จับประเด็นเบื้องหลัง 'เซอร์ไพรส์' ลดดอกเบี้ย


เพิ่มเพื่อน    

    มติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี จากที่อยู่ 1.75% ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2562 ถือว่าเป็นเรื่องสร้าง “เซอร์ไพรส์” พอสมควร
    บางคนถึงกับบอกว่าเป็นการ “หักดิบ” กันเลยทีเดียว
    นักวิเคราะห์มองทันทีว่า การตัดสินใจลดดอกเบี้ยครั้งนี้ เพราะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เพราะ
    เดิมวางไว้ 3.3% แต่พอเห็นตัวเลขภาคส่งออกก็ค่อนข้างจะน่ากลัว
    เพราะตัวเลขภาคส่งออกในครึ่งปีแรกติดลบ 4.1%  
    และภาพตลอดทั้งปีดูไม่มีความหวังมากนัก โดยเฉพาะท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงง่ายๆ
    ตัวเลขการท่องเที่ยวก็ส่อไปในทางร้าย เพราะเมื่อจีนถูกกระทบโดยสงครามการค้า และประกาศปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนอ่อนลงอย่างมีนัยสำคัญ แตะที่อัตรา 7 หยวนต่อเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ก็ยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวจีนต้องทบทวนแผนการเดินทางท่องเที่ยว
    ภาคการลงทุนก็ไม่มีข่าวดี อาจจะหดตัวด้วยซ้ำ ส่วนการบริโภคก็ตกอยู่ในสภาวะซบเซา 
    ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังเติบโตชะลอลงอยู่ที่ 4.7%  
    มีการมองกันว่าการลดดอกเบี้ยอาจช่วยลดแรงกดดันของค่าเงินบาทที่แข็งรวดเร็วจนกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในหมู่ผู้ส่งออก
    ว่ากันว่าการประชุม กนง.รอบเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็เพราะต้องการจะสกัดนักลงทุนต่างชาติที่ขนเงินร้อนเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทยด้วย 
    นั่นย่อมมีผลทำให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าราว 5.5% 
    แบงก์ชาติก็พยายามใช้มาตรการต่างๆ เช่น ล่าสุดมีคำสั่งลดวงเงินการถือสกุลเงินบาทของบัญชีเงินฝากสำหรับผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ (ต่างชาติ) 
    แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดการแข็งค่าของเงินบาทได้ ยังแข็งค่ามาอยู่ที่ราว 30.50 บาท/ดอลลาร์
    ผลที่เห็นเฉพาะหน้าก็คือ การลดดอกเบี้ยนั้นมีผลทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวเพียงเล็กน้อย แม้เงินต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้แล้วก็ตาม
    ต้องจับตาว่ารัฐบาลไทยจะมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อประคองสถานการณ์ไม่ให้เสื่อมทรุดมากไปกว่านี้
    รัฐมนตรีคลัง อุตตม สาวนายน บอกแล้วว่า เตรียมประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
    เชื่อได้ว่าธนาคารพาณิชย์คงเริ่มลดดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ เพราะช่วงที่ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% เมื่อปลายปีที่แล้ว ธนาคารต่างๆ ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยฝากและดอกเบี้ยกู้อย่างพร้อมเพรียง  
    อีกด้านหนึ่ง ถ้ามีการลดดอกเบี้ยฝากอีก ก็จะกระทบต่อผู้ฝากเงินแน่นอน 
    รอดูว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายจะขยับลดดอกเบี้ยทั้งสองข้างอย่างไร และผลที่ตามมาจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 และ 4 อย่างไร
    อีกทั้งผลที่ตามมาจะกระทบรัฐบาลประยุทธ์ 2 อย่างไร
    สรุปได้ว่าการตัดสินใจลดดอกเบี้ยของ กนง. ที่สร้างความประหลาดใจให้กับหลายวงการนั้นเป็นความพยายามจะกระตุ้นเศรษฐกิจ และอาจจะหวังว่าจะมีผลทำให้เงินบาทอ่อนตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับเงินสกุลของเพื่อนบ้าน
    แต่ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะ “เหนื่อย” เกินกว่าที่จะสามารถเร่งขึ้นได้ เพราะเมื่อเศรษฐกิจโลกอ่อนแรง เพราะสงครามการค้าระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่โลก ไทยก็โดนลูกหลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    กนง.และธนาคารแห่งประเทศไทยก็คงจะจับตาความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าวของเศรษฐกิจโลก และตัวชี้วัดของไทยเราว่าผลจากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้จะบรรลุเป้าประสงค์เพียงใด
    เริ่มมีนักวิเคราะห์มองว่าประตูกำลังเปิดทางให้มี กนง. มีเหตุที่จะต้องคิดหนักว่า
    ถ้าลดดอกเบี้ยได้รอบนี้ ทำไมจะลดอีกรอบหนึ่งไม่ได้?
    น่าคิดทีเดียว...ช่วยกันเกาะติดข่าวสารทุกๆ ด้านอย่างใจจดใจจ่อครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"