กนง.ลดดอกเบี้ย0.25% แห่เข้าหารือผู้ว่าฯธปท.


เพิ่มเพื่อน    

  หักปากกาเซียน! กนง.เสียงแตกสั่งลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี ครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังประเมินเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าคาด ส่งออกสาหัส ห่วงบาทแข็งกระทบรุนแรง พร้อมจับตาสงครามการค้า-ออกมาตรการคุมค่าเงิน กกร.ชี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกระทบไทย วอนรัฐออกมาตรการ ด้าน ส.อ.ท.-สภาหอฯ เตรียมตบเท้าหารือ ธปท.หาแนวทางดูแลเงินบาท สงครามการค้าระอุ     

     เมื่อวันพุธ นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 7 ส.ค.2562 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.75% ต่อปี เป็น 1.50% ต่อปี และจะมีผลทันที ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปี  จากที่เคยมีการปรับขึ้นในช่วงเดือน เม.ย.2558 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากภาคส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ตามเศรษฐกิจคู่ค้า และปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น
     ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งต่อไป จะมีการทบทวนและประกาศตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจใหม่ โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้เดิม ขณะที่การส่งออกที่เคยประมาณการไว้ว่าจะขยายตัวได้ 0% ในระยะต่อไป ก็มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด เมื่อพิจารณาจากปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบที่เริ่มชะลอตัว
     “กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนกรรมการ 2 ท่านเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยในภาวะที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว อาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากนัก รวมทั้งยังมีความจำเป็นที่ต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต”
     นายทิตนันทิ์กล่าวต่อว่า ในภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือน นอกภาคเกษตรและการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ตามการลงทุนภาครัฐ
     ทั้งนี้ กนง.จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้น แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งจะติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่และการใช้จ่ายภาครัฐ ความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
สงครามการค้ากระทบไทย
    นอกจากนี้ ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน คณะกรรมการฯ ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในสภาวะที่การกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้น จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม ส่วนระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต เช่น การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
     "กนง.ยังจำเป็นต้องใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ยิ่งต้องมีบทบาทมากขึ้น ในการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน" นายทิตนันทิ์กล่าว
     ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังต้องเผชิญความท้าทายจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่มีความเสี่ยงจะรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทที่สร้างแรงกดดันต่อทิศทางเศรษฐกิจให้มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดย กกร.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2562 ขยายตัวต่ำกว่าไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.8% เห็นได้จากเครื่องเศรษฐกิจไทยทั้งการส่งออกและการใช้จ่ายในประเทศมีสัญญาณที่อ่อนแรงลงต่อเนื่อง
    นอกจากผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่เตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ต่อสินค้าจีนวงเงิน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ และจีนได้ปรับค่าเงินหยวนอ่อนค่าหลุดระดับ 7 หยวนต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 11 ปี จะมีความเสี่ยงรุนแรงมากขึ้น ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแกว่งตัวผันผวนและอาจแข็งค่าขึ้นอีก จากที่ผ่านมาตั้งต้นปีเงินบาทของไทยแข็งค่าแล้ว 5.9% และแข็งค่าที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เป็นแรงกดดันที่ไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้
     “ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต้องหวังพึ่งพาการใช้จ่ายภายในประเทศ การออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในระยะสั้นจากภาครัฐเพื่อเรียกความเชื่อมั่นภาคเอกชน รวมถึงบรรเทาผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ขณะนี้ยังไม่ได้ประเมินภาพเศรษฐกิจที่เลวร้ายสุด ขอเวลาติดตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัยทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดภายใน 3 เดือน เพื่อประเมินทิศทางการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยอีกครั้ง โดยยอมรับว่าหากเหตุการณ์รุนแรงกว่าที่คาดไว้ การส่งออกที่คาดว่าจะติดลบ 1% อาจจะยืนไม่อยู่” นายปรีดีกล่าว
    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กกร.ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ทั้งปีคาดโตอยู่ที่ 2.9-3.3% จากปีก่อนโต 4.1% การส่งออกคาดติดลบ 1% หรือขยายตัวได้เพียง 1% จากปีก่อนโต 6.9% เงินเฟ้อคาดโต 0.8-1-2%
ตบเท้าเข้าพบผู้ว่าฯ ธปท.
    ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ช่วงเย็นวันที่ 8 ส.ค.นี้ ส.อ.ท.มีกำหนดการเข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อหารือถึงแนวทางการดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในขณะนี้ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย รวมถึงแนวทางผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขายกันเองในภูมิภาค เพื่อลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน
    “ภาคเอกชนเห็นว่าแนวทางที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง รัฐบาลต้องหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลาง โดยเน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศเป็นหลักเพื่อให้เกิดการใช้จ่าย จะเป็นรูปแบบใดก็ได้ รวมถึงมาตรการทางภาษีให้เกิดประโยชน์โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและภาคอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งต้องการให้ภาครัฐเร่งผลักดันการอำนวยความสะดวกในการลงทุนเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ” นายสุพันธุ์กล่าว
     สำหรับปัญหาการเมืองในประเทศหลังเกิดเหตุระเบิดกลางเมือง ขณะนี้รัฐบาลสามารถจับผู้กระทำความผิดได้แล้ว จึงส่งผลดีต่อการสร้างภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นในชาวต่างชาติ โดยมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการสร้างสถานการณ์ระยะสั้น
    นายสุพันธุ์กล่าวถึงกรณีที่ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ว่ารู้สึกเซอร์ไพรส์ และถือเป็นการลดแรงกดดันค่าเงินบาท แต่ก็อยากให้ ธปท.หามาตรการอื่นๆ ดูแลการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่าประเทศอื่นด้วย จากที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในภูมิภาคถึง 5.9% ซึ่งขณะนี้การดูแลค่าเงินถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องรับมือสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งขณะนี้กลายเป็นสงครามค้าเงินแล้ว เพราะฉะนั้นไทยจึงต้องหาแนวทางรับมืออย่างใกล้ชิด ส่วนการปรับลด 0.25% น้อยไปหรือไม่นั้น ตอนนี้ได้ระดับนี้ ถือว่าเป็นก้าวแรกแล้ว ก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป
    นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนและสหรัฐยังคลุมเครือ สภาหอฯ มีกำหนดการเข้าพบกับ ธปท.เช่นกันช่วงบ่ายของวันที่ 8 ส.ค.นี้ และในนามคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ชุดเล็ก มีกำหนดการเข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ วันที่ 14 ส.ค.นี้ เพื่อหาแนวทางกระตุ้นการส่งออกและการค้าชายแดนด้วย    
    นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 ส.ค.62 เวลา 15.15 น. จะเดินไปพบผู้ว่าฯ ธปท. เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางช่วยเหลือผู้ส่งออกไทยที่ขณะนี้ประสบปัญหาเงินบาทแข็งค่า ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยการหารือจะทำให้ทราบถึงแนวทางช่วยเหลือที่ไม่ผิดกฎหมายว่า ประเทศไทยแทรกแซงค่าเงินบาท เนื่องจากสหรัฐในช่วงที่ผ่านมามีการออกมาระบุว่า ประเทศจีนมีการแทรกแซงค่าเงินหยวนมาแล้ว ทั้งนี้ ทราบดีว่า ธปท.เป็นหน่วยงานอิสระ มีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงินของประเทศ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"