ผู้ตรวจให้‘บิ๊กตู่’แจง เคาะปมถวายสัตย์27ส.ค.ฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอก


เพิ่มเพื่อน    

 7 พรรคฝ่ายค้านสุดทน “บิ๊กตู่” เบี้ยวกระทู้สดเรื่องถวายสัตย์ฯ 2 ครั้ง เตรียมใช้มาตรา 152 ยื่นอภิปรายแบบไม่ลงมติ จ่อชง “ชวน” ในวันที่ 16 ส.ค. พร้อมบี้ต้องบรรจุในวาระภายในเดือนนี้ก่อนถก กม.งบประมาณ “วิทวัส” แจงเรื่องไม่ซับซ้อน คาด 27 ส.ค.ที่ประชุมผู้ตรวจฯ น่าจะพิจารณาได้ วิปรัฐบาลยังเสียงแข็ง เชื่อกฎหมายสำคัญไม่แพ้โหวตเหมือนข้อบังคับสภาแน่  

         เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ส.ค. พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่าอยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งผู้ตรวจฯ มีมติรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาแล้ว โดยต้องสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ถูกร้องคือนายกฯ เมื่อได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้วจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งการสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากเป็นเรื่องซับซ้อนก็ให้เวลา 30 วัน ถ้าไม่ซับซ้อนจะให้เวลา 15 วัน ในกรณีนี้น่าจะถือว่าเป็นเรื่องไม่ซับซ้อน 15 วันก็น่าเพียงพอ ซึ่งการประชุมผู้ตรวจฯ ครั้งต่อไปในวันที่ 27 ส.ค. ก็คงพิจารณา และคงไม่เร็วไปกว่านั้น เพราะผู้ตรวจฯ ก็มีภารกิจมาก
         เมื่อถามว่า หากต้องส่งเรื่องไปยังศาลพิจารณาจะยื่นศาลใด พล.อ.วิทวัสกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณากันอยู่ ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้ว่าควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการชี้นำ เพราะฝ่ายค้านว่าอย่างหนึ่ง รัฐบาลก็ว่าอย่างหนึ่ง แต่ผู้ตรวจฯ จะใช้ดุลยพินิจเอง ผู้ตรวจฯ ไม่หนักใจ เราเป็นองค์กรอิสระ ยึดตามข้อเท็จจริง พร้อมให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ไม่มีใครมากดดันได้ 
ขณะที่นายวิษณุกล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ไม่ไปตอบกระทู้สดว่า กระทู้สดเหมือนกระทู้ปกติที่ควรต้องไป แต่หากติดภารกิจก็แจ้งสภาได้ ซึ่งนายกฯ ก็ชี้แจงแล้วว่าหากเป็นประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณ เรื่องอยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว แต่กระทู้สามารถนำกลับมาถามใหม่ได้อีก 
เมื่อถามว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีกรอบเวลาพิจารณาคำร้องหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ซึ่งทราบว่าเขาจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ และไม่มั่นใจว่าผู้ตรวจฯ มีสิทธิวินิจฉัยตีตกคำร้องหรือไม่ คงต้องถามผู้ตรวจฯ เอง เขามีประสบการณ์เยอะ 
ถามอีกว่า ที่ผ่านมาเคยมีกรณีผู้ตรวจฯ รับเรื่องไว้แล้ววินิจฉัยเองไม่ยื่นที่ศาลหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า เคยมีเหมือนกัน เป็นการไม่รับเรื่องนั่นเอง เพราะผู้ตรวจฯ สามารถไม่รับเรื่องได้ โดยบอกว่าไม่มีเหตุมีผล แต่อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ คิดว่าจะไปถึงขั้นนั้น มันมีข่าวรั่วออกมาว่าจะไม่รับหรือ และหากสุดท้ายแล้วมีการวินิจฉัยในทางลบ จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลหรือไม่ ไม่ขอตอบ เพราะถ้าพูดว่าไม่ทราบจะเสียเหลี่ยม 
    เมื่อถามว่า หากเรื่องนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินยังไม่มีคำวินิจฉัย นายกฯ ก็ไม่ควรไปชี้แจงต่อสภาใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีการยื่นต่อผู้ตรวจฯ และอัยการสูงสุดด้วยข้อเท็จจริงเดียวกัน แต่ต่างที่ข้อหา ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้รับเรื่องเหล่านี้มา จึงยังไม่ทราบข้อเท็จจริง และหากเขารับเรื่องไว้ รัฐบาลก็ต้องไปชี้แจง ส่วนจะเป็นใครนั้น อยู่ที่ว่าเขาถามใคร ก่อนหน้านี้เคยสอบถามเรื่องคุณสมบัติการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของนายกฯ ซึ่งนายกฯ ก็ตอบเอง ส่วนตัวไม่ขอตอบว่าระหว่างนี้นายกฯ ควรไปชี้แจงต่อสภาหรือไม่ และนายกฯ ไม่ได้หารือเรื่องนี้กับตนเอง จึงไม่ทราบว่าท่านรับหรือยัง แต่ขณะนี้นายกฯ ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อยู่ 
เตือน 1 ปียื่นได้ครั้งเดียว
    เมื่อถามว่า กรณีฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ นายกฯ ต้องเดินทางไปตอบด้วยตัวเองหรือไม่ นายวิษณุชี้แจงว่า ขอดูญัตติเขาก่อน โดยหากยื่นตามมาตรา 151 ในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องไปด้วยตัวเอง แต่หากยื่นตามมาตรา 152 หากเกี่ยวพันกับใคร คนนั้นก็ต้องไปตอบหรือมอบหมายรัฐมนตรีไปตอบได้ แต่การยื่นญัตติทั้ง 2 อย่างยื่นได้ครั้งเดียวใน 1 ปี ใน 365 วัน และเนื่องจากมันมี 2 มาตรา ไม่ได้หมายความว่าหากยื่นมาตรานี้แล้วหมดไปแล้วหนึ่งปี แต่มันคืออย่างใดอย่างหนึ่งที่ยื่นไป แต่ละอันมันใช้เวลาหนึ่งปี ซึ่ง ส.ว.ก็ทำได้ 
    ขณะที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ร่วมกับ 7 พรรคฝ่ายค้าน แถลงข่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจเข้าใจเอาเองว่าเมื่อมีผู้ไปร้องและเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการของผู้ตรวจฯ ไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาชี้แจงสภา ซึ่งถือว่าเข้าใจผิดอย่างมาก และสะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังขาดความรู้ความเข้าใจในระบบรัฐสภาที่มาจากประชาชน เพราะการตั้งกระทู้ถามคือคำถามที่ ส.ส.ถามต่อนายกฯ หรือรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตอบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของรัฐบาล หรือเรื่องสำคัญใดๆ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน หรือเรื่องกระทบถึงประโยชน์ของประเทศชาติประชาชน หรือเป็นเรื่องเร่งด่วน ดังนั้นการตั้งกระทู้ถามนายกฯ ครั้งนี้ เนื่องจากนายกฯ กระทำการบกพร่อง ผิดพลาด และอาจผิดกฎหมาย ส่งผลให้ ครม.สุ่มเสี่ยงโมฆะ จึงเป็นเรื่องที่นายกฯ ต้องรีบมาชี้แจงต่อสภาอย่างเร่งด่วน ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยแบบนี้
    “ผมยืนยันว่าฝ่ายค้านไม่จำเป็นใดๆ ที่จะใช้เรื่องถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนมาเป็นเครื่องมือในการโจมตีนายกฯ และรัฐบาลตามที่นายกฯ กล่าวหา แต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ต้องตรวจสอบ หากไม่ดำเนินการฝ่ายค้านเองก็ต้องถูกดำเนินการในข้อหาละเว้นเช่นกัน ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจอำนาจหน้าที่และให้เกียรติการทำงานของแต่ละฝ่ายด้วย และจากนี้ไปหวังว่าฝ่ายค้านจะไม่ได้ยินนายกฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสภาเช่นนี้อีก” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
    น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวอีกว่า หากนายกฯ ยังอ้างว่าตัวเองยอมเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบในช่องทางอื่นๆ ไปแล้ว และไม่ยอมเข้าสู่การตรวจสอบของสภา ฝ่ายค้านย่อมจำเป็นต้องใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในการซักถามข้อเท็จจริงจากนายกฯ ต่อไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นขอบอกเลยว่าจะไม่มีแค่ประเด็นกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญเรื่องการถวายสัตย์ฯ เท่านั้น แต่จะมีประเด็นบกพร่อง ผิดพลาด และอาจผิดกฎหมายอื่นๆ ด้วย
    นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรค พท. กล่าวว่า การยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจฯ อาจใช้เวลาค่อนข้างมาก พรรคฝ่ายค้านจึงเป็นห่วง และเห็นว่าต้องยื่นญัตติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 อภิปรายเรื่องนี้เพื่อช่วยหาทางออกให้กับรัฐบาลและนายกฯ เพราะหากผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ไปแล้ว ศาลมีคำพิพากษาไม่เป็นคุณต่อนายกฯ อาจเกิดปัญหาที่กระทบต่อเศรษฐกิจและงบประมาณภายหลังได้
บี้เร่งบรรจุวาระ
    ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติต่อประธานสภาฯ  ในวันที่ 16 ส.ค. เวลา 08.30 น. เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 กรณีนายกฯ ไม่มาชี้แจงกระทู้ถามสดเกี่ยวกับการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน 2 สัปดาห์ติดกัน เพื่อให้มีการอภิปรายเกิดขึ้นภายในเดือนนี้ก่อนพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563 หรืออย่างเร็วที่สุดให้เป็นญัตติถัดจากการพิจารณาข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งปกติแล้วเมื่อมีการยื่นญัตติจะต้องเลื่อนเรื่องนี้ขึ้นมาดำเนินการก่อน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประธานสภาฯ 
     นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ กล่าวในเรื่องนี้ ว่า ยังไม่เห็นญัตติ จึงไม่อยากตอบล่วงหน้าเรื่องนี้ว่าเข้าสู่วาระการประชุมได้เลยหรือไม่ ทุกอย่างต้องรอเรื่องส่งเข้ามาก่อน
วันเดียวกัน ยังคงมีความต่อเนื่องจากการแพ้โหวตของพรรคร่วมรัฐบาลครั้งที่ 2 ในการลงมติร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงค่ำวันพุธ โดยนายชวนย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องรัฐบาลแพ้โหวต เคยพูดอย่างน้อย 2 ครั้งแล้วไม่ใช่การแพ้ แต่เป็นเรื่องของกรรมาธิการ (กมธ.) ต้องถือเสียงของ กมธ.เป็นหลัก ซึ่งยังแปลกใจว่าทำไมมาลงคะแนนห่างกันเพียง 1 คะแนน เพราะความจริงคะแนนควรห่างกันเยอะ
    ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาลกล่าวเช่นกันว่า เป็นความเห็นส่วนตัวของสมาชิกฝ่ายรัฐบาลที่เห็นแตกต่าง ก็อาจโหวตไม่เหมือนกันได้ ซึ่งร่างข้อบังคับการประชุมไม่ใช่กฎหมายของรัฐบาล และไม่ใช่กฎหมายที่ ครม.เสนอ จึงไม่ถือเป็นความล้มเหลวของวิปรัฐบาลในการทำหน้าที่ อีกทั้งมีสมาชิกหลายคนที่เดินมาลงมติไม่ทัน บางจุดก็ยังไม่ได้ยินเสียงการประชุมยังมีสมาชิกยังนั่งกินข้าว ฉะนั้น หลังจากนี้วิปรัฐบาลจะเน้นย้ำการให้ความสำคัญของการอยู่ในห้องประชุม และหากเป็นกฎหมายสำคัญ เราต้องเข้มข้นมากกว่านี้
         “มั่นใจว่าเมื่อถึงเวลาพิจารณากฎหมายสำคัญจะไม่เป็นแบบนี้ วิปรัฐบาลจะกำชับสมาชิกให้มากกว่านี้ ซึ่งการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมฯ เป็นเรื่องของ ส.ส.ที่จะนำมาใช้ร่วมกัน ความคิดเห็นอาจไม่ตรงกัน 100% ก็ได้ แม้ว่าเบื้องต้นเราตกลงกันว่าจะลงมติยืนตาม กมธ.เสียงข้างมากไม่โหวตสวน แต่ในข้อ 13 อาจมีถ้อยคำที่ไม่ถูกใจสมาชิกบางคน ก็อาจลงมติเปลี่ยนแปลงได้ ก็เป็นสิทธิ์ส่วนตัวของสมาชิก ไม่ส่งผลต่อการทำงานของสภาแต่อย่างใด และคงไม่มีบทลงโทษสมาชิกที่โหวตสวน เพราะเป็นเรื่องประชาธิปไตยที่ใครมีความเห็นส่วนตัวก็ต้องยอมรับ แม้ว่าเราจะอยากให้โหวตไปในทางเดียวกันก็ตาม”นายชัยวุฒิกล่าว  
          ทั้งนี้ ในการประชุมสภา นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ได้เข้าสู่วาระการพิจารณาร่างข้อบังคับสภาต่อจากเมื่อวันที่ 14 ส.ค. โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. และประธานวิปรัฐบาล ลุกขึ้นอภิปรายกรณีรัฐบาลแพ้โหวตฝ่ายค้าน ว่าอยากทำความเข้าใจผลการลงมติร่างข้อบังคับว่าเป็นเรื่องของ กมธ. ซึ่งบางท่านอาจเห็นด้วยตาม กมธ.เสียงส่วนใหญ่ หรือ กมธ.เสียงข้างน้อย ซึ่งการตกลงโดยหลักใหญ่จะยึดตามเสียงข้างมาก แต่เสียงที่ออกไปข้างนอกบอกว่าฝ่ายรัฐบาลแพ้ แต่ความจริงไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาล ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้ประธานทิ้งเวลาในการลงมติให้นานขึ้น อีกอย่างคือ เรื่องเสียงสัญญาณเรียก ส.ส.มาลงมตินั้นในบางจุดไม่ได้ยิน นอกจากนี้ ส.ส.บางรายยังพบปัญหาผลโหวตไม่ได้ถูกบันทึกหรือบันทึกไม่ตรง  
          นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เห็นด้วยว่าไม่ใช่เรื่องฝ่ายค้านชนะรัฐบาล แต่ยืนยันว่าการให้เสียงข้างน้อยยกมือตาม กมธ.เสียงข้างมากทุกครั้งนั้นไม่ได้ เพราะการลงมติเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ก็ย่อมมีอิสระลงคะแนนเช่นกัน  
     ด้านนายสุชาติแนะนำว่า เมื่อ ส.ส.ลงมติเสร็จแล้วให้เขียนผลการลงมติใส่กระดาษ แล้วนำไปตรวจสอบกับวิปว่าตรงกันหรือไม่ เพราะเกรงว่าหากผิดพลาดในการลงมติกฎหมายแต่ละฉบับแล้วจะมีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องใหญ่ จึงอยากให้ช่วยตรวจสอบมติด้วย  
เทพไทเตือนคุมเสียงให้ดี
    ส่วนนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. กลับระบุว่า เป็นปรากฏการณ์ที่น่ากังวล เพราะการลงมติพ่ายแพ้ต่อฝ่ายค้านถึง 2 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน แม้ไม่ใช่กฎหมายสำคัญของรัฐบาลก็ตาม แต่เป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองเบื้องต้นที่ไม่ควรประมาทกัน อยากจะให้วิปได้กำชับให้สมาชิกมีความเคร่งครัด มีระเบียบวินัยในการลงคะแนนโดยพร้อมเพรียงกัน เพราะต่อจากนี้ไปต้องรับมือกับเกมในสภาของฝ่ายค้านมากยิ่งขึ้น เพราะคะแนนเสียงสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอยู่ภาวะเสียงปริ่มน้ำเช่นนี้ ก็จะสุ่มเสี่ยงกับการแพ้โหวตในสภา หรือทำให้สภาล่ม ไม่ครบองค์ประชุมได้ง่ายมากที่สุด 
    "ผมห่วงใยและขอให้กำลังใจกับคนทำงาน โดยเฉพาะวิปทุกคน เพราะยังมีกฎหมายสำคัญที่สุดของรัฐบาลรออยู่ข้างหน้า นั่นคือ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 ที่ฝ่ายรัฐบาลจะแพ้โหวตไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะนั่นหมายถึงอนาคตทางการเมืองของรัฐบาล เพราะถ้าแพ้โหวตมีทางเลือกคือไม่ลาออก ก็ยุบสภาเท่านั้น"  นายเทพไทกล่าว
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร. กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขอดูรายละเอียดก่อน เพราะยังไม่ได้รับหน้าที่ แต่จะเข้าปฏิบัติงานวันแรกที่พรรค พปชร.ในวันอังคารที่ 20 ส.ค.นี้ ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรยังพยักหน้าเมื่อถามถึงรายชื่อของคณะทำงานยุทธศาสตร์พรรคที่มีรายชื่อปรากฏตามสื่อ ทั้งนายอนุชา นาคาศัย, น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ และ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์
          พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงกรณีนายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ขู่ถอนตัวจากรัฐบาล หากรัฐดำเนินโครงการที่กระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ โดยย้อนถามกลับว่า รัฐบาลทำอะไรที่มันเกี่ยวข้องกับป่าที่เสียหายหรือไม่ ไม่ต้องพูดขู่ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรให้ผิดกฎหมาย ซึ่งทุกเรื่องที่จะทำ ไม่ว่าจะเรื่องของป่าหรืออะไรทั้งสิ้น ทุกอย่างที่ทำมา 5 ปี ไม่เคยทำอะไรผิดกฎหมาย
    นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน ว่าจะไม่เหลื่อมล้ำกับการทำงานของกรรมการบริหารพรรค ซึ่งทำงานด้วยกัน และตนเองก็เป็นที่ปรึกษาคณะยุทธศาสตร์อยู่แล้ว
    ส่วนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมกรณี พล.อ.ประวิตรจะเข้ามาทำหน้าที่ประธานยุทธศาสตร์พรรคในวันที่ 20 ส.ค. ว่าไม่ต้องเตรียมอะไร ท่านก็ทำหน้าที่ในด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งดูเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่าง ส.ส.กับพื้นที่ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความต้องการของประชาชนเชื่อมโยงกับภาครัฐได้ นี่เป็นกรอบที่วางไว้เพื่อให้ท่านเข้ามาขับเคลื่อน
    เมื่อถามว่า ปัญหาตอนนี้คือไม่สามารถควบคุม ส.ส.ในสภาได้ เห็นได้จากคะแนนโหวตร่างข้อบังคับการประชุมสภาที่ถึง 2 รอบจะเป็นปัญหาในอนาคตหรือไม่ นายสนธิรัตน์กล่าวว่า เชื่อว่าวิปรัฐบาลจะดำเนินการเรื่องนี้ได้ เท่าที่คุยกันประธานวิปก็ทราบปัญหาเรื่องนี้อยู่ เข้าใจว่าน่าจะจัดการได้ดีก็ค่อยๆ แก้กันไป พูดคุยกันให้เยอะขึ้น น่าจะบริหารจัดการได้ 
    เมื่อถามย้ำว่า หาก พล.อ.ประวิตรเข้าไปอยู่ในพรรคจะทำให้ปัญหาที่ผ่านมาไม่มีแล้วใช่หรือไม่ นายสนธิรัตน์กล่าวว่า การเมืองก็แบบนี้ เป็นเรื่องจุกจิก อาจมีเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้างเป็นธรรมดา ต้องแก้ไขไปตามสถานการณ์ ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์มีความชัดเจนแล้วหรือไม่ว่าจะเข้าไปมีตำแหน่งในพรรคนั้น นายกฯ ไม่ได้พูดอะไร ณ ขณะนี้ยังไม่มี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"