ความมั่นคงทางอาหารและภาวะโภชนาการโลก 2019


เพิ่มเพื่อน    

 

      รายงาน The State of Food Security and Nutrition in the World 2019 เป็นความร่วมมือขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) กับสถาบันระหว่างประเทศอีกหลายแห่ง รายงานฉบับปี 2019 เป็นรายงานฉบับที่ 3 ที่ทำต่อเนื่องตั้งแต่ 2017 เป็นต้นมา

                ภายใต้กระบวนทัศน์ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” องค์การสหประชาชาติกำหนด “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030” (The 2030 Agenda for Sustainable Development) เป้าหมายหนึ่งคือโลกที่ปราศจากความหิวโหย (Zero Hunger) หมายความว่าปลอดภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร ภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ทุกคนเข้าถึงอาหารปลอดภัย มีคุณค่าโภชนาการอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

                แม้เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น เชื่อมต่อกันมากขึ้น แต่บางประเทศยังไม่ไปสู่ทิศทางความยั่งยืน ผลจากความขัดแย้งไร้เสถียรภาพทำให้คนอพยพออกจากพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลกระทบต่อการเพาะปลูก กระทบการกระจายอาหาร ภาวะโภชนาการของผู้คนจำนวนมาก ปัจจุบันประชากรโลกกว่า 820 ล้านคน (จากทั้งหมด 7,700 ล้านคนหรือร้อยละ 10.6) อยู่ในภาวะหิวโหย ขาดสารอาหาร (undernourishment) และยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะดีขึ้น          ข่าวดีคือจำนวนผู้ขาดสารอาหารทั้งโลกเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างทรงตัว คือต่ำกว่าร้อยละ 11 ที่แอฟริกายังคงเป็นปัญหา จำนวนผู้ขาดสารอาหารสูงถึงร้อยละ 22.8 โดยเฉพาะย่านใต้ทะเลทรายซาฮารา (sub-Saharan Africa) สถานการณ์ในเอเชียดีขึ้นมาก ที่ยังเป็นปัญหาคือแถบเอเชียใต้พบผู้ขาดสารอาหารถึงร้อยละ 15 ส่วนกลุ่มลาตินอเมริกา แม้ผู้ขาดอาหารต่ำกว่าร้อยละ 7 แต่ตัวเลขค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น

                ข้อมูลอีกตัวคือความมั่นคงทางอาหาร (มั่นใจว่ามีอาหารอย่างพอเพียง) พบว่าร้อยละ 17.2 หรือ 1,300 ล้านคนที่ยังขาดความมั่นคงระดับปานกลาง (moderate levels) หมายความว่าพวกเขาบางวันกินอิ่มบางวันกินไม่อิ่ม จำยอมหรือถูกบังคับให้ซื้อกินอาหารคุณภาพต่ำ (อาจกินอิ่มแต่อาหารด้อยคุณภาพ เป็นโทษต่อสุขภาพ)

                ถ้ารวมกลุ่มขาดความมั่นคงระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรง (severe levels) จะเท่ากับร้อยละ 26.4 ของประชากรโลก (ราว 1 ใน 4) หรือ 2,000 ล้านคน ประชากรร้อยละ 8 ของประเทศพัฒนาแล้วในอเมริกาเหนือกับยุโรปอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

                ผู้หญิงมักตกอยู่ในความเสี่ยงมากกว่าชาย โดยเฉพาะแถบลาตินอเมริกา มักพบในสังคมที่คนขาดการศึกษา เป็นพวกคนยากไร้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยู่ในสังคมที่ผู้หญิงเข้าถึงอาหารยากกว่าชาย ความไม่เท่าเทียมทางเพศ

                ตรงข้ามกับความหิวโหยคือปัญหาโรคอ้วน (Obesity) ทวีความรุนแรงในหลายประเทศ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตปีละ 4 ล้านคน คนเมืองเป็นโรคอ้วนมากกว่าคนชนเมือง และพบเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนกับผู้ใหญ่ เด็กนักเรียนกินผลไม้กับผักน้อยเกินไป แต่มักบริโภคอาหารจานด่วน (fast food) กับน้ำอัดลมเป็นประจำ ออกกำลังน้อยเกินไป คนเหล่านี้จะประสบปัญหาเสี่ยงหลายโรค เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิต เบาหวาน มะเร็ง ซึมเศร้า ส่งผลเสียทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว ประเทศชาติ

                นโยบายสำคัญที่ควรมีคือส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (ปัจจุบันทารกร้อยละ 40 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่อย่างเพียงพอ)  มีอาหารคุณภาพในราคาที่ซื้อได้ ส่งเสริมการผลิตอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่บริโภคอาหารที่ทำลายสุขภาพ โดยเฉพาะไขมันที่ทำลายสุขภาพ เกลือและน้ำตาล

                ภาวะโภชนาการส่งผลต่ออนาคตของบุคคลนั้น มีผลต่อการเจริญเติบโต ความแข็งแรงของร่างกาย สภาพจิตใจ ระดับสติปัญญา และมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ การสร้างรายได้ของผู้นั้น ด้วยเหตุนี้เองภาวะโภชนาการจึงมีผลต่อเศรษฐกิจระดับประเทศ พบว่าจีดีพีของแอฟริกากับเอเชียต้องลดลงร้อยละ 11 เนื่องจากคนขาดสารอาหาร ในขณะที่โรคอ้วนสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจโลกปีละ 2 ล้านล้านดอลลาร์ จากประสิทธิภาพการทำงานลดต่ำ ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสุขภาพ         ความมั่นคงอาหารไม่ใช่เรื่องเฉพาะปริมาณเท่านั้น รวมถึงคุณภาพอาหารด้วย พูดให้ชัดคือการมีอาหารด้อยคุณภาพหรือทำลายสุขภาพไม่ถือว่ามีความมั่นคงทางอาหาร เพราะแม้กินอิ่ม แต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพไม่ช้าก็เร็ว เป็นอาหารก่อโรค อาจทำให้น้ำหนักเกิน (บางคนเข้าใจผิดคิดว่าดีต่อสุขภาพ ไม่ขาดสารอาหาร) อาหารราคาถูกแต่ก่อโรค ส่วนอาหารดีต่อสุขภาพมีราคาแพงลิบ

                ผู้เชี่ยวชาญกังวลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เกรงว่าจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ประเทศกำลังพัฒนามักจะเห็นผลกระทบเร็ว อ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลง ในช่วงเศรษฐกิจขาลง ภาวะขาดสารอาหารจะเพิ่มขึ้น มีข้อมูลว่าคนจนได้รับผลกระทบมากกว่าผู้มีรายได้ปานกลางถึงร้อยละ 20 (คนจนได้รับผลกระทบเร็วกว่าและมากกว่า)

แนวทางแก้ไข :

                รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้ดำเนินการ 2 ด้าน ด้านแรกคือปกปักษ์รักษาความมั่นคงทางอาหารและสารอาหารด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคม หวังยับยั้งผลจากเศรษฐกิจขาลง ให้ทุนสนับสนุนเครือข่ายทางสังคมที่ทำงานด้านนี้ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ

                ด้านที่สอง ลดความเหลื่อมล้ำความมั่นคงทางอาหาร ภาวะทุพโภชนาการ เป้าหมายคือให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงอาหารคุณภาพในราคาซื้อได้

                ทั้ง 2 ด้านจำต้องอาศัยนโยบายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ขึ้นกับบริบทของแต่ประเทศ

                ในระยะสั้น รัฐบาลต้องปกป้องรายได้และกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีโครงการดูแลโดยเฉพาะ เช่น บัตรแลกซื้ออาหาร การเลี้ยงอาหารที่โรงเรียน ส่งเสริมการจ้างงาน พัฒนาแรงงานให้มีฝีมือต่อเนื่อง มีหลักประกันสุขภาพ

                ในระยะยาว รัฐบาลต้องลงทุนทางเศรษฐกิจที่ลดความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ส่งเสริมการใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพ สวัสดิการสังคม ออกนโยบายที่ส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปฏิรูปโครงสร้างเกษตรกรรมและระบบอาหาร เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอาหารดีมีประโยชน์ ส่งเสริมระบบขนส่งกระจายอาหารให้ทั่วถึง  นโยบายเช่นนี้ต้องเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายลดความเหลื่อมล้ำยากจน

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :

                ส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกระบวนทัศน์ขององค์การสหประชาชาติคือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป้าหมายหนึ่งคือทุกคนต้องได้อาหารอย่างเพียงพอ มีความมั่นคงทางอาหารตามสมควร

                รายงาน The State of Food Security and Nutrition in the World ช่วยให้โลกรับรู้และตระหนักว่ายังมีอีกหลายร้อยล้านคนที่หิวโหย อดยาก หลักความมั่นคงทางอาหารซึ่งไม่ได้หมายความว่ามีกินอย่างเพียงพอเท่านั้น ยังหมายถึงพอเพียงอย่างมีคุณภาพ ไม่กินอาหารก่อโรคหรือทำลายสุขภาพ

                รัฐบาลต้องไม่คิดว่าการดูแลภาวะโภชนาการคือช่วยเหลือคนยากไร้ให้มีกิน ลดความหิวโหยเท่านั้น เพราะการกินอิ่มอาจหมายถึงกินของทำลายสุขภาพจนเต็มท้อง ลองทบทวนอาหารที่กินเข้าไปในแต่ละวัน ของที่วางขายในที่ต่างๆ ที่สายตาเรามองเห็นว่ามีคุณภาพแค่ไหน การดูแลตรวจสอบคุณภาพอาหารเป็นบทบาทหน้าที่ของภาครัฐโดยตรง เศรษฐกิจเสรีไม่ใช่การเปิดโอกาสแก่อาหารด้อยคุณภาพหรืออาหารที่ไม่ควรเรียกว่าเป็นอาหาร การพัฒนาประเทศต้องคำนึงเรื่องเหล่านี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วคือประเทศที่ประชาชนเข้าถึงอาหารมีคุณภาพอย่างพอเพียง

                ด้านประชาชนทุกคนต้องดูแลสุขภาพตัวเอง หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำลายสุขภาพ หลายกรณีเป็นเรื่องทำได้ง่ายๆ เช่น หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม น้ำหวานที่มีปริมาณน้ำตาลสูง การกินเค็มจัด หมั่นศึกษาหาความรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น ไม่คิดว่าควรให้ลูกหลานอ้วนท้วนสมบูรณ์เพราะเด็กจะดูน่ารัก เป็นครอบครัวที่มีกินมีใช้ ช่วยกันส่งต่อความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณรัก.

---------------------

ภาพ : ธงโภชนาการสำหรับคนไทย จากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ

ที่มา : http://www.fao.org/nutrition/education/food-dietary-guidelines/regions/countries/thailand/en/    ---------------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"