"โจหลุยส์" สานต่อศิลปะไทยชั้นสูงผ่านพระมหาพิชัยมงกุฎ (จำลอง)


เพิ่มเพื่อน    

 เทคนิคใหม่ที่เป็นแสงสี  จะนำมาใช้กับการแสดงหุ่นละคนเล็ก

    เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแด่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) ได้จัดงาน “เทิดไท้พระมหากษัตรา พระบรมราชาภิเษก” นำเสนอนิทรรศการพระมหาพิชัยมงกุฎ (จำลอง) พร้อมด้วยการแสดงหุ่นละครเล็กชุดใหม่ล่าสุด เรื่อง “หนุมานชาญสมร ตอน แก้กลมัจฉา“ (Hanuman The Great  Warrior)”  โดย ครูพิสูตร ยังเขียวสด และครูสุรินทร์ ยังเขียวสด สองทายาท  ผู้สืบทอดวิชามาจากบรมครูโจหลุยส์ หรือครูสาคร ยังเขียวสด ผู้ก่อตั้งคณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ และศิลปินแห่งชาติ สาขาการแสดงหุ่นละครเล็ก ปี 2539 ณ โรงละครนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) บนพื้นที่โครงการเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์

 

พระมหาพิชัยมงกุฎ(จำลอง)


    นิทรรศการพระมหาพิชัยมงกุฎ (จำลอง) เป็นการนำเสนอเรื่องราวของหัวโขนไทย และการนำเสนอพระมหาพิชัยมงกุฎ แบบจำลอง ที่รังสรรค์โดยครูพิสูตร ยังเขียวสด ผู้บริหารนาฏยศาลาหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ และหนึ่งในทายาทโจหลุยส์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช่าง ด้วยเห็นความสำคัญของพระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ หรือมงกุฎของพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี โดยได้รังสรรค์ขึ้นมาด้วยไม้สักทองหลาง และไม้สักกลึงขึ้นรูป ขุดใน กระแหนะลาย ปิดด้วยทองแท้ล่องชาด ประดับเพชรคริสตัลสวารอฟสกี้ ประกอบเครื่องโลหะขึ้นรูป ชุดทองลงยาฝังพลอยตามแบบโบราณ และครูพิสูตรไม่ได้ทำเพียงผู้เดียว ยังได้ร่วมกับสมพิศ ยังเขียวสด เป็นผู้ออกแบบลวดลายเครื่องโลหะ สมพงษ์ เรืองฤทธิ์ ผู้จัดทำเครื่องโลหะ และบุญเทียม หารสุโพธิ์ ผู้จัดทำตัวเรือนไม้กลึง ทำขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมาหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีและเพื่อเป็นการอนุรักษ์ ภูมิปัญญาทางเชิงช่างสืบทอดงานศิลปะ ชั้นสูงของไทยแต่โบราณ ให้คงอยู่สืบไป

สองทายาทโจหลุยส์


    ครูพิสูตร ยังเขียวสด  บอกเล่าที่มาของการทำงานครั้งนี้ว่า ก่อนจะสร้างมงกุฎจำลองนี้ ได้ไปเห็นต้นทองหลางยืนต้นตายอยู่ แถวปิ่นเกล้า เลยไปขอซื้อตัดมาเก็บไว้เพราะเห็นว่าเป็นต้นไม้มงคลให้โชคลาภ แล้ววันหนึ่งไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับเครื่องประดับพระเศียรองค์แรกของพระมหากษัตริย์ไทย เพราะอยากรู้ว่าเครื่องประดับพระเศียรองค์แรกของไทยมาจากไหน อ่านจนทราบว่าพระมหาพิชัยมงกุฎ คือเครื่องประดับพระเศียรองค์แรก ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของเครื่องทรงในพระมหากษัตริย์แห่งพระราชอาณาจักรไทยสมัยโบราณ พออ่านจบก็คิดว่าทำไมถึงมีความงดงามและมีคุณค่าเหลือเกิน  เลยศึกษาละเอียดขึ้น และคิดว่าจะต้องทำแบบจำลองขึ้นมา แล้วนึกขึ้นได้ว่ามีไม้ทองหลางจึงนำมาทำ เขียนแบบขึ้นมาตามที่ศึกษา เพราะไม่เคยเห็นของจริง และได้ความร่วมมือกับช่างที่มีความเชี่ยวชาญต่างกัน ทั้งช่างออกแบบลวดลาย ทำโลหะ กลึงไม้ ทำร่วมกันออกมาเป็นมงกุฎจำลองสูง 54 ซม. ซึ่งสูงกว่าองค์จริงที่สูงประมาณ 51 ซม.ความพิเศษของมงกุฎนี้ คือ เรื่องตำนานที่ถูกถ่ายทอดมาจากสมัยอยุธยา แต่รังสรรค์ขึ้นมาโดยคนรุ่นใหม่ยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งตนก็ได้ทำในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่นของจริงระบุในประวัติว่า ทำด้วยเพชร 40 กะรัตจากอินเดีย แต่ตนทำด้วยโลหะ ทองแดง ความยากอยู่ที่ลงรายละเอียดลวดลายตั้งแต่ยอดมงกุฎ พระเกี้ยว ดอกประจำยามประจำทั้ง 4 ด้านทุกชั้น มาลัยรักปัก ฯลฯ

หุ่นละครเล็กเรื่องหนุมานชาญสมร ตอนแก้กลมัจฉา


    "การห่างหายไปของโจหลุยส์ ไม่ใช่ว่าจะหายไปเลย ยังคงทำงานและศึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับหุ่น โขน อยู่เรื่อย ๆ เพราะครอบครัวเราคือครอบครัวช่าง ช่างศิลป์ ช่างคิด จนกลายมาเป็นงานชิ้นนี้ อย่างมงกุฎจำลองผมทำทั้งหมด 11 องค์ นี่เป็น 1 ใน 11 ซึ่งปลายปีมีแผนว่าจะจัดแสดงนิทรรศการให้ประชาชนได้ชม ศิลปะที่ล้ำค่า ผมยังได้ทำคลิปวิดิโอนำเสนอขั้นตอนการทำมงกุฎนี้ 5 นาที ผ่านช่องทางต่างๆ เป็นภาษาไทย อังกฤษ จีนเผยแพร่ด้วย" ครูพิสูตรกล่าว

หนุมานและตัวละครใหม่ปลามังกร


    ในส่วนของการแสดงหุ่นละครเล็กเรื่อง “หนุมานชาญสมร ตอน แก้กลมัจฉา” ถือเป็นการกลับมาอีกครั้งของโจหลุยส์ ในยุคดิจิตัล และในรอบ 8 ปี หลังจากโรงละครที่สวนลุมไนท์บาซ่าถูกปิดตัวลง  ทำให้มีการเสนอการแสดงในรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น แต่ยังคงกลิ่นอายของการแสดงหุ่นละครเล็กแบบดั้งเดิม โดยเนื้อเรื่อง เป็นเรื่องราวความรักของวานรเผือก ขุนศึกแห่งทัพพระรามกับนางสุพรรณมัจฉา เป็นการแสดง ตอนหนึ่งในเรื่อง รามเกียรติ เมื่อครั้งที่ทศกัณฐ์ลักพาตัวนางสีดา พระรามได้สั่งให้หนุมานถมทาง เพื่อเคลื่อนทัพข้าม ทะเลไปยังกรุงลงกา และทำศึกชิงตัวนางสีดากลับคืนมา ทศกัณฐ์ได้สั่งให้นางสุพรรณมัจฉา ซึ่งเป็นธิดา ไปจัดการขัดขวางการถมถนนของหนุมาน โดยให้ฝูงปลาผู้เป็นบริวาร คาบก้อนหินที่หนุมานนำมาถม ทะเลออกไป หนุมานเห็นผิดสังเกตว่าก้อนหินที่ถมไปในทะเลนั้นหายไป จึงลงมาดูใต้น้ำ พบนางสุพรรณ มัจฉาจึงไล่ตามจับนาง จนก่อเกิดเป็นความรักในที่สุด การแสดงสามารถชมการแสดงได้ทุกวัน ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ณ โรงละครนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) ณ โครงการเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ เวลาแสดง : 19.30 น.  ราคาบัตร : ผู้ใหญ่ 900 บาท /ท่าน เด็ก 600 บาท/ท่าน


    ครูสุรินทร์ ยังเขียวสด ผู้กำกับการแสดง กล่าวว่า เป็นการแสดงที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสาน ให้แตกต่างจากที่เคยทำเมื่อ 8-9 ปีก่อน  รุ่นลูกหลานเข้ามาช่วยเรื่องของภาพ เอ็ฟเฟกต์ต่างๆ จะเห็นว่าการแสดงชุดนี้มีปลามังกรโผล่เข้ามาด้วย ซึ่งตนก็ไม่เคยรู้จักมาก่อนว่าปลามังกรเป็นอย่างไร จนมาผสานกับการแสดงหุ่นละครเล็กก็ถึงได้รู้ และก็เป็นความคิดที่สร้างสรรค์ ที่แสดงให้ผู้ชมเห็นว่า มันคือตัวร้ายตัวหนึ่งที่ทำให้หนุมานต้องหลงกล ก็สามารถเข้ากันได้ดีกับหุ่นละครเล็ก

 

โชว์ปักผ้าที่ใช้กับตัวละครหุ่น หนึ่งในกิจกรรมของนิทรรศการ


    “ศิลปะการเชิดหุ่นละครเล็ก คือความงดงามของตัวละคร นักเชิดต้องใส่ชีวิต ใส่อารมณ์ สิ่งที่สำคัญคือหุ่นต้องมีชีวิตจริงๆ เรายังคงความเป็นหุ่นละครเล็กอยู่ การแสดงที่โรงละครเอเชียทีคแห่งนี้ เปรียบเสมือนเป็นเรือนรับรองเล็กๆ ที่ให้ผู้ชมดูชัดๆ เหมือนย้อนบรรยากาศกลับไปสมัยโบราณที่มีการแสดงในวัง เจ้านายดูใกล้ชิดตำหนิได้ มีที่นั่งทั้งหมด 70 กว่าที่นั่ง ทุกที่นั่งเป็นวีไอพี มองเห็นชัด จะเห็นความงามและเห็นหุ่นมีชีวิต เทียบกับสวนลุมไนซ์บาซ่ามี 500 ที่นั่ง ผู้ชมอยู่ห่าง 3 เมตร  ห็นรายละเอียดไม่ชัดเท่านี้"ครูสุรินทร์ กล่าว

นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ ที่เอเชียทีค


    เรื่องการสืบทอดความรู้ให้คนรุ่นใหม่ ครูสุรินทร์บอกว่า ปัจจุบันนี้ โจ หลุยส์ ทำชมรมคนรักหุ่นละครเล็ก เปิดสอนฟรี แก่เด็กและเยาวชนตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนถึงอายุ 20 ปี แต่เด็กต้องมีพื้นฐานการแสดงละครรำ หรือ โขนมาก่อน ส่วนเด็กที่ไม่มีพื้นฐานต้องปูพื้นอีกคอร์ส  การเรียน ไม่ได้เรียนเชิดหุ่นอย่างเดียว แต่จะต้องรู้ทุกขั้นตอนของโจหลุยส์ ก่อนที่จะมาเป็นอย่างทุกวันนี้ 
    "สอนมาสักพักแล้ว ระยะสองสามปีที่ผมสอน เด็กๆมา เขาก็มีโอกาสได้ไปแสดงที่ต่างประเทศด้วย ตอนนี้เราก็ต้องหาเมล็ดที่จะสามารถซึมซับและถ่ายทอดสานต่อได้อีก  ผมเปิดรับปีละครั้ง มีการออดิชั่น  " ครูสุรินทร์ กล่าว
    อย่างไรก็ตาม ทางด้าน ครูพิสูตร ยังได้กล่าวทิ้งทาย เชิญชวนคนมาชมพระมหาพิชัยมงกุฎจำลองที่จะเปิดให้ชมตลอด พร้อมทั้งเชิญมาชมการแสดงหุ่นละครเล็กด้วย พร้อมกล่าวอีกว่า ศิลปะในประเทศไทยไม่ได้ศิวิไลซ์เหมือนต่างประเทศเท่าไหร่นัก ด้วยเหตุผลและปัจจัยอะไรหลายๆ อย่าง แต่เวลาไปต่างประเทศ เราคือคนเอเชีย แล้วหน้าตาคนเอเชียคล้ายกัน เราจะเอาอะไรไปบอกเขาว่าเป็นคนไทย ศิลปะของเราคือตัวบอก ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ การยิ้ม ศิลปะเชิงช่าง การแสดงที่เป็นตัวตนของคนไทย ถ้าเราไม่รักษา ก็ไม่รู้จะเอาเรื่องอะไรไปบอกเขา 

 


ทายาทและลูกศิษย์โจหลุยส์ปัจจุบัน

 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"