ช่องแคบฮอร์มุซสำคัญไฉน?


เพิ่มเพื่อน    

 การที่เรือขนน้ำมันถูกโจมตีในอ่าวเปอร์เซียหลายครั้งในช่วงนี้ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะนำไปสู่สงครามระหว่างสหรัฐกับอิหร่านหรือไม่
แนวทางวิเคราะห์มีหลายทาง เช่น เป็นเพียงข้ออ้างของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะหาเรื่องอิหร่านด้วยการชี้นิ้วกล่าวโทษว่าอิหร่านเป็นผู้ก่อเหตุ
    บางสำนักบอกว่าอาจจะเป็นการก่อเรื่องของสหรัฐเองเพื่อจะหาข้ออ้างเพื่อถล่มอิหร่าน
    อีกบางนักวิเคราะห์บอกว่า อาจจะเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางบางกลุ่มที่ต้องการจะสร้างสถานการณ์ให้ตึงเครียด เพื่อให้มีปัจจัยเอื้อต่อการปฏิบัติการของตนเอง
    แต่หัวใจของเรื่องอยู่ที่ความสำคัญของ Strait of Hormuz ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่มีผลต่อการขนส่งน้ำมันของโลก 
    หากมีการก่อเหตุการณ์เพื่อทำให้ต้องปิดช่องแคบฮอร์มุซแห่งนี้ก็อาจนำไปสู่การเผชิญหน้า ซึ่งหมายถึงสงครามได้ 
    สหรัฐเรียกช่องแคบแห่งนี้ว่าเป็น chokepoint หรือเป็น “จุดอับ” ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้เป็นอาวุธต่อรองในแง่ยุทธศาสตร์ทางทหารและเศรษฐกิจได้
    ช่องแคบฮอร์มุซมีรูปร่างเป็นตัว V ยาวประมาณ 150 กิโลเมตร และกว้างเพียงประมาณ 40 กิโลเมตร (ในช่วงที่แคบที่สุด) เชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับมหาสมุทรอินเดีย โดยมีอิหร่านอยู่ทางเหนือ และ UAE กับโอมานอยู่ทางใต้
    ที่ว่าเป็น “จุดอับ” นั้น เพราะช่องเดินเรือในช่องแคบแห่งนี้วิ่งสวนกันไปมากว้างเพียง 4 กิโลเมตรเท่านั้น
    อีกทั้งน้ำก็ตื้น ทำให้มีปัญหาหลายประการ รวมถึงอันตรายที่อาจจะเกิดจากการวางทุ่นระเบิดได้ หากมีความพยายามที่จะก่อเหตุร้าย ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใดก็ตาม
    อีกทั้งเพราะช่องแคบแห่งนี้อยู่ใกล้แผ่นดิน (ใกล้อิหร่านที่สุด) ทำให้นักการทหารกลัวว่าเรือบรรทุกน้ำมันอาจจะตกเป็นเป้าการโจมตีโดยขีปนาวุธที่ยิงจากชายฝั่งได้
    ด้วยเหตุนี้ทรัมป์จึงเชื่อว่าอิหร่านเป็นคนก่อเหตุถล่มเรือบรรทุกน้ำมันในบริเวณใกล้กับอ่าวโอมานในย่านนั้นเมื่อเร็วๆ นี้
    แต่ก็หนีไม่พ้นความจริงที่ว่า ช่องแคบฮอร์มุซเป็นเส้นทางขนน้ำมันดิบที่สำคัญที่สุดของโลก
    เรือขนน้ำมันต่อวันผ่านช่องแคบแห่งนี้ไม่น้อยกว่า 17.5 ล้านบาร์เรล หรือเท่ากับร้อยละ 40 ของน้ำมันดิบที่ซื้อขายกันทั่วโลก
    น้ำมันทั้งหมดจากคูเวต, อิหร่าน, กาตาร์ และบาห์เรนทั้งหมดต้องวิ่งผ่านช่องแคบนี้
    น้ำมันดิบส่งออกจากซาอุดีอาระเบียและอิรักกว่า 90% ก็ใช้เส้นทางนี้เป็นประจำ
    และไม่ต่ำกว่า 75% ของน้ำมันดิบจาก UAE ก็ต้องอาศัยเส้นทางขนส่งนี้เช่นกัน
    จึงไม่ต้องสงสัยว่าหากใครคิดจะทำให้เกิดความตึงเครียดระดับโลกก็ต้องคิดถึงการ “ปิด” ช่องแคบฮอร์มุซไว้ก่อนเพื่อต่อรองอีกฝ่ายหนึ่งให้ยอมตามเงื่อนไขของตนเอง
    ทำไมมะกันจึงชี้นิ้วไปที่อิหร่านว่าเป็นคนถล่มเรือขนน้ำมันในบริเวณนี้
    คำตอบก็คือ สหรัฐยังคว่ำบาตรอิหร่านอยู่เพื่อสกัดไม่ให้ประเทศนั้นมีรายได้จากการขายน้ำมัน ทำให้ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี กล่าวหาว่าวอชิงตันกำลังทำ “สงครามเศรษฐกิจ” กับอิหร่าน
    มีคนสงสัยว่าถ้าอิหร่านเป็นคนโจมตีเรือขนน้ำมันจริง ก็คงมีเป้าหมายที่จะดันให้ราคาน้ำมันดิบในโลกแพงขึ้น
    ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะช่วยให้อิหร่านขายน้ำมัน (ที่ไม่อยู่ในข่ายการค่ำบาตรของสหรัฐ) ได้รายได้สูงขึ้น
    รัสเซียซึ่งเป็นเพื่อนอิหร่าน เพราะอยู่คนละข้างกับสหรัฐก็จะได้ประโยชน์ด้วย หากราคาน้ำมันโลกแพงขึ้น
    ที่ผ่านมาอิหร่านเคยขู่ว่าถ้ามะกันข่มขู่คุกคามมากเกินไป ก็อาจจะต้องปิดช่องแคบฮอร์มุซเพื่อแก้แค้น แต่เตหะรานก็ยืนยันว่าเหตุการณ์ถล่มเรือบรรทุกน้ำมันล่าสุดไม่ใช่ฝีมือของตนแต่อย่างใด
    เอาเข้าจริงๆ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าอิหร่านคงไม่ทำอะไรอย่างนั้น เพราะหากปิดช่องแคบนี้จริง อิหร่านเองก็จะต้องเสียหายไม่น้อย เพราะอาจจะนำไปสู่สงครามกับสหรัฐและเพื่อนบ้านที่ไม่ชอบหน้าตัวเองเท่าไหร่
    อีกทั้งหากเกิดการ “ปิดอ่าว” จริง อิหร่านก็จะไม่อยู่ในฐานะที่จะควบคุมสถานการณ์โลกได้ แทนที่จะเป็นผู้กดดันคนอื่น ก็อาจกลายเป็นเหยื่อของสงครามที่ตนเองอาจจะกลายเป็นผู้พ่ายแพ้หลักก็ได้
    ความตึงเครียดจึงลากยาวในตะวันออกกลางต่อไป เพราะไม่มีใครมี “ไพ่ตาย” จริงนั่นเอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"