นายไม่อ่าน..นายจะรู้อะไร?


เพิ่มเพื่อน    

    วันก่อนผมเห็นการรณรงค์ให้อ่านหนังสือของ "ซีเอ็ด" อ้างประโยคทองว่า
    "คุณไม่อ่านหนังสือ คุณจะรู้อะไร"
    ทำให้ผมคิดถึงอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ขึ้นมาทันที เพราะท่านได้กล่าวถ้อยประโยคเด็ดๆ เอาไว้ให้คนไทยเยอะ
    ผมจึงค้นหาเพื่อจะรวบรวมคำสั่งสอนของท่านที่เกี่ยวกับการอ่านและความพยายาม ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มักจะเรียกลูกศิษย์ทุกคนว่า "นาย" และมักจะสั่งสอนลูกศิษย์ที่ขี้เกียจขวนขวายว่า 
    "นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร"
    -ศิลป์ พีระศรี ให้โอวาทแก่ สนิท ดิษรพันธ์ เมื่อเรียนสำเร็จจิตรกรรมคนเดียวในปีนั้น 
    "อย่าถือว่าเราเป็นคนเก่ง ต้องศึกษาเล่าเรียนอีกมาก ฉันเองก็ยังศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา" 
    -ศิลป์ พีระศรี กล่าวกับคนอื่นๆ และสมเกียรติ หอมเอนก 
    "ในบรรดาศิลปะด้วยกัน ดนตรีเป็นสิ่งเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้มากที่สุด เมื่อเรามีนักดนตรีที่มีความสามารถสูงมาบรรเลงในบ้านเรา เราก็ใคร่จะให้ญาติสนิทมิตรสหายได้มาร่วมเสพสุนทรียรสกับเราด้วย"  
    -ศิลป์ พีระศรี กล่าวกับนักเรียนศิลปะที่เพิ่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปากรในวันแรก 
    "พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน...แล้วจึงเรียนศิลปะ"  
    -ศิลป์ พีระศรี กล่าวกับลูกศิษย์คนหนึ่ง
    "ทุกคนมีความงาม นายต้องค้นให้พบ...แม้แต่คนที่ขี้ริ้วขี้เหร่ที่สุด ก็อาจจะมีความงามที่แอบซ่อนอยู่  อาจจะเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือฟัน หรือแม้แต่จิตใจที่งดงามก็ตาม นายต้องค้นให้พบ..."  
    ที่ผมติดตรึงใจเป็นพิเศษคือ คำสั่งสอนของท่านที่ให้คนไทยต้องอ่านหนังสือมากๆ เพราะการอ่านทำให้เกิดสติปัญญาและความคิดความอ่านที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย
    เป็นประเด็นสำคัญในยุคดิจิทัลที่บางคนอ้างว่าคนมีสมาธิสั้นลง อ่านหนังสือน้อยลง แต่ผมกลับเชื่อว่าหากเราเข้าใจความเป็นไปของเทคโนโลยีจริงๆ เรากลับต้องเชื่อว่ามันช่วยให้เราสามารถหาอ่านอะไรได้มากขึ้นกว่าเดิมมากทีเดียว อยู่ที่เราจะสามารถนำมาใช้ให้เราอ่านมากขึ้น ฉลาดขึ้น และตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุผลดีกว่าเดิมหรือไม่
    ผมอ่านบทความเรื่อง "ประโยชน์ของการอ่าน" จากเว็บไซต์ JobThai เมื่อเร็วๆ นี้ เห็นว่าสอดคล้องกับเรื่องการอ่านจึงขออนุญาตนำมาเล่าต่อที่นี่อย่างนี้
     1.ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง
    สมองก็ต้องการการออกกำลังเพื่อให้แข็งแรงและมีสุขภาพดีอยู่เสมอเช่นเดียวกับร่างกาย การอ่านหนังสือเป็นเหมือนกับการออกกำลังสมอง ทำให้สมองของเราได้คิดและได้ทำงานตลอดเวลา ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการกระตุ้นการทำงานของสมอง (Mental Stimulation) อย่างสม่ำเสมอจะช่วยชะลอและป้องกันการเป็นโรคอัลไซเมอร์ และช่วยพัฒนาเรื่องการจดจำได้ เช่น เมื่อคุณอ่านหนังสือคุณก็ต้องจดจำตัวละคร ความเป็นมาของเรื่องราวและรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ซึ่งทุกครั้งที่มีความทรงจำใหม่ๆ สมองก็จะเก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้ และเรียกกลับมาเมื่อเราต้องการใช้งาน ยิ่งอ่านหนังสือมากสมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจดจำก็จะได้ทำงานมาก
    2.ความเครียดลดลงและจิตใจสงบมากขึ้น
    เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณจมอยู่กับการอ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม ความเครียดจากงานหรือปัญหาส่วนตัวต่างๆ ที่คุณเจอมาจะถูกลืมไปทันที การอ่านนิยายสนุกๆ จะพาให้คุณได้เข้าไปอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่ง  ขณะที่การได้อ่านบทความดีๆ สักบทความ ก็จะทำให้คุณจดจ่ออยู่กับเวลาในขณะนั้นและลืมความกังวลต่างๆ ไป นอกจากจะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายแล้ว การได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาสามารถช่วยให้คุณรู้สึกสงบอีกด้วย 
    3.ได้รับความรู้
    ทุกอย่างที่คุณอ่านจะเป็นการเพิ่มเติมความรู้ให้คุณทั้งสิ้น ซึ่งคุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคุณอาจจะต้องนำความรู้เหล่านั้นออกมาใช้เมื่อไหร่ ยิ่งคุณมีความรู้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้คุณได้เปรียบมากขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ สิ่งของหรือเงินทองอาจถูกขโมยไปได้ แต่ความรู้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถเอาไปจากคุณได้
    4.มีคลังคำศัพท์ที่มากขึ้น มีทักษะการสื่อสารที่ดีขึ้น
    ยิ่งคุณอ่านหนังสือมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีคลังคำศัพท์เพิ่มมากเท่านั้น และคำศัพท์เหล่านั้นก็จะถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ งานเขียนดีๆ จะส่งผลต่อการเขียนของคนที่ได้อ่าน  การได้ซึมซับวิธีและสไตล์การเขียนของนักเขียนคนอื่นๆ จะช่วยให้คุณพัฒนาทักษะการเขียนของคุณเองในการทำงาน คนที่มีความสามารถในการอ่านและพูดและมีความรู้ที่หลากหลาย มีความเป็นไปได้ที่จะเจริญเติบโตในหน้าที่การงานมากกว่าคนที่ไม่ค่อยรู้จักคำศัพท์และมีความรอบรู้ในเรื่องต่างๆ น้อย นอกจากนั้นการอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศยังช่วยในการเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ อีกด้วย เพราะคุณจะได้คำศัพท์ใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้พูดและเขียนภาษานั้นได้คล่องขึ้น
    5.มีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์
    คุณเคยอ่านหนังสือนิยายแนวสืบสวนสอบสวน แล้วคิดแก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตัวเองก่อนที่จะอ่านหนังสือจบหรือไม่ การเก็บรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องแล้ววิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือหาตัวคนร้ายได้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้ทักษะด้านการคิดเชิงวิเคราะห์ การวิจารณ์นิยายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวพล็อตเรื่อง คาแรกเตอร์ตัวละคร ความลื่นไหลของเนื้อเรื่อง รวมถึงการแสดงความคิดเห็นกับคนอื่นๆ เกี่ยวกับหนังสือเล่นนั้นๆ ก็เป็นการช่วยพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ได้เช่นกัน
    6.มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้มากขึ้น
    ในโลกที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของเราแบบทุกวันนี้ มีเรื่องต่างๆ มากมายที่ดึงดูดความสนใจของเราพร้อมกันในเวลาเดียว หลายคนสามารถทำงาน เช็กอีเมล แชตกับเพื่อน  อ่านสเตตัส ดูโทรศัพท์มือถือ และพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานได้ภายในเวลาเพียงแค่ 5 นาที ซึ่งการทำพฤติกรรมแบบนี้จะทำให้ความสามารถในการทำงานของเราลดลง และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดได้ แต่เมื่อคุณได้อ่านหนังสือ คุณก็จะให้ความสนใจและโฟกัสไปที่เรื่องราวในหนังสือเท่านั้น ก่อนเริ่มทำงานลองหาเวลาอ่านหนังสือสัก 15-20 นาที แล้วคุณจะพบว่ามันสามารถช่วยให้คุณมีสมาธิมากขึ้นเมื่อถึงเวลาทำงาน 
    7.ให้ความบันเทิง
    การอ่านหนังสือเป็นวิธีสร้างความบันเทิงให้ตัวเองวิธีหนึ่ง หลายคนมีความสุขกับการได้ซื้อหนังสือ  แต่บางคนนั้นการไปยืมหนังสือมาจากห้องสมุดเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะห้องสมุดมีหนังสือมากมายหลากหลายประเภทให้คุณได้เลือกอ่านโดยไม่ต้องเสียเงินจำนวนมากในการซื้อ และห้องสมุดมักจะนำหนังสือใหม่ๆ เข้ามาเสมอ อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่สะดวกในการที่จะไปห้องสมุด คุณก็สามารถอ่านหนังสือผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้ เพราะทุกวันนี้หนังสือหลายเล่มมีการทำออกมาในรูปแบบของ e-book หรือ PDF ที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี
    สรุปว่าจงอ่านเถอะ ไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม อย่าให้เพื่อนมาบอกเราว่า
    "นายไม่อ่าน นายจะรู้อะไร?" เป็นอันขาด
    เพราะเป็นคำสบประมาทที่เจ็บปวดที่สุดทีเดียว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"