จัดสรรคลื่น 700 MHz นับหนึ่งโรดแมป 5G


เพิ่มเพื่อน    

การจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา นับเป็นปักธงสำคัญ ในการขับเคลื่อน 5G ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งทางกสทช. มีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะเปิดบริการ 5G ได้ภายในปลายปี 2563

 

ซึ่งแน่นอนการจะผลักดัน 5G ให้เกิดขึ้น จะต้องจัดเตรียมคลื่นเพื่อใช้งานอีกจำนวนมหาศาล ซึ่งในส่วนของ 700 MHz นับเป็นเพียงคลื่นแรก ตามโรดแมป 5G ของไทย และปลายปีนี้ กสทช. ก็จะเปิด ประมูลคลื่น 2600 MHz คู่กับคลื่น 26-28 GHz แบบมัลติแบนด์

 

การนับหนึ่งในการจัดสรร คลื่น 700 MHz ให้กับผู้ประกอบการนั้น ไม่ใช่เรื่องที่มีความเร่งรีบเกินไป แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีอีโคซิสเต็มสำหรับการใช้งานเทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นมากนัก ในแง่ของอุปกรณ์ และแอปพลิเคชัน แต่คลื่น 700 MHz สามารถนำมาใช้งานกับ 4Gได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งคลื่นตัวนี้มีจุดเด่นในการส่งสัญญาณได้ไกล และครอบคลุมที่กว้าง อย่างในต่างประเทศ โอเปอเรเตอร์หลายเจ้า ก็เก็บคลื่น 700 MHz ไว้ใช้งาน เพื่อช่วยกระจายสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งมีการลงทุนเสาสัญญาณที่น้อยกว่า คลื่นกลุ่มความถี่สูง

 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีการวางแผนที่จะจัดสรรคลื่นเพิ่มเติม จะเป็นหัวใจของ 5G แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้น คือ เรื่องการใช้งาน 5G และ Use case (ยูสเคส) ต่างๆ ที่จะต้องพร้อมรองรับการใช้งาน กรณีที่มีการเริ่มต้นใช้งาน 5G จริงๆ เพราะตอนนี้ ต้องยอมรับว่า 5G ยังเป็นเรื่องใหม่ของโลก ยังไม่มีกรณีศึกษาที่ชัดเจนเลยว่า 5G จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจ และ วิถีชีวิตของคนอย่างไร

 

ดังนั้นเรื่องการศึกษาและทดลอง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล อย่างรัฐบาลและ กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ ผู้ให้บริการ จำเป็นต้องมีความรู้ และสามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกต้อง ทั้งในแง่เทคโนโลยี กฎหมาย และจริยธรรม ที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต

ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ กสทช. ได้ร่วมลงนามกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ลงนามความร่วมมือทางวิชาการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G เตรียมความพร้อมและรองรับการให้บริการไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นรูปแบบเดียวกับความร่วมมือการศึกษาและจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ที่ได้ลงนามไปแล้วกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขยายความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล 5G ให้เกิดการพัฒนาไปพร้อม ๆ กันทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งต้องการให้มีความเชื่อมโยงข้อมูลและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระหว่างกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะการทดลองทดสอบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบสาธารณสุขและการแพทย์ทางไกล

เบื้องต้น กองทุน กทปส.จะอนุมัติเงินให้แก่มหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งรวมกันกว่า 200 ล้านบาท เพื่อดำเนินการทดลองทดสอบ 5G และพัฒนา Use Case ของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยใช้ความถี่ย่าน 26 GHz จำนวน 1,000 MHz โดย มข.จะทดลองทดสอบ 5G ด้านระบบเกษตรกรรมนำสมัย (Smart Agriculture) ควบคุมการผลิตทางการเกษตรที่แม่นยำ ส่วน มช.จะทดลองทดสอบ 5G เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลและหุ่นยนต์ในการควบคุมเครื่องวัดสภาพแวดล้อมและการแจ้งเตือนฉุกเฉิน (ค่า PM2.5) และการควบคุมโดรนในภารกิจการดับไฟ ขณะที่ มอ.เน้นไปที่ระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดและดูแลสุขภาพทางไกลผ่านเครือข่ายสื่อสาร และระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะและการจัดการผลผลิตทางการเกษตรสมัยใหม่

 

การแยกการศึกษา จะช่วยให้ เห็นผลการศึกษาที่แตกต่างกัน และสร้างความหลากหลายในการทดลอง ซึ่งนอกจาก กสทช. จะสนับสนุนเงินทุนแล้ว ทางเอกชนก็ประกาศเป็นพันธมิตร ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือADVANC และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่พร้อมจะสนับสนุนทั้งทางด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือ และความเชี่ยวชาญของบุคลากร รวมทั้งการสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่นักวิจัยและนักศึกษา

 

อย่างไรก็ตามผลการใช้งาน 5G คงยังไม่ออกดอก ออกผลในเร็วๆนี้ เพราะต้องให้ทางสถานศึกษา ไปทำการทดสอบ ทดลองการใช้งานก่อน

 

แต่เราก็สามารถเทียบกับการระดับโลก การศึกษายูสเคส การใช้ 5G จะแยกเป็นการศึกษา 5-6 หมวดหลักๆ ประกอบไปด้วย 1. ทีวี และ มีเดีย 2. การผลิตภาคอุตสาหกรรม 3. เรื่องทางด้านสาธารณสุข 4.เรื่องโทรคมนาคมสื่อสาร 5. การขนส่ง และ 6. โครงสร้างพื้นฐาน การเปลี่ยนแปลงใน 6 หมวดนี้ จะมาจาก อุปกรณ์ IoT และเซนเซอร์ ที่จะถูกเชื่อมโยงโดยเครือข่าย 5G

 

โดยในกลุ่มมีเดีย นั้น 5G จะเข้ามาช่วยยกระดับการออกอากาศ และการสตรีมมิ่งที่ดีมากขึ้น ลองคิดดูว่า การดูภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ด้วยความละเอียดแบบ 4K ไม่มีสะดุด การถ่ายทอดกีฬา ก็จะได้คุณภาพที่เสมือนอยู่ในสนามจริงๆมากขึ้น หรือรวมไปถึง การแสดงโชว์ต่างๆ ที่แทบจะทำให้เรามีส่วนร่วมกับเหตุการณ์นั้นจริงๆเลยทีเดียว

 

ขณะที่ด้านการขนส่ง 5G จะช่วยในเรื่องการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ รถ กับ รถ และรถกับหน่วยควบคุมเส้นทาง ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น ประหยัดพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ หากเป็นรถสาธารณะ ด้านอุตสาหกรรม 5G จะมีส่วนช่วยลดช่องว่างในการรับบริการสาธารณสุข เพราะแพทย์ที่อาจจะไม่เพียงพอกับประชาชน สามารถที่จะรักษา และประเมินอาการคนไข้ ได้จากระยะไกล และบางครั้งก็พัฒนาไปถึงการผ่าตัดระยะไกลได้

 

ด้าน กระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม 5G จะก่อให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ของวงการอุตสาหกรรม เพราะจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า โรงงานอัจฉริยะ ที่ใช้คนควบคุมน้อยลง ในโรงงานมีระบบเซนเซอร์ ตรวจจับการทำงาน การซ่อมบำรุง และวางแผนการผลิตได้อย่างง่ายดาย โดยมีคนที่ควบคุม หรือ ทำงานในสายการผลิตลดลง

 

 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหมายถึงระบบการบริหารจัดการเมือง ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไฟฟ้า ประปา ถนน ระบบโทรคมนาคม การจราจรฯ และอื่นๆอีกมากมาย ก็จะทำได้ง่ายขึ่น ผ่านระบบมันสมองของเมือง ที่มีโมดูลในการจัดงาน ภารกิจต่างๆ และในจุดนี้ จะทำให้การให้บริการของภาครัฐ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

นี่คือ ประเด็นยูสเคส ที่มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน ภายหลัง 5Gเริ่มใช้งาน ดังนั้นการที่ กสทช. และภาครัฐ มีการวางโรดแมปที่ชัดเจน ก็จะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาวต่อไป


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"