กำลังแก้ปัญหาอยู่! ‘ประยุทธ์’ดิ้นปมถวายสัตย์ฯไม่ครบ/ผู้ตรวจรับเรื่องไว้วินิจฉัย


เพิ่มเพื่อน    

 “ประยุทธ์” พลิก! บอกกำลังแก้ปัญหาเรื่องถวายสัตย์ฯ อยู่ แม้ทำครบถ้วนแล้ว ฝ่ายค้านเลื่อนกระทู้สดหวัง “บิ๊กตู่” มาตอบเอง ผู้ตรวจการฯ รับคดีแล้ว ชี้จะเร่งทำให้เร็วที่สุด แต่ยังไม่ชัดจะส่งศาลไหนตัดสิน นายกฯ เผยเรื่องเร่งด่วนแก้ปากท้อง-เศรษฐกิจ ส่วนรื้อรัฐธรรมนูญต้องดูทำเพื่อประโยชน์ใคร “เพื่อไทย” กางพิมพ์เขียวชำเรา รธน. ร่างใหม่ทั้งฉบับ! 200 ส.ส.ร.ห้ามมีชื่อ "กรธ.-แม่น้ำ 5 สาย" ยังมึนดึง ส.ว.มาร่วม   

เมื่อวันอังคารที่ 6 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมตั้งกระทู้ถามสดกรณีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ว่ากำลังพยายามแก้ไขปัญหาอยู่ แต่ยืนยันว่าได้ทำครบถ้วน และเรื่องดังกล่าวก็คงต้องว่ากันต่อไป 
เมื่อซักว่า ที่กำลังหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นหาทางอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “ก็กำลังหาทาง ไม่รู้จักคำว่าหาทางหรืออย่างไร เอาละ เรื่องนี้ผมจะทำของผมเอง”
    ถามต่อว่า จะชี้แจงในสภาด้วยตัวเองหรือไม่  พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าให้ชี้แจงในวันที่ 7 ส.ค.นี้ คงไปไม่ได้ เพราะจะเดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการที่ภาคใต้ คงรอไปก่อน เพราะเรื่องบางเรื่องต้องฟังเหตุฟังผลกันบ้าง ถ้าเอาทุกอย่างมาผูกกันหมดก็จะแก้ไขปัญหาไม่ได้ ขอให้ไว้ใจตนเอง เชื่อว่าทำได้ และต้องทำให้ได้
    ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า ยังไม่ลงตัวที่จะยื่นกระทู้ถาม เพราะมีข้อมูลว่านายกฯ จะไม่มาตอบด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงทบทวนกันว่าอาจไปยื่นกระทู้ถามนายกฯ ในสัปดาห์ เพราะต้องการให้นายกฯ มาตอบด้วยตัวเอง 
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท. ในฐานะวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันชัดเจน จะนำเรื่องดังกล่าวไปตั้งกระทู้ถามสดในสภา ส่วนท่าทีของวิปรัฐบาลไม่อยากให้ดำเนินการ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่นั้น คือความพยายามหลบเลี่ยงหรือหนีปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลหรือไม่ จริงๆ แล้วการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมีทางออก สิ่งที่ทำมาไม่ครบถ้วนไม่ถูกต้องก็กลับไปทำให้ครบถ้วนและถูกต้อง พรรค พท.และพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ต้องการนำประเด็นนี้มาขยายความเพื่อล้มรัฐบาล เพียงแต่เป็นการแนะนำด้วยความหวังดี
    ส่วนนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติรับคำร้องที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้พิจารณาและส่งเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองวินิจฉัยว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนแล้ว และได้สั่งให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานฯ เร่งตรวจสอบทั้งประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเพื่อเสนอให้ที่ประชุมผู้ตรวจฯ พิจารณา
    "ที่ประชุมยังไม่มีแนวทางว่าหากสรุปเรื่องแล้วจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองพิจารณา เพราะต้องรอการรวบรวมประเด็นข้อเท็จจริงประเด็นข้อกฎหมายจากทางฝ่ายกฎหมายก่อน รวมทั้งอาจต้องพิจารณาว่าต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงด้วยหรือไม่ แต่ยืนยันว่าผู้ตรวจจะเร่งพิจารณาเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญและสังคมให้ความสนใจ" นายรักษเกชากล่าว
    มีรายงานว่า ในวันที่ 7 ส.ค. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ก็จะยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 49 ในประเด็นดังกล่าวด้วย 
    ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เดินสายรณรงค์แก้ไขธรรมนูญว่า เรื่องดังกล่าวคงต้องมาศึกษาประเด็นที่จะแก้ไขก่อน ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ในนโยบายรัฐบาลแล้วว่าสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนต่างๆ โดยต้องดูว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นแก้เพื่ออะไร แก้เพื่อใคร และประชาชนจะได้ประโยชน์หรือไม่ เพราะเรื่องเร่งด่วนกว่านี้คือการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนและปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
    ส่วนนายวัฒนา เมืองสุข กรรมการยุทธศาสตร์ พรรค พท. กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาล เพราะเป็นคนละส่วนกัน เนื่องจากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของสภา โดยพรรคจะเปิดเว็บไซต์และใช้สื่อโซเชียลมีเดียให้ประชาชนเข้ามาร่วมสนับสนุนกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรณรงค์ผ่านเวทีต่างๆ ทั่วประเทศ
    นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านนโยบายและแผน พรรค พท. กล่าวว่า พรรคได้รับมอบหมายจากพรรคร่วมฝ่ายค้านในการพิจารณาเนื้อหาเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในส่วนของพรรคมีความเห็นว่าจะใช้รูปแบบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มเติมหมวดว่าด้วยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้ามาดำเนินการ สำหรับสัดส่วนของ ส.ส.ร. จะมีประมาณ 200 คน แบ่งไปตามจังหวัดต่างๆ โดยสัดส่วนของสมาชิก ส.ส.ร.ต่อจำนวนประชากรนั้น ใช้รูปแบบด้วยการเอาจำนวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นตัวตั้งและเอาตัวเลข 200 ไปหาร ซึ่งจะได้สัดส่วนของ ส.ส.ร.ต่อจำนวนประชากร เมื่อได้ ส.ส.ร.แล้วต้องยกร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 240 วัน ที่สำคัญในขั้นตอนของการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหนึ่งคณะจำนวน 29 คน แบ่งเป็น ส.ส.ร. 15 คน ส่วนอีก 14 คน จะมาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ 5 คน, รัฐประศาสนศาสตร์ 5 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 4 คน โดยภายหลังคณะ กมธ.ยกร่างฯ ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ ส.ส.ร.ให้ความเห็นชอบ
    "ถ้า ส.ส.ร.เห็นชอบ ขั้นตอนต่อไปคือการกลับไปหาประชาชนอีกที เพื่อให้ประชาชนลงมติว่าจะเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าประชาชนให้ความเห็นชอบ ก็กราบบังคมทูลฯ ต่อไป" นายโภคินกล่าว
    นายโภคินกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ควรออกแบบใหม่ทั้งฉบับ ไม่ใช่แก้ไขเป็นรายมาตรา เพราะการแก้ไขเป็นรายมาตราเป็นไปได้ยาก อีกทั้งการแก้ไขประเด็นใดประเด็นหนึ่งก็อาจไม่สอดคล้องกันทั้งหมด ซึ่งแนวทางนี้พรรคเพื่อไทยจะเสนอต่อพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อไป โดยคุณสมบัติของ ส.ส.ร.นั้นเบื้องต้นจะมีลักษณะคล้ายคุณสมบัติและลักษณะต้องของผู้สมัคร ส.ส. แต่จะห้ามผู้ที่เคยยกร่างรัฐธรรมนูญและแม่น้ำ 5 สาย ที่ยังพ้นจากตำแหน่งไม่ถึง 5 ปี เข้ามาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ประชาชนจะเป็นคนกำหนดชะตากรรมของเขาเองตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
    เมื่อถามว่า พรรคฝ่ายค้านจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาในสมัยประชุมนี้ใช่หรือไม่ นายโภคินกล่าวว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมาจาก 3 ทาง ได้แก่ 1.คณะรัฐมนตรี 2.สมาชิกรัฐสภา และ 3.ประชาชนเข้าชื่อจำนวน 5 หมื่นคน ซึ่งในส่วนของพรรคมีสิทธิยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามสมาชิกรัฐสภา
    ถามว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2560 จำเป็นต้องใช้เสียง ส.ว.เห็นชอบด้วย พรรค พท.จะมีวิธีการให้ ส.ว.เห็นด้วย นายโภคินยอมรับว่า ตรงนี้ไปว่ากันอีกครั้งหนึ่ง เพราะตอนนี้สิ่งที่เราจะทำ คือ การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐสภาได้พิจารณาอย่างไร ส่วนจะมีความเป็นไปได้ที่จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสมัยประชุมนี้หรือไม่นั้น พรรคจะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยหากพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าเหมาะสม ก็สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสมัยประชุมนี้ได้ทันทีต่อไป
บิ๊กป้อมคุม 3 จว.ชายแดนใต้
    วันเดียวกัน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 168 /2562 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ดังนี้ พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการเขตตรวจราชการที่ 1 ของสำนักนายกฯ ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดชัยนาท, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, สระบุรี, สิงห์บุรี และอ่างทอง, เขตตรวจราชการที่ 7 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส, ปัตตานี และยะลา, เขตตรวจราชการที่ 13 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย จังหวัดชัยภูมิ, นครราชสีมา, บุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์, เขตตรวจราชการที่ 16 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย เชียงราย, น่าน, พะเยา และแพร่
    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการเขตตรวจราชการที่ 2 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคกลางปริมณฑล ประกอบด้วย นนทบุรี, ปทุมธานี, นครปฐม และสมุทรปราการ, เขตตรวจราชการที่ 8  ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง, เขตตรวจราชการที่ 12 ได้แก่ กลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ประกอบด้วย กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, มหาสารคาม และร้อยเอ็ด, เขตตรวจราชการที่ 17 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย ตาก, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, สุโขทัย และอุตรดิตถ์
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการเขตตรวจราชการที่ 4 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร, เขตตรวจราชการที่ 5 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย ชุมพร, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, สุราษฎร์ธานี และสงขลา, เขตตรวจราชการที่ 10 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย บึงกาฬ, เลย, หนองคาย, หนองบัวลำภู และอุดรธานี, เขตตรวจราชการที่ 18 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย กำแพงเพชร, นครสวรรค์, พิจิตร และอุทัยธานี
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการเขตตรวจราชการที่ 6 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย กระบี่, ตรัง, พังงา, ภูเก็ต, ระนอง และสตูล, เขตตรวจราชการที่ 9 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2 ประกอบด้วย จันทบุรี, ตราด, นครนายก, ปราจีนบุรี และสระแก้ว, เขตตรวจราชการที่ 14 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย ยโสธร, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ  และอุบลราชธานี
     และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการเขตตรวจราชการที่ 3 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ประกอบด้วย กาญจนบุรี, ราชบุรี และสุพรรณบุรี, เขตตรวจราชการที่ 11 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย นครพนม, มุกดาหาร และสกลนคร, เขตตรวจราชการที่ 15 ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง และลำพูน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.เป็นต้นไป.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"