เมื่อเศรษฐกิจจีนหดตัว ไทยก็โดนหางเลข


เพิ่มเพื่อน    

     พอข่าวออกมาบอกว่าเศรษฐกิจจีนหดตัวลง ไตรมาสสองที่ผ่านมามีอัตราโตของจีดีพีเพียง 6.2%  ต่ำสุดใน 27 ปี ก็มีคำถามทันทีว่าจะกระทบประเทศไทยหรือไม่
    คำตอบก็คือมีผลกระทบแน่นอน ปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
    ประการแรก การส่งออกของไทยที่หดตัวอยู่แล้วจะเจออุปสรรคเพิ่มขึ้นอีก เพราะสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังไม่มีทีท่าว่าจะเลิกรา (อ่าน "กาแฟดำ" เมื่อวาน)
    ประการที่สอง รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง เพราะเมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัว คนจีนก็คงจะลดการใช้เงินเพื่อท่องเที่ยว 
    และเมื่อนักท่องเที่ยวจีนเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศไทย ผลที่ตามมาก็จะทำให้มีผลทางลบต่อไทย
    อีกด้านหนึ่งคือการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้นักท่องเที่ยวต้องควักกระเป๋ามากขึ้นในการมาเที่ยวไทย จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รายได้ท่องเที่ยวของไทยเราโดนสองเด้งค่อนข้างจะแน่นอน
    ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเจอศึกหนักในหลายๆ ด้าน 
    นอกจากผลพวงจากเศรษฐกิจจีนที่จะหดตัว ทำให้จีนซื้อของจากไทยน้อยลง นักท่องเที่ยวจีนมาไทยหดตัว ก็ยังมีประเด็นเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่กำลังตกต่ำ รัฐบาลผสมก็อาจจะต้องควักเงินภาษีประชาชนมาอุ้มราคาสินค้าตามคำสัญญาระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง
    และประเด็นเรื่องบาทแข็งก็เป็นเรื่องที่ถกแถลงกันอย่างกว้างขวาง
    วันก่อนธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาอธิบายเรื่องบาทแข็งได้น่าสนใจ สมควรที่จะนำมาเล่าต่อให้ฟังอย่างนี้ครับ
    1.เงินบาทแข็งค่ามีทั้งผู้ได้และเสียประโยชน์ 
    เงินบาทที่แข็งค่ามีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ บางทีเห็นข่าวในหนังสือพิมพ์อาจไม่สบายใจว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท รายได้จากการส่งออกหายไปแสนล้านบาท ข้อเท็จจริงอีกด้านคือ ถ้าเงินบาทแข็งค่า รายจ่ายจากการต้องนำเข้าสินค้า อาทิ น้ำมัน เครื่องจักร วัตถุดิบจากต่างประเทศ ก็ลดลงเป็นแสนล้านบาทเช่นกัน ดังนั้น เรื่องค่าเงินบาทเป็นเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ที่ต้องดูทั้งด้านที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ 
    2.ตั้งแต่ต้นปี 2562 เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 5% เมื่อเทียบกับ USD จากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้เป็นสำคัญ เช่น การเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ FED
    ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 62 แข็งค่าขึ้นประมาณ 5% เมื่อเทียบกับ USD จากปัจจัยด้านต่างประเทศ ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ  FED ที่เดิมตลาดคาดว่า FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า แต่สงครามการค้าและผลกระทบที่ชัดขึ้นโดยเฉพาะต่อการลงทุน ทำให้ตลาดเปลี่ยนมุมมองว่า FED อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ และมีผลทำให้เงิน USD อ่อนค่าลงจากที่เคยคิดไว้ว่าจะแข็งค่าต่อเนื่อง 
    นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในประเทศ ส่วนแรกคือไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมาก โดยในช่วง 5  เดือนแรกของปีนี้ ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว 1.2 หมื่นล้าน USD ซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศที่เข้ามาแล้วต้องแลกเป็นเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และทั้งปี 2562 คาดว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2.9 หมื่นล้าน USD ส่วนที่ 2 มีเงินจากต่างประเทศเข้ามาในไทยสูงขึ้น แม้ส่วนนี้ปริมาณไม่ได้มากถ้าเทียบกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ในบางช่วงที่มีมากก็ทำให้ค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เงินสุทธิที่ไหลเข้ามาตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย 1.8-1.9  พันล้าน USD เช่นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น มีรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง 
    หลายกองทุนเมื่อก่อนมาลงทุนในไทยไม่ได้ วันนี้สามารถกลับมาลงทุนได้ ก็จะมีเงินส่วนนี้เข้ามาส่วนหนึ่ง 
    อันที่สองคือ ดัชนี MSCI ซึ่งนักลงทุนจะดูว่าดัชนีนี้แนะนำให้ไปลงทุนแต่ละประเทศเท่าใด โดยปรับน้ำหนักของไทยขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม วันนั้นวันเดียวตลาดหลักทรัพย์ฯ มียอดซื้อขายถึง 2 แสนล้านบาท ในตลาดพันธบัตรไทยเช่นกัน JP Morgan ก็เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวของไทย เวลาที่นักลงทุนกระจายการลงทุนไปประเทศต่างๆ จะอ้างอิงดัชนีเหล่านี้ ซึ่งด้านหนึ่งก็สะท้อนถึงเสถียรภาพและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย แต่ทำให้มีเงินที่ไหลเข้ามาพักในระยะสั้นอยู่บ้าง. 
    (พรุ่งนี้: บาทแข็งแล้วไงต่อ?)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"