ตีตกปมตู่ถวายสัตย์ ศาลรธน.ชี้ไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรใด


เพิ่มเพื่อน    

 "ลุงตู่" เฮ! ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องปมถวายสัตย์ฯ ขัด รธน. ระบุเป็นความสัมพันธ์ฝ่ายบริหารกับพระมหากษัตริย์ ประกอบกับในหลวงได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่นายกฯ-ครม.แล้ว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรธน.ใด อดีตผู้พิพากษายก ม.211 ของ รธน. ชี้คำวินิจฉัยถือว่าเด็ดขาดผูกพันรัฐสภาญัตติฝ่ายค้านต้องยุติ แต่ "สุทิน" เดินหน้าอภิปรายต่อ อ้างเป็นหน้าที่ชอบธรรมของสภา "พิเชษฐ" เริ่มทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระ "มงคลกิตติ์" ปูดอีก 3 พรรคเล็กจ่อร่วมวงด้วย  

    เมื่อวันที่ 11 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องของนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า  การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน ไว้พิจารณาวินิจฉัย  
    โดยศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่า แม้นายภาณุพงศ์จะอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (1) บัญญัติว่า “การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 46 ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) การกระทำของรัฐบาล”  และมาตรา  46 วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าเป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ให้ศาลสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา” ซึ่งการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง  (Political Issue)  ของคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Government) ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47(1)  ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 46 วรรคสาม
    ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 ก.ค.62 เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน และต่อมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2562  เวลา  09.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย โดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์  ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล  การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด
    นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องในประเด็นเดียวกัน จากกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ครบถ้วน และการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเห็นว่า เป็นกรณีที่นายเรืองไกรกล่าวอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่กระทำการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 และมาตรา 162 ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นข้อเท็จจริงที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ดำเนินการหรือยุติไปแล้วก่อนที่นายเรืองไกรจะยื่นต่อศาลให้วินิจฉัย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด  
คำวินิจฉัยผูกพันรัฐสภา
    กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้
       ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และเมื่อมีคำสั่งไม่รับ
คำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป
    นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการพิจารณาต่อในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า  สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธนาธร  จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีการถือครองในธุรกิจสื่อบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด โดยศาลได้กำหนดวันนัดไต่สวนพยานบุคคลของศาลจำนวน 10 ปาก ในวันศุกร์ที่ 18 ต.ค. เวลา 09.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ
    ด้านนายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนหนึ่งระบุว่า  รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 211 วรรคสี่ บัญญัติว่าคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า "การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด" จึงผูกพันรัฐสภา ดังนั้นรัฐสภาจึงไม่อาจยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงจากนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ได้อีกต่อไป การที่สภาผู้แทนราษฎรนัดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงจากนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ในวันที่ 18 กันยายน 2562 จึงต้องยุติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
    แต่นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของสภาในการตรวจสอบเพื่อหาข้อยุติ เพราะการที่ศาลไม่รับพิจารณา ไม่ถือเป็นการชี้ถูกชี้ผิดหรือมีข้อยุติของปัญหาออกมา จึงเป็นหน้าที่ของสภาในการตรวจสอบและหาข้อยุติ ก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลเขากลัวการอภิปรายจะเป็นการชี้นำและละเมิดศาล เมื่อศาลไม่รับเรื่องไว้พิจารณาเช่นนี้ ก็เป็นหน้าที่ชอบธรรมของสภา ถือว่าเราสามารถอภิปรายเนื้อหาได้กว้างขึ้นกว่าเดิม
    นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติงในประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ครม.ต้องไปร่วมรับฟังและให้กำลังใจหรือไม่ ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องการให้กำลังใจ เพราะตามมาตรา 152 เป็นเรื่องการอภิปรายร่วมกับครม.ทั้งคณะ ดังนั้นจึงต้องไปร่วมรับฟังว่ามีอะไรพาดพิงหน่วยงานและกระทรวงที่รัฐมนตรีท่านใดรับผิดชอบหรือไม่ ขณะเดียวกันก็จะมีการยื่นญัตติในเรื่องงบประมาณด้วย
    "นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีการกำชับเรื่องอะไรเป็นพิเศษ แต่รัฐมนตรีทุกคนต้องเตรียมตัว หากมีการพาดพิงรัฐมนตรีท่านใด เจ้าตัวก็ต้องชี้แจง โดยจะมีหน่วยงานสนับสนุนข้อมูล เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานกฤษฎีกา และสำนักงานเลขาฯ ครม. โดยหน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยงานหลักในการไปร่วมให้ข้อมูลสนับสนุนให้ ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ก็อยู่ที่กระทรวง และคอยให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วย" นายเทวัญ กล่าว
ร้องคัดค้าน7ตุลาการ
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีการแจ้งที่ประชุม ครม.ว่าจะมีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ว่าเป็นการแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการ เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่รู้ว่าจะเป็นวันที่ 16 หรือ 17 ก.ย. ส่วนที่ ส.ส.บางคนอยากให้ประชุมวันที่ 16 ก.ย.นั้น นายกรัฐมนตรีไม่ขัดข้อง แต่วันดังกล่าวเป็นวันประชุมวุฒิสภา และจะเป็นวันสุดท้ายของวุฒิสภาในสมัยประชุมนี้ เขาจึงจะพิจารณาเรื่องที่ค้างคา ส่วนนายกฯ จะไปหรือไม่ ต้องถามนายกฯ เพราะตนไม่ทราบ กลัวว่าตอบไปแล้วเกิดไม่ไปขึ้นมา ส่วนที่มีการเล็งอภิปรายตนนั้น ไม่เป็นไร เมื่อส่งผู้ช่วยรัฐมนตรีไปนั่งแทนไม่ได้ ตนก็ต้องไปเอง 
    วันเดียวกัน น.ส.อุบลกาญจน์ อมรสิน ประธานองค์กรตรวจสอบการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม เปิดเผยว่า ได้ไปยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อคัดค้านมิให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 คน ซึ่งประกอบด้วย 5 คนแรก ได้แก่ นายนุรักษ์ มาประณีต, นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายชัช ชลวร, นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ซึ่งได้รับการต่ออายุโดยคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 23/2560 และ 24/2560 ลงวันที่ 5 เม.ย.2560 และวันที่ 20 เม.ย.2560 ตามลำดับ เพราะการออกคำสั่งดังกล่าว ถือเป็นชั้นเชิงทางกฎหมายในการโยกโย้เพื่อยืดอายุให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คนทำงานต่อไปได้จนกว่าจะมีกฎหมายลูกมาบังคับใช้ แต่เมื่อกฎหมายลูกคือ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ประกาศบังคับใช้ ก็กลับบัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่หมดวาระแล้วยังปฏิบัติหน้าที่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน 
    ส่วนอีก 2 คน ได้แก่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์และนายปัญญา อุดชาชน ซึ่งเคยทำงานให้กับแม่น้ำ 5 สายในยุค คสช. และเข้ามานั่งในตำแหน่งได้โดยวิธีการสรรหาหรือคัดเลือกตามที่ คสช.ได้ออกแบบไว้ ด้วยเกรงว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวอาจทำให้การพิจารณาหรือวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสียความยุติธรรมไป และอาจจะทำให้เข้าใจได้ว่าตุลาการดังกล่าวมีส่วนได้เสีย หรือกระทำการอันเป็นเหตุให้เกิดการสมประโยชน์ระหว่างกันและกัน เพราะผู้ตัดสินเป็นผู้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ต่ออายุและผู้ถูกฟ้องคดีคือพล.อ.ประยุทธ์ทำให้สังคมอาจจะเคลือบแคลงสงสัยในการพิจารณาและวินิจฉัยคดีสำคัญๆ 
    ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเอกชัย หงส์กังวาน และนายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ   แกนนำคนอยากเลือกตั้ง เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อขอให้พิจารณาและเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เนื่องจากรับนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) สมัครเป็นสมาชิกพรรค โดยนายเอกชัยกล่าวว่า นายไพบูลย์ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ กกต.ประกาศให้สิ้นสภาพ ต้องขาดการเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ไม่สามารถที่จะไปหาพรรคการเมืองอื่นสังกัดได้ การที่นายไพบูลย์อ้าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา  91 วรรค 4 ว่าการที่พรรคสิ้นสภาพเท่ากับการถูกยุบพรรคแล้ว ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร.นั้น เห็นว่าเข้าลักษณะของการควบรวมพรรค ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ในอายุของสภานี้ จึงเข้าลักษณะว่าพรรค พปชร.กระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา  92 เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้
     ที่รัฐสภา นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธรรมไทย (ปธท.) แถลงว่า วันนี้เป็นวันเริ่มต้นการทำหน้าที่ใหม่ในฐานะฝ่ายค้านอิสระ ถือเป็นมิติใหม่ทางการเมือง ให้ประชาชนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น สิ่งที่พรรคแถลงถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล มีคนติดตามเป็นล้านคน แสดงให้เห็นว่าการดำเนินการของพรรคเป็นสิ่งที่ได้รับการชื่นชม ภารกิจแรกของฝ่ายค้านอิสระคือ การตั้งตู้ ปณ ในรัฐสภา เพื่อรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ในการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการทุจริต จะเน้นการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลและทุกโครงการที่เป็นงบประมาณแผ่นดินตนมีความถนัดด้านงานอุตสาหกรรมจะเน้นตรวจสอบเรื่องนี้ 
ปูด 3 พรรคเล็กถอนตัว
    "หลังจากที่แถลงถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ยังไม่มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลติดต่อมา แต่ก่อนที่จะแถลงข่าวถอนตัว มีคนในรัฐบาลหลายคนโทรศัพท์มาหา แต่ได้แจ้งไปว่าไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้ว เพราะได้ดำเนินการตามมติพรรคไปแล้ว เพราะรับไม่ได้ที่เห็นพรรคประชาธรรมไทยเป็นตัวตลกทางการเมือง" นายพิเชษฐกล่าว
    นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า ขณะนี้ใครจะกินกล้วยต่อก็กินไป แต่ตนไม่ใช่เจ้าของฝูงลิง ไม่ได้สนใจ เพราะมีเงินซื้อกล้วยกินเองได้ แต่ในมุมของตนมองว่าไม่ใช่ฝูงลิง แต่เหมือนกับซ่องโจรไปปล้นสะดมแล้วเอาเศษเนื้อควายมาให้กิน ดังนั้นหากใครจะอยู่ต่อ ก็ปิดพรรคหนีไปเลยดีกว่า ใครกินปอดไม่ต้องมา หรือหาก ส.ส.คนใดรู้สึกอึดอัดให้มาอยู่ฝ่ายค้านอิสระ อย่าไปกลัวเขา ถ้ากลัวต้องกลัวไปตลอด แต่ถ้าไม่กลัว เขาจะกลัวเรา 
    "ดูแนวโน้มขณะนี้แล้วอาจมีฝ่ายค้านอิสระเพิ่มเติมอีก 3 พรรค ขอให้ไปถามพรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ ถ้าจะมาอยู่ร่วมกันเป็นฝ่ายค้านอิสระ ก็ต้องแถลงเป็นมติพรรคออกมา ไม่ใช่พูดปากเปล่า" นายมงคลกิตติ์กล่าว
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวถึงกรณีนายพิเชษฐ ถอนตัวจากพรรครวมรัฐบาลว่า เรื่องนี้ต้องคุยกัน เพราะเรามีพรรคหลายพรรค ตนต้องไปพูดคุยภายในพรรค พปชร.ด้วย ส่วนที่นายพิเชษฐระบุว่าเรื่องนี้เป็นมติพรรคประชาธรรมไทยไปแล้วก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวค่อยๆ คุยกัน เมื่อถามว่าคนประสานจะต้องเปลี่ยนจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ทำหน้าที่ประสานพรรคเล็กมาโดยตลอดหรือไม่ นายสนธิรัตน์กล่าวว่า เดี๋ยวค่อยคุยกัน ขอหารือกันก่อนเพราะเรื่องนี้เพิ่งเกิด
    นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวกรณีพรรคประชาธรรมไทยถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล ว่ายังเชื่อมั่นว่าพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะสามารถหาวิธีเจรจาพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลกันได้รู้เรื่อง ทั้งนี้ เป็นเรื่องปกติที่เวลาคนเราทำงานร่วมกันจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ถ้าได้จับเข่าพูดคุยทำความเข้าใจกัน เรื่องน่าจะจบได้ด้วยดี ซึ่งดูได้จากกรณีของตน ก็ยังอุตส่าห์จับมือกันได้ หลังจากผู้ใหญ่ได้มาพูดคุยกัน และพรรคชาติไทยพัฒนากับพรรคพลังประชารัฐยังมีการทำงานร่วมกัน และความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น จึงเชื่อว่ากรณีของพรรคประชาธรรมไทยน่าจะจบลงด้วยดีเช่นกัน และมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอมอย่างนั้นแน่นอน เพราะตอนนี้มีปัญหาที่สำคัญมากกว่าเรื่องการเมือง คือปัญหาปากท้องของประชาชน และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นเรื่องต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน 
     ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จากที่เห็นตามข่าวว่านายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคฝ่ายค้าน เสนอญัตติเพื่อขอศึกษาเรื่องนี้ แต่คงเป็นไปตามวาระปกติ ไม่ใช่เรื่องด่วน
    เมื่อถามว่า สามารถขอมติเลื่อนขึ้นเป็นวาระด่วนได้หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า แล้วแต่ที่ประชุมจะพิจารณา แต่วันที่ 13 ก.ย.นี้ เราจะพิจารณาญัตติด่วนที่ค้างอยู่จำนวนมาก ประมาณกว่า 100 เรื่อง ที่มีการเสนอตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ซึ่งตอนนี้ก็ยังพิจารณาไม่จบ แต่จะสิ้นสมัยประชุม จึงต้องนำมาพิจารณา
ชทพ.ยื่นญัตติแก้ รธน.
    นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) แถลงว่า ตนและคณะ ส.ส. พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ยื่นญัตติขอให้สภาพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อประธานสภาฯ  เนื่องจากเห็นว่าหลังจากรัฐธรรมนูญปี 60 มีผลบังคับใช้ได้เกิดปัญหาและข้อถกเถียงมากมาย แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติมาแล้ว แต่ก็เกิดการไม่ยอมรับของประชาชนบางส่วน เพราะในกระบวนการร่างกฎหมายขาดความคิดเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้าน ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้การแก้ไขทำได้ยากมาก เพราะถูกล็อกไว้ 7 ชั้น ดังนั้นในฐานะที่พรรคชาติไทยมีประสบการณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ซึ่งเป็นฉบับที่ประชาชนยอมรับ เพราะเกิดจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกฯ ตนจึงสนับสนุนให้นำแนวทางดังกล่าวมาผลักดันการเสนอญัตติต่อไป
    “ญัตติพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้กำหนดประเด็นหรือวางธงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 และเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะมีความแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เสนอญัตติไปก่อนหน้า และได้วางธงเอาไว้ เพื่อประโยชน์ทางการเมือง นักการเมือง และเพื่อความได้เปรียบของพรรคการเมือง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การแก้ไขมีความยากลำบาก” นายนิกรกล่าว
      นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน โพสต์เฟซบุ๊กสนับสนุนประชามติ เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญคืนอำนาจประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศโดยเร็ว ระบุว่า ประเทศไทยวันนี้กำลังประสบปัญหารุมเร้าหลายด้าน และรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นส่วนสำคัญของรากฐานปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้  ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญได้สร้างปัญหาไม่เฉพาะแต่พรรคการเมือง นักการเมือง แต่ยังสร้างปัญหาให้กับประชาชนและสังคมไทยโดยรวม ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะทำเรื่องใดก่อนหลัง ในเมื่อรัฐบาลชุดนี้ กล่าวอ้างว่ามาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ก็ยิ่งต้องรับฟังเสียงสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างอิสระ เพื่อให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว  
    "หนทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจะไม่เกิดคนไทยก็คงต้องจำทนแบกรับชะตากรรมที่ไม่ปรารถนาต่อไป ต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ รีบคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างสมบูรณ์ที่สุดโดยเร็ว ให้คนไทยได้เลือกอนาคตที่อยากเลือกเอง ไม่ต้องให้ 'คนดีคนไหน' มาตัดสินใจแทนอีก อย่าปล่อยให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างปัญหาที่ยืดเยื้อต่อไป เพราะจะยิ่งซ้ำเติมปัญหา ยิ่งทำให้ปัญหาซ้ำซ้อนมากยิ่งขึ้น และยากต่อการแก้ไข เมื่อถึงเวลานั้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ" นายภูมิธรรมระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"