ซานต้าตู่ทุ่ม3.16แสนล้านกระทุ้งเศรษฐกิจ!


เพิ่มเพื่อน    

 ครม.เศรษฐกิจทุ่ม 3.16 แสนล้านกระตุ้นเต็มสูบ 3 ด้าน คนจนเฮ! ได้เงินเพิ่มอีกคนละ 500 บาท 2 เดือน แจก 1 พันเที่ยว "ชิม ช็อป ใช้" มั่นใจดันจีดีพีปีนี้โตเกิน 3% พร้อมตั้ง คกก.ขับเคลื่อนมาตรการ ศก. "บิ๊กตู่" ยันใช้งบไม่ฟุ่มเฟือย คุ้มค่าที่สุด "จุรินทร์" เตรียมเคาะประกันราคาข้าวช่วยชาวนา 

    ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 1/2562 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง 
    นายกฯ กล่าวระหว่างการประชุมว่า ทุกคนทราบดีว่าเรามีปัญหาพอสมควรด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีการรายงานจากคณะทำงานให้ที่ประชุมรับทราบ ขอให้ทุกคนได้ติดตามรายละเอียด เพื่อหาหนทางในการขับเคลื่อน วันนี้มีทั้งเรื่องเพื่อทราบ และเรื่องเพื่อพิจารณาอนุมัติ เพราะเป็นสถานการณ์เร่งด่วน เพื่อให้ทันต่อการประชุมคณะรัฐมนตรีในครั้งต่อไป เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไตรมาส 3 และ 4 หากทำไม่ได้ตอนนี้ จะมีผลต่องบประมาณปี 2563 ไตรมาส 1 และ 2 ด้วย อีกทั้งสถานการณ์โลกในวันนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาสงครามเศรษฐกิจ แม้จะมีหลายมาตรการที่ออกมาโดย 2 ประเทศยักษ์ใหญ่
    ต่อมา เวลา 11.40 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวภายหลังการประชุม ครม.เศรษฐกิจว่า ทุกอย่างเรียบร้อยดี และมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้แถลง ทั้งนี้ในฐานะประธาน ครม.เศรษฐกิจ ไม่ใช่ว่าตนจะไม่รู้อะไรเลย เพราะต้องนำข้อมูลจากทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  สำนักงบประมาณ มาดูว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเป็นอย่างไร เศรษฐกิจภูมิภาคเป็นอย่างไร และประเทศไทยอยู่ตรงไหน ส่วนไหนที่เราอ่อนหรือตกลงไป จำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่ายลงไปในระบบหรือไม่ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในหลายวงรอบ 
    โดยมาตรการต่างๆ ที่ออกมา จะเห็นว่าครอบคลุมทุกอย่าง ในการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งเรามีงบประมาณเพียงไม่กี่หมื่นล้าน ต้องไปช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบ เช่น การเยียวยา ซึ่งเป็นไปตามมาตรการการเงินการคลังที่รัฐบาลทำได้อยู่แล้ว โดยใช้ธนาคารของรัฐลดดอกเบี้ยและลดระยะเวลาการชำระหนี้ ซึ่งทุกประเทศก็ใช้วิธีแบบนี้
     "ขอให้ทุกคนมั่นใจว่าผมจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและประหยัดที่สุด ทุกอย่างถ้าทำไปแล้วยังไม่ดี ก็ต้องหามาตรการอื่นมาใช้ แต่ตอนนี้ปัญหาของเราคือมีงบประมาณจำกัด ไม่ใช่การใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย หรือใช้ฟุ่มเฟือยก็ไม่ได้ ผมก็ขอฝากให้ทุกคนเข้าใจด้วยว่าการมีมาตรการต่างๆ ก็เป็นการเฉพาะกลุ่มไม่ใช่การให้เปล่า" นายกฯ ระบุ
กระตุ้นเต็มสูบ3.16แสนล้าน
    นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เสนอชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน เพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ประเทศ และสร้างความมั่นใจและให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด โดยมีวงเงินรวมของมาตรการ อยู่ที่ 3.16 แสนล้านบาท ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบ ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% มีช่วงคาดการณ์ 2.7-3.2%
    สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านภัยแล้ง ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งใน 13 จังหวัด คิดเป็น 9.9 แสนราย และสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2562/63 จำนวน 3 ล้านราย 
    ด้านที่ 2 การกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ประกอบด้วยหลายมาตรการ เช่น มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว “ชิม ช็อป ใช้” โดยจะแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเลต) 1,000 บาท ให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อไปใช้จ่ายในการท่องเที่ยว เป็นค่าอาหาร ค่าซื้อสินค้าในท้องถิ่น และค่าที่พักอาศัยในจังหวัดที่ตัวเองไม่ได้อยู่ ตั้งเป้าหมาย 10 ล้านคน ซึ่งจะมีการเปิดให้มาขึ้นทะเบียนรับสิทธิ หากลงทะเบียนแล้วไม่ใช้สิทธิ จะถูกตัดสิทธิในการให้ความช่วยเหลือจากรัฐครั้งต่อไป
    รวมทั้งยังมีส่วนเสริมสำหรับผู้ที่ใช้เงินท่องเที่ยวผ่านอี-วอลเลตเกิน 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ทางรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยคืนให้ในอัตรา 15% เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวมากขึ้น สำหรับรายละเอียดของมาตรการ ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเป็นชี้แจงต่อไป รวมทั้งมีการเสนอในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ให้มีการขยายเวลาฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียอีกระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ โดยจะต้องมีการหารือเพิ่มกับฝ่ายความมั่นคง ก่อนเสนอให้ ครม.เป็นผู้พิจารณา
    ในส่วนของการกระตุ้นการลงทุน จะมีมาตรการภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนในปีนี้ ให้สามารถนำรายจ่ายจากการซื้อเครื่องจักรมาหักภาษีได้ 1.5 เท่า และรัฐบาลจะมีการเติมเงินให้กับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลากู้ 7 ปี ขณะเดียวกันธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทยจะเข้ามาช่วยเสริมการปล่อยกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษให้กับธุรกิจรายเล็กเช่นเดียวกัน วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเข้ามาช่วยค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการ โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น
    นอกจากนี้ จะให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสินดำเนินการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ วงเงินรวม 5.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ธอส. วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท และออมสิน วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนของ ธอส.จะเป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ที่เป็นการปล่อยสินเชื่อจากการขายสลากออมทรัพย์ ชุดวิมานเมฆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอกระทรวงการคลังเห็นชอบออกกฎกระทรวง เพื่อให้ ธอส.สามารถออกสลากได้ในเดือน ก.ย.นี้ และทันปล่อยสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล
เพิ่มเงินคนจนอีก500บาท
    ด้านที่ 3 มาตรการด้านค่าครองชีพ โดยจะมีการเติมเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.5 ล้านคน ผ่านอี-วอลเลต ซึ่งจะครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีบุตร วงเงินรวมทั้งสิ้น 2 หมื่นล้านบาท โดยจะดำเนินการภายในช่วงเวลา 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ เบื้องต้นจะเป็นการเพิ่มเงินช่วยเหลือในระยะเวลาสั้นๆ แค่ 2 เดือน หลังจาก ครม.เห็นชอบมาตรการ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ คือเพิ่มเงินให้สำหรับผู้ถือบัตรคนจนอีก 500 บาทต่อเดือน เพิ่มเติมจากที่ได้รับอยู่แล้ว 200-300 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี จะได้เพิ่มอีก 500 บาทต่อเดือน และกรณีที่ต้องดูแลบุตรจะเพิ่มอีก 300 บาทต่อเดือน
    ทั้งนี้ ครม.เศรษฐกิจยังเห็นชอบให้มีการพักชำระเงินต้นของกองทุนหมู่บ้าน ที่กู้จาก ธ.ก.ส.และธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อคงค้าง 6.7 หมื่นล้านบาท ก็จะสามารถนำเงินที่เหลือดังกล่าวมาใช้ดำเนินการปล่อยกู้ให้กับชุมชนได้เพิ่มขึ้น
    “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด จะมีวงเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาท ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณทั้งหมด แบ่งเป็นวงเงินจากธนาคารรัฐ 2.07 แสนล้านบาท ส่วนอีกประมาณ 1 แสนล้านบาทจะมาจากงบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินของกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยหาก ครม.เห็นชอบตามนี้ จะทำให้เศรษฐกิจโตได้ตามเป้าหมายที่ 3%” นายอุตตมระบุ
    นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนบริหารมาตรการเศรษฐกิจ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนมากกว่าที่คิด ทั้งด้านการผลิต ภาคการเงินและความเชื่อมั่น ซึ่งส่งสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา และถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน
    โดยปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวกระทบกับเศรษฐกิจไทยรุนแรงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยในไตรมาส 1/2562 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวได้เพียง 2.8% จากปีก่อนขยายตัวได้ 4% โดยในวันที่ 19 ส.ค.นี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/2562 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ดี และหากไม่ทำอะไรเลย มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3%
    นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม.เศรษฐกิจจึงแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 7 ด้าน ด้านที่ 1 การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 2.ช่วยเหลือผู้ประกอบการผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 3.ยกระดับราคาสินค้าและรายได้เกษตรกร 4.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุน 5.การขับเคลื่อนการส่งออก 6.การขับเคลื่อนการท่องเที่ยว โดยตั้งเป้าหมายในปี 2562 มีนักท่องเที่ยว 39.8 ล้านคน และในปี 2563 มีนักท่องเที่ยว 41.8 ล้านคน และ 7.สนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนและการย้ายฐานการผลิต 
จ่อหนุนลงทุนช่วยส่งออก
    นอกจากนี้ ครม.เศรษฐกิจยังเห็นชอบให้มีการปรับโครงสร้างการทำงานใหญ่ (บิ๊กรีฟอร์ม) ใน 2 เรื่อง คือ 1.โครงสร้างการทำงานของภาครัฐ และ 2.ภาคการผลิตของภาคการเกษตร โดยจะให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือผ่านคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อผลักดันทั้ง 7 ด้าน และการปรับโครงสร้าง 2 เรื่องให้มีประสิทธิภาพ โดยการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งต่อไป จะมีการเสนอมาตรการดึงดูดการลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และมาตรการส่งเสริมการส่งออก เพื่อพยุงการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวลง
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และนำผลการประเมินมาปรับปรุงการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีฐานข้อมูลผู้มีรายได้ กระทั่งเมื่อมีการลงทะเบียนผู้ต้องการมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จึงเริ่มมี Big data ของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งนายกฯ ย้ำว่า Big data ผู้มีรายได้น้อยนี้ จะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นอีกต่อไป และต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลผู้มีรายได้น้อยอย่างถี่ถ้วน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนให้ครบทั้ง 4 มิติ คือ 1.ช่วยให้เข้าถึงสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน 2.พัฒนาทักษะทางอาชีพและการศึกษา 3.ช่วยหางานให้ทำ และ 4.ช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ
    สำหรับปีที่ผ่านมา ผู้มีรายได้น้อยเข้ารับการพัฒนาอาชีพจำนวน 3.2 ล้านคน ช่วยให้คนพ้นเส้นความยากจนที่ระดับ 30,000 บาทต่อปี ได้ถึง 1 ล้านคน โดยคนกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,713 บาทต่อเดือน ทั้งปีมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 บาท และช่วยให้คนพ้นเพดานรายได้ที่ 100,000 บาท ได้ 1 แสนคน โดยคนกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3,861 บาทต่อเดือน ทั้งปีมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 46,000 บาท 
    "ท่านนายกฯ ขอฝากไปยังผู้มีรายได้น้อย ว่ารัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนในทั้ง 4 มิติ เพียงแต่ขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือในการพัฒนาทุกมิติ และฝากเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาทักษะอาชีพ พร้อมทั้งจ้างงานผู้มีรายได้น้อย จึงจะทำให้เกิดการหลอมรวมพลังกันเป็นหนึ่งเดียวของคนไทย ที่จะร่วมกันแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน" โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ
    วันเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะทยอยนำมาตรการประกันรายได้เกษตรกร โดยเคาะสรุปราคาสินค้าการเกษตรที่จะอยู่ในโครงการประกันรายได้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นรายตัว ทั้งมาตรการประกันรายได้ปาล์มกิโลกรัมละ 4 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ โดยคำนวณจากรายได้ที่ประกันลบด้วยราคาตลาด ณ ช่วงเวลาที่กำหนดแล้วโอนส่วนต่างเข้าบัญชีเกษตรกรทันที ผ่าน ธ.ก.ส. ขณะนี้เหลือเพียงการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ วันที่ 19 ส.ค.นี้
    โดยในวันที่ 17 ส.ค. ตนจะลงพื้นที่พบเกษตรกรที่โรงสีข้าวการเกษตรคลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่สำคัญ จะประชุมร่วมคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชนและเกษตรกรฯ ที่ศูนย์วิจัยข้าว อ.คลองหลวง เพื่อเคาะประกันรายได้ข้าว ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาต่อไป โดยจะเป็นแนวทางให้ส่วนต่างเช่นกัน นอกจากนั้นเรื่องยางพารา ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ดูแลโครงการประกันรายได้ยางพาราแผ่นดิบที่ชั้น 3 กิโลกรัมละ 60 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ไร่ คาดว่าทั้งหมดจะนำเสนอในคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเร็วๆ นี้ โดยไม่จำเป็นต้องเสนอพร้อมกันทั้งหมด.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"