นายกสั่งรับมือน้ำท่วมอุบล กนช.เคาะโปรเจ็กต์2หมื่นล.


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" ห่วงมวลน้ำจำนวนมากไหลผ่านจ.อุบลราชธานี 13 ก.ย. กำชับเหล่าทัพ-หน่วยงานรัฐเร่งช่วยเหลือ ปชช. เตรียมลงใต้ไป "นครฯ-สุราษฎร์ธานี" ติดตามก่อสร้างโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยวันศุกร์นี้ "กนช." ตั้งวอร์รูมเฉพาะกิจอำนวยการน้ำแห่งชาติ พร้อมอนุมัติ 3 โปรเจ็กต์ใหญ่เฉียด 2 หมื่นล้าน แก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง

    เมื่อวันที่ 12 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chon-o-cha" แสดงความห่วงใยประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ที่กำลังประสบอุทกภัยว่า “ผมขอให้พี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานีเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์มวลน้ำจำนวนมากที่จะไหลผ่าน อ.เมืองอุบลฯ ในวันพรุ่งนี้ครับ โดยระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ขอให้ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง และหากต้องการความช่วยเหลือ ให้ติดต่อสายด่วน 1784 ขอให้ทุกคนปลอดภัยครับ”
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยพี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานี ขอให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์มวลน้ำที่จะไหลผ่านอำเภอเมืองอุบลฯ โดยคาดว่าในวันที่ 13 ก.ย. จะมีมวลน้ำสูงสุดอยู่ที่ 5,300-5,500 ลบ.ม./วินาที นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะมีน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในหลายพื้นที่ 
    "นายกฯ ได้สั่งให้หน่วยงานของรัฐและทุกเหล่าทัพเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยให้กระจายกำลังและเครื่องมือช่างสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนที่ยังประสบอุทกภัยในพื้นที่วิกฤติอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ขอให้อยู่กับประชาชนในพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย พร้อมสั่งการให้หน่วยงานของรัฐในพื้นที่เตรียมแผนการเคลื่อนย้ายคนรวมถึงสัตว์ให้พร้อม และขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาล และภาคส่วนต่างๆ รวมถึงจิตอาสาจะให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องและเต็มที่ โดยหลังสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเร่งสำรวจความเสียหาย ให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเป็นการเร่งด่วน" นางนฤมลกล่าว
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในวันที่ 13 ก.ย.นี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะเดินทางไปตรวจราชการและพบปะประชาชน จ.นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี โดยช่วงเช้าจะเดินทางไปยัง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อตรวจติดตามพื้นที่ก่อสร้าง ปตร.กม. 9+200 คลองท่าเรือ-หัวตรุด ในโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นหนึ่งโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาบรรเทาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง 
    จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังโรงเรียนสาธิตองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 เพื่อพบปะประชาชนและนักเรียน พร้อมกับมอบอุปกรณ์ส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ และมอบอุปกรณ์การเรียนแก่นักเรียน ก่อนจะออกเดินทางไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อสักการะพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นศาสนสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ช่วงบ่ายจะเดินทางต่อไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ โดยนายกฯ จะเยี่ยมชมแปลงเกษตร ฟาร์มไก่ และเข้ากราบนมัสการพระภาวนาโพธิคุณ เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล และจะเดินทางต่อไปยังสถานีสูบน้ำปลายคลองเฉวง (CP1) เพื่อดูการทำงานของระบบน้ำของสถานีสูบน้ำปลายคลอง (CP1) ต่อด้วยการเป็นประธานเปิดงานเทศกาลท่องเที่ยวเกาะสมุย ครั้งที่ 4 ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ
    วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการประชุมคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/62 เพื่อติดตามงานปี 62 และปรับแผนบริหารจัดการน้ำ ปี 63 โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วมพร้อมเพรียง
    พล.อ.ประวิตรกล่าวหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กนช.รับรายงานสถานการณ์น้ำจากทั่วประเทศ รวมถึงปริมาณน้ำในเขื่อน แม่น้ำต่างๆ และปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะตกลงมา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่
    นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาฯ สทนช. แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกองอำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ (วอร์รูม) ที่มี สทนช.รับผิดชอบ และเห็นชอบ 3 โครงการขนาดใหญ่ วงเงินกว่า 18,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างเพื่อการพัฒนา ปี 61 ของการประปาส่วนภูมิภาคจำนวน 6 โครงการ วงเงินงบประมาณ 11,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อก่อสร้างเสร็จสิ้นจะสามารถผลิตน้ำประปาได้เพิ่มขึ้น 332,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน 2.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 64-68) วงเงิน 6,130 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ฝั่งธนบุรี และ 3.โครงการแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 64-68 ) ก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
    นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปี 63 ประกอบด้วย 28 หน่วยงาน จำนวน  57,975 โครงการ วงเงินกว่า 3.1 แสนล้านบาท ที่กระจายลงทุกภาคทั่วประเทศ และรับทราบความคืบหน้าโครงการสำคัญปี 62 ที่รัฐบาลใช้งบกลางกว่า 19,000 ล้านบาท เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำและเพิ่มต้นทุนน้ำ จำนวน 144 โครงการ โครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ 30,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งงบประมาณที่กระจายให้ทุกจังหวัดแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย
    ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สธ.ได้เตรียมนักจิตวิทยาเพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพราะได้รับรายงานว่าประชาชนเกิดความหวาดระแวง ตกใจ และเกิดอาการซึมเศร้า 
    "จากปัญหาน้ำท่วมทำให้มีผู้หลักผู้ใหญ่ หรือผู้บังคับบัญชาระดับสูงเดินทางลงพื้นที่เป็นจำนวนมาก จนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมาเตรียมการต้อนรับ  แทนที่จะได้ปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน จึงขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ลดการลงพื้นที่ ควรปล่อยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ และผู้บังคับบัญชาระดับสูงสามารถสั่งการได้โดยไม่ต้องลงทุนที่อยู่แล้ว" นายอนุทินกล่าว.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"