'สุริยะ'ชงครม.โยกเงินกองทุนเอสเอ็มอี3พันล้านบ.ช่วยบริษัทเล็ก


เพิ่มเพื่อน    

"สุริยะ"ชงครม.โยกเงินกองทุนเอสเอ็มอี3พันล้านบ.ช่วยรายจิ๋ว วงในเผยผลดำเนินการหลุดเป้าหมาย-ผู้ประกอบการสภาพคล่องดีกั๊กเงินไม่ยอมเบิกจริง​

12 ส.ค. 2562 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนทำได้ใน 100 วันว่า ได้รับรายงานว่าปัจจุบันกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 10,000 ล้านบาท สำหรับเอสเอ็มอีที่ไม่มีปัญหาสภาพคล่องจึงต้องการเพิ่มศักยภาพ เสริมเทคโนโลยี และเพิ่มผลผลิต วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท และ 8,000 ล้านบาท สำหรับเอสเอ็มอี-คนตัวเล็ก(ไมโครเอสเอ็มอี) ที่ต้องการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพธุรกิจ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย เริ่มปล่อยกู้มาตั้งแต่ต้นปี 2560 

ปัจจุบันกองแรกมีเงินเหลือค้างรวมกับเงินที่ลูกหนี้จะชำระคืน ประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาท ขณะที่กองสองวงเงินใกล้เต็มแล้ว กระทรวงจึงเตรียมโยกเงินที่มีอยู่มาใส่ในกองทุนเอสเอ็มอี-คนตัวเล็ก โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ คาดว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีประมาณ 5,000 ราย​

"นโยบายเร่งด่วนขณะนี้คือการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ดังนั้นต้องพยายามทะลวงเงินของกองทุนฯออกมาหลังติดขัดจากขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ เพราะจากการศึกษาสถานการณ์เอสเอ็มอีล่าสุดพบว่าประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว"นายสุริยะกล่าว​

รายงานข่าวจากคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ(กอป.) กล่าวว่า กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 เป็นกองทุนภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน 2558 คิดดอกเบี้ยในอัตรา 1%ต่อปี ปลอดเงินต้น 3 ปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 7 ปี วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท แบ่งการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเป็น 3 ส่วน คือ 1.กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับเอสเอ็มอีที่ไม่มีปัญหาสภาพคล่องจึงต้องการเพิ่มศักยภาพ เสริมเทคโนโลยี และเพิ่มผลผลิต วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท ปัจจุบันอนุมัติสินเชื่อแล้ว 7,372 ล้านบาท จำนวน 1,768 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา 3,420 ล้านบาท จำนวน 543 ราย เบิกจ่ายแล้ว 5,981 ล้านบาท หรือคิดเป็น 81% จำนวน 1,648 ราย วงเงินคงเหลือ 1,154 ล้านบาท​

2.กองทุนฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับไมโครเอสเอ็มอี วงเงิน 8,000 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 7,998 ล้านบาท จำนวน 8,725 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา 38 ล้านบาท จำนวน 38 ราย และเบิกจ่ายแล้ว 7,930 ล้านบาท หรือคิดเป็น 99% จำนวน 8,693 ราย 3.งบประมาณเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเอสเอ็มอี วงเงิน 1,000 ล้านบาท สำหรับดำเนินกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การพัฒนาเอสเอ็มอีสู่อี-คอมเมิร์ซ เบิกจ่ายแล้ว 272 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 729 ล้านบาท เป้าหมายช่วยเหลือผู้ประกอบการ 3,196 ล้านบาท ดำเนินการแล้ว 2,502 กิจการ และ4.งบประมาณเพื่อบริหารกองทุน จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารเงินกู้ยืมให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ อัตรา 0.5-1% ของวงเงินกู้ยืม และใช้สำหรับจ้างบุคลากร ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการบริหารงานของสำนักงานกองทุน คาดว่ามีการใช้จ่ายไปไม่เกิน 500 ล้านบาท​

"จากสถานะการปล่อยกู้จะพบว่าตัวกองทุนฯวงเงิน 10,000 ล้านบาท ที่เบิกจ่ายเพียง 81% หากผู้ยื่นกู้ไม่มีการเบิกวงเงินภายในเวลาที่กำหนดควรระงับการปล่อยกู้และนำเงินที่้เหลือมาปล่อยกู้ให้กับไมโครเอสเอ็มอีแทน เพราะจะเข้าถึงรากหญ้ามากกว่าเอสเอ็มอีรายใหญ่ เพราะจากสถิติก็เห็นชัดเจนว่าไมโครเอสเอ็มอีมีการเบิกเงินกู้รวดเร็วจนเต็มวงเงิน 8,000 ล้านบาท ซึ่งแนวทางนี้นายสุริยะเห็นด้วย และเตรียมเสนอครม. จึงต้องติดตามว่าจะได้รับความเห็นชอบหรือไม่"รายงานข่าวระบุ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"