อาเซียนรบไซเบอร์! ‘บิ๊กตู่’ชวนผู้นำขจัดภัยมั่นคงข้ามชาติ/พท.ถล่มมันปาก


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" เปิดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เสนอแนวคิด ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ รับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ที่มีมูลค่าถึงแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สร้างระบบความปลอดภัยเพื่อปิดช่องโหว่ที่เกิดจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ขณะที่บรรยากาศการประชุมราบรื่นไร้ม็อบกวน แต่เพื่อไทยใช้ปากป่วนแทน

    ที่โรงแรมดิแอทธินีโฮเทลแบงค็อกอะลักซ์ชูรีคอลเล็คชั่นโฮเทล ถนนวิทยุ การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 22-23 มิ.ย. ได้เริ่มขึ้นแล้ว ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ผ่านความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับทั้งมิตรประเทศและประชาคมระหว่างประเทศ  


    บรรยากาศโดยรอบโรงแรมมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และปิดถนนบริเวณด้านหน้าโรงแรมดังกล่าว เพื่อป้องกันความปลอดภัย และอนุญาตให้เฉพาะรถยนต์ที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมเข้า-ออกได้เท่านั้น 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้า มีผู้นำจากประเทศสมาชิกอาเซียนทยอยเดินทางมาถึงประเทศไทย อาทิ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา, นายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม, นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เป็นต้น 
    ส่วนการประชุมในช่วงเช้า มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน 
    ขณะที่ในช่วงบ่ายจะมีการหารือหลายเวที ที่มีผู้นำจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ไทย เมียนมา มาเลเซีย เวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย กัมพูชา และสิงคโปร์ เข้าร่วม ซึ่งประกอบด้วยการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับสมัชชารัฐสภาอาเซียน การหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนเยาวชนอาเซียน และการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน 
    รวมถึงกำหนดการสำคัญ คือพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 แบบเต็มคณะ ในเวลา 17.00 น. โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธาน และดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย จากนั้นรัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำสำหรับผู้นำอาเซียนและเลขาธิการอาเซียน ที่คริสตัล ฮอลล์ โรงแรมดิแอทธินีโฮเทลแบงค็อกอะลักซ์ชูรีคอลเล็คชั่นโฮเทล ในเวลา 19.00 น.  
    น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศและอธิบดีกรมสารนิเทศ แถลงผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการหารือในช่วงการรับประทานอาหารค่ำ พูดคุยเรื่องสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา และเอกสารมุมมองอาเซียนในเรื่องอินโด-แปซิฟิก โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกันต่อ และไม่ได้มีปัญหาอะไรกับทั้งสอง 2 เรื่อง ซึ่งในที่ประชุมมีการรายงานเรื่องสถานการณ์ในรัฐยะไข่ให้ทราบว่า เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทางสำนักเลขาธิการอาเซียน พร้อมด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญ ได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่เพื่อสำรวจและประเมินสถานการณ์
ส่งกลับยะไข่
    โดยมีรายงานฉบับแรกออกมาแล้ว ซึ่งต่อไปคือการดำเนินการเรื่องการส่งกลับ โดยต้องมีการเตรียมความพร้อมของประเทศเมียนมาและความพร้อมในการเจรจาระหว่างเมียนมาและบังกลาเทศ แต่สิ่งที่สำคัญทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คือต้องดูว่าถ้าเขาเดินทางกลับไปแล้วจะมีความปลอดภัยและมีสภาวะในเรื่องที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพที่มีรายได้ รวมถึงต้องมีการดูแลเรื่องมนุษยธรรม ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการพูดคุยในกรอบของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนมาตั้งแต่ช่วงต้นปี เพื่อให้มีการขับเคลื่อนในความพร้อมด้านต่างๆ
     ขณะที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีการส่งตัวผู้ลี้ภัยจากรัฐยะไข่ออกนอกประเทศ และหารือประเด็นที่เกี่ยวเนื่องในหลายด้าน เรื่องนี้เป็นสิทธิของเมียนมาและบังกลาเทศในการตกลงเรื่องนี้ร่วมกันอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของการคัดกรอง การส่งกลับ การกำหนดกรอบเวลา และจำนวนผู้ลี้ภัยที่จะส่งกลับให้ชัดเจน 
    เขากล่าวว่า อาเซียนได้ส่งทีมหน่วยงานด้านมนุษยธรรมของอาเซียน (AHA center) ลงสำรวจพื้นที่ ซึ่งพบว่าเมียนมามีความพร้อมมากขึ้น ทั้งในเรื่องความปลอดภัย ที่ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับมาแล้วจะไม่มีปัญหา การยอมรับสถานะในสังคม โดยที่ประชุมได้รับทราบจากเมียนมาว่า ขณะนี้เมียนมาเตรียมที่จะออกบัตรแสดงตัวตนให้กับผู้ลี้ภัยชาวรัฐยะไข่ที่ถูกส่งกลับเข้าเมียนมา พร้อมกับยืนยันความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยในรัฐยะไข่ นอกจากนี้ที่ประชุมยังทราบถึงข้อติดขัดของการส่งกลับผู้ลี้ภัยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 ประเทศยังไม่สามารถระบุจำนวนผู้ที่จะถูกส่งกลับได้ชัดเจน และพบว่ามีนัยบางอย่างที่เข้ามาแทรกที่ทำให้ผู้ลี้ภัยที่ได้รับการคัดกรองแล้ว ไม่มั่นใจในความปลอดภัยในการกลับมาอยู่ในรัฐยะไข่
        นายดอนบอกว่า กระบวนการเจรจาหารือส่งผู้ลี้ภัยกลับจะเกิดขึ้นในปีนี้ และทำให้การส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับจะทำให้เร็วที่สุด เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นที่ถูกจับตาของนานาชาติอยู่ และเป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเมียนมา อย่างไรก็ตาม อาเซียนจะพยายามช่วยกันดูแลและส่งเสริมให้กระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับยังรัฐยะไข่ได้จริง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ พล.อ.ประยุทธ์ได้หารือทวิภาคีกับผู้นำอาเซียน 3 ราย ได้แก่ นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย, นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ซึ่งบรรยากาศในการหารือทวิภาคีระหว่างผู้นำเป็นไปด้วยมิตรภาพและความใกล้ชิดระหว่างกัน 
    ภายหลังการหารือ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์หารือกับนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ทั้งสองประเทศพร้อมกระชับความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดมากขึ้นในทุกมิติ โดยไทยพร้อมส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้าน นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ทั้งสองประเทศร่วมกันแก้ไขปัญหาและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคด้านการลงทุนอย่างจริงจัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนของทั้งสองประเทศ 
ความมั่นคงทางไซเบอร์ 
    และนายกรัฐมนตรีต้องการให้อาเซียนเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งไทยชื่นชมบทบาทในการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาไอยูยูของอินโดนีเซีย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นว่า ไทยพร้อมร่วมมือในการแก้ไขปัญหาประมงอย่างรอบด้านกับอินโดนีเซีย 
    ต่อมาเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์หารือกับ นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยไทยพร้อมร่วมมือกับเวียดนามในการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี รวมถึงการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และไทยพร้อมเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 4 ซึ่งเวียดนามมีกำหนดเป็นเจ้าภาพ เพื่อผลักดันประเด็นความร่วมมือระหว่างกันให้ก้าวหน้า เวียดนามยังชื่นชมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนของไทย และจะเรียนรู้ประสบการณ์การเป็นเจ้าภาพของไทย ไปใช้ในปี 2563 ที่เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพการประชุม 
    นอกจากนี้ ไทยยินดีแบ่งปันประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาไอยูยูกับเวียดนาม โดยนายกฯ ย้ำว่า เจ้าหน้าที่ไทยปฏิบัติงานตามหลักมนุษยธรรมและมีมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลให้มาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไทยสูงขึ้น 
    ทั้งนี้ ไทยหวังที่จะผลักดันให้มีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทย-เวียดนาม-ลาว ในการพัฒนาเส้นทางหมายเลข R12 ในลาว รวมทั้งผลักดันให้ทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้งสองฝ่ายเสนอข้อริเริ่มใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวตลอดเส้นทางดังกล่าว 
    จากนั้นเวลา 14.30 น. พล.อ.ประยุทธ์หารือกับ นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา โดยยืนยันเจตนารมณ์ในการขยายความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในกรอบทวิภาคี อาเซียน และเวทีระหว่างประเทศ ไทยขอบคุณเมียนมาที่เชื่อมั่นและให้ความร่วมมือกับไทยในฐานะประธานอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดเกี่ยวกับสถานการณ์รัฐยะไข่ ประเทศไทยและอาเซียนพร้อมที่จะให้ความสนับสนุนแก่เมียนมา โดยยืนยันที่จะดำเนินการด้านต่างๆ บนพื้นฐานความปลอดภัยของภูมิภาค 
    นอกจากนี้ ไทยพร้อมสนับสนุนการพัฒนาในสาขาที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเมียนมาในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข การพัฒนาชุมชน การเกษตรและประมง เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของเมียนมา
ยินดีกับผู้นำอินโดฯ
    ต่อมา?เวลา 17.30 น.? ที่โรงแรมดิแอทธินี กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 อย่างเป็นทางการว่า ขอแสดงความยินดีกับท่านประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ที่ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกอุ่นใจที่วันนี้จะได้พบบรรดามิตรที่คุ้นเคยอีกครั้งหลังจากที่ได้พบกันที่สิงคโปร์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้แลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์ ทบทวนการดำเนินการ เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมายและทิศทางของอาเซียน โดยในช่วงการประชุมเต็มคณะนี้ 
    ขอเริ่มด้วยหัวข้อเรื่องการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน และเป็นพื้นฐานสำหรับอนาคตที่มั่นคงของประชาคมอาเซียนและของประชาชนชาวอาเซียนกว่า 640 ล้านคน และเพราะประชาชนเป็นหัวใจของประชาคมอาเซียน ดังนั้น เป้าหมายสำคัญคือ ประชาชนจะต้องเป็นศูนย์กลาง มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต เพราะปัจจุบัน ประชาชนอาเซียนต้องเผชิญกับกระแสความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่หลากหลาย เราต้องร่วมกันขบคิดและหาทางออกเสริมสร้างประชาคมอาเซียนอย่างไรให้เป็นที่พึ่งให้กับประชาชน   
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปีนี้ไทยได้กำหนดแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียน คือ ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน ซึ่งจะสามารถเป็นแนวทางในการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต และเพิ่มคุณค่าทางยุทธศาสตร์ให้กับอาเซียน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค แนวคิดหลักดังกล่าว จะเป็นการสานต่อข้อริเริ่มที่ดีของประธานอาเซียนในปีที่ผ่านๆ มา และสร้างสรรค์ข้อริเริ่มใหม่ๆ เพื่ออนาคตของอาเซียนของเรา ในการนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะสนับสนุนแนวทางดังกล่าวนี้ของไทย และร่วมกันทำงานเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของอาเซียนในทุกมิติสืบต่อไป ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง การเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน       
    ตลอดกว่า 5 เดือนที่ผ่านมา อาเซียนได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ และในโอกาสนี้ จึงขอประเมินและเสนอแนะประเด็นที่อาเซียนควรร่วมกันผลักดันอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม ซึ่งได้แก่ 1.การส่งเสริมความมั่นคงที่ยั่งยืน 2.การสร้างอาเซียนที่มีความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ และการส่งเสริมการพัฒนาด้านดิจิทัลในอาเซียน และ 3.การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการส่งเสริมความมั่นคงที่ยั่งยืน เพื่อรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ให้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน 
ความร่วมมือแห่งอาเซียน
    อาเซียนควรมุ่งเน้นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ ทั้งระหว่างอาเซียนด้วยกันเองและกับภาคีภายนอก โดยอาเซียนมีเครื่องมือสำคัญในมืออยู่แล้วคือ สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ซึ่งมีหลักการที่อาเซียนสามารถส่งเสริมให้แพร่หลายออกไปยังภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และอินโด-แปซิฟิก
    นอกจากนี้ อาเซียนยังต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของอาเซียน มีมูลค่าถึงแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อาเซียนจึงควรส่งเสริมการบริหารจัดการชายแดนที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้ประโยชน์จากโรดแมปที่กำลังจัดทำขึ้นเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านดังกล่าว จึงขอเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ด้านอาชญากรรมข้ามชาติศึกษาและดำเนินการในเรื่องนี้
    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การสร้างอาเซียนที่เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางยุทธศาสตร์ให้กับอาเซียนทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนอาเซียนและการเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าของโลก โดยอาเซียนควรผลักดันการใช้ประโยชน์จากกลไกต่างๆ ของอาเซียนให้เกิดผล ในส่วนของการสร้างดิจิทัลอาเซียน (Digital ASEAN) เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 และการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตประจำวันของประชาชนของพวกเรา 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อาเซียนควรสร้างโอกาสและเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความท้าทายนี้ โดยการสร้างเสริมระบบนิเวศทางดิจิทัล ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเร่งจัดทำแผนแม่บทดิจิทัลอาเซียน ค.ศ.2025 (ASEAN Digital Masterplan 2025) ให้แล้วเสร็จในปีนี้ และการเพิ่มมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนอาเซียน ในขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างระบบความปลอดภัยเพื่อปิดช่องโหว่ที่เกิดจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้กับอาเซียนถึงหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ.2025
    ที่ชั้น 20 ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) เป็นประธานประชุมสรุปภาพรวมการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกจราจรการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยร่วมประชุมกับทหาร ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าทีกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
ปลอดภัย 100%
       พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์กล่าวภายหลังการประชุมว่า การวางกำลังรักษาความปลอดภัยมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเริ่มวางกำลังเจ้าหน้าที่มาตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา และวันนี้เป็นมาตรการยกระดับการรักษาความปลอดภัยสูงสุด มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับทหารเตรียมความพร้อมในจุดต่างๆ โดยรอบพื้นที่ เพราะจะมีผู้นำของแต่ละประเทศอาเซียนเดินทางเข้ามาครบทุกประเทศในช่วงบ่าย และในช่วงเย็นจะมีงานเลี้ยงที่ผู้นำของทุกประเทศจะรวมตัวกัน 
    ส่วนเรื่องการปิดเส้นทางการจราจรถนนวิทยุ เชื่อว่าไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชนทั่วไป และจะไม่ทำให้การจราจรติดขัด เนื่องจากจะปิดถนนวิทยุเพียงบางช่วงในเส้นทางระหว่างที่พักไปยังสถานที่ประชุมของผู้นำแต่ละประเทศเท่านั้น โดยมีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร และจะปิดเฉพาะช่วงที่ขบวนผู้นำจะเดินทางผ่าน โดยประชาชนสามารถใช้เส้นทางเลี่ยงถนนพระราม 4 และถนนเพชรบุรีแทน
         ผู้ช่วย ผบ.ตร.กล่าวอีกว่า กรณีที่จะมีกลุ่มบุคคลแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และยื่นหนังสือนั้น เบื้องต้นได้รับแจ้งว่ามี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มกรีนพีซ และเรดฟอร์ด  ที่ขออนุญาตจัดกิจกรรม ซึ่งตำรวจแนะนำให้ไปยื่นหนังสื่อที่กระทรวงการต่างประเทศ แทนการมาเรียกร้องที่บริเวณที่ประชุม ซึ่งเบื้องต้นยังไม่พบกลุ่มที่จะเข้ามาก่อความวุ่นวายในการประชุม แต่ตำรวจก็ไม่ประมาท 
    อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกกลุ่มที่จะจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทำความเข้าใจว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับอาเซียนในรอบ 10 ปี ขอให้อย่าสร้างความวุ่นวาย และก่อเหตุความรุนแรงในช่วงนี้
    นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรี?วงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปกล่าวตอนหนึ่งเมื่อเช้าวันที่ 21 มิ.ย. โดยบอกว่า "หลังจากนี้จะเป็นนายกฯ ที่เรียบร้อย เรื่องอะไรไม่สำคัญก็จะไม่ตอบ" ว่า ขอให้ทำได้จริงตามที่ได้พูดต่อหน้าผู้นำธุรกิจอาเซียนเถิด แต่เกรงว่าจะทำไม่ได้ และกลายเป็นคนเสียคำพูดอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เสียมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา 
    เธอบอกว่า ในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคมต่อบุคลิกภาพของ พล.อ.ประยุทธ์โดยรวมคือ เป็นนายกฯ และหัวหน้า คสช.ที่กะรุ่งกะริ่ง คุ้มดีคุ้มร้าย  ควบคุมสติและอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เมื่อถูกรุมเร้าด้วยปัญหาต่างๆ โดนวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้แต่มีคนออกมาเรียกร้องอยากจะเลือกตั้งโดยเร็ว ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิของพลเมืองที่จะกระทำได้ พล.อ.ประยุทธ์ก็แสดงกิริยาอาการโมโหฉุนเฉียว โกรธเกรี้ยว ด่าทอสื่อมวลชน และให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างทุกครั้ง  
เพื่อไทยป่วนอาเซียน
         โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวต่ออีกว่า แม้ว่าต่อมา พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศว่าตัวเองเป็นนักการเมือง แต่ก็ทำให้สถาบันนักการเมืองเสียหาย เพราะตัวเองไม่สามารถปรับเปลี่ยนสัญชาตญาณหรือนิสัยถาวรในความเป็นทหารที่ถนัด แต่การใช้อำนาจและกำลังลงได้ ยิ่งในปัจจุบัน เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ส.ส.ร้อยพ่อพันแม่ เสถียรภาพรัฐบาลมีความง่อนแง่น สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์กระทำมา 5 ปี ทั้งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็ยังล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการปฏิรูปประเทศ และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งจะถูกทวงถาม และคิดบัญชีจากหลายฝ่าย 
    “จึงยากที่จะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ที่เรียบร้อยได้ ในทางตรงกันข้าม พฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เคยเห็นในอดีตจะหวนกลับมาอีกอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้รัฐมนตรีและ ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลอึดอัด แต่ก็ไม่กล้าแนะนำอะไรได้ ต้องทนอยู่ร่วมรัฐบาลกันไปเช่นนี้จนกว่าจะพ้นจากตำแหน่ง”
          นางลดาวัลลิ์กล่าวในเชิงส่งสัญญาณไปถึงผู้นำ 10 ประเทศอาเซียนว่า ควรให้ความสำคัญเสาหลักว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงให้มากเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเชื่อว่านานาชาติรับรู้แล้วว่าประเทศไทยที่แม้จะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว แต่ผู้นำรัฐบาลได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่อีก แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย การจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์เพื่อกลุ่มการเมืองบางกลุ่มเพื่อหวังสืบทอดอำนาจ ทำให้รัฐบาลไทยไม่มีเสถียรและภาพในการบริหารประเทศ และทำให้สถาบันรัฐสภาของไทยตกต่ำจนอาจเกิดวิกฤตการณ์จากการประท้วงของประชาชนในอนาคตขึ้นได้ 
          "หากมีความวุ่นวายจากการประท้วงไม่ยอมรับรัฐบาลเกิดขึ้น ย่อมจะมีผลกระทบต่อความเป็นเอกภาพของมวลสมาชิกประชาคมอาเซียน ดังนั้นหากเป็นไปได้ ก็ขอให้ผู้นำประเทศอาเซียนและประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ช่วยกันแสดงออกให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้คำนึงถึงหลักการที่ถูกต้องและเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย อันจะทำให้ประเทศไทยนอกจากจะไม่เป็นปัญหาฉุดดึงการพัฒนาของอาเซียนแล้ว ยังจะทำให้ภูมิภาคอาเซียนมีความแข็งแกร่งในทุกด้าน และจะเป็นภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่"
    โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ถ้าหากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ทำอะไรไม่ถูกต้องเป็นต้นว่า ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมไร้มาตรฐาน ก็ขอให้ผู้นำอาเซียนและประชาชนชาวอาเซียนทั้งหลายได้แสดงความกล้าหาญในการตักเตือน หรือปฏิเสธการกระทำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็จะเป็นผลดีต่อประชาคมอาเซียนโดยรวม        
        “ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ในปี 2562 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์จะต้องแสดงภาวะความเป็นผู้นำ และความเป็นตัวแทนของประชาชนไทยทั้งประเทศให้สมศักดิ์ศรี ขณะนี้เป็นระยะเปลี่ยนผ่าน จากนายกฯ ยุค คสช. มาเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง การคิด การพูด การกระทำต่างๆ นับจากนี้ไปที่เหลืออีก 6 เดือน มีความสำคัญและมีความหมายต่อศักดิ์ศรีและหน้าตาของคนไทยทั้งประเทศ หากทำได้ดีสมกับเป็นประธานอาเซียน ก็เป็นเรื่องที่พอจะยอมรับได้ แต่ถ้าเป็นในทางตรงกันข้าม ก็สุดแท้แต่ประชาชนจะพิจารณา” นางลดาวัลลิ์กล่าว
เผด็จการไร้ปัญญา
    ขณะที่นายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า "กระเสือกกระสนอยากเป็นผู้นำอาเซียน ก็ควรรู้ว่าเวทีอาเซียนมีไว้ให้ผู้นำได้แสดงวิสัยทัศน์ ไม่ใช่สถานที่ให้พ่นเรื่องส่วนตัวหรือคำถามสื่อ สิ่งที่ควรทำคือการพูดจาอย่างชาญฉลาดไม่ให้คนไทยต้องอับอายว่ามีผู้นำที่มาจากเผด็จการ ไร้สติปัญญา วุฒิภาวะต่ำตม อุดมไปด้วยความเฉิ่ม"
    ส่วนนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์ อดีตพรรคไทยรักษาชาติ ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว Chaturon/จาตุรนต์ว่า  "ตกลงพลเอกประยุทธ์อยู่ในสถานะอะไรครับ"
    ปรากฏว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งตอบกลับว่า "นายกตามระบอบประชาธิปไตยไงครับ" พร้อมถามกลับนายจาตุรนต์ว่า "แล้วคุณล่ะ ตอนนี้อยู่ในฐานะอะไร??"
    นายจาตุรนต์ทวีตตอบว่า "ระบอบไหนประชาธิปไตย ส่วนผมก็เป็นพลเมืองชั้นสองชั้นสาม ในระบอบอะไรที่ใช้กันมาหลายปีแล้วนี้แหละ"
    นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552 ที่กลุ่มคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมประชุมอาเซียนซัมมิต ยังโรงแรมรอยัลคลิฟบีชรีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี
    โดยนายกอร์ปศักดิ์โพสต์ว่า "บ้านเราจะประชุมอาเซียนสุดสัปดาห์นี้ ไทยเป็นเจ้าภาพ นึกถึงสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดที่พัทยา ผมเป็นรองนายกฯ ทำหน้าที่แทนนายกฯ ต้อนรับผู้นำแต่ละประเทศที่สนามบินอู่ตะเภา ขามายิ้มแย้มแจ่มใส ผ่านไปคืนเดียว รุ่งขึ้นต้องส่งกลับอย่างโกลาหล บอกไม่ถูกว่าอารมณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร"
    โพสต์ของนายกอร์ปศักดิ์ มีผู้รีทวีตพร้อมระบุข้อความอาทิ "เห็นใจและสงสารรัฐบาล?มาก? คนทำป่าเถื่อนกะว่าจะให้ตายกันไป? มันไม่เรียกว่าประท้วง"
    "เห็นภาพตอนพาเหล่าผู้นำประเทศหลบออกกันมาอย่างทุลักทุเลแล้วปวดใจ เหล่าผู้กระทำยังหน้าชื่นตาบานกันอยู่วันนี้พร้อม กุวาทกรรมรัฐบาลอภิสิทธิ์มือเปื้อนเลือดให้เด็กๆ ท่อง แต่ไม่มีใครพูดถึงเหตุการณ์กระทำย่ำยีต่อประเทศในเรื่องนี้เลย"
    "ความผิดฝั่งนั้นไม่เคยชดใช้ แล้วก็มีวาทกรรมให้ลืมให้มองข้าม บอกตรง เราทำไม่ได้"
    "ตอนนี้ผู้ก่อเหตุการณ์นั้น อยู่ในพรรค พปชร.แล้ว และได้รับคำยกย่องจากเลขาธิการพรรค พปชร.ด้วย"
    "ได้แต่หวังว่า จะไม่มีคนที่เคย (ร่วม/สนับสนุน)ทำลายการประชุมครั้งนั้น ไปนั่งร่วมประชุมในครั้งนี้ให้เขาผวาอีกนะคะ"
    ทั้งนี้ มีผู้ใช้ทวิตเตอร์บางรายตั้งคำถามว่า "ทำไมตอนนั้นทหารและตำรวจดูแลไม่ได้คะ ดูทีวีอยู่? เศร้าใจ? แค้นใจมาก" นายกอร์ปศักดิ์บอกว่า "คืนนั้น รมต.กลาโหม พลเอกประวิตร และรองนายกฯ ฝ่ายมั่นคง คุณสุเทพ อยู่ในโรงแรม ส่วนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอยู่นอกโรงแรม แปลกแต่จริง".
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"