พิพิธภัณฑ์และร้านอาหารไทย


เพิ่มเพื่อน    

มุมหนึ่งของจัตุรัสในย่านตลาดโบราณของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเฮสเซนปาร์ก

บนถนนข้างๆ ห้าง Galeria Kaufhof มีร้านอาหารและบาร์ชื่อ Conrad ตั้งอยู่ ผมเข้าไปสั่งเบียร์ Binding ขนาด 0.4 มิลลิลิตร มา 1 แก้ว ราคา 4 ยูโร ให้ทิปพนักงานไป 1 ยูโร แล้วถือมานั่งดื่มที่โต๊ะนอกร้านเพื่อมองความวุ่นวายยามเย็นของนครแฟรงก์เฟิร์ต

อยู่ๆ ลมก็พัดแรง และฝนเริ่มตกลงมา ผมต้องย้ายเข้าไปนั่งในร้านและสั่งเบียร์มาอีกแก้วเพื่อรอเวลา “พี่แก้ว” เพื่อนรุ่นพี่ตามมาสมทบหลังเลิกงาน เธอมาถึงก็สั่งโค้กมาดื่ม 1 ขวด แล้วออกจากร้านเดินเข้าห้าง Geleria Kaufhof เพื่อเลือกซื้อของฝากเพื่อนๆ ที่กรุงเทพฯ และผมนี่เองที่จะต้องเป็นผู้แบกหามไปให้

รุ่นน้องของพี่แก้วคนหนึ่งซึ่งเป็นคนไทยขายน้ำหอมอยู่ในห้าง เธอใช้สถานะพนักงานลดราคาได้หลายยูโร เธอคนนี้ถือ 2 สัญชาติ ในพาสปอร์ตเยอรมันเธอเป็น “นางสาว” เพราะผ่าตัดแปลงเพศเรียบร้อยแล้ว แต่ในพาสปอร์ตไทยเธอยังเป็น “นาย” อยู่เหมือนเดิม

ค่ำนั้นเรากินข้าวที่บ้านของคู่รักชาวไทย “กุ้ง – เก่ง” ที่มาลงหลักปักฐานในแฟรงก์เฟิร์ตได้หลายปีจนมีทายาทเป็น 2 เด็กชาย “เกม – กานต์” ในวัยสิบขวบต้นๆ แต่ตัวโตเกินวัย อาจเพราะอาหารการกินและการออกกำลังกาย เด็กทั้งสองเป็นนักฟุตบอลฝีมือดีของทีมเยาวชน FSV Frankfurt ที่กวาดแชมป์มาทั่วประเทศ รวมถึงรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมในบางรายการ

ผมนัดกับเก่งผู้เป็นพ่อคร่าวๆ ว่าพรุ่งนี้ตอนเย็นจะไปดูสองวัยรุ่นซ้อมบอลที่สนาม

ตั้งใจจะเดินลงรถไฟใต้ดินกลับบ้านอยู่แล้วเชียว พี่แก้วได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนสาวคนหนึ่งของเธอ แจ้งว่ารออยู่ที่ร้านชื่อ Barhundert เราจึงเดินเท้าตามไป

หน้าร้านมีทีวีเก่าๆ, คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้านกองอยู่ระเกะระกะ เห็นฝรั่งสองคนกำลังเลือกของฟรีที่ยังใช้ได้กลับไปบ้าน ผมนับจำนวนคอมพิวเตอร์ได้ถึง 6 ตัว แล้วก็ลองนึกว่าของเก่าแบบนี้ในบ้านเราเขาเอาไปไว้ที่ไหนกันนะ

ภายในร้าน Barhundert มีแสงไฟเพียงสลัวๆ โต๊ะนั่งมีลักษณะคล้ายโซฟา และไม่น่าเชื่อว่ามีที่เขี่ยบุหรี่วางอยู่ด้วย แสดงว่าสามารถสูบบุหรี่แม้จะไม่ใช่ร้านแบบ “เอาต์ดอร์” ทำให้ผมต้องมองมาตรฐานแบบเยอรมันเสียใหม่แล้ว

เพื่อนของพี่แก้วเป็นสาวไทยที่มาอยู่แฟรงก์เฟิร์ตได้นานแล้วเช่นกัน เธอมีใบหน้าสวยหวานอย่างสาวไทยแท้ๆ แต่หน้าอกหน้าใจขนาดมหึมาพี่แก้วบอกว่าเธอลงทุนบินไปเสริมที่คลินิกย่านประตูน้ำเมื่อไม่นานนี้เอง

อาคารด้านหลังคือร้านเบเกอรีในพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเฮสเซนปาร์ก

บริกรหนุ่มหน้าตาดี รูปร่างสูงใหญ่ หมั่นแวะมาที่โต๊ะของพวกเราเหลือเกิน แต่เมื่อเพื่อนของพี่แก้วมีโทรศัพท์เข้ามาแล้วเธอก็ออกจากร้านไปหลังรับโทรศัพท์สายนั้นไม่นาน หนุ่มเดินโต๊ะหน้ามนก็ไม่แวะเวียนมาอีกเลย จนผมต้องเดินไปสั่งเครื่องดื่มด้วยตัวเองที่บาร์เคานต์เตอร์ทั้งที่ก่อนนี้เขาเป็นผู้เดินมารับออร์เดอร์ตลอด

เราออกจากร้านตอนตีหนึ่งนิดๆ เพราะพี่แก้วบอกว่า U Bahn หรือรถไฟใต้ดินเที่ยวสุดท้ายจะมาถึงสถานีใกล้ๆ พวกเราเวลา 01.22 น.

ตื่นขึ้นมาตอนสายๆ วันต่อมา พี่แก้วออกไปทำงานก่อนแล้ว “อูเวอร์ บายน์ลิช” เพื่อนวัยเกือบ 80 ปีของผมส่งข้อความมาบอกว่าจะมารับในเวลา 11 โมงตรง ซึ่งเมื่อวานแกนัดมารับหลังเที่ยง แผนการที่ว่าจะซักผ้าก่อนออกจากบ้านจึงต้องล้มเลิกไป

อูเวอร์ขับรถออกจากแฟรงก์เฟิร์ตไปประมาณ 40 นาที เข้าสู่เมืองนอย–อันสปัค (Neu-Anspach) ซึ่งอยู่ในรัฐเฮสส์ (Hesse) เช่นเดียวกับแฟรงก์เฟิร์ต ก็ถึง “พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเฮสเซนปาร์ค” (Hessenpark Open-air Museum) ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา “เทานุส” (Taunus) เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดมหึมา มีเนื้อที่ถึง 60 เฮคแตร์ หรือเท่ากับ 375 ไร่

ประตูทางเข้าตั้งอยู่ไม่ห่างจากลานจอดรถ อูเวอร์เข้าไปถามหาตู้เอทีเอ็มจากเจ้าหน้าที่ต้อนรับ ปรากฏว่าที่นี่ไม่มีตู้เอทีเอ็ม ทำเอาอูเวอร์หัวเสียเพราะแกมีเศษเหรียญอยู่เพียงไม่กี่ยูโร ไม่พอค่าเข้าชมคนละ 8 ยูโร ผมยื่นเงินให้ แกก็ไม่รับ บอกว่าให้ยืม ก็ยังปฏิเสธ นี่คือตัวอย่างที่ย้ำเตือนว่าไม้แก่ดัดยากและรั้นยิ่งกว่าไม้อ่อน แกมีทางออกของแกว่า “บางส่วนเปิดให้เข้าได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน”

อูเวอร์ บายน์ลิช โผล่ให้เห็นเพียงครึ่งร่างหน้าอาคารที่เป็นส่วนแสดงกล้องถ่ายภาพนิ่งและภาพยนตร์

บริเวณส่วนอาคารหลักที่รายล้อมจัตุรัส มุมหนึ่งของย่านตลาดมีร้านเบเกอรีอยู่ในอาคารไม้โบราณหลังหนึ่ง อูเวอร์สั่งมาเฉพาะที่แกมีเงินพอจ่าย คือขนมปังเพรทเซล 1 ชิ้นและกาแฟ 1 แก้ว ผมสั่งพายชิ้นใหญ่มา 2 ชิ้น และกาแฟ 1 แก้ว รวมราคา 7 ยูโร และขอให้แกช่วยกิน แกยอมกินเพราะร่างกายต้องการน้ำตาล เสร็จมื้อเช้าแล้วก็ออกไปท่องพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง โดยพวกเราเดินเข้าออกอาคารหลักเกือบทุกหลัง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มเปิดให้บริการในปี ค.ศ. 1974 แบ่งพื้นที่ออกเป็นหลายส่วน มีอาคารบ้านเรือนที่ทำด้วยไม้ประมาณ 100 หลัง ซึ่งล้วนนำมาจากสถานที่ต่างๆ ในรัฐเฮสส์ หลังที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุถึงราว 400 ปี เจ้าหน้าที่ทำการแยกร่างขนย้ายแล้วนำมาประกอบให้เป็นเหมือนเดิม กลายเป็นเมืองไม้ที่เปี่ยมสีสันและมีเสน่ห์อย่างมาก

สถานที่สำคัญภายในพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ โรงเรียน, โรงละคร, โบสถ์คริสต์, โบสถ์ยิว,ที่ทำการไปรษณีย์, โรงนา, กังหันน้ำ, กังหันลม, เตาเผาถ่าน, เหมืองแร่ ฯลฯ และจุดที่เป็นเหมือนศูนย์กลาง ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากที่สุดก็คือย่านตลาดที่มีอาคารเก่าแก่ตั้งอยู่รอบจัตุรัส ที่เรามีสิทธิชมแม้ว่าจะไม่ได้จ่ายค่าเข้า (ผมยังไม่มั่นใจว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือเจ้าหน้าที่ยอมให้เฉพาะกรณีของอูเวอร์ ?)

ภายในอาคารแต่ละหลังมีการแสดงสิ่งของโบราณอย่างเป็นระบบ อาทิ ประวัติศาสตร์การสื่อสารโทรคมนาคม, วิวัฒนาการของวิทยุและโทรทัศน์, นาฬิกา, กล้องถ่ายภาพนิ่งและภาพยนตร์,โรงพิมพ์, โรงหล่อเหล็ก, ร้านทำทอง, ร้านขายยา, ร้านขายของชำ, ร้านขายภาพเขียนและของตกแต่งบ้าน, ร้านไม้กวาดหลากหลายชนิด, ร้านขายเครื่องเทศ และ ร้านเบเกอรี่

 ถนนโบราณในเมืองโบราณ​​​​​​​

ที่พิพิธภัณฑ์กล้องถ่ายภาพ อูเวอร์ได้แนะนำให้ผมรู้จักกับคุณป้าคนหนึ่งซึ่งเป็นช่างภาพและนักสะสมกล้องเหมือนเช่นอูเวอร์ คุณป้าเล่าว่าชอบเดินทางท่องเที่ยวกับสามี โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและชอบเมืองไทยมากเป็นพิเศษ แต่สามีได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อไม่กี่ปีก่อน ขณะนี้แกกำลังทำรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับกล้องถ่ายภาพทั้งภาพนิ่งและภาพยนตร์ให้กับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้โดยมีลุงผู้เชี่ยวชาญด้านกล้องอีกคนหนึ่งจากสหรัฐอเมริกามาช่วยงานด้วย คุณป้าบอกว่ามีกล้องที่เก็บไว้ในชั้นใต้ดินอีกเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถนำขึ้นมาจัดแสดงได้หมด และไม่สามารถเก็บมาใส่เพิ่มในห้องใต้ดินได้อีกแล้ว

ระหว่างที่ผมคุยอยู่กับคุณป้า อูเวอร์ก็แสดงอาการตกอกตกใจขึ้น ได้ความว่าโทรศัพท์มือถือหายและสงสัยว่าจะลืมไว้ในร้านเบเกอรี ผมจึงผละจากคุณป้าเดินตามอูเวอร์ลงไป

ไม่มีโทรศัพท์ในร้านเบเกอรี กลับขึ้นไปหาในอาคารพิพิธภัณฑ์กล้องก็ไม่เจอ ผมได้โอกาสลาสองอาวุโสผู้เชี่ยวชาญด้านกล้อง แล้วเดินตามอูเวอร์ลงไปอีกครั้ง และตั้งคำถามว่า “ไอว่ายูไม่ได้เอามือถือออกมาจากรถตั้งแต่แรก ?”

แกไม่คิดอย่างนั้นแต่ก็เดินกลับไปที่รถโดยให้ผมนั่งรอแถวๆ จัตุรัส จึงถือโอกาสโทรศัพท์แจ้งเก่งว่าวันนี้คงไปดูสองวัยรุ่นซ้อมบอลไม่ทัน สักพักก็มีโทรศัพท์เข้ามาหาผม

“มันอยู่ในรถจริงๆ แหละ” อูเวอร์พูดจากปลายสาย

อาคารอายุหลายร้อยปีที่ต้องมีการถอดร่างขนย้ายแล้วนำมาประกอบให้เป็นเหมือนเดิม​​​​​​​

พิพิธภัณฑ์ Hessenpark แห่งนี้ เปิดให้บริการตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น แต่สำหรับช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์จะเปิดเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่าง 10 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น สาเหตุที่เปิดไม่กี่วันคงเนื่องมาจากอากาศที่หนาวเย็นเกินไป

อูเวอร์ชวนออกจากพิพิธภัณฑ์เพื่อไปหาอาหารหวานๆ กิน เพราะยารักษาโรคเบาหวานของแกทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แต่แกก็ยังไม่ยอมใช้เงินของผม ขับรถหาตู้เอทีเอ็มอยู่นาน เมื่อกดเงินได้แล้วก็ขับอย่างเร็วมุ่งไปที่ร้านแมคโดนัลด์เพื่อสั่งไอศกรีมและสไปรท์

“ถ้าช้ากว่านี้อีก 3 นาที ไอคงเท่งทึง” อูเวอร์พูดเสียงกระเส่าด้วยอาการเหนื่อยหอบ

ผมถือโอกาสกินมื้อเที่ยงไปด้วยเลย จากนั้นอูเวอร์ก็ขับรถไปที่บ้านซึ่งอยู่ระหว่างทางกลับแฟรงก์เฟิร์ต แกอยู่คนเดียวแต่ข้าวของเต็มไปหมดแม้ว่ากล้องถ่ายรูปที่สะสมไว้จะถ่ายโอนไปให้ “เจษฎาเทคนิคมิวเซียม” ที่เมืองไทยหมดแล้ว

แกทำธุระเสร็จก็ขับรถกลับเข้าแฟรงก์เฟิร์ตไปรับพี่แก้วซึ่งไม่เคยรู้จักกัน แต่เมื่อรู้ว่าเป็นเพื่อนของผมแกก็อยากรู้จักขึ้นมา แล้วก็ขับรถออกไปยังเมืองโอบาเออเซล์ (Oberursel) ซึ่งเป็นอีกเมืองที่ตั้งอยู่ระหว่างพิพิธภัณฑ์เฮสเซนปาร์กและแฟรงก์เฟิร์ต ที่หมายคือร้านอาหารไทยชื่อ Sabai Sabai (สบายสบาย) ตั้งอยู่บนถนน Eppsteiner เลขที่ 1 จุดตัดกับถนน Neutorallee มีเพื่อนอูเวอร์อีกคนรออยู่

แกแนะนำว่า “เพื่อนของไอ ไม่ค่อยมีคนชื่อนี้ นี่คืออูเวอร์”

ร้านอาหารในพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเฮสเซนปาร์ก สงสัยจังว่ารถยนต์คันนั้นเข้ามาได้อย่างไร

“สามีเก่าของไอก็ชื่ออูเวอร์ค่ะ” พี่แก้วยื่นมือไปให้มิสเตอร์อูเวอร์จับ

ร้าน Sabai Sabai จัดร้านแบบไทยดั้งเดิมด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้และของตกแต่งที่สื่อถึงพุทธศาสนาและความเป็นชาติไทยซึ่งนำไปจากเมืองไทยแทบทั้งสิ้น มองแล้วรู้สึกว่ามีความเป็นไทยจ๋ามากกว่าร้านอาหารไทยในเมืองไทยเสียอีก

รสชาติอาหารก็มีความเป็นไทยแท้ๆ ไม่ประนีประนอมเพื่อให้เข้ากับลิ้นฝรั่งเหมือนอย่างร้านอาหารไทยต่างแดนส่วนใหญ่ ยิ่งเพลงลูกทุ่งที่เปิดคลอ นำขบวนมาโดยชาตรี ศรีชล, ยอดรัก สลักใจ, ศรเพชร ศรสุพรรณ, ยิ่งยง ยอดบัวงาม ก็ทำให้เหมือนว่านั่งกินอยู่ที่ไหนสักแห่งในประเทศไทยนี่เอง

เมื่ออิ่มกันแล้วขณะที่อูเวอร์เรียกเก็บเงิน เราก็ได้พบกับเจ้าของร้าน “พี่ป้อม” ชายวัยกลางคนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช เคยเปิดร้านในแฟรงก์เฟิร์ตมาก่อน แต่แม้ว่าจะย้ายออกมานอกเมืองขนาดนี้ก็ยังมีลูกค้าทั้งคนไทยและฝรั่งตามมากิน ที่เป็นข้าราชการและนักการเมืองไทยหากมีธุระบินมาที่แฟรงก์เฟิร์ตก็ล้วนต้องเดินทางต่อมายังร้าน “สบายสบาย” เพราะว่าคนไทยส่วนใหญ่นั้นมีชีวิตอยู่ได้ไม่กี่วันโดยที่ไม่กินอาหารไทย

พี่ป้อมยังทำให้ผมแปลกใจ แกเอ่ยขึ้นว่าเป็นแฟนตัวยงของ “ป๋าเปลว สีเงิน” และยังติดตามข่าวสารจากเมืองไทยผ่านไทยโพสต์ออนไลน์อีกด้วย

ก่อนกล่าวคำลากัน พี่ป้อมยื่นนามบัตรให้ผม ระบุข้อความเป็นภาษาเยอรมัน แปลเป็นไทยได้ว่า “ครัวไทย สบายสบาย - ค็อกเทล & ซัมเมอร์เทอร์เรซ – วัตถุดิบสดใหม่และไม่ใส่ผงชูรส”.

การตกแต่งที่สื่อถึงสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ภายในร้าน Sabai Sabai Thai Cuisine


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"