คำถามเรื่องมนุษย์กับ AI ที่ประเทศไทยต้องหาคำตอบร่วมกัน


เพิ่มเพื่อน    

       เมื่อวานผมได้เขียนถึงงานวิจัยว่าด้วย "มนุษย์กับ AI" ของทีมวิจัยที่นำโดย ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต ว่าด้วยการพยากรณ์ถึงอนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์จะเป็นเช่นไร

                งานวิจัยแบ่งฉากทัศน์หรือ scenarios เป็น 3 ช่วง ช่วงแรกคือ

                ช่วงที่ 1 การพัฒนา AI (Evolving with AI) ค.ศ.2020-2029

                ช่วงที่ 2 ทำงานร่วมกับ AI (Work with AI) ค.ศ.2030-2059

                และช่วงที่ 3 การอยู่ร่วมกับ AI (Living with AI) ค.ศ.2050-2560 ช่วงนี้ความสามารถของ AI  มากกว่ามนุษย์เป็นพันเท่า

                เมื่อวานผมได้อ้างถึงข้อมูลของ 2 ช่วงแรกแล้ว วันนี้อ่านดูว่าช่วงที่ 3 คณะวิจัยทำนายไว้อย่างไร

                ช่วงที่ 3 Living with AI ค.ศ.2050-2560

                การพัฒนา AI ก้าวหน้าไปถึงขั้นมีความสามารถเหนือมนุษย์เป็นพันเท่า สามารถทำงานแทนแรงงานมนุษย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ มนุษย์อาจจะไม่ต้องทำงานมาก เพราะการจ้างงานมนุษย์มีต้นทุนสูงกว่า AI

                แม้ว่า AI ทำงานแทนคนได้ แต่แรงงานมนุษย์ก็ต้องมี Skill Set อีกรูปแบบเพื่อให้การใช้ชีวิตที่มี AI  ทำงานแทนคนในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป

                ตัวอย่างเช่น การทำงานร่วมกันเป็นแบบ Virtual ใช้โปรแกรมมิงและอัลกอริทึมเป็นหลัก จะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น อาชีพที่ปรึกษาด้านปรัชญา (Philosophical Consultant) นักออกแบบห้องเสมือนจริง (Virtual Room Design) นักออกแบบอาชีพ นักออกแบบเวลาว่าง เป็นต้น

                จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้บริหาร (Top Visionary) ในองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะแรงงาน พบว่าในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญมองเทียบกับบริบทแบบไทยๆ ว่า การแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ช่วงเวลาดังเช่นการศึกษาวิจัยครั้งนี้กำหนดขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่มองในระยะยาวเกินไป  เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกปัจจุบันเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น

                สำหรับช่วงเวลาแรกคือ Evolving with AI เป็นช่วงของการพัฒนา AI ประเทศไทยสามารถอยู่ในช่วงนี้ได้ ส่วนอีกสองช่วงเวลานั้นยังไกลเกินกว่าจะคาดการณ์ได้ 

                ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งระบุว่า ช่วงของการทำงานร่วมกันกับ AI (Work with AI) และการใช้ชีวิตร่วมกับ AI (Living with AI) สามารถเกิดขึ้นควบคู่กันไปได้ ไม่สามารถแยกออกได้ชัดเจน

                กรณีของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาดังกล่าวคงมาช้ากว่าต่างประเทศ และชุดทักษะที่เกี่ยวข้องกับผู้สร้าง AI เป็นไปได้น้อยมาก บริษัทที่สร้าง AI มีน้อย เราเป็นผู้ใช้ AI มากกว่า  ขณะที่ชุดทักษะของไทยอาจยังไปได้ไม่ถึงดังเช่นต่างประเทศ 

                ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทักษะที่ควรจะมีในปัจจุบันนี้ ประกอบด้วย

                -ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เข้าใจเทคโนโลยี ความสามารถบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่  ความคิดสร้างสรรค์นำข้อมูลไปใช้งานให้เกิดประโยชน์เชิงธุรกิจ

                -การใช้เครื่องมือด้านดิจิทัล ใช้ AI ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ (Digital Skills) เป็นคนเปิดรับเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เปิดใจกว้าง

                -การวิเคราะห์เชิงปริมาณและทักษะทางสถิติ (Quantitative Analytical and Statistical Skills) จะใช้ AI ซึ่งต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องข้อมูล (Data) และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

                -การเตรียมความพร้อมในการปรับตัวทั้งรูปแบบการทำงาน ความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง  (Mindset) และเรียนรู้ตลอดเวลา (Lifelong Learning) เนื่องจากแต่ละช่วงอายุ Upskill และการ Reskill  ที่แตกต่างกัน

                -ทักษะการจัดการคน (People Management Skill) เนื่องจากปัจจุบันและอนาคตต้องมีการทำงานเป็นทีมมากขึ้น เยาวชนในยุคปัจจุบันต้องรักษาสมดุลระหว่าง Hard Skill และ Soft Skill รวมถึงความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence)

                -โคดดิง (Coding) เป็นการฝึกตรรกะในการคิด ระบบ กระบวนคิด เมื่อโตขึ้นจะสามารถพัฒนาเป็นการเขียนโปรแกรมก็จะเข้าใจมากขึ้น Coding จะเสริมสร้างเรื่องของการจัดการข้อมูลทางปัญญา (Cognitive Information Management)

                -เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech Literacy) การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาจากการเคลื่อนไหว (Motion)  ทั้งหลาย ข้อมูลในระดับยีนส์ ข้อมูลในระดับดีเอ็นเอ

                -ทักษะการใช้ข้อมูล (Data Skill) คือการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจการวางโครงสร้างข้อมูล สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและต่อยอดได้ เชื่อมโยงได้ 

                -ทักษะการมองโลก (Internationlization) ทักษะในการเห็นโลก และทำความเข้าใจกับโลก

                -รอยเท้าดิจิทัล (Digital Footprint) เยาวชนต้องเข้าใจ และตระหนักในการบันทึกสิ่งต่างๆ เป็นดิจิทัล ปลูกฝังพฤติกรรมการใช้ชีวิตบนดิจิทัลอย่างเหมาะสม

                -Soft Skill ทักษะที่ AI ยังไม่สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ เช่น AI ไม่เก่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก เช่น เวลามองคนแล้วไม่รู้ว่า หรือไม่เข้าใจว่าเขาเจ็บปวดหรือมีความเครียด เพราะ AI ไม่เข้าใจหรือถูกฝึกมาให้เข้าใจอะไรเกี่ยวกับความเครียด 

                นี่คือบางส่วนของงานศึกษาพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะ จาก ค.ศ.2020 ถึง 2060 ของ ดร.พณชิต และคณะ เพื่อให้เห็นฉากทัศน์ (Scenario)

                ตอนหนึ่งของการนำเสนอผลการศึกษา ดร.พณชิตตั้งเป็นคำถามถึงสถาบันการศึกษาว่าจะปรับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างไร ให้สามารถตอบสนองความต้องการของแรงงานและผู้ประกอบการ  เพื่อสร้างแรงงานที่พร้อมในการทำงานในอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากได้ เราสร้างเด็กวันนี้เพื่ออีก 10 ปีข้างหน้า แต่หลังจากนั้นเราก็จะช็อกว่าเด็กพวกนั้นไม่พร้อมโตต่อ

                "ประเทศเราพูดเรื่องอนาคตกันน้อย เราอยากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่เราพูดกันน้อยอีก 5-10 ปีข้างหน้า ประเทศเพื่อนบ้าน โลกนี้หน้าตาเป็นอย่างไร แล้วประเทศไทยหน้าตาจะเป็นอย่างไร

                งานวิจัยชุดนี้อย่างน้อยก็ทำให้ได้เห็นภาพอนาคต กระตุ้น ตั้งคำถามกับเรื่องนี้มากขึ้น หลักสูตรในมหาวิทยาลัยหากต้องปรับจะปรับไปในทิศทางใด ขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่มีการพูดถึงทักษะแรงงานในอนาคตเหล่านี้เลย"

                ดร.พณชิตย้ำว่าสิ่งที่เปลี่ยนยากที่สุดในประเทศนี้คือกฎหมาย เพราะปรับตัวช้ามาก ท่ามกลางโลกยุคใหม่ที่เส้นแบ่งเริ่มไม่ชัด 

                "วันนี้ไทยเข้ามาอยู่ในช่วงแรกเรียบร้อยแล้ว เราพยายามพัฒนาไปกับ AI อยู่ แต่ช่วงหลังจากนี้ ยากที่จะทำนายประเทศเราจะเข้าเมื่อไหร่ หรือยุค AI สังคมไทยพร้อมเมื่อไหร่ ส่วนคำถามที่ว่าอาชีพไหนจะถูกทดแทนด้วย AI มากที่สุด ผมตอบเป็นอาชีพไม่ได้ แต่ผมต้องถามกลับอาชีพนั้นของคุณ คุณให้คุณค่าอะไรกับอาชีพนั้นๆ จริง เช่นนักบัญชี หากยังทำซ้ำๆ AI ทดแทนได้แน่ หากเรายังหาคุณค่าตัวเองไม่เจอก็จะถูกทดแทนง่ายๆ ด้วย AI"

                คำถามของ ดร.พณชิต คนทั้งสังคมต้องช่วยกันหาคำตอบครับ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"