‘บิ๊กตู่’ลั่นไม่ลาออก เปรียบกระท้อนยิ่งทุบยิ่งหวาน/สส.เมืองช้างเชียร์ลั่น


เพิ่มเพื่อน    

 ”เด็กเพื่อไทย” เมืองช้างพาเหรดต้อนรับ “ประยุทธ์” พร้อมยกมือเชียร์ให้อยู่ยาวเกิน 4 ปี! พร้อมจวกพวกลงชื่ออภิปราย “ลุงตู่” ขานรับบอกไม่มีลาออกแน่นอน เปรียบเป็น “กระท้อน”  ยิ่งถูกทุบยิ่งหวานอร่อย “หญิงหน่อย” ย้ำเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณถ้าลดอคติจะมีแนวทางแก้ไข อนค.ขู่ยื่นเรื่อง ป.ป.ช.หากยังหนีกระทู้สด “ลุงป้อม” ปูดยินดีอ้าแขนรับ “เฮียมิ่ง” ร่วมรัฐบาล

    เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  พร้อมคณะได้ลงตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ โดยที่สุรินทร์มีนักการเมืองทั้งจากซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านมารอต้อนรับอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งนายกฯ ได้ถ่ายภาพกับ ส.ส.ที่มาต้อนรับ โดยนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย (พท.) พูดว่า “ยกมือให้นายกฯ ล้านเปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีการลงชื่อขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ผมยังบอกว่าลงทำบ้าอะไร พวกมึงบ้าหรือเปล่า เขายังไม่ทำอะไรไปลงชื่อกันแล้ว ไปดูได้เลยไม่มีชื่อผม” 
จากนั้นนายกฯ ได้หันมาถามนายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล ส.ส.สุรินทร์ พรรค พท.ว่าได้ลงชื่อกับเขาหรือเปล่า และถ้ารัฐบาลนี้ไม่ผ่าน รัฐบาลเก่าได้กลับมา ซึ่งระหว่างนั้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ  และ รมว.สาธารณสุข ได้กล่าวพร้อมกับหัวเราะว่า คสช.กลับมา นายตี๋ใหญ่ตอบว่า "นายกฯ อย่ายุบสภานะ อยู่ให้เกิน 4 ปีนะ" ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่าจะยุบได้ยังไง ยังไม่ทันได้ทำงานเลย ก่อนเดินไปดูการผลิตน้ำประปาและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่
    จากนั้นเวลา 14.30 น. คณะนายกฯ ได้เดินทางมาติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่ จ.บุรีรัมย์ โดย  พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับผู้มาต้อนรับว่า "พูดก็เหนื่อยเหลือเกิน พอทำเหนื่อยกว่าอีก เหนื่อยมา 5 ปีแล้วนะ เดี๋ยวจะหาว่ามาบ่น ไม่ได้มาบ่น เขาบอกว่าบ่นมากก็ให้ออกไปซิ แหม่ทำไมใจร้ายกันจริงๆ วันนี้เรามาช่วยทำงานในรัฐบาลใหม่ ไม่ได้บ่นอย่างนั้น แต่บางทีบ่นตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวกับใครเลยสักคน" 
จากนั้นนายกฯ ได้ถามขึ้นว่า “มีใครอยากให้นายกฯ ลาออกบ้างยกมือ ที่นี่ไม่มี แต่มีที่อื่น ผมยังไม่ลาออกแน่นอน ไม่มีลาออก เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมเหมือนกระท้อน ยิ่งทุบยิ่งตี ยิ่งอร่อย ยิ่งหวาน ผมชอบ”
    นายกฯ กล่าวว่าช่วงนี้เป็นช่วงปลายปีงบประมาณ ซึ่งกำลังพิจารณางบประมาณปี 2563 ที่อาจล่าช้าไปถึงเดือน ม.ค. เรื่องการเมืองก็เดินหน้าไปตามขั้นตอน อาจเสียเวลาอยู่บ้างช่วงนี้ แต่ไม่ได้ระงับการจ่ายอะไร ฉะนั้นอะไรที่ทำให้ได้ก็จะทำให้ พูดแล้วเจ็บท้องเพราะพูดแต่เช้า พรุ่งนี้ก็มีการประชุม  ครม. มีหลายเรื่องต้องนำเข้า ครม. เพราะ 2 สัปดาห์นี้เป็นช่วงปลายปีงบประมาณ เวลาก็จำกัด ฉะนั้นต้องผูกพันงบประมาณให้ได้ ถ้าพูดว่าต้องการแต่ไม่เข้าใจระเบียบงบประมาณ ไม่เข้าใจวิธีการเงินการคลัง บอกเลยทำไม่ได้ทั้งหมด เพราะถ้าทำไปก็อันตราย หากมีการตรวจสอบทุจริต ครม.ก็จะกระทบ ไม่อยากให้ ครม.ล้มไปแบบนั้น ต้องมีกระบวนการคิดเหมือนต่อเลโก และขอคนไทยอย่าทำลายศักยภาพ  อย่าทำประวัติศาสตร์ ประเทศจะวุ่นวายไปหมด จำใจลาด้วยน้ำตา เสียดายไม่ได้เป็นลูกเขยบุรีรัมย์ แต่แต่งงานแล้ว แก่แล้วด้วย
    จากนั้นนายกฯ ได้เดินทักทายและถ่ายรูปร่วมกับประชาชน พร้อมตะโกนถามว่าสู้ไหม สู้แค่ไหน  โดยมีชาวบ้านตะโกนกลับว่าสู้ๆ สู้แค่ตาย 
       ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ปฏิเสธตอบคำถามหลังถูกฝ่ายค้านโจมตีที่ยกกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ไปตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการเดินทางไปโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ (อนันตรา สยาม กรุงเทพ) เทียบกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ไปตอบกระทู้เรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณ พร้อมระบุว่า ผู้สื่อข่าวเองก็ทราบดีว่าที่ถูกโจมตีนั้นเป็นเพราะอะไร สื่อมวลชนไม่สงสัยบ้างหรือว่าเป็นเพราะสื่อมวลชนนั่นเอง
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค พท.กล่าวถึงกรณีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าอาจไม่สามารถบรรจุญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีนำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบในเดือน ส.ค.นี้ เพราะติดประชุมรัฐสภาอาเซียน ว่าถ้าเห็นเรื่องนี้เป็นปัญหา และเห็นว่ารัฐธรรมนูญได้เปิดช่องให้ใช้ช่องทางรัฐสภา และเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาจริง  การประชุมรัฐสภาอาเซียนจึงไม่น่าเป็นอุปสรรค เราสนับสนุนให้ประชุมรัฐสภาอาเซียน และหารือในเรื่องดังกล่าวนี้ซึ่งสามารถจัดวันประชุมได้
หญิงหน่อยแนะลดอคติ
    “ฝ่ายค้านไม่ได้คิดเอาเป็นเอาตายเรื่องลงมติ ยืนยันว่าเป็นเจตนาดีของฝ่ายค้าน และหากเราเป็นนายกฯ ก็จะใช้เวทีนี้แก้ไข ดังนั้นจึงอยากให้ทบทวนใหม่และตัดอคติทิ้งไป ก็จะมองเห็นว่าสิ่งที่ฝ่ายค้านเสนอเป็นทางออกให้รัฐบาลและนายกฯ เพื่อให้ทำถูกต้องตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาเอง” คุณหญิงสุดารัตน์ระบุ
    นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองโฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวเรื่องนี้ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรคจะตั้งกระทู้ถามทั่วไป และในการประชุมสภาวันที่ 21 ส.ค.นี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล  เลขาฯ พรรค อนค.จะยังยื่นกระทู้และยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ยอมตอบก็จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนประเด็นที่นายวิษณุมองว่าการอภิปรายในสภาจะเป็นการชี้นำศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น มองว่าไม่ได้เป็นการชี้นำหรือเป็นผลผูกพันในการพิจารณาของศาล แต่หากศาลจะนำข้อมูลไปใช้เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาก็ได้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์จำเป็นต้องเข้ามาตอบคำถามในสภาอยู่ดี
    สำหรับความเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายณัฐชากล่าวว่า ในวันที่ 20 ส.ค.พรรคจะจัดกิจกรรมภายใต้แคมเปญ "จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่" ซึ่งเป็นการจัดขึ้นครั้งที่ 2  ใน จ.สงขลา
ส่วนที่ห้องประชุมโรงแรมเลยพาวิลเลียน จ.เลย ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญสร้างสรรค์: รัฐธรรมนูญไทย ธรรมนูญไทเลย" เพื่อหาแนวทางร่วมและรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ของ 7  พรรคฝ่ายค้าน โดย น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ยึดโยงกับประชาชน นี่คืออุปสรรคชิ้นใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งกฎหมายร่างโดยใครก็จะรับใช้คนนั้น ดังนั้นประชาชนควรจะร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญเพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศนี้ รัฐธรรมนูญที่ดีต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ง่าย และจะลดปัญหาการฉีกรัฐธรรมนูญ
“ตอนนี้เราต้องสร้างกระแส ทำให้ภาคประชาชนสนใจว่าทำไมจึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ ต่อจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการโดยใช้สภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. อาจใช้เวลานานแต่เชื่อว่าคุ้มค่า เพราะจะได้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง” น.ส.พรรณิการ์กล่าว
    ดร.รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ (พช.) กล่าวว่า อยากเสนอแนะทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือประชาชนมาร่วมมือกันออกจากกับดักความขัดแย้ง ด้วยการร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับประชาชนอย่างแท้จริง และจะวิน-วินทุกคน ส่วนข้ออ้างเรื่องแก้ไขปัญหาปากท้องก่อนค่อยมาดูเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ที่นายกฯ เคยพูดไว้นั้นสามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ส่วนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่กระทบอะไรกันเลย
    “หากจะรอความหวังจากฝ่ายการเมืองคงปิดประตูไปได้เลย จึงเห็นเพียงโอกาสและความหวังเพียงอย่างเดียว คือภาคประชาชนที่ต้องเป็นผู้นำ เพื่อสร้างพลังและแรงกดดันไปยังฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลและ ส.ว.ทั้ง 250 คน ในการชูธงเขียวเพื่อนำพาประเทศออกจากกับดักความขัดแย้ง คืนประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับมา”
    วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการเข้าพรรคในวันที่ 20 ส.ค.เพื่อฟอร์มทีมยุทธศาสตร์พรรคว่า ยังไม่ได้ฟอร์มทีม ยังไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะยังไม่ได้เข้าพรรค ให้เข้าไปก่อน เพราะยังไม่รู้ว่าพรรคเป็นอย่างไร และยังไม่ได้วางเรื่องที่จะพูดคุยในวันที่ 20 ส.ค. 
ปูด 'เฮียมิ่ง' ซบรัฐบาล
    เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่ของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ จะเข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ยังไม่ได้เจอนายมิ่งขวัญ ยังไม่ได้พูดคุย ไม่ได้ดีลอะไรกัน และยังไม่รู้ว่าเขาจะมาทั้งหมดหรือมากี่คน แต่ถ้ามาร่วมก็ดี ส่วนจำเป็นหรือไม่ที่ต้องหาเสียงมาเติมให้ฝ่ายรัฐบาลนั้น  ไม่เป็นไร คุณคิดอย่างไรก็ว่าไปอย่างนั้น ส่วนต้องกำชับ ส.ส.ให้เข้าประชุมสภาเพื่อป้องกันเรื่องเสียงปริ่มน้ำหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของพรรค ให้พรรคเขาจัดการ"
    มีรายงานจาก พปชร.แจ้งว่า ในวันที่ 20 ส.ค. พล.อ.ประวิตรจะเดินทางเข้าที่ทำการพรรคเพื่อเป็นประธานการประชุม โดยคณะทำงานยุทธศาสตร์พรรคจะประชุมสัปดาห์ละครั้งในทุกวันอังคาร ตามด้วยการประชุม ส.ส.พรรค ซึ่งภารกิจหลักของคณะทำงานยุทธศาสตร์พรรคมีหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างพรรคกับสมาชิกและประชาชน คอยทำงานเชิงปฏิบัติการเช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายฐานเสียงและเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในอนาคต ซึ่งโครงสร้างคณะทำงานยุทธศาสตร์พรรคที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นประธานนั้น จะมีนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค รวมทั้งอาจมีรัฐมนตรีบางคนมาเป็นที่ปรึกษา ขณะที่นายอนุชา นาคาศัย  ส.ส.ชัยนาท เป็นรองประธาน และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นเลขานุการ คอยประสานผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
    ส่วนที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดสัมมนาทบทวนผลการดำเนินการสร้างพลเมือง (Big Forum) โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต  บรรยายพิเศษเรื่อง "คุณภาพพลเมืองดี : พลังแห่งความสำเร็จในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" โดยตอบชี้แจงถึงคำถามว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งนายบวรศักดิ์กล่าวว่า มันขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามประชาธิปไตยว่าอย่างไร เวลานี้นักวิชาการก็นิยามไม่เหมือนกัน ยังถกเถียงกันอยู่ แต่ที่พูดกันมากก็คือ หมายถึงการบริหารงานหรือการดำเนินการอะไรก็ได้ เพื่อประชาชน ถ้าให้ดีก็คือโดยประชาชนด้วย ซึ่งถ้าถามเรื่องประชาธิปไตยก็จะมีเกณฑ์หลักๆ คือ 1.อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน 2.มีการเลือกตั้งเป็นระยะและเป็นการเลือกตั้งที่ฟรีแอนด์แฟร์ 3.ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเสมอภาค และ 4.พรรคการเมืองมีหลายพรรค 
“ถ้าดู 4 ข้อนี้ เมืองไทยก็เป็นประชาธิปไตย แต่ที่เถียงกันอยู่ในขณะนี้มีประเด็นอื่นเข้ามาพัวพัน  อย่างฝ่ายค้านก็บอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญเขียนขึ้นมาเพื่อเอื้อคนกลุ่มหนึ่ง แต่ฝ่ายรัฐบาลก็บอกว่าถ้าไม่เป็นประชาธิปไตย ทำไมฝ่ายค้านจึงได้เสียงในการเลือกตั้งมาก ซึ่งคิดว่าถ้าเราประเมินด้วยเกณฑ์ขั้นต่ำมันก็เป็นประชาธิปไตย แต่ถามว่ามันเป็นประชาธิปไตยที่ควรเป็นแบบอย่างหรือไม่ มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง" นายบวรศักดิ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"