มี ‘ล้ง’ ทุเรียน, มังคุดแล้ว จะมี ‘ล้ง’ มหา’ลัยหรือไม่?


เพิ่มเพื่อน    

              เมื่อวานนี้เขียนถึง “ทุนจีน” ที่กำลังเข้ามาไล่ล่าซื้อมหาวิทยาลัยของไทยที่กำลังเผชิญกับวิกฤติ เพราะนักศึกษาน้อยลงและการแข่งขันรุนแรงขึ้น

                คำถามใหญ่ก็คือว่าทุนจีนจะช่วยแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา

                ผู้รู้ในวงการนี้แสดงความกังวลหลายประการ

                เช่น ประเด็นเรื่องคุณภาพการศึกษา และการ “ยึดธุรกิจการศึกษา” โดยพ่อค้าจีนหรือไม่

                หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” อ้างความเห็นของ ดร.กัญจน์นิตา สุเชาว์อินทร์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน และรองผู้อำนวยการสถาบันจีน-ไทย มหาวิทยาลัยรังสิต ว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่าทาง ม.รังสิต มีการเจรจากับทุนจีนว่า ส่วนตัวไม่เคยได้รับการทาบทาม เพราะการทำงานของ ม.รังสิต เป็นลักษณะของความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของจีน ขณะที่มองว่าปัญหาจากการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยต่างๆ จะส่งผลในเชิงมาตรฐานวิชาการ คุณภาพการเรียนการสอนในภาพรวมของระบบการศึกษา ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมรับมือในประเด็นนี้ และที่สำคัญคือกฎหมายที่ใช้เพื่อกำกับดูแลมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน สอดรับกับโลกการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่

                ดร.กัญจน์นิตาตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนที่หลายมหาวิทยาลัยในไทยจะมีการพัฒนาหลักสูตรด้านภาษาจีน ควรต้องมีความพร้อมในแง่บุคลากรที่มีความสามารถทางด้านภาษาจีนก่อน เพราะเห็นแนวโน้มชัดเจนว่าหลายสถาบันต้องการเปิดหลักสูตรด้านภาษาจีนมากขึ้น ตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะเพื่อรองรับนักศึกษาจีน

                แต่ปัญหาคือหลายสถาบันยังไม่มีความพร้อมของบุคลากรการสอน แต่มองด้านการตลาดเป็นตัวนำ สำหรับมหาวิทยาลัยรังสิต ปีนี้มีแผนรับนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนเพิ่มอีก 250 คน ซึ่งเป็นการกระจายอยู่ในคณะต่างๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันยอดสะสมนักศึกษาจีนที่เข้ามาเรียนในประเทศไทยโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 30,000 คน และคาดว่าภายใน 2 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 คน

                คำถามของผู้ที่ติดตามข่าวเรื่องนี้ก็คือว่า หากทุนจีนมาเป็นเจ้าของสถาบันการศึกษาของประเทศไทยมากกว่าที่ควรจะมี หลักสูตรและมาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือไม่

                ต้องไม่ลืมว่าทุนจีนมาจากธุรกิจจีน และนักธุรกิจจีนจำนวนหนึ่งไม่สนใจเรื่องความถูกต้องและมาตรฐาน จุดประสงค์หลักของการมาลงทุนในไทยก็คือ การทำกำไรเป็นหลัก

                เหมือนที่เราได้ยินเรื่องทุนจีนกับ “ล้ง” ที่เข้ามากว้านซื้อสินค้าเกษตรของไทยอย่างครึกโครม

                มาใหม่ๆ นายทุนเหล่านั้นก็ให้แรงจูงใจเกษตรกรด้วยการเสนอราคาที่สูงกว่าตลาด แต่เวลาผ่านไป เมื่อพวกเขาสามารถยึดครองตลาดได้ วิธีการของพ่อค้าจีนเหล่านี้ก็คือการกดราคา เพราะรู้ว่าเกษตรกรไทยไม่มีอำนาจต่อรอง

                ซ้ำร้าย นายทุนจีนเหล่านี้เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะรวมหัวกันเพื่อตั้งเงื่อนไขที่กลุ่มของตนได้ประโยชน์ ไม่สนใจว่าการกระทำนั้นๆ จะเป็นธรรมกับเกษตรกรไทยหรือไม่

                ยิ่งเมื่อทางการไทยไม่สามารถจะคุ้มครองดูแลเกษตรกรไทยในเรื่องเช่นนี้ได้ ก็ปล่อยไปตามยถากรรม ไปๆ มาๆ ทุนจีนก็เข้ามากลืนกินเศรษฐกิจหลายๆ ด้านของประเทศไทยเหมือนกับที่กำลังทำกับประเทศอื่นๆ ในโลกนี้

                เรื่องทำนองเดียวกันนี้ก็กำลังเกิดกับวงการยางพารา

                เมื่อเร็วๆ นี้หนังสือพิมพ์ “มติชน” อ้างคำพูดของคุณบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยว่า กลุ่มนักธุรกิจจีนเข้ามาซื้อกิจการยางในไทยนานแล้ว เริ่มจากเทกโอเวอร์โรงงานแปรรูปยางพาราขั้นต้น ยางแผ่นดิบเป็นยางแผ่นรมควัน ยางก้อนถ้วยเป็นยางเอสทีอาร์ 20 ก่อนเข้าซื้อกิจการกลุ่มยางพาราส่งออกยักษ์ใหญ่ในประเทศจาก 5 เสือ เหลือ 2 เสือครึ่งแล้ว ซื้อหุ้นกิจการแบบเต็มตัวจนเจ้าของเดิมเหลือหุ้น 10%

                ที่จีนยังซื้อไม่ได้คือสหกรณ์ชาวสวนยาง เพราะไม่สามารถใช้เงินซื้อได้เหมือนโรงงานแปรรูป

                คุณบุญส่งบอกว่า ช่วงแรกนักธุรกิจจีนจะเข้ามาปั่นราคายาง โดยยอมขาดทุนก่อน เมื่อซื้อกิจการได้มาก มีอำนาจบริหาร จึงเริ่มเอากำไรคืน เจ้าของเดิมได้แต่ทำตาปริบๆ

                ทางการจีนสนับสนุนการออกมาลงทุน เพราะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมในประเทศของเขาเอง

                คุณบุญส่งบอกว่า เคยเตือนมาเยอะแล้ว ระวังสักวันหนึ่งจะเป็นแบบล้งทุเรียน ล้งมังคุด

                ในที่สุดก็มีล้งยางจนได้

                หากแนวโน้มเป็นเช่นนี้จริง อีกหน่อยเราจะเจอ “ล้งมหาวิทยาลัย” หรือไม่?.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"