ไทยกับอนาคตของเอเชีย ในแนวคิด ‘บูรพาภิวัตน์’


เพิ่มเพื่อน    

               ในความเห็นของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในการนำเสนอแนวคิด "บูรพาภิวัตน์" ที่กำลังเป็นหัวข้อร้อนของนักคิดนักวิชาการฝรั่งหลายคนวันนี้ ไทยเราจะต้องปรับตัวให้ทันเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงด้วย

                ในบทความของ ดร.เอนกที่เคยเขียนเอาไว้ในเรื่องนี้ ท่านได้วางจุดยืนของประเทศไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ

                ผมขออนุญาตนำมาเล่าใหม่ ก่อนจะเล่าให้ฟังว่าหนังสือหลายเล่มของฝรั่งในประเด็น The Future  is Asia นั้นเป็นอย่างไร

                ไทยควรจะปรับตัวอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด? ดร.เอนกเคยเขียนเสนอไว้ว่า

                สถานการณ์โลกสมัยใหม่ ที่กล่าวมาเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมาก มากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน...ตอนสงครามเวียดนาม และยุคฝรั่งเที่ยวล่าอาณานิคมนั้น เราเป็น "ด่านหน้า" รับภยันตราย รับศึกสงคราม แต่ยุคนี้เราเป็นด่านหน้าเช่นกัน แต่เป็นด่านหน้ารับเงิน รับความเจริญ รับการท่องเที่ยว รับการเป็นศูนย์ลอจิสติกส์ของอาเซียน ของจีน-อินเดีย-อาเซียน ฉะนั้นจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนกรอบคิดครับ และนี่ก็คือประเด็นที่อยากเสนอ

                เวลานี้เราไม่ใช่ประเทศ "ชนบท" อีกแล้ว เรามีหลายเมืองที่เรียกว่าเป็น "มหานครหรือนครของโลก" ไปแล้ว เมืองอันดับ 1 ในเอเชีย-ปาซิฟิกในแง่มีผู้มาเยือนจากโลกมากที่สุดนั้นคือ กรุงเทพฯ ครับ  อันดับ 9 ก็คือภูเก็ต อันดับ 13 คือพัทยา เป็นต้น กรุงเทพฯ ที่เคยรังเกียจว่าแออัด รถติด สกปรก ที่เคยจำได้แต่เพียงว่าน้ำท่วม อากาศแย่ แต่เร็วๆ นี้ พออ่านผลสำรวจผู้มาเยือนปรากฏว่า กทม.ชนะครับ ได้รับ "ความนิยม" เหนือกว่าปารีส โตเกียว ปักกิ่ง สิงคโปร์ ฮ่องกง เพราะฉะนั้นเรา "ไม่ธรรมดา" เสียแล้ว  แต่เราไม่รู้ตัว เราเอาแต่ "วิพากษ์" และ "ดูเบา" บ้านเมืองเรามานานเหลือเกิน นานเกินไปหรือยังครับ

                ด้านการศึกษาของเราจึงต้องขยับรับความจริงใหม่อันนี้ ต้องทำให้ไทยยิ่งสอดคล้องกับโลก กับบูรพาภิวัตน์ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและบริการด้วย อาจต้องยอมรับก่อนเลยว่า คนไทยนั้นโดยทั่วไปไม่ได้เก่งเรื่องศาสตร์แข็ง แต่เก่งมากในเรื่องศาสตร์อ่อน เช่น ศิลปะ บริการ ร้องเพลง

                เราต้องสร้าง "หลั่นล้า... อีโคโนมี" ชิวๆ สนุกๆ ไม่ทุกข์ไม่โศก เราต้องใช้เรื่อง "หลั่นล้า" ให้เป็นเงินทอง เป็นสัมมาชีพให้ได้

                เราต้องจัดการศึกษาด้าน "หลั่นล้า" ให้มากขึ้น สอนให้เป็น เด็กไทยนั้นขนาดสอนแต่เรื่องวิชาการ ความ "หลั่นล้า" ของพวกเขายังโดดเด่นออกมาให้เห็นเสมอ

                "ปลาต้องอยู่ในน้ำ... มันถึงจะเป็นอัจฉริยะ อย่าเอามันมาปีนต้นไม้" ใครคนหนึ่งกล่าวเอาไว้ การศึกษาไทยก็เช่นกัน เราได้ยัดเยียดในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนเราให้เด็กเราหรือเปล่า? แค่ชวนคิดนะครับ เอาไปคิดกันต่อก็แล้วกัน แต่การศึกษาเพื่อ "หลั่นล้าอีโคโนมี" นั้น ต้องคิดเองสร้างเอง ลอกจากฝรั่งไม่ได้หรือได้น้อย การศึกษาฝรั่งที่เรารับมานั้น หัวใจของมันคือการป้อนคนให้กับเศรษฐกิจและสังคมอุตสาหกรรม  ไม่ใช่ "หลั่นล้าอีโคโนมี"

                โลกเราเข้าไปสู่ยุคที่เรียกว่า "ขายประสบการณ์และความอยู่ดีกินดี" หรือ Experience Economy  แล้ว ไม่ได้ซื้อแค่สินค้า ขายแค่สินค้า แต่ซื้อขายประสบการณ์ ซื้อขายความพึงพอใจ ฉะนั้น อาชีพที่เคยดูเบาว่าแค่ "เต้นกินรำกิน" เอาแต่เล่น ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า "หลั่นล้า" พวกนี้แหละจะกลายเป็นเงิน

                เราต้องมองให้เห็นโอกาส ต่อยอดจากโอกาส ไม่ใช่เห็นแต่ปัญหา ถ้าเห็นโอกาสจะไปไกลกว่า ทีนี้จะเห็นโอกาสได้ก็ต้องมองโลก มองประเทศในทางบวกเป็นหลัก ครูอาจารย์ต้องเห็นก่อน ลูกศิษย์จะได้มองเห็นตาม ผู้นำก็เช่นกันทุกชั้นทุกระดับต้องเห็นก่อน ผู้ตามหรือทีมจึงจะเห็นตาม

                ถ้าเห็นแต่ปัญหาโดยไม่รู้ตัว เราก็จะถูกพันธนาการไว้ด้วยปัญหา เป็นการมองโลกในแง่ร้าย ไม่ใช่มองโลกอย่างสมจริงและควรค่ากับความภูมิใจ เพราะความจริงในเวลานี้ด้านหลักของมันคือ "โอกาส"

                จะทำอะไรมันขึ้นอยู่กับวิธีคิดด้วยครับ ไม่ใช่แค่พอใจว่ามีข้อมูลหรือเปล่า พอหรือเปล่า อย่างเรื่องนักท่องเที่ยวจีนก็คิดได้หลายแบบ จะคิดว่า "เขาเสียงดัง แย่งกันกิน" ก็ได้ หรือจะคิดว่า "เขามาช่วยเรา  เอาเงินมาให้คนของเราและประเทศของเรา" ก็ได้ จะมองแบบไหนดี

                อย่ามองจีนและสหรัฐว่าเขายิ่งใหญ่ น่ากลัว แล้วเอาแต่หนี หรืออยากปิดประเทศ แต่ให้มองว่าเขาเป็น "ยักษ์ใหญ่" แต่เป็น "เพื่อน" กับเราก็ได้ อย่าลืมว่าสิงคโปร์นั้น "เล็กจิ๊ดจิ๋ว" เมื่อเทียบกับเรา แต่เขายังเอาประโยชน์จากทั้งจีนและสหรัฐได้อย่างสบายมาก

                ในยุคที่ความรุ่งเรืองมีแนวโน้มย้ายมาทางเอเชียและทางตะวันออกของโลกนั้น เราต้อง "ใจใหญ่"  และกล้า "คิดใหญ่" มากขึ้น ต้องฝึกให้คนรุ่นใหม่กล้าและเก่งมากขึ้น ส่วนคนรุ่นเก่าจำนวนไม่น้อยก็คิดและทำเพื่อเอาประโยชน์จากบูรพาภิวัตน์ได้

                คนส่วนน้อย--ไม่น้อยเท่าไร ต้องขอย้ำ--ที่ท้อแท้เหนื่อยหน่ายกับปัญหาภายในประเทศ แปลกแยกกับรัฐบาล กับชนชั้นนำ ก็ต้องค่อยๆ ชักจูง หรือเชิญชวนให้เขาเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาโดยอาศัยภูมิศาสตร์ที่ดียิ่งนี้ให้ได้ ค่อยๆ เปลี่ยน และวันหนึ่งเมื่อทุกฝ่ายได้มีบทบาทในการนำพาประเทศทั่วถึงขึ้น เขาย่อมจะระลึกได้ว่ามีอะไรดีๆ อีกมารอประเทศไทยอยู่.

                (พรุ่งนี้: ฝรั่งเขาว่าไง?)

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"