำหนดให้กรรมการหรือผู้บริหารร่วมกันรับผิดหากเกิดความเสียหายใดๆ กับบริษัท จากการปกปิดความจริงเกี่ยวกับงบการเงิน และรายงานฐานะการเงินของบริษัท ซึ่งแสดงว่า ทอท. ก็มีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อโจทก์และผู้ถือหุ้น แต่กรณีนี้โจทก์ก็นำคดีมาฟ้องต่อศาล 5 ก.ค. 2560 หลังจากโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นใน ทอท.นานเกือบ 2 ปี 

โดยจำนวนหุ้นที่โจทก์ถืออยู่นั้น ก็ได้เบิกความต่อศาลว่า เดิมโจทก์ถือหุ้น 200 หุ้น ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าทำให้โจทก์ถือหุ้นทอท.จำนวน 2,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นสามัญที่จดทะเบียนทั้งหมด 14,285,700,000 หุ้น และเมื่อพบว่าโจทก์เพิ่งซื้อหุ้นเมื่อ 24 ธ.ค. 2558 หลังได้รับแต่งตั้งให้เป็นอนุ กมธ. ศึกษาเสนอแนะมาตรการกลไกปราบปรามการทุจริตฯ เมื่อเดือน พ.ย. 2558 และยังพบว่าช่วงที่โจทก์เป็นที่ปรึกษาอนุ กมธ. ดังกล่าว ได้เข้ารวมประชุมในเดือน พ.ค. 2558 ทำให้โจทก์ได้ทราบรายละเอียดเรื่องนี้เป็นอย่างดี แต่โจทก์ยังสมัครใจเข้าซื้อหุ้นของ ทอท. ย่อมอาจแสดงถึงการยอมรับในฐานะการเงินและผลดำเนินการของ ทอท. โจทก์จึงไม่น่าจะฟ้องคดีนี้ หรือไม่เช่นนั้นการเข้าซื้อหุ้นของ ทอท.เพียง 200 หุ้นของโจทก์ ก็เพื่อใช้สิทธิ์ฟ้องคดีในฐานะผู้ถือหุ้น ซึ่งหากเป็นกรณีหลัง พฤติการณ์ของโจทก์ย่อมแสดงถึงความไม่สุจริต

เมื่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนฯ กำหนดให้ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งหรือหลายคนจำนวนไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดในบริษัท สามารถทำหนังสือขอให้คณะกรรมการบริษัทเสนอวาระการประชุมได้ แต่ต้องเสนอเป็นวาระอะไร เป็นการเสนอเพื่อทราบ เพื่ออนุมัติ หรือเพื่อพิจารณา ดังนั้นตามกฎหมายดังกล่าวก็ถือว่าเป็นข้อจำกัดสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้น เพราะกฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ผู้ถือหุ้นเข้าไปก้าวล่วงจัดการเกี่ยวกับธุรกิจปกติของบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นโจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ทั้งสองนี้ด้วย 

ขณะที่ตามทางไต่สวนมูลฟ้องก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1-13 ในฐานะกรรมการ ทอท. กระทำเพื่อแสวงหาประะโยชน์ที่ไม่ควรได้ให้แก่ตนเองและผู้อื่นเพราะการบริหารงาน ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความคิงเพาเวอร์ กล่าวว่า กรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้อง ก็ถือเป็นการให้ความเป็นธรรมและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบริษัทคิงพาวเวอร์ รวมทั้งผู้บริหาร ทอท. ว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ โดยวินิจฉัยว่านายชาญชัย ไม่ใช่ผู้เสียหาย ซึ่งสิทธิการนำคดีมาฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการวินิจฉัยคดี โดยเราก็เคารพคำวินิจฉัยของศาล ส่วนบริษัทจะฟ้องกลับหรอไม่นั้น จะต้องนำไปพิจารณาก่อน แต่อย่างไรก็ดีในส่วนของนายชาญชัยกับริษัทนั้น มีการฟ้องคดีอาญาหมิ่นประมาทไว้รวม 12 สำนวน และฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายอีก 1 สำนวน โดยคดีทั้งหมดก็ยังอยู่ในชั้นศาล

ด้านนายชาญชัย โจทก์ในคดีนี้ได้กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้อุทธรณ์ประเด็นอำนาจฟ้องในวันนี้ ก็ได้มีคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ออกมาแล้ว ซึ่งกรณีดังกล่าวยังถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายของเรื่องสิทธิการนำคดีมาฟ้อง ดังนั้นตนก็ตะยื่นเป็นประเด็นฎีกาต่อศาลฎีกาต่อไป เพื่อให้วางบรรทัดฐาน เพราะกรณีนี้เป็นกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นจำนวนมาก จากสัญญาที่ต้องเก็บแต่ไม่ได้เก็บผลประโยชน์ตามสัญญา โดยคดีที่ตนนำมาฟ้องในศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในส่วนของข้อกล่าวหาความผิดทางอาญามาฟ้อง แต่ยังมีปัญหาที่ได้มีการนำสิทธิทางแพ่งมาวินิจฉัยด้วย ดังนั้นก็ต้องให้ศาลฎีกาวางบรรทัดฐานอำนาจฟ้องคดีลักษณะนี้ให้ชัดเจน

นายชาญชัย กล่าวถึงคดีระหว่างตนกับบริษัทคิงพาวเวอร์ว่า ก่อนหน้านี้ คดีอาญาที่ศาลกรุงเทพใต้ก็มียกฟ้องไป 1 สำนวน เช่นเดียวกับคดีแพ่ง ที่ตนถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย 728 ล้าน เนื่องจากเห็นว่าตนได้กล่าวถึงข้อมูลตามเอกสารตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ก็เป็นการให้ข้อมูลการตรวจสอบว่ามีการทุจริตใน ทอท. หรือไม่ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนด้วย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"