เทกระจาดแก้แล้งทั้ง‘พักหนี้-สินเชื่อ’


เพิ่มเพื่อน    

 นายกฯ นำ ครม.ชุดเล็กไปตรวจภัยแล้งที่สุรินทร์-บุรีรัมย์ วันจันทร์นี้ พร้อมเรียกประชุมผู้ว่าฯอีสาน 20 จังหวัด ก่อนเดินทางกลับในเย็นวันเดียวกัน ครม.เศรษฐกิจอนุมัติแผนช่วยเหลือ ให้ ธ.ก.ส.พักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย 1 ปีเกษตรกร 13 จังหวัด สนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 5 หมื่นล้าน ให้กู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท ดอกเบี้ย 0% ปีแรก ทั้งยังมีสินเชื่อฟื้นฟูการผลิต พร้อมอุ้มชาวนาอีก 3 ล้านราย

    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมนำคณะลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ ในวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคมนี้ โดยช่วงเช้า นายกฯ นำคณะสังเกตการณ์ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง โครงการชลประทานสุรินทร์ ฟังบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการให้ความช่วยเหลือ พร้อมปล่อยขบวนรถบรรทุกน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านการอุปโภคบริโภค ณ บริเวณที่ทำการโครงการชลประทานสุรินทร์ และเป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ เนื้อหาคือบูรณาการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
    ส่วนในช่วงช่าย นายกรัฐมนตรีจะตรวจเยี่ยมอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก โครงการชลประทานบุรีรัมย์ ฟังบรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาและสถานการณ์น้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในเย็นวันเดียวกัน
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพด้านการเกษตรของประชาชนในพื้นที่ โดยจะนำรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์,  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ในช่วงบ่ายถึงปัญหาภัยแล้งว่า ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ จากกว่า 20 จังหวัดเหลือ 10 จังหวัด เพราะฝนตกมากขึ้น แต่การตกครั้งนี้ต่างจากปีก่อนที่ตกทั่วถึง แต่ตอนนี้ตกรอบนอกก่อน ส่วนพื้นที่เพาะปลูกอยู่ตอนในคือพื้นที่ภาคกลางยังมีปัญหา ดังนั้นวันนี้ต้องหามาตรการเร่งด่วนในเรื่องของการเยียวยาต่อไปอีก ซึ่งต้องใช้งบประมาณส่วนหนึ่ง โดยต้องใช้อย่างประหยัด ระมัดระวังที่สุด เป็นไปตามสัดส่วนของงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ชี้แจงเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ เพื่อไปดูสถานการณ์ปัญหาน้ำแล้งและดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากการทำงานในบางครั้งไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าในช่วงที่ฝนไม่ตก เพราะถ้าเราไม่มีน้ำจะส่งผลกระทบกันไปหมด จึงต้องมาดูมาตรการว่าอะไรดีที่สุด ไม่ใช่มัวแต่ไปทำโครงการ เพราะกว่าจะเสร็จใช้เวลา 1-2 เดือนน้ำก็ท่วมอีก ฉะนั้นเราจะต้องดูว่าอะไรที่เหมาะสม ในส่วนของตนถ้าเกิดอะไรฉุกเฉินจะลงไปเลย ถือเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด 
    วันเดียวกัน มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่ทำเนียบรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของปัญหาภัยแล้ง ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งใน 13 จังหวัด คิดเป็น 9.9 แสนราย โดยการพักชำระหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี และการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 0% ปีแรก ให้กู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท พร้อมสินเชื่อฟื้นฟูการผลิต ซ่อมแซมความเสียหาย วงเงิน 5 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ให้กู้รายละไม่เกิน 5 แสนบาท และสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2562/63 จำนวน 3 ล้านราย โดยมาตรการผ่าน ธ.ก.ส. จะใช้เงินของ ธ.ก.ส.ดำเนินการไปก่อนทั้งหมด และรัฐจะตั้งงบประมาณอุดหนุนชดเชยภายหลัง เป็นงบผูกพันหลายปี
    ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีอากาศยานมาเสริมอีก 6 ลำ ของกองทัพอากาศ 5 ลำ และกองทัพบก 1 ลำ พร้อมกำลังพล 88 นาย ได้เข้าปฏิบัติการที่หน่วยฝนหลวง จ.เชียงใหม่ 1 ลำ, นครราชสีมา 4 ลำ และลพบุรี 1 ลำ ซึ่งประชาชนอาจสงสัยว่าทำไมอากาศยานมาสนับสนุนไม่มาก เป็นเพราะต้องมีการดัดแปลงเจาะท้องเครื่องบินติดกรวยโปรยสาร และ ทอ.เคยร่วมปฏิบัติการกับกรมฝนหลวงฯ ส่วนเครื่องบินอื่นๆ ยังไม่มีการดัดแปลง จึงมาร่วมไม่ได้
    ในส่วนของการทำฝนหลวง เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา สามารถทำให้ฝนตก 23 จังหวัด ถือว่าประสบผลสำเร็จ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่การเกษตรประสบภัยแล้ง โดยหลายพื้นที่มีฝนตกเฉลี่ย 5-20 มิลลิเมตร และภารกิจเติมน้ำเขื่อน ส่งผลให้เขื่อนขนาดกลางมีน้ำเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีน้ำใช้การต่ำกว่า 30% จำนวน 170 แห่ง ลดเหลือ 167 แห่ง.
  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"