เที่ยวประเพณีโล้ชิงช้า สัมผัสวิถีชาวอาข่า.. เชียงราย


เพิ่มเพื่อน    

“ประเพณีโล้ชิงช้า” เป็นประเพณีที่สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีความงดงามและเรียบง่ายของชาติพันธุ์อาข่า ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ผูกพันอยู่กับการเกษตร เป็นงานซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองให้กับความงอกงามของพืชผลที่ลงมือปลูกไว้ ควบคู่กับการทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งสร้างความประทับใจให้ผู้ที่มีโอกาสได้ไปร่วมงานมากมาย

นางสาวกรุณา เดชาติวงค์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานเชียงราย เปิดเผยว่า ดอยแม่สลองกำหนดให้มีการจัดงานประเพณีโล้ชิงช้า ประจำปี 2562 ขึ้น ระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน   บริเวณหน้าลานพระสยามเทวาธิราช บ้านสามแยกอีก้อ ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยมี ททท.ร่วมสนับสนุนและประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาสัมผัสเสน่ห์วิถีถิ่นของเมืองเชียงราย ทั้งจากงานประเพณีโล้ชิงช้าและแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในพื้นที่ 

ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานเชียงราย กล่าวต่อว่า ประเพณีโล้ชิงช้าเป็นกิจกรรมประจำปีของชาติพันธุ์ชนเผ่าอาข่า เพื่อฉลองการเติบโตของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเป็นการบวงสรวงเซ่นไหว้บรรพบุรุษและเทพเจ้าแห่งสายฝนตามความเชื่อของชาวอาข่า ซึ่งบนดอยแม่สลองมีชาติพันธุ์อาศัยรวมกันกว่า 9 ชนเผ่า โดยมีเผ่าอาข่าอาศัยอยู่มากที่สุด

ภายในงานประเพณีโล้ชิงช้า นักท่องเที่ยวจะได้พบกับกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะวัฒนธรรมการแต่งกายที่สวยงามของชาวอาข่า ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา ผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งจะมาร่วมงานกันโดยพร้อมเพรียง

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของประเพณีการโล้ชิงช้า, มีการแสดงการเต้นกระทุ้งกระบอกไม้ไผ่ ที่เรียกว่า “บ่อ ฉ่อง ตุ๊ ”, มีการจัดแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ชนเผ่า และมีอาหารท้องถิ่นของชาวอาข่าให้ชิมกันหลากหลายชนิด

นอกจากมาร่วมชมประเพณีโล้ชิงช้าแล้ว นักท่องเที่ยวยังเดินทางไปเยือนแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงในจังหวัดเชียงรายได้ เริ่มจากในเขตดอยแม่สลอง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวจีนยูนนาน ปัจจุบันมีชื่อว่า หมู่บ้านสันติคีรี ตั้งอยู่ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,200 เมตร มีทัศนียภาพสวยงามและอากาศเย็นสบายตลอดปี และเป็นที่ตั้งของมีไร่ชาที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น ไร่ชาวังพุฒตาล, ไร่ชา 101 ฯลฯ


ไร่ชาดอยแม่สลอง


ชาวบ้านกำลังเก็บชา

 ยังมีสถานที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น “สวนแม่ฟ้าหลวง” เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาวที่มีความสวยงาม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.30-18.00 น. เดินทางจากตัวเมืองเชียงรายใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (เชียงราย-แม่สาย) ระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางแยกซ้ายไปพระตำหนักดอยตุง เป็นระยะทางอีก 17 กิโลเมตร

 “ดอยผาหมี” ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สาย ใกล้ๆ กับร้านจันกะผัก โดดเด่นในเรื่องกาแฟและวิถีชีวิตชาวอาข่า และเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่อยู่ในความทรงจำของชาวบ้านว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเคยเสด็จฯ มาเยี่ยมเยือน ช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 “ดอยผาฮี้” ตั้งอยู่ในบ้านผาฮี้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่สามารถเดินชมบรรยากาศรอบหมู่บ้านได้แบบสบายๆ    

จากนั้นไปเยือน “วัดหิรัญญาวาส” อยู่ที่บ้านเหมืองแดงน้อย ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย ไปชม "พระสิงห์สานชนะมาร” พระพุทธรูปสานปางมารวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หน้าตักกว้าง 9.9 ศอก สูง 19 ศอก สานด้วยไม้ไผ่ทั้งองค์ ลักษณะเป็นพระสิงห์หนึ่งเชียงแสน ศิลปะแบบล้านนา ใช้ไม้ไผ่ทั้งหมด 39,000 ท่อน ใช้เวลาสร้าง 99 วัน

ต่อด้วยการไปเยือน “บ้านปางห้า” อำเภอแม่สาย เป็นหมู่บ้านที่โดดเด่นทางด้านวิถีชีวิตชนเผ่า ที่นี่มีการทำเทียน มีโฮมสเตย์บ้านพัก และมีการสอนทำกระดาษสา

ยังมี “ดอยสะโง้” ตั้งอยู่ที่อำเภอเชียงแสน ห่างจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 54 กิโลเมตร ขึ้นไปได้เฉพาะรถกระบะและมอเตอร์ไซค์เท่านั้น สำหรับรถตู้หรือรถเก๋งต้องจอดไว้ข้างล่าง แล้วใช้บริการรถท้องถิ่นของชุมชน ด้านบนเป็นจุดชมทิวทัศน์ผ่านทะเลหมอก แบบ 360 องศา ของพื้นที่ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว และเมียนมา พร้อมชมความสวยงามของธรรมชาติบนยอดดอย และสัมผัสวิถีชีวิตของชาวอาข่า

จากนั้นอาจเลือกปิดทริปด้วยการไปเยือน “สามเหลี่ยมทองคำ” อำเภอเชียงแสน จุดเชื่อมต่อระหว่าง 3 ประเทศคือ ไทย ลาว เมียนมา ที่มีความรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจการค้าขายที่น่าสนใจ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย โทร. 0-53 71-7433, 0-5374-4674-5

สรณะ รายงาน

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"