ผู้ลี้ภัยโลก...ยิ่งวันยิ่งเพิ่ม และยังไม่เห็นทางออก


เพิ่มเพื่อน    

 

              วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาเป็น "วันผู้ลี้ภัยโลก" หรือ World Refugee Day ผมได้สัมภาษณ์คุณอินดริกา รัตวัตติเพื่อประเมินสถานการณ์ผู้ลี้ภัยโลกและในภูมิภาคนี้

                ข้อสรุปคือแย่ลง...และแย่อย่างต่อเนื่อง...โดยยังไม่รู้ว่าทางออกคืออะไร

                เพราะตัวเลขล่าสุดคือ 70 ล้านคน หรือสองเท่าของจำนวนผู้ลี้ภัยเมื่อ 20 ปีก่อน

                เพราะปัญหาผู้ลี้ภัยมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสงคราม, ความยากจน, การกดขี่และความอยุติธรรม

                รายงานทางการของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) บอกว่าในปี 2561  จำนวนผู้ลี้ภัยจากสงคราม การประหัตประหาร และความขัดแย้งได้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 70 ล้านคน

                เป็นสถิติที่สูงที่สุดเท่าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เคยประสบมาในระยะเวลาการทำงานกว่า 70 ปี

                รายงานประจำปีของ UNHCR หรือ Global Trends ฉบับล่าสุด ระบุว่ามีจำนวนผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นทั่วโลกสูงถึง 70.8 ล้านคน

                หรือเท่ากับสองเท่าเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

                เพิ่มขึ้นถึง 2.3 ล้านคนภายในระยะเวลาหนึ่งปี

                เทียบได้กับขนาดประชากรของประเทศไทย

                ตัวเลข 70.8 ล้านคนที่ว่า ยังไม่รวมจำนวนผู้พลัดถิ่นทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ในประเทศเวเนซุเอลาด้วยซ้ำ

                ตัวเลขล่าสุดบอกว่า 4 ล้านคนที่หนีตายจากเวเนซุเอลา ถือเป็นเป็นการพลัดถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งล่าสุด และแม้ว่าส่วนใหญ่ต้องการความคุ้มครองจากนานาชาติ แต่จนถึงทุกวันนี้มีจำนวนผู้พลัดถิ่นเพียงครึ่งล้านเท่านั้นที่ขอลี้ภัยอย่างเป็นทางการ

                คุณอินดริกาบอกผมว่า ตัวเลขเหล่านี้เป็นข้อยืนยันว่าจะมีผู้คนที่ต้องหลบหนีจากสงคราม ความขัดแย้ง และการประหัตประหารเพื่อหาความปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลงแต่อย่างใด

                 แต่ที่น่ายินดีก็คือ น้ำใจและความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันที่หลั่งไหลให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติ โดยเฉพาะในชุมชนที่มอบที่พักพิงให้แก่ผู้ลี้ภัยจำนวนมาก

                "เรายังเห็นความร่วมมือที่คาดไม่ถึงจากภาคส่วนใหม่ๆ เช่น นักพัฒนาชุมชน ภาคธุรกิจและเอกชน  รวมถึงบุคคลทั่วไป ที่สะท้อนถึงและดำเนินงานตามเจตนารมณ์ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย (Global Compact on Refugees)"

                ผู้พลัดถิ่นแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท กลุ่มแรกคือ ผู้ลี้ภัย หมายถึงบุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเองเนื่องจากความหวาดกลัว ความขัดแย้ง สงคราม และการถูกประหัตประหาร หรือถูกคุกคามเอาชีวิต

                จากปี พ.ศ.2560 มีจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5 แสนคนภายในระยะเวลาหนึ่งปี ส่งผลให้จำนวนผู้ลี้ภัยสูงถึง 25.9 ล้านคนในปี พ.ศ.2561

                ในจำนวนนี้ 5.5 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ ที่อยู่ในความคุ้มครองของสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ หรือ UNRWA

                กลุ่มที่สองคือ ผู้ขอลี้ภัย หมายถึงผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ยังไม่ได้รับการรับรอง แต่รอสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ.2561 มีผู้ขอลี้ภัยทั่วโลกเป็นจำนวน 3.5 ล้านคน

                กลุ่มสุดท้ายซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือ ผู้พลัดถิ่นที่ยังอยู่ภายในประเทศของตน ซึ่งมีจำนวนสูงถึง  41.3 ล้านคน โดยกลุ่มคนเหล่านี้เรียกว่า ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced People หรือ  IDPs)

                ก็เพราะจำนวนผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นตลอดเวลา การหาทางออกจึงเป็นเรื่องยากเย็นยิ่ง

                ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ลี้ภัย คือการเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจ ปลอดภัย และสมศักดิ์ศรี  รวมถึงการผสมกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน หรือการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม

                แต่ในปี พ.ศ.2561 มีผู้ลี้ภัยเพียง 92,400 คนที่ได้รับโอกาสในการตั้งถิ่นฐานใหม่

                น้อยกว่าร้อยละ 7 ของจำนวนคนที่ยังคงรอการตั้งถิ่นฐานใหม่ และมีผู้ลี้ภัยเพียง 593,800 คนที่เดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจ

                ขณะที่ 62,600 คนได้รับสิทธิพลเมืองในประเทศที่ให้ลี้ภัย

                วิกฤตินี้ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

                รายงานทางการของ UNHCR บอกว่ามี 8 ประเด็นที่ควรทราบเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย

                เด็ก: ในปี พ.ศ.2561 มีผู้ลี้ภัยเด็กเพิ่มขึ้นทุกๆ วินาที และจำนวนมากถึง 111,000 คนเป็นเด็กที่ไม่มีพ่อแม่และอยู่อย่างไร้ครอบครัว

                เด็กเล็ก: ประเทศยูกันดา รายงานว่ามีเด็กผู้ลี้ภัยอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จำนวน 2,800 คนที่ต้องอยู่ลำพังหรืออยู่แยกกับครอบครัว

                ผู้ขอลี้ภัยในเขตเมือง: ร้อยละ 61 ของผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองจะอาศัยอยู่ในใจกลางเมืองมากกว่าที่จะอยู่ในชนบทหรือในค่ายผู้ลี้ภัย

                ประเทศรายได้สูง-ต่ำ: ประเทศที่มีรายได้สูงรองรับผู้ลี้ภัยโดยเฉลี่ย 2.7 คน ต่อประชากรในประเทศ  1,000 คน ประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ รองรับผู้ลี้ภัยโดยเฉลี่ย 5.8 และในประเทศที่ยากจน รองรับผู้ลี้ภัยหนึ่งส่วนสามของจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมดทั่วโลก

                ถิ่นที่อยู่: ร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ลี้ภัย อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดกับประเทศภูมิลำเนาของตน

                ระยะเวลา: สัดส่วนผู้ลี้ภัย 4 ใน 5 คนต้องพลัดถิ่นเป็นเวลาอย่างน้อยห้าปี โดยที่หนึ่งในห้านั้นต้องพลัดถิ่นเป็นเวลานานถึง 20 ปี หรือมากกว่านั้น

                ผู้ขอลี้ภัยใหม่: ในปี พ.ศ.2561 ผู้ขอผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่ที่มีจำนวนมากที่สุดมาจากประเทศเวเนซุเอลา  (341,800 คน)

                แนวโน้ม: ในปัจจุบันอัตราส่วนของประชากรผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย หรือผู้พลัดภิ่นภายในประเทศ ต่อเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก คือ 1 ใน 108 (เทียบกับ 1 ใน 160 เมื่อสิบปีที่แล้ว)

                เห็นรายงานนี้แล้วก็พอจะเห็นภาพว่ายิ่งวันโลกก็ยิ่งจะอยู่ยากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะสำหรับคนที่ต้องหนีตายจากบ้านเกิดเมืองนอน หรือคนที่กำลังตกอยู่ในภาวะของความไม่แน่นอน

                สัจธรรมของโลกวันนี้ก็คือว่าทุกคนมีสิทธิ์กลายเป็น "ผู้ลี้ภัย" ได้ตลอดเวลา. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"